xs
xsm
sm
md
lg

จับตา รมว.ต่างประเทศเยอรมนีเยือนแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นางอันนาเลนา แบร์บ็อค รมว.ต่างประเทศของเยอรมนี เดินทางถึงนครเทียนจินทางภาคเหนือของจีน เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2566 - ภาพ : VCG
รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีเริ่มการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ 3 วัน เรียกร้องยุโรปอย่านิ่งดูดายความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน ย้ำเยอรมนีไม่ต้องการแยกเศรษฐกิจจากจีน แต่ต้องการลดความเสี่ยงในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน
 
การมาเยือนจีนของนางอันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมืองเบียร์ มีขึ้นคล้อยหลังประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเสร็จสิ้นการเยือนจีนไปไม่นาน โดยระหว่างเยือนจีนผู้นำฝรั่งเศสได้แสดงความเห็นครั้งโลกตะลึงกับสื่อมวลชนว่า ยุโรปไม่ควรเดินตามสหรัฐฯ กรณีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นไต้หวัน เพราะไม่ใช่เรื่องของยุโรปที่จะไปจมอยู่กับวิกฤตดังกล่าว ความเห็นของผู้นำฝรั่งเศสจุดให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้เกี่ยวกับความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ของยุโรป

อย่างไรก็ตาม นางแบร์บ็อคแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สนับสนุนจุดยืนของ นาง อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเยือนกรุงปักกิ่งร่วมกับประธานาธิบดีมาครงเมื่อสัปดาห์ก่อน และมีท่าทีหนักแน่นมากกว่ามาครง โดยนางแบร์บ็อค กล่าว ขณะเยือนนครเทียนจินในวันแรกของการเยือนจีนเมื่อวันพฤหัสฯ (13 เม.ย.) ว่า การยกระดับความรุนแรงทางทหารในช่องแคบไต้หวันอาจเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดสำหรับเศรษฐกิจโลกได้ ดังนั้น ยุโรปจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน

นอกจากนั้น นางแบร์บ็อคยังระบุว่า ยุโรปและเยอรมนีจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนกับปักกิ่งอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่ควรลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนด้วย โดยนางแบร์บ็อคอธิบายว่า นี่มิใช่การแยกเศรษฐกิจจากจีน เพราะเยอรมนีไม่มีความสนใจที่จะทำเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่เป็นการลดความเสี่ยง เนื่องจากมีบทเรียนจากกรณีสงครามในยูเครน ซึ่งยุโรปและเยอรมนีต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นสำคัญ

 
ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวของมาครงถูกตอบโต้อย่างรุนแรงทั้งในสหรัฐฯ และในยุโรปเอง โดยมองว่า ผู้นำฝรั่งเศสกำลังอ่อนข้อให้จีน ซึ่งมีเป้าหมายทำลายความเป็นเอกภาพระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป การเยือนจีนของ รมว.ต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่สุดในยุโรปจึงถูกคาดหวังกันว่า จะช่วยควบคุมความเสียหายที่เกิดจากคำพูดของผู้นำฝรั่งเศสได้ อย่างไรก็ตาม การเยือนจีนก็เป็นเรื่องที่นางแบร์บ็อคต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังเช่นกัน เพราะเธอได้ชื่อว่าเป็นสายเหยี่ยวที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่านายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีเสียอีก

ที่มา  : รอยเตอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น