xs
xsm
sm
md
lg

48 ปี “เสียงอิสาน” ความสุขของ “แม่นกน้อย อุไรพร” สืบทอดจิตวิญญาณชาวอีสานจากรุ่นสู่รุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



48 ปี “เสียงอิสาน” ตำนานหมอลำไม่มีวันตายของ “แม่นกน้อย อุไรพร” สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยการปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ เน้นความสนุกแต่ยังรักษาวัฒนธรรมคนอีสาน

แม่นกน้อย อุไรพร
ภาพคณะหมอลำวงใหญ่ บนเวทีที่จัดเต็มด้วยแสงสีเสียง อันเป็นภาพจำของความสนุกสนานแบบพื้นบ้านชาวอีสาน เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักคณะหมอลำ “เสียงอิสาน” คณะหมอลำในตำนานที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน

จากวันแรกที่ก่อตั้ง “เสียงอิสาน” จนถึงวันนี้ก็นับได้ 48 ปีแล้ว จากวงดนตรีเล็กๆ มาสู่คณะหมอลำวงใหญ่ที่เคยมีลูกน้องกว่า 600 ชีวิต “แม่นกน้อย อุไรพร” ศิลปินลูกทุ่งหมอลำ และผู้ก่อตั้งคณะหมอลำเสียงอิสาน ได้เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น

แม่นกน้อย อุไรพร
“ย้อนไปตอนที่ตั้งวง กับตอนนี้ก็เป็นคนละยุคแล้ว ซึ่งยุคนี้เป็นยุคโลกออนไลน์โซเชียล เราเองก็ต้องเข้าถึงแล้วก็ปรับตัวมาก หากย้อนไปเมื่อก่อนก็เป็นวัฒนธรรมจ๋า แต่ถ้าเป็นยุคนี้ก็คือประยุกต์ให้เข้ากับอินดี้ลูกทุ่ง ปรับเปลี่ยนให้ดนตรีพิณแคนของคนอีสานได้เข้ากับดนตรีสากล ปรับเปลี่ยนเพื่อให้คนรุ่นใหม่ชมแล้วไม่รู้สึกเบื่อ เพราะว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา เด็ก วัยรุ่น เข้ามาชมก็ดูกันได้ และยังคงเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมของหมอลำของคนอีสานไว้

จากการทำวงเสียงอิสาน ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมากว่า 10 ปีแล้ว แม่นกน้อยเล่าว่า หมอลำในยุคปัจจุบันต้องปรับให้เข้ากับวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่มากขึ้น การแสดงโชว์จะเริ่มตั้งแต่ 20.00 น. ไปจนถึงสว่าง คือประมาณ 06.00 น. ซึ่งช่วงหัวค่ำก็จะเป็นการเล่นคอนเสิร์ต มีการโชว์วัฒนธรรม และวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงหมอลำต่อกลอน ที่เป็นวัฒนธรรมของหมอลำก็ยังคงมีอยู่ แต่ก็ต้องเน้นความสนุก เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมสนุกสนานไปด้วย

หน้าเวทีเสียงอิสาน
“แม่มองว่าหมอลำไม่มีวันตายอย่างแน่นอน เพราะว่าวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ก็ดูได้ ชอบ แล้วก็มาต่อยอดมาสมัครที่วง อยากเป็นหมอลำ อยากเป็นนักร้อง เพราะว่าตอนนี้คือเราก็ไม่ใช่วัฒนธรรมจ๋าแล้ว แต่เราก็ยังคงความอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้น้องๆ วัยรุ่นเยาวชนคนรุ่นใหม่

และมีความรู้สึกว่าเมื่อก่อนจะหานักแสดงหานางเอกพระเอกนี้จะหายากมาก เพราะว่าวัยรุ่นจะมีความความรู้สึก มีความคิดว่าหมอลำมันจะยาก แต่ทุกวันนี้ในความเป็นแม่นกน้อย อุไรพร กับประสบการณ์ 48 ปี แม่มองว่าเราจะเอาความสามารถของวัยรุ่นเป็นตัวตั้งก่อน เสียงคือพรสวรรค์ แล้วก็มีพรแสวง แต่ก็จะไม่ยึดติดว่าต้องเป๊ะแบบนี้นะ ต้องได้แบบนี้นะ เราจะยอมเปลี่ยนวิธีการที่จะถ่ายทอด ก็จะบอกน้องๆ ลูกๆ ว่า ความสามารถหนูคืออะไร หนูต้องการแบบไหน เอาตัวตนหนูออกมาก่อน น้องจะมีความรู้สึกว่าเรียนหมอลำมันก็ไม่ได้ยาก เพราะว่าแม่นกน้อยเอาความสามารถของน้องๆ ก่อน แล้วค่อยมาปรับใหม่อีกนิดหน่อย”

