xs
xsm
sm
md
lg

โรดแมปเงินสกุลร่วม BRICS โดย ทนง ขันทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โรดแมปเงินสกุลร่วม BRICS
โดย ทนง ขันทอง

บทบาทของกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสของการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกการใช้ดอลล่าร์ (de-dollarization) นำโดยกลุ่ม BRICS และประเทศต่างๆที่เห็นความเสี่ยงในการถือครองดอลล่าร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สหรัฐใช้ดอลล่าร์เป็นอาวุธในการแซงชั่นรัสเซีย เพื่อตอบโต้การที่รัสเซียโจมตียูเครน

ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ผู้นำของกลุ่ม BRICS 5ประเทศจะมีการประชุมซัมมิทที่แอฟริกาใต้ โดยมีหัวข้อที่จะพูดคุย หรือตกลงกันที่สำคัญ3เรื่องด้วยกัน คือการขยายสมาชิกของบริกส์ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขายกันเอง โดยไม่ใช้ดอลล่าร์ และการสร้างเงินสกุลร่วม (common currency) ของบริกส์ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างระเบียบเศรษฐกิจและระเบียบการเงินโลกใหม่

#1. สำหรับการรับสมาชิกใหม่เพื่อขยายองค์กร BRICS นั้น นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียได้เปิดเผยว่า มีมากกว่า 12 ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมกับ BRICS เช่นอัลจีเรีย อาร์เจนตินา บาห์เรน บังคลาเทศ อินโดเนเซีย อิหร่าน อิยิปต์ เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ซูดาน ซีเรีย ตุรกี ยูเออี และเวเนซูเอลล่า

ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมประเทศไทยจะตกสำรวจในการสมัครเป็นสมาชิกของ BRICS หรือไม่ หรือทำใบสมัครตกใต้โต๊ะที่ไหน

#2. จะมีการพูดคุยกันในการประชุมซัมมิทของ BRICS เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขาย หรือทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันของกลุ่มและกับประเทศนอกกลุ่มให้มากขึ้น เช่นการใช้เงินรูเบิ้ลของรัสเซีย เงินหยวนของจีน เงินเรียลของบราซิล เงินรูปีของอินเดีย เงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ ในการทำธุรกรรมการค้าขาย โดยไม่ต้องดอลล่าร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเหมือนอย่างในช่วงที่ผ่านมา เพื่อที่จะออกจากอิทธิพลของระบบดอลล่าร์สหรัฐ ที่นอกจากจะทำให้มีความยุ่งยากแล้วในการแลกเปลี่ยนเงินสกุลไปมาแล้ว ยังเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกด้วย

#3. ผู้นำ BRICS จะหารือลงในรายละเอียดเพิ่มเติมของแผนการสร้างเงินสกุลร่วมของกลุ่ม BRICS หลังจากที่มีการตกลงว่าจะสร้างเงินสกุลร่วมในการประชุมซิมมิทที่จีนในปีที่แล้ว เงินสกุลร่วมของ BRICS จะเป็นเงินดิจิตัล และอาจมีระบบบล็อคเชน หรือระบบชำระเงินอื่นรองรับเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า หรือการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะหันหลังให้กับระบบดอลล่าร์ที่ผูกขาดการเป็นเงินสกุลหลักของโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกคร้ังที่2อย่างสิ้นเชิง

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ BRICS

BRICS มีประชากรคิดเป็นสัดส่วน41% ของโลก มีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 23%ของการค้าโลก และมีผืนแผ่นดินรวมกัน26.7%ของโลก

BRICS เป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่ต้องการสลัดอิทธิพลของระบบมหาอำนาจโลกขั้วเดียวของสหรัฐ และอังกฤษ เพื่อที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่ ที่สะท้อนผลประโยชน์ของประเทศต่างๆทั่วโลกอย่างยุติธรรม หรือเท่าเทียมกัน

ตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่าในปีนี้ เศรษฐกิจของ BRICS จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลกในสัดส่วน 31.2% เทียบกับ 29.9% สำหรับ G-7 ที่ประกอบด้วยสหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี ญี่ปุ่น

