xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘สี จิ้นผิง’ พบ ‘ปูติน’ ชูบทบาทจีนเป็นผู้นำสันติภาพ แต่ยังไร้วี่แววจบสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามองเมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนเดินทางไปเยือนกรุงมอสโก และมีการประชุมซัมมิตร่วมกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียในสัปดาห์นี้ ในความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าเป็นสัญญาณการจับมือต้านอิทธิพลตะวันตก และชูบทบาทของจีนในฐานะมหาอำนาจที่เป็นผู้นำด้านสันติภาพ

ในวันจันทร์ที่ 20 มี.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการเยือนมอสโก ประธานาธิบดี สี และ ปูติน ได้ร่วมหารือกันนานถึง 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยต่างแสดงความกังวลเรื่องการแผ่สยายอิทธิพลทางทหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในเอเชีย และเห็นพ้องให้มีการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน

ผู้นำทั้งสองยังใช้คำเรียกกันและกันอย่างอบอุ่นว่า “เพื่อนรัก” (dear friend)

ปูติน ระบุว่า เขาพร้อมเปิดกว้างสำหรับการเจรจาเรื่องยูเครน พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมแผนสันติภาพ 12 ประการของปักกิ่ง ซึ่งครอบคลุมข้อเรียกร้องเจรจาและการเคารพซึ่งอธิปไตยเหนือดินแดนของทุกๆ ประเทศ

“ข้อเสนอหลายประการในแผนสันติภาพของจีนสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการบรรลุข้อตกลงด้วยสันติวิธี หากยูเครนและชาติตะวันตกพร้อมที่จะทำ” ผู้นำรัสเซียกล่าว แต่ก็เสริมว่าตัวเขาเอง “ยังไม่เห็นความพร้อมจากฝ่ายนั้น”

ด้านประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ระบุว่า เคียฟได้ส่งเทียบเชิญไปยังผู้นำจีนให้มาร่วมหารือกันแล้ว และกำลังรอคอยคำตอบจากปักกิ่งอยู่

“เราขอเชิญจีนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในข้อตกลงสันติภาพ เราเองได้ส่งแผนสันติภาพของเราผ่านไปยังทุกช่องทาง เราขอเชิญให้คุณมาพูดคุยกัน และกำลังรอคอยคำตอบจากคุณอยู่” เซเลนสกี ระบุในงานแถลงข่าว

ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มอสโกและปักกิ่งต่างมองหาลู่ทางที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างกันเพื่อถ่วงดุลการครองโลกของสหรัฐอเมริกา ขณะที่การเยือนรัสเซียของ สี จิ้นผิง คราวนี้ถูกมองว่าเป็นการมอบแรงหนุนที่มีนัยสำคัญยิ่งต่อ ปูติน ซึ่งถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับฐานก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อวันที่ 17 มี.ค. จากการบังคับส่งตัวเด็กๆ ชาวยูเครนออกไปยังดินแดนรัสเซีย

ปูติน กล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำภายหลังเจรจากับผู้นำจีนในวันแรกว่า “ผมมั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างรัสเซีย-จีนมีความเป็นไปได้และโอกาสที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความเจริญรุ่งเรือง” ของประชากรทั้ง 2 ชาติ

ในวันที่ 2 ของการเดินทางเยือนมอสโก ประธานาธิบดี สี กล่าวว่า ความสัมพันธ์กับรัสเซีย "กำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่" ขณะที่ ปูติน ระบุว่า การหารือกับผู้นำจีนคราวนี้ "มีความหมายและตรงไปตรงมา" พร้อมยืนยันว่ารัสเซียซึ่งถูกกีดกันออกจากตลาดยุโรปด้วยมาตรการคว่ำบาตรจะสามารถรองรับอุปสงค์ทางพลังงานที่เติบโตขึ้นของจีนได้อย่างแน่นอน