หน้าเวทีเสียงอิสาน
สำหรับหมอลำต่อกลอน หรือเรื่องที่จะเล่าบนเวที แม่นกน้อยเปิดให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ก่อนจะสรุปความคิดเห็น และประชุมสรุปงานในท้ายที่สุด ออกมาเป็นการแสดงที่ได้เห็นกันในทุกวัน และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงง่ายแบบวิถีชาวบ้าน ที่หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องน้ำเน่า แต่ก็ไม่ต่างจากละครส่วนใหญ่ที่เรตติ้งดี เป็นเรื่องราวของเมียน้อยเมียหลวง เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว แต่ก็ถูกนำมาเสนอในแบบที่สนุกสนาน และสะท้อนสังคมในแนวคิดทำดีก็ต้องได้ดี

หน้าเวทีเสียงอิสาน
“มองว่า 48 ปีของแม่นกน้อยแล้วก็หมอลำเสียงอิสาน นั่นก็คือการพัฒนาปรับเปลี่ยนเป็นหมอลำก้าวล้ำตลอดกาล เราไม่หยุดอยู่กับที่ จะปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยแล้วก็ร่วมสมัยให้มากที่สุด หมอลำยังอยู่คู่อีสานแน่นอน เพราะว่าวัฒนธรรมนี้เป็นแก่นรากเหง้าของคนอีสาน เป็นการถ่ายทอดด้วยภาษาอีสานและเครื่องดนตรี แล้วก็ในความร่วมสมัยก็คือเราเอามาร่วมสมัยกับสังคมปัจจุบัน เมื่อก่อนนี้ยุคพ่อยุคแม่ ยุคปู่ย่าตายายเรายังสืบทอดมาได้ แล้วคนยุคใหม่ก็เก่งทั้งโซเชียลต่างๆ หลากหลาย แม่จึงมองว่าหมอลำไม่มีวันตาย คนรุ่นใหม่เก่งที่จะสร้างงานและต่อยอดต่อไปได้”

หน้าเวทีเสียงอิสาน

หลังเวทีเสียงอิสาน
แม่นกน้อย อุไรพร มองว่าคณะเสียงอิสาน เหมือนกับสถาบันที่เห็นมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นการเรียนในภาคปฏิบัติที่จะต้องลงสนามจริง เป็นการนอนกลางดินกินกลางทราย เด็กๆ บางคนที่จะสมัครเข้ามาในวงก็มีความฝันว่าจะได้นั่งรถหรู นอนโรงแรมห้าดาว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ จากที่ตนคลุกคลีอยู่กับวงมาตลอด 48 ปี เสียงอิสานก็มีแค่การขึ้นเวที ลงเวที แล้วขึ้นรถเดินทาง ถ้าหากเดินทางไปกว่า 400-500 กิโลเมตร จะเป็นช่วงเวลาที่ได้พักผ่อนนอนหลับ แต่หากเดินทางในระยะใกล้ก็อาจจะไม่ได้นอน เพราะเมื่อเดินทางไปถึงสถานที่จัดงานก็ต้องเริ่มเตรียมงาน เตรียมการแสดงแล้ว

“ความยากของเสียงอิสานคือยากทุกอย่าง มีสถานที่บางสถานที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้ ไปเจอเล่นพื้นที่จำกัดมาก อันนั้นเราก็ต้องจำยอมแล้วก็ไลฟ์สดให้เหตุผลที่ทำไมเวทีจึงไม่อลังการไม่ยิ่งใหญ่ต้องใช้เวทีเล็ก บางวันเป็นช่วงฤดูฝน น้ำท่วมบางสถานที่ แต่ต้องแสดงให้ได้ พอน้ำมาก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำ ไปเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน”

หลังเวทีเสียงอิสาน

หลังเวทีเสียงอิสาน
“ช่วงที่มีคนมากที่สุดคือ 600 คน เป็นช่วงก่อนโควิด แม่เองก็ช็อกนะ ไม่คิดว่าเขาจะอยู่ยาวเพราะตอนที่เขาอยู่ยาวนี่แหละช็อก ตอนแรกอ่ะจริงเหรอ อาจจะอยู่ซักอาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่งมั้ง แล้วก็ล็อคทั้งประเทศ ทุกคนก็รอความหวัง เพราะการที่เราสร้างงานหรือสร้างบุคลากรมนุษย์ ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น บางคนเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้วก็ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ น้องเลยไม่ไปไหน ยังมีความหวังว่าเราต้องได้เดินสาย เราต้องได้ทำงานล้อหมุนนะแม่ แต่พอน้องม่ไปไหน หยุดเชื้อเพื่อชาติ แต่ก็ต้องกิน ยืมเงินนอกระแบบในระบบต่างๆ จนมีกระแสว่าแม่นกน้อยจะยุบวงไหม ทุกอย่างมันถาโถม

