xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ “เขารูปอีโต้” นำทัพ 7 สิ่งน่าทึ่ง “อุทยานธรณีโลกโคราช” ดินแดนฟอสซิล 3 ยุค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


พระนอนหินทรายใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอีกหนึ่งของดีน่าทึ่งแห่งอุทยานธรณีโคราช
ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ายินดี เมื่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ “อุทยานธรณีโคราช” (Khorat Geopark) เป็น “อุทยานธรณีโลก” (UNESCO Global Geopark) แห่งใหม่ของเมืองไทย และเป็นลำดับที่ 2 ต่อจากอุทยานธรณีโลกสตูล หนุนส่งให้จังหวัดนครราชสีมา เป็น “เมือง 3 มรดกยูเนสโก” (UNESCO Triple Heritage City) หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่มีไม่กี่แห่งในโลก

รู้จักอุทยานธรณีโลกโคราช


นครราชสีมาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในเมืองไทยที่มีภูมิศาสตร์ทางธรณีวิทยาอันโดดเด่น ด้วยเหตุนี้จึงมีการก่อตั้ง “อุทยานธรณีโคราช” (Khorat Geopark) ขึ้น โดยได้รับการแต่งตั้งเป็น “อุทยานธรณีประเทศไทย” เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561

อุทยานธรณีโคราช คือพื้นที่ในบริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง ครอบคลุม 5 อำเภอต่อเนื่องกันในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ 3,167 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 15.22 ของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

แหล่งไดโนเสาร์สำคัญอีกหนึ่งความโดดเด่นของอุทยานธรณีโลกโคราช
อุทยานธรณีโคราชมีจุดเด่นคือ มีภูมิประเทศแบบ “เควสตา” หรือ “เขารูปอีโต้” และ “ฟอสซิล 3 ยุค” (Cuesta & Fossil Land) เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ทำให้องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ “อุทยานธรณีโคราช” เป็น “อุทยานธรณีโลก” (UNESCO Global Geopark) อย่างเป็นทางการในการประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

อุทยานธรณีโลกโคราช ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของไทย ต่อจากอุทยานธรณีโลกสตูล และเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 183 จาก 195 แห่งใน 48 ประเทศ ณ ปัจจุบัน (ปี 2566)

ผลจากการได้รับเป็นอุทยานธรณีโลกโคราช ทำให้จังหวัดนครราชสีมาเป็น “เมือง 3 มรดกยูเนสโก” (UNESCO Triple Heritage City) จังหวัดแรกและจังหวัดเดียวในเมืองไทย ซึ่งมีไม่กี่แห่งในโลก

มรดกโลก “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 1 ใน 3 มรดกยูเนสโก จังหวัดนครราชสีมา
โดย 3 มรดกยูเนสโกของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ 1. มรดกโลก “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลของโลก “ป่าสะแกราช” อ.ปักธงชัย และ 3. “อุทยานธรณีโลกโคราช” ที่เพิ่งได้รับมาสด ๆ ร้อน ๆ

7 สิ่งน่าทึ่ง อุทยานธรณีโลกโคราช


ปัจจุบันอุทยานธรณีโลกโคราช ประกอบด้วย 35 แหล่งท่องเที่ยว ครอบคลุมทั้ง แหล่งธรณีวิทยา ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชุมชน ซึ่งหลายแห่งในนี้นอกจากจะมีความสวยงามแปลกตามน่าทึ่งแล้ว ยังมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัว บางสถานที่มีหนึ่งเดียวในเมืองไทย บางสถานที่มีไม่กี่แห่งในโลก

และนี่ก็คือ 7 สิ่งน่าทึ่งของอุทยานธรณีโลกโคราช ที่เราสามารถไปท่องเที่ยวเรียนรู้ ดูความสวยงามแปลกตาน่าทึ่งของสิ่งเหล่านี้กันได้อย่างไม่ยากเย็น

ภูมิประเทศแบบเขารูปอีโต้ 1 ใน 2 สิ่งสำคัญแห่งอุทยานธรณีโลกโคราช (ภาพจาก : khoratgeopark.com)
1.”เขารูปอีโต้” : เป็นลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาระดับนานาชาติและเป็น 1 ใน 2 สิ่งอันโดดเด่นสำคัญของอุทยานธรณีโลกโคราช