ความร่วมมือด้านพลังงานเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญในการไปเยือนรัสเซียของ สี จิ้นผิง ซึ่งผู้นำรัสเซียก็ประกาศว่าทั้ง 2 ชาติได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการท่อก๊าซ “ไซบีเรีย 2” ซึ่งจะเชื่อมภูมิภาคไซบีเรียเข้ากับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ผู้นำทั้งสองยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมโจมตีโลกตะวันตก โดยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าจงใจบ่อนทำลายความมั่นคงสากล

“เราทั้ง 2 ชาติขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดบ่อนทำลายความมั่นคงของนานาชาติและภูมิภาค รวมถึงเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ของโลก เพียงเพื่อให้บรรลุซึ่งความได้เปรียบทางทหารฝ่ายเดียว” คำแถลงร่วมระบุ

ตลอดการเยือนมอสโก 2 วัน แม้ สี จะแทบไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงความขัดแย้งในยูเครนตรงๆ แต่เขากล่าวย้ำในวันอังคาร (21) ว่าจีน "คงจุดยืนเป็นกลาง” ในเรื่องนี้ และแม้ว่าการรับบททูตสันติภาพของ สี จิ้นผิง จะยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรม แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้นำจีนไม่ได้รับปากมอบความช่วยเหลือในการทำสงครามแก่ฝ่ายรัสเซียเลยเช่นกัน

สี จิ้นผิง ได้ฝากข้อความทิ้งท้ายกับ ปูติน ก่อนจะเดินทางออกจากมอสโกว่า “เวลานี้กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 100 ปี และหากเราทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน เราจะเป็นผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้”

ผู้นำรัสเซียตอบกลับว่า “ผมเห็นด้วย” ขณะที่ สี ยังบอกให้ ปูติน “รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีด้วย เพื่อนรัก”


จีนและรัสเซียมักจะทำงานสอดประสานกันในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ผ่านการใช้อำนาจ “วีโต” ในฐานะสมาชิกถาวรเพื่อคัดค้านมาตรการต่างๆ ของตะวันตก และด้วยเหตุนี้การที่รัสเซียส่งทหารบุกยูเครนจึงก่อความกังวลในบรรดามหาอำนาจตะวันตกว่า สักวันหนึ่งจีนก็อาจจะพยายามเข้าควบคุม “ไต้หวัน” ซึ่งปักกิ่งอ้างว่าเป็นดินแดนในอธิปไตยของตนเองบ้างเช่นกัน

แม้จีนจะพยายามวาดภาพตนเองในฐานะชาติ “เป็นกลาง” ในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทว่า สหรัฐฯ ได้ออกมาพูดดักคอแต่เนิ่นๆ ว่า จีนไม่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยที่ดี เนื่องจากไม่เคยประณามมอสโกซึ่งเป็นฝ่ายส่งทหารรุกรานเคียฟก่อนแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งยังกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมากขึ้นด้วย

สหรัฐฯ ยังตั้งข้อสังเกตว่า แผนสันติภาพ 12 ประการของปักกิ่งซึ่งไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะยุติสงครามยูเครนด้วยวิธีไหน อาจเป็นเพียง "กลยุทธ์เตะถ่วง" เพื่อช่วยเหลือมอสโก และแถมยังกล่าวหาจีนว่ากำลังพิจารณาส่งอาวุธไปช่วยรัสเซียพลิกเกมสงคราม ซึ่งเป็นข้อครหาที่ปักกิ่งปฏิเสธสิ้นเชิง

แม้การจับมือเป็นพันธมิตรทางการทูตกับปักกิ่งจะมีส่วนช่วยให้รัสเซียสามารถยืนหยัดต้านทานแรงกดดันของตะวันตก และยังสร้างรายได้มหาศาลเข้าสู่คลังของทำเนียบเครมลิน เนื่องจากจีนนั้นได้กลายเป็นชาติผู้นำเข้าน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียไปแล้วในตอนนี้ ทว่าการพึ่งพาจีนอย่างมากก็ทำให้ภาพลักษณ์ของ ปูติน เริ่มดู “ด้อยกว่า” สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายรัสเซียไม่เต็มใจให้เกิดขึ้นนัก

“รัสเซียอาจกังวลที่ต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าแล้วในตอนนี้” หลี่ ซิน ผู้อำนวยการสถาบันยุโรปและเอเชียศึกษา จากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายแห่งเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็น

