xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยถอดรหัสพันธุกรรม "วัณโรค" เชียงราย พบสายพันธุ์ Lineage 2 ถึง 40% แพร่ระบาดสูง มักดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมวิทย์ ร่วมญี่ปุ่นและศูนย์วิจัยจีโนมฯ วิจัยถอดรหัสพันธุกรรม "เชื้อวัณโรค" เชียงราย พบสายพันธุ์ Lineage 2 แพร่ระบาดสูงและมักดื้อยา ถึง 40% การระบาดเป็นคลัสเตอร์พบถึง 46% ผู้ป่วย 20-40% มีประวัติเคยต้องขัง
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมฯ ร่วมกับสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโตเกียว และศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล วิจัยพบเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) ซึ่งพบการระบาดในภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันออก, ยุโรปตะวันออก, แอฟริกาใต้ มีการกระจายหลายวงระบาดในภาคเหนือของไทย ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคตั้งแต่ ปี 2560-2563 ใน จ.เชียงราย พบว่า มีเชื้อวัณโรคที่สามารถเพาะเชื้อขึ้น และสกัดสารพันธุกรรมมาตรวจหาสายพันธุ์ด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 592 ตัวอย่าง ระบุได้ 4 สายพันธุ์ คือ Lineage 1-4 โดยเป็นสายพันธุ์ Lineage 1 (สายพันธุ์อินเดีย) มากที่สุดร้อยละ 45.8 ตามด้วย Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) ร้อยละ 39.9


"เป็นลักษณะจำเพาะของไทยที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคสูง เนื่องจากมีการเชื่อมโยงของผู้คน เชื้อวัณโรคมาจากทั้งสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคในแถบมหาสมุทรอินเดีย และจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก" นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์เฉพาะการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน จากข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค พบเป็นสายพันธุ์ Lineage 2 มากถึงร้อยละ 46.2 ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงและมักดื้อยา นอกจากนั้น ยังพบการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ คือมีผู้ป่วยวัณโรค 10 คนขึ้นไป จำนวน 4 การระบาด ร้อยละ 20 - 40 ของผู้ป่วยมีประวัติเคยเป็นผู้ต้องขัง ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญกับการระบาดมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติเป็นผู้ต้องขัง ประมาณ 4 เท่า โดยบางรายมีอาการของวัณโรคหลังจากเคยต้องขังผ่านมาถึง 10 ปี

ปัจจุบันไทยดำเนินการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและผู้สัมผัสวัณโรค เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ดังนั้น เครือข่ายต่างๆ หากประเมินแล้วมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ต้องขัง ควรตรวจคัดกรองวัณโรคและวัณโรคแฝง ภายหลังออกจากทัณฑสถาน เพื่อให้ตรวจพบวัณโรคได้รวดเร็ว ลดโอกาสเสียชีวิต เกิดการควบคุมแบบครบวงจร ย้ำว่าการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหาผู้ป่วยวัณโรคให้เจอเร็ว รักษาให้ครบถ้วน เพื่อลดการแพร่เชื้อ


สำหรับการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อวัณโรค ปี 2566 มีเป้าหมาย 700 ตัวอย่าง คาดหวังว่าจะสามารถขยายการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค เพื่อนำไประบุวงระบาดและเพิ่มประสิทธิภาพสอบสวนและควบคุมโรคในพื้นที่อื่นเพิ่มเติมได้ สนับสนุนเป้าหมายการยุติวัณโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น