ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อากาศวิปริตแปรปรวนสุดขั้วกำลังเป็นภัยคุกคามชาวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบใหญ่หลวงในทุกมิติ สะท้อนความพ่ายแพ้ในเกมเอาชนะโลกร้อนของประชาคมโลก ขณะที่ไทยเจอโจทย์ใหญ่ปรากฏการณ์เอลนีโญมาแน่ 3 ปีซ้อน นับจากปี 2566-2568 ท้าทายรัฐบาลชุดใหม่หาทางรับมือภัยแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรมีปัญหาหนักแน่
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สัมผัสกันได้มาร้อนสุดจะทานทนในปีนี้ จะยังหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีกในอนาคต เมื่อฟังจาก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งบอกเล่าผ่านเฟซบุ๊กว่าข้อมูลล่าสุดจากรายงานของ Earth System Science Data ที่เพิ่งออกมาบ่งชี้ว่าทะเลและมหาสมุทรกำลังร้อนจัด นั่นคือสิ่งที่น่ากังวลมากๆ “ทำเอาเครียด”
ดร.ธรณ์ สรุปย่นย่อว่าทะเลเกี่ยวกับโลกร้อนอย่างไร? คำตอบคือเกี่ยวหมดเลย เพราะทะเลดูดซับความร้อนส่วนใหญ่ของโลก ทะเลดูดก๊าซเรือนกระจก และกระบวนการในทะเลเกี่ยวโดยตรงกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ เช่น พายุ
ข้อมูลล่าสุดพบว่า ทะเลร้อนขึ้นอย่างเร็วและส่งผลรุนแรง ส่งผลต่อระบบนิเวศย่ำแย่แน่นอน โดยเฉพาะปะการังที่จะโดนก่อนเพื่อน สำหรับทะเลไทย อุณหภูมิน้ำทะลุสถิติร้อนสุดเมื่อปีก่อนเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีรายงานฟอกขาวจริงจัง แต่น่าเป็นห่วงมาก เมื่อน้ำทะเลร้อน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำหนี/ตาย ประมงย่ำแย่ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกิดปัญหา
ขณะเดียวกัน น้ำทะเลร้อนยังเพิ่มพลังให้พายุ ภัยพิบัติเกิดบ่อยขึ้น และทำให้ดูดซับความร้อนได้น้อยลง ในอากาศย่อมร้อนขึ้นอย่างเร็ว พายุฤดูร้อนรุนแรง ลมวูบๆ ในกรุงเทพฯ วันนี้ก็คงพอเห็นกันแล้ว และเมื่อน้ำทะเลร้อนจะดูดก๊าซเรือนกระจกได้น้อยลง ยิ่งเกิดการสะสมในบรรยากาศ โลกยิ่งร้อนขึ้น
นอกจากนั้น น้ำแข็งขั้วโลกยิ่งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไวกว่าที่เคยคาด เกิดปัญหากับประเทศริมชายฝั่ง เช่น เมืองไทยของเรา และยังมีอีกหลายข้อ เมื่อทะเลใกล้หมดสภาพของการเป็นเครื่องกักเก็บความร้อนโลก อุณหภูมิจะสูงขึ้นเร็วเป็นก้าวกระโดด เมื่อรวมกับอีกเด้งจากเอลนีโญที่เริ่มแล้วปีนี้ แรงหนักต่อปีหน้า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ปีนี้คนบนโลกจะได้ลองเจอกับอุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก
“คงจำกันได้ว่า เราประเมิน 1.5 องศาฯ ไว้อีก 70-80 ปี แต่นั่นเป็นถาวร นี่เป็นแค่ลองซ้อมชั่วคราวธรรมชาติส่งออร์เดิร์ฟมาให้เรา ลองดูสิ มนุษย์ ผมยังจำได้ว่าเมื่อ 20+ ปีก่อน ผมไปพูดเรื่องโลกร้อน มีผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่าร้อนก็เปิดแอร์สิอาจารย์ มาถึงวันนี้ ไม่ใช่ทุกคนมีแอร์ และถึงมีแอร์ ลองดูบิลค่าไฟก็ได้ยังมีอื่นๆ อีกมากมายที่ตามมาและจะทำให้เราเดือดร้อน โดยเฉพาะคนที่พึ่งพาธรรมชาติในการทำมาหากิน”
ส่วนการแก้ปัญหา อาจารย์ธรณ์ว่ามันก็รู้ๆ กันอยู่ ขึ้นกับว่าเราจะเอาจริงแค่ไหน จะกล้าเจ็บตัวแค่ไหน ไม่มีการรักษาใดที่ไม่เจ็บไม่จ่ายตังค์ โลกร้อนก็เช่นกัน และยิ่งกว่านั้นเพราะเราทำกับโลกมานาน ปัญหาคือเราเบือนหน้าหนีปัญหา เราพยายามซ่อนไว้ เราไม่อยากเจ็บตัวในวันนี้เพื่อผลในวันหน้า เพราะเราคิดว่าความสบายเล็กๆ ในวันนี้ดีกว่าความเดือดร้อนใหญ่ๆ ในวันหน้า ซึ่งนั่นทำให้เราไม่สามารถเจ็บแต่จบ
“เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่รอเราอยู่คือความเดือดร้อน ที่น่าเศร้าคือความเดือดร้อนจะไม่เท่ากัน ผมอาจเบ้ปากเมื่อเจอบิลค่าไฟ แต่ชาวประมงที่ออกเรือไปหาปลาแต่ไม่ได้ ชาวนาชาวสวนที่ฝนไม่ตกมา มันเจ็บปวดมากกว่าเยอะ...”