ในปี 2028 ตัวเลขนี้ยิ่งจะทิ้งห่างออกไปอีก โดย BRICS จะมีเศรษฐกิจที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลก 35% เทียบกับ 27.8% สำหรับ G-7

มันสมองเบื้องหลังเงินสกุลร่วม BRICS
ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกในยุคปัจจุบัน นาย Sergey Glazyev ได้รับการยอมรับว่าโดดเด่นที่สุด แม้ว่าชื่อของเราจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากว่าเขาเป็นชาวรัสเซียน และเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูตินในการวางแผนทางการเงินและเศรษฐกิจ เพื่อที่จะสลัดอิทธิพลของโลกตะวันตก

สื่อตะวันตกแทบที่จะไม่เคยรายงานเกี่ยวกับนายกลาซเยฟแต่เขาเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องจับตามองในเวลานี้ เนื่องจากเขาเป็นมันสมองหลักของรัสเซีย และกลุ่มประเทศ BRICS ในการวางโครงสร้างทางการเงินใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเงินสกุลร่วมของ BRICS เพื่อที่จะออกจากอิทธิพลของดอลล่าร์ และนำพา BRICS และประเทศที่กำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบเศรษฐกิจโลกใหม่

นายกลาสเยฟในปัจจุบันนี้มีอายุ 62 ปี เกิดที่ยูเครน เขาเป็นท้ังนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ โดยเรียนหนังสือที่ Moscow State University เขาเป็นสมาชิกของสภาการเงินแห่งชาติของธนาคารกลางรัสเซีย เขาเคยร่วมงานกับอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลซิน โดยรับตำแหน่งรัฐมนตรีด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และต่อมาได้เป็นสมาชิกของสภาดูมาอีกด้วย เขาเคยลงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 นับต้ังแต่ตั้งแต่ปี 2021 เขาเป็นมันสมองหลักของฝ่ายบริหารของ Eurasian Economic Commission องค์กรที่ดูแล Eurasian Economic Union ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส คาซัคห์สถาน กีร์จีซสถาน และอาร์เมเนีย


นายกลาสเยฟอธิบายการสร้างเงินสกุลร่วมของ BRICS ว่ามีขั้นดอนดังต่อไปนี้:
เฟส 1 ของการเปลี่ยนถ่ายออกจากอิทธิพลของยูเอสดอลล่าร์ เรากำลังเห็นประเทศในกลุ่มบริกส์ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆหันมาใช้เงินสกุลของตัวเองในการค้าขาย หรือทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันมากขึ้น โดยจะมีกลไกทางด้านระบบเคลียริ่งทางการเงิน และการทำการสว็อปทางการเงินในรูปแบบทวิภาคีควบคู่กันไปอีกด้วย ขบวนการนี้เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

หลังจากที่รัสเซียถูกสหรัฐและยุโรปยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปกว่า $300,000 ล้าน ประเทศต่างๆจะมีแรงจูงใจน้อยลงในการถือครองดอลล่าร์ ยูโร ปอนด์ หรือเยน ที่เป็นเงินสกุลของมหาอำนาจตะวันตก เพราะไม่รู้ว่าจะถูกยึดทรัพย์แบบรัสเซียเมื่อใดก็ได้

ในเฟส 2 จะมีการสร้างกลไกทางด้านราคาใหม่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับยูเอสดอลล่าร์ ในปัจจุบันนี้ ราคาของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆถูกกำหนดโดยมากโดยตลาดรองต่างๆที่โค๊ดราคากันเป็นยูเอสดอลล่าร์ แม้ว่าการกำหนดราคาใหม่โดยใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะมีค่าโสหุ้ยสูง แต่มันจะคุ้มกว่าการพึ่งพาเงินดอลล่าร์ที่ไม่มีทรัพย์สินอะไรหนุนหลัง รวมท้ังเงินยูโร ปอนด์ หรือเยน

ส่วนเงินหยวนจะไม่ทำหน้าที่เป็นเงินสกุลหลักของโลกเหมือนดอลล่าร์ เพราะว่าจีนจะยังคงไม่เปิดเสรีทางการเงิน เงินหยวนยังไม่สามารถแปลงค่าเป็นเงินสกุลอื่นอย่างเสรี และรัฐบาลจีนยังควบคุมเงินนอกไม่ให้เข้าถึงตลาดทุนจีน เพื่อป้องกันการเก็งกำไรทางการเงิน