สำหรับรัสเซียและจีน การจับขั้วเป็นพันธมิตรยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นหลังจากที่วอชิงตันคว่ำบาตรมอสโก และยังปิดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญๆ โดยยกเอาประเด็นเรื่อง “ความมั่นคง” มาอ้าง

สี จิ้นผิง ได้ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ ตรงๆ เมื่อต้นเดือนนี้ว่า “จงใจปิดกั้นการพัฒนาของจีน”

“มีความรู้สึกกันโดยทั่วไปว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรอเมริกากำลังจงใจปิดล้อมรัสเซียและจีน” หลี่ หมิงเจียง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม (S. Rajaratnam School of International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ ระบุ พร้อมชี้ว่าถึงแม้มอสโกและปักกิ่งจะยังมี “ความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจในทางยุทธศาสตร์” กันอยู่บ้าง แต่ก็มีผลประโยชน์ร่วมทางการเมืองเป็นแรงจูงใจในการจับมือต่อต้านอิทธิพลของอเมริกา


ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ก็ถือโอกาสหลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนอินเดียเดินทางต่อไปยังยูเครนโดยไม่ประกาศล่วงหน้าเมื่อวันอังคาร (21) ในความเคลื่อนไหวซึ่งถูกมองว่าเป็นการ “ดักหน้า” ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่คาดว่าอาจจะมีการต่อสายพูดคุยกับ เซเลนสกี หลังจากที่พบ ปูติน แล้ว

การเยือนของ คิชิดะ ทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เดินทางไปเยือนประเทศหรือภูมิภาคที่กำลังร้อนระอุด้วยไฟสงคราม และยังถือเป็นผู้นำชาติเอเชียรายแรกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ที่ไปเยือนยูเครนด้วย

สื่อทั่วโลกได้ตีแผ่ภาพที่ คิชิดะ และ เซเลนสกี จับมือกันอย่างอบอุ่น นอกจากนี้ นายกฯ ญี่ปุ่นยังเดินทางไปที่เมืองบูชา (Bucha) ซึ่งเป็นจุดที่ค้นพบการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมระหว่างที่เมืองอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย

เซเลนสกี แถลงในช่วงเย็นวันเดียวกันว่า การเจรจากับผู้นำญี่ปุ่น “เป็นไปอย่างสร้างสรรค์”

“ผมได้รับทราบว่าญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับเรา เพื่อปกป้องระเบียบสากล ป้องกันการรุกราน และต่อต้านการก่อการร้ายของรัสเซีย”

ผู้นำยูเครนยังยืนยันด้วยว่า เขาตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมซัมมิต G7 ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ค.นี้ ผ่านทางระบบวิดีโอลิงก์

ระหว่างที่การประชุมซัมมิต สี-ปูติน รูดม่านปิดฉากลง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ประกาศบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับเคียฟว่าด้วยแพกเกจเงินกู้ระยะ 4 ปี มูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและระบบเศรษฐกิจยูเครนที่พังเสียหายจากการถูกรัสเซียโจมตีทางทหารมานานกว่า 1 ปี

โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันในสัปดาห์นี้ว่า วอชิงตันจะเร่งส่งมอบรถถังโจมตีเอบรามส์ จำนวน 31 คันให้ถึงมือยูเครนภายในฤดูใบไม้ร่วง ขณะที่อังกฤษประกาศส่งมอบกระสุนรถถังบรรจุยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (depleted uranium) ให้แก่ยูเครน ซึ่งกระตุ้นให้ ปูติน ออกมาประณาม และขู่ว่ามอสโกอาจถูกบีบให้ต้องใช้มาตรการตอบโต้ที่สาสมกัน

เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย เตือนว่า ความเคลื่อนไหวของสหราชอาณาจักรที่เข้าข่ายนำอาวุธซึ่งมีส่วนประกอบของนิวเคลียร์มาใช้ในสงคราม ทำให้ความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าด้วยนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกเหลือที่ว่างอีกเพียงไม่กี่ย่างก้าวเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น