รายงานของ Earth System Science Data เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตามรายงานข่าวของบีบีซี แสดงให้เห็นว่าโลกได้สะสมความร้อนมากขึ้นกว่าเก่า โดยเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อุณภูมิทะเลในอเมริกาเหนือสูงขึ้น 13.8 องศาเซลเซียส มากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2011 แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนนักว่าทำไมอุณภูมิจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็วขนาดนั้น
ปัจจัยหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า องค์การสมุทรสากล ออกระเบียบใหม่เพื่อลดปริมาณซัลเฟอร์จากไอเสียของเรือเดินสมุทร ทำให้อากาศมีปริมาณแอโรโซลน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ความร้อนสะท้อนกลับไปในอวกาศน้อยลงด้วยมันจึงไปสะสมอยู่ในน้ำทะเล
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าอุณภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยสูงขึ้น 0.9 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม อุณภูมิที่สูงขึ้นนี้เพิ่งเกิดอย่างรวดเร็วเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมานี่เอง
การที่น้ำทะเลร้อนขึ้นทำให้เกิดผลกระทบ 4 ประการ คือ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในทะเลตาย ทำให้พายุเฮอริเคนและไซโคลนเกิดง่ายขึ้น ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น และความสามารถในการดูดซับเรือนกระจกของทะเลลดต่ำลง
อีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้นักวิทยาศาสตร์ตอนนี้คือ ปรากฏการณ์เอลนีโนที่กำลังจะมาถึง ขณะนี้มันกำลังก่อตัวที่ชายฝั่งเปรูและเควาดอว์และถ้ามันก่อตัวเต็มรูปแล้วอุณภูมิของโลกคงจะสูงขึ้นกว่านี้แน่นอน ซึ่งจุดพีคของมันจะทำให้โลกร้อนขึ้น 0.2 -0.25 องศาสเซลเซียส ผลกระทบจะเกิดขึ้นราวๆ 2-3 เดือนหลังจากจุดพีค นั่นแปลว่าปี 2024 โลกจะร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกกันมา
เว็บไซต์ข้อมูลสภาพอากาศ ClimateReanalyzer.org ระบุว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับทำลายสถิติที่ 21.10 องศาเซลเซียส ทุบสถิติเดิมซึ่งเป็นข้อมูลจากเดือนมี.ค. 2016 ซึ่งวัดระดับอุณหภูมิผิวน้ำสูงสุดได้โดยเฉลี่ยที่ 21.00 องศาเซลเซียส ซึ่งสถิติสูงสุดของปีนี้และสถิติเดิมจากเดือนมี.ค. 2016 ต่างก็ร้อนแรงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1982-2011 อยู่มากกว่า 1 องศาเซลเซียส ตามรายงานของบีบีซีไทย
ไมเคิล แม็กแฟเดน นักสมุทรศาสตร์จากองค์การบริหารกิจการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศหรือโนอา (NOAA) ของสหรัฐฯ ระบุสาเหตุที่ทำให้ผิวน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นเรื่อยๆ มาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสิ้นสุดของปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน ทำให้ไม่มีสภาพอากาศหนาวเย็นและฝนชุกแถบแปซิฟิกมาช่วยลดอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำทะเลให้เย็นลง
แม็กแฟเดน มองว่า มีความเป็นไปได้สูงถึง 60% ว่าภูมิอากาศกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะร้อนจัดและแห้งแล้ง หากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ร้อนและแล้งจัดเกิดขึ้นจริงนั่นจะยิ่งทำให้อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นไปอีก
สภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ยังสะท้อนผ่านการรายงานของกรีนนิวส์ ซึ่งระบุว่า รายงานสถานะภูมิอากาศโลก (The State of the Global Climate Report) ฉบับล่าสุด โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ก่อนหน้าวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ “Earth Day” หนึ่งวัน (22 เม.ย.) ตอกย้ำอีกครั้งถึงวิกฤตโลกร้อนด้วยสถิติ “8 ปีที่ผ่านมาเป็น 8 ปีที่อุณหภูมิโลกเราสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์” พร้อมการทบทวน “ผลกระทบที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ” โดยชูธงธีมรณรงค์ว่า “ถึงเวลาลงทุนเพื่อโลกของเรา” หรือ Invest In Our Planet
“8 ปีที่ผ่านมาคือ 8 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเท่าที่มีการบันทึก ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิมหาสมุทรแตะระดับสูงสุด เช่นเดียวกับระดับผลกระทบต่อผืนดิน แผ่นน้ำและชั้นบรรยากาศโลกที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก” WMO ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของสหประชาชาติ หรือ WMO ยังพบว่า ช่วงปี 2013-2022 ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุบสถิติ หรือเฉลี่ยแล้วน้ำทะเลสูงขึ้นถึงปีละ 4.62 มม. ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับระหว่างปี 1993-2002 ขณะที่ในปี 2022 อุณหภูมิโลกก็สูงขึ้น 1.15 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1850-1900