เฟสที่ 3 จะมีการสร้างเงินดิจิตัลใหม่ผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศของ BRICS เพื่อการชำระเงิน ทำให้เงินสกุลร่วมดิจิตัลของบริกส์จะเป็นเงินที่ใช้ในระบบการชำระเงิน (payment currency) หรืออาจจะเป็นเงิน (reserve currency) ก็ได้่ในอนาคต

การสร้างเงินสกุลร่วมเพื่อใช้ในระบบชำระเงินจะอ้างอิงจากตระกร้าเงินของกลุ่มบริกส์ ที่แต่ละประเทศสมาชิกจะลงขันเอาเงินสกุลของตัวเองมากองรวมกันเป็นเงินกองทุน โดยที่ประเทศอื่นๆอาจจะมาร่วมทีหลังก็ได้ จะมีการกำหนดสัดส่วน หรือน้ำหนักของเงินตราของแต่ละประเทศที่จะใส่เข้าตระกร้าเงิน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดขึ้นมา เช่นขนาดของจีดีพี ส่วนแบ่งของการค้าระหว่างประเทศ ขนาดประชากร หรือขนาดของดินแดนของประเทศ แน่นอนเงินหยวนของจีนจะมีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะว่าจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และพัฒนามากที่สุดเมื่อเทียบกับสมาชิกของ BRICS

นอกจากนี้ ในตระกร้าเงินของเงินสกุลร่วมของกลุ่มบริกส์จะมีดัชนีของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำหนดโดยตลาดรองที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ โลหะที่มีค่า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ธัญญพืช หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ

แต่มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่าใช้ทองคำอย่างเดียว จะสะดวกมากกว่า เพราะว่าถ้าใช้สินค้าโภคภัณฑ์อย่างอื่นด้วยจะทำให้ยุ่งยากในคำนวนน้ำหนัก หรือการบริหารจัดการ

สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการเงินสกุลร่วม BRICS จะมีความจำเป็นในการสร้างสถาบันการเงินที่จะทำหน้าที่คล้ายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มีเงินในรูปบัญชี Special Drawing Rights (SDR) ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเงิน SDR อิงตระกร้าเงินที่ประกอบด้วยดอลล่าร์ ยูโร หยวน เยน และปอนด์ ด้วยเหตุนี้ บริกส์จะต้องต้ังองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลการบริหารจัดการเงินสกุลร่วม

อย่างไรก็ตาม BRICS จะต้องมีการยกเครื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ถ้าหากต้องการจะสร้างระบบการเงินโลกใหม่ โดยจะต้องทะยอยขายทิ้งดอลล่าร์ ยูโร ปอนด์และเยน แล้วหันมาถือเงินสกุลท้องถิ่นที่เป็นคู่ค้ากันและทองคำแทน

นาย Stephen Jen ซีอีโอของ Eurizon SLJ Capital บอกว่า เงินดอลล่าร์กำลังสูญเสียความเป็นเงินรีเสิร์ฟของโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สหรัฐแซงชั่น และยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในปีที่ผ่านมา

เขาบอกว่า ในปี 2001 ธนาคารกลางทั่วโลกถือดอลล่าร์เป็นรีเสิร์ฟในสัดส่วน73%ของพอร์ตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในปี 2021 สัดส่วนนี้ลดลงเหลือ 55% แต่ในปี 2022 ที่รัสเซียถูกแซงชั่น สัดส่วนการถือดอลล่าร์ในรีเสิร์ฟของธนาคารกลางทั่วโลกลดลงเหลือ 47% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการถือทองคำที่สูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ที่ผ่านมาของธนาคารกลางที่ขายดอลล่าร์เพื่อซื้อทองคำ 1,136 ตัน คิดเป็นเงิน $70,000 ล้าน เพราะว่าเห็นความเสี่ยงในการถือครองดอลล่าร์
กำลังโหลดความคิดเห็น