เขารูปอีโต้ หรือ “เควสตา” หรือ “เควสตาโคราช” (Khorat Cuesta) มีลักษณะเป็นสันเขาหินทรายหมวดหินพระวิหารและหมวดหินภูพาน ทอดตัวเป็น 2 แนวคู่ขนานกันจำนวนกว่า 20 เขา ตลอดแนวขอบที่ราบสูงโคราชและแนวภูพาน บนความสูงระหว่าง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมความยาวราวกว่า 1,700 กิโลเมตรนับเป็นเควสตาที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สำหรับจุดชมเขารูปอีโต้อันเด่นชัดก็คือที่ “วัดป่าภูผาสูง” (อ.สูงเนิน) ที่สามารถมองเห็นเขารูปอีโต้ในระยะใกล้โดยมีเจดีย์ของวัดเป็นฉากหน้าดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์

และที่จุดชมวิว “ผายายเที่ยง” ซึ่งสามารถมองเห็นเขารูปอีโต้ในระยะไกลในมุมกว้างผ่านลำน้ำลำตะคอง ที่กัดกร่อนเทือกเขาหินทรายในแนวดิ่ง จนเกิดเป็น “ช่องเขาน้ำกัด” (water grab) ตัดแนวเทือกเขาออกจากกัน ทำให้ลำตะคองได้ชื่อว่าเป็น “ธารน้ำบรรพกาล” (antecedent stream)

ฟอสซิล 3 ยุค เป็นอีกจุดเด่นของอุทยานธรณีโลกโครราช (ในภาพคือฟอสซิลฟันกรามช้างดึกดำบรรพ์)
2.”ฟอสซิล 3 ยุค” : อุทยานธรณีโลกโคราชถูกยกเป็น “มหานครแห่งบรรพชีวิน” เนื่องจากมีการค้นพบฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์จำนวนมาก รวมถึงช้างดึกดำบรรพ์-สัตว์ร่วมยุค และไม้กลายเป็นหิน

นอกจากนี้อุทยานธรณีโลกโคราชยังมีความโดดเด่นสำคัญคือการเป็นดินแดน “ฟอสซิล 3 ยุค” ซึ่งได้แก่

-“ยุคครีเทเชียส” พบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคครีเทเชียสตอนต้น มีอายุราว 110 ล้านปีก่อน ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา อ.ขามทะเลสอ และ อ.สูงเนิน

ไม้กลายเป็นหินอีกหนึ่งความโดดเด่นของอุทยานธรณีโลกโคราช
-“ยุคนีโอจีน” พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์และสัตว์-พืชร่วมยุค ในสมัยไมโอซีนตอนกลางถึงสมัยไพลโอซีน มีอายุราว 16 – 2.6 ล้านปีก่อน ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ

-“ยุคควอเทอร์นารี” พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์และสัตว์-พืชร่วมยุค (มีอายุราว 2.6 – 0.01 ล้านปีก่อน) บในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมืองนครราชสีมา

ไดโนเสาร์พันธุ์เด่น ๆ ที่พบในอุทยานธรณีโลกโคราช
3.“แหล่งไดโนเสาร์” : ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา และอำเภอใกล้เคียง พบฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนนับพันชิ้น ฟันไดโนเสาร์มากกว่า 200 ชิ้น รวมถึงพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ, สยามโมดอน นิ่มงามมิ และ สิรินธรน่า โคราชเอนซิส

นอกจากนี้ยังมีการพบ ไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อจำพวก “คาร์คาโรดอนโตซอร์” ที่คาดว่ามีความยาวมากกว่า 10 เมตร, เต่าพันธุ์ใหม่ของโลกชนิด คิซิลคูเมมิส โคราชเอนซิส และ จระเข้สายพันธุ์ใหม่ของโลก โคราโตซูคัส จินตสกุลไล อีกด้วย

หลุมฟอสซิลไดโนเสาร์ (ภาพจาก : khoratgeopark.com)
สำหรับจุดชมแหล่งค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สำคัญก็คือ “หลุมฟอสซิลไดโนเสาร์” แหล่งบ้านสะพานหินและบ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งมีหลุมจำลองแสดงหินที่มีฟอสซิลจริงของไดโนเสาร์ อายุราว 110 ล้านปีก่อน ในหินกรวดมนปนปูนสีน้ำตาลแดง