เลขาธิการสหประชาชาติ อังตอนียู กูแตรึช ได้เรียกร้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด มากที่สุด เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และเร่งการลงทุนขนาดยักษ์เพื่อการปรับตัวและรับมือ โดยเฉพาะชุมชนและประเทศกลุ่มเปราะบางที่มีส่วนก่อวิกฤตน้อยที่สุด
เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เป็ตเตรี ตาลัส กล่าวว่า ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ “ประชากรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศสุดขั้วและเหตุพิบัติภัยจากสภาวะอากาศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง” โดยย้ำเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมาว่า “ภาวะแล้งต่อเนื่องในอัฟริกาตะวันออก ฝนหนักเป็นประวัติการณ์ในปากีสถาน คลื่นความร้อนระดับทะลุสถิติในจีนและยุโรปที่ส่งผลกระทบคนจำนวนหลายสิบล้าน ก่อปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร เร่งการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ และก่อความเสียหายมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์.....”
รายงานสถานะภูมิอากาศโลก 2022 เผยอีกว่า ในช่วงปีระหว่างปี 2558-2565 เป็นช่วงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ธารน้ำแข็งของโลกละลายอย่างรวดเร็วในปีที่แล้ว และระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเท่าจากสองทศวรรษที่แล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยอดเขาไปจนถึงใต้ท้องลึกของมหาสมุทร ภัยแล้ง น้ำท่วม และคลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อชุมชนในทุกทวีป และสร้างความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์ น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกลดลงถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการละลายของธารน้ำแข็งในยุโรปบางแห่งก็เกินกว่าที่ควรจะเป็น
นายเพตเทอรี ทาลาส เลขาธิการใหญ่ของ WMO บอกว่า พวกเราได้พ่ายแพ้ในเกมช่วยชีวิตธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย เพราะพวกเราได้สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนมีความเข้มข้นสูงมากไป ต่อจากนี้ ภูเขาน้ำแข็งจำนวนมากจะหายไป และความหนาของธารน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกและกรีนแลนด์ จะยังคงหายไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากพวกเราไม่ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากชั้นบรรยากาศโลก
กลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานสัมมนา “EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศไทยจะเจอปรากฏการณ์เอลนีโญ ภัยแล้งมาเยือนตั้งแต่ปี 2566 -2568 นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำการบ้านอย่างหนักหาทางรับมือภัยแล้ง รวมทั้งการนำไทยไปสู่ประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในปี 2065
สำหรับแผนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยในระยะสั้นและระยะยาว คือในปี 2050-2065 โดยในไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 388 ล้านตัน ในปี 2025 และจากนั้นอีก 40 ปีจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 120 ล้านตันในปี 2065 ส่วนแผนระยะสั้นปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40%
นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ยังอยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับจาก Voluntary เป็น Mandatory เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาคาร์บอน และกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต
ขณะเดียวกัน ดร.ประเมศ แก้วมีศรี จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA คาดการณ์ว่าหากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียวกับการเกิดเอลนีโญสุดขั้วรอบที่แล้ว เมื่อปี 2559
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคต และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้สัมภาษณ์สื่อโดยประเมินว่า มีความเสี่ยงที่จะเจอภัยแล้ง-ร้อนผิดปกติในช่วงปี 2566-2569 และปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรไทยและเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เพราะอาจทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งปัจจุบันผลผลิตที่ได้รับกระทบจากพายุฤดูร้อนหายไปประมาณ 10% ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น บวกกับค่าไฟที่ปรับขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าส่งออกปีละ 7.88 แสนล้านบาท
เมื่อผลผลิตตกต่ำ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นบวกกับต้นทุนสูงขึ้นจากหลายปัจจัย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพลมว่า “อาจจะต้องปรับราคาขายในช่วงประมาณ 3 เดือนข้างหน้า”