โดยพบสัตว์พันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล/ชนิด คือ ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์สิรินธรน่า, จระเข้โคราโตซูคัส และเต่าจมูกหมูโคราชเอนซิส รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ อาทิ เทอโรซอร์, ปลาฉลามน้ำจืดไฮโบดอนต์ , ปลาเกล็ดแข็ง เลปิโดเทส และ หอยไทรโกนอยเดส เป็นต้น

แหล่งฟอสซิลช้างลุ่มน้ำมูล พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ หลากหลายสายพันธุ์ที่สุดในโลก ถึง 10 สกุล
4.”แหล่งฟอสซิลช้างลุ่มน้ำมูล” : ใน อ.เฉลิมพระเกียรติและ อ.เมืองนครราชสีมา มีการพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ (มีอายุอยู่ในช่วง 16 - 0.01 ล้านปี) หลากหลายสายพันธุ์ที่สุดในโลก ถึง 10 สกุล จาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก

สำหรับจุดท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับช้างดึกดำบรรพ์นั้นก็คือที่ “พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์” อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่จัดแสดงชิ้นส่วนกระดูกต่าง ๆ ของช้างดึกดำบรรพ์จากแหล่งบ่อทรายต่าง ๆ รวมถึงสัตว์ร่วมยุคต่าง ๆ

นอกจากนี้ก็ยังมี “บ่อทรายพระพุทธ” อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่เป็นแหล่งค้นพบช้างดึกดำบรรพ์ อาทิ ช้างสเตโกโลโฟดอน ช้างสเตโกดอน ช้างไซโนมาสโตดอน รวมถึงพบสัตว์ร่วมยุค อย่างเช่น แรด ฮิปโปโปเตมัส เต่า จระเข้ อีกทั้งยังพบไม้กลายเป็นหินอีกด้วย

ไม้กลายเป็นหินอัญมณีอาเกตจากโคราชที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน
5.”แหล่งฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน” : พบกระจายทั้งบน ผิวดิน และใต้ดินในทุกอำเภอของอุทยานธรณีโลกโคราช โดยมีความโดดเด่นคือ พบในปริมาณมาก และพบเป็นพันธุ์ใหม่ของโลกหลายชนิด บางชนิดมีเนื้อสวยงามดังอัญมณี

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่สำคัญของไทย
สำหรับจุดชมไม้กลายเป็นหินสำคัญก็คือที่ “พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน” อ.เมืองนครราชสีมา ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จัดแสดงฟอสซิลไม้กลายเป็นหินที่ดีที่สุดในเมืองไทย โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่แห่งแรกของเอเชียและเป็น 1 ใน 8 แห่งของโลก

แหล่งประวัติศาสตร์หินตัดสีคิ้ว (ภาพจาก : khoratgeopark.com)
6.”แหล่งประวัติศาสตร์หินตัดสีคิ้ว” : เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา มีลักษณะเป็นเนินหินทรายเนื้อหยาบพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร บนเขาเหิบ บริเวณนี้ พบหลุม รูปหม้อหรือ กุมภลักษณ์หลายขนาด เป็นต้น

แหล่งหินตัดแห่งนี้ บางจุดมีร่องรอยก้อนหินถูกตัดและเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว ส่วนบางจุดก็มีการสกัดเป็นร่องขนานแต่ยังไม่ได้สกัดตัดออกไป

พระพุทธไสยาสน์ วัดธรรมจักรเสมาราม พระนอนหินทรายที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
7.”พระนอนหินทราย” หรือ “พระพุทธไสยาสน์” วัดธรรมจักรเสมาราม ต.เสมา อ.สูงเนิน พระนอนองค์นี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปีก่อน ถือเป็นพระนอนหินทรายที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย องค์พระมีความยาว13.00 เมตร สูง 2.50 เมตร เป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่โดดเด่นมากแห่งหนึ่งของไทย

################################

“อุทยานธรณี”(Geopark) หมายถึงพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งธรณีวิทยา แหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา ที่มีคุณค่าต่อประเทศ/โลก รวมถึงแหล่งทางด้านโบราณคดี(Archeology) นิเวศวิทยา(Ecology) และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่มีคุณค่าของโลก (Culture) บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยประชาชน เพื่อประชาชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วน“อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก” (UNESCO Globat Geoparks) เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) อุทยานธรณีโลก จะต้องเป็นขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เชื่อมโยงความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยา ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา



กำลังโหลดความคิดเห็น