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2559 สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ประมาณ 39,574 ตัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรเสียหายไป 14,532 ตัน โดยรอบนี้ นายวิศิษฐ์ ประเมินว่า พืชเกษตรที่จะได้รับผลกระทบ เช่น สับปะรด ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเมื่อปี 2565 ประมาณ 40% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะมีปริมาณสับปะรดลดลงประมาณ 20%
ส่วนข้าวโพดหวาน ช่วงไตรมาส 1/2566 มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานแล้ว 1.7 แสนตัน แต่คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ภัยแล้งจากเอลนีโญจะทำให้ฝนทิ้งช่วงส่งผลกระทบให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย เช่นเดียวกับข้าวนาปีที่อาจมีผลผลิตลดลง
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่าในปีหน้า 2567 ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเจอภาวะคลื่นความร้อน เนื่องจากจะเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนปีนี้แม้ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนจัด แต่จะยังไม่เผชิญกับภาวะ “คลื่นความร้อน” เนื่องจากยังเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดเอาความชื่นเข้ามาช่วยทำให้เกิดฝนตก ดังนั้นโอกาสที่ประเทศไทยจะเจอกับ “คลื่นความร้อน” ในปีนี้จึงน้อยมากหรือแทบจะไม่เจอเลย
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่า “คลื่นความร้อน” คือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิปกติถึง 5 องศาเซลเซียส และเกิดขึ้นติดต่อกันเกิน 5 วันขึ้นไป ตามการนิยามขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ในระยะนี้อาจจะเกิดคลื่นความร้อนได้ในต่างประเทศ แต่สำหรับไทยนั้นที่ผ่านกรมอุตุฯได้ติดตามสภาพอากาศตามสถานีวัดทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด โดยพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงสุดแตะ 44.6 องศาเซลเซียส อยู่ที่จ.ตาก แต่ไม่ได้เป็นคลื่นความร้อน เป็นเพียงสภาพอากาศที่ร้อนจัดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนจะเจอในแถบ ยุโรบ อินเดีย ปากีสถาน
คำอธิบายของอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นการตอบโต้กระแสข่าวที่สื่อต่างประเทศ อย่างรอยเตอร์ระบุว่า คลื่นความร้อนสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “เมษาฮีทเวฟ” อ้างอิงจากเดอะการ์เดียนของอังกฤษ กำลังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเอเชีย และกำลังคุกคามอย่างหนักต่อทั้งอินเดีย จีน ไทย และลาว โดยที่อินเดีย ซีเอ็นเอ็น รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดมากถึง 13 ราย และอีก 50-60 รายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งมีการปิดโรงเรียน ขณะที่สื่อไทยรายงานการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากฮีทสโตรกหลายราย
ทั้งนี้ รายงานของนักอุตุนิยมวิทยาของ AccuWeather บริษัทพยากรณ์อากาศชั้นนำของโลกซึ่งเปรียบคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงว่าเป็น “สัตว์ประหลาด” หรือ monster ที่กำลังคืบคลานเล่นงานมนุษย์ โดย Bill Deger นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสของ AccuWeather ชี้ว่าคลื่นความร้อนหลายสัปดาห์ที่ส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทำลายสถิติตลอดกาล ทำให้โรงเรียนต้องปิดและคร่าชีวิตผู้คน โดยระดับอุณหภูมิในพื้นที่บางส่วนของบังกลาเทศ จีน อินเดีย ลาว เมียนมาร์ และไทย สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในเดือนเม.ย.นี้ โดยประเทศไทยพบสถิติอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ มักซิมิเลียโน เอร์เรรา ขนานนามปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น “คลื่นความร้อนที่น่าอัศจรรย์ของเอเชียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” โดยที่ จ.ตาก ของไทย เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2566 อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 45.4 องศาเซลเซียส ขณะที่เพชรบูรณ์ 43.5 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่สูงในจ.ตากเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในประเทศ โดยทำลายสถิติเก่าที่ 44.6 องศาเซลเซียสของ จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2559
ร้อนปรอทแตกปีนี้ ยังเป็นแค่ “ออเดิร์ฟ” ชิมลางอย่างที่อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ว่าไว้ ของจริงเอลนีโญ 3 ปีซ้อนกำลังใกล้เข้ามา ขณะที่พรรคการเมืองซึ่งอาสามาบริหารในเวลานี้ต่างมุ่งแข่งนโยบายโปรยเงินประชานิยมหวังผลชัยชนะเฉพาะหน้า
ชนชาวรากหญ้าโดยเฉพาะภาคเกษตรคงได้แต่นับถอยหลังสู่วันล่มสลาย ลบเลือนตำนานเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนาในน้ำมีปลาในนามีข้าว เป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” หรือ “ครัวของโลก” ที่นักการเมืองและนักธุรกิจมักพากันขายฝัน