พอโควิดรอบสองรอบสาม แม่ก็คิดแล้วว่า ลูกๆ เหล่านี้แม่จะถ่ายน้องไปยังไง ก็มีการเรียกคุยกันว่า ทุกคนต้องสลายตัวแล้ว เพราะรวมกันตายหมู่แล้ว ไม่ใช่รวมกันเราอยู่ ใครจะไปทำงานอะไรก็ต้องไปแล้วนะ ถ้าโควิดไปแล้วเราค่อยกลับมารวมตัวกันใหม่ เป็นการคัดกรองด้วย ถ้าหนูมีงานทำดีๆ แล้วก็ไม่ต้องกลับมาหาแม่ ตอนนี้จึงเหลือ 300 กว่าคน ก่อนหน้านี้เราเจอมาหนักมาก ทั้งความรุนแรงของวัยรุ่น น้ำท่วม การเมือง ทุกอย่างกระทบเรา แม้สีผ้าม่านเวทีก็ยังมีผล สีชุดที่ใส่ออกมาก็ยังมีผล ทุกอย่างมีผลกระทบมากกว่าจะมาถึงวันนี้ แต่คือขอให้อย่าโหดไปมากกว่านี้”

หลังเวทีเสียงอิสาน


ถามว่าเหนื่อยหรือไม่ แม่นกน้อยตอบว่า เหนื่อยในการต่อสู้กับทุกปัญหาทั้งปัญหาของที่วง และยังสามี (อาวทิดหลอด มัยกิจ ฉิมหลวง) ป่วยหลายโรค ด้วยการที่เป็นคนของประชาชนทำให้ตนเองไม่สามารถไปเฝ้าสามีได้ทุกวัน จากที่เคยมีสามีเป็นคู่คิด ปัจจุบันจึงต้องพยายามดูแลวงเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ และบอกน้องๆ ลูกๆ เสมอว่า สักวันหนึ่งต้องไม่มีตนเองและพ่อหลอด ลูกจะต้องแข็งแรง ดูแลกันต่อไปให้ได้ ซึ่งเป็นสัจธรรมของชีวิต

หนึ่งในพลังบวกของแม่นกน้อย อุไรพร คือการที่คนรุ่นใหม่ ทั้งนักเรียน นักศึกษา ให้ความสนใจหมอลำกันมากขึ้น สิ่งที่ตนทำอยู่เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำมาหากิน แล้วก็เป็นการต่อยอดศิลป์ศาสตร์ของหมอลำ วัฒนธรรมของคนอีสานที่รับมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป เป็นความภาคภูมิใจของคนอีสาน


“บางวันแม่ก็ได้เฝ้าท่าน (พ่อหลอด) อยู่ที่โรงพยาบาล แต่ก็ยังมีเจ้าภาพบางงานที่จ้างไว้ไม่ยอมค่ะ ยายนกต้องมานะ ยายนกไม่มาไม่จ่ายตังค์นะ ตำนานยังมีลมหายใจอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้ตายจาก เจ้าภาพจึงยังเรียกร้องได้ คุณต้องมานะ มาให้ได้ แต่ถ้าตายแล้วก็คงไม่มีปัญหา แล้วก็เป็นความสุขที่เราเองก็สะท้อนใจเช่นเดียวกัน แฟนคลับเป็นพันเป็นหมื่น ไม่ได้ ยายนกต้องไป แล้วก็วางคุณพ่อไว้ ฝากไว้กับหมอ ความสุขก็คือได้ออกไปหน้าเวที ได้เห็นแววตากระตือรือร้นของแฟนเพลง ทุกอย่างมันจะลบออกหมดเลยตรงนั้น แม่ก็มีความสุข ความสุขคือได้ออกหน้าเวที ได้สื่อสารให้แฟนเพลงได้รู้จักว่า นี่คือชีวิต จิตวิญญาณของนักแสดงที่เป็นนกน้อย อุไรพร”


นอกจากจะเปิดงานแสดงตามสถานที่ต่างๆ ตามแต่เจ้าภาพจะจ้างไปแล้ว ยังมีการร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงาน “Concert หมอลำเสียงอิสาน X ISAN IN LOVE” โดยมุ่งนำเสนอเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอีสานผ่านดนตรีพื้นบ้านอย่างการแสดงหมอลำ ซึ่งถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เป็นที่นิยมและมีนัยยะสำคัญต่อการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของฐานรากอย่างชัดเจน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทยสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศด้วย

โดย ททท. สนับสนุนการจัดกิจกรรมใน 10 พื้นที่จัดงานในภาคอีสาน ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 จัดงานในวันที่ 11 มีนาคม 2566 ณ วัดป่าอาเจียง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ / ครั้งที่ 2 จัดงานในวันที่ 12 มีนาคม 2566 ณ บ้านละทาย ต.ละทาย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ / ครั้งที่ 3 จัดงานในวันที่ 16 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านหนองเขื่อนช้าง ต.ท่าสองคอน อ.เมือง มหาสารคาม จ.มหาสารคาม / ครั้งที่ 4 จัดงานในวันที่ 9 เมษายน 2566 ณ บึงโขงหลง ต.บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ / ครั้งที่ 5 จัดงานในวันที่ 10 เมษายน 2566 ณ วัดศรีอุบล บ้านม่วงหวาน ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ครั้งที่ 6 จัดงานในวันที่ 11 เมษายน 2566 ณ อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด / ครั้งที่ 7 จัดงานในวันที่ 16 เมษายน 2566 ณ วัดป่าธาตุวนาราม ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ / ครั้งที่ 8 จัดงานในวันที่ 17 เมษายน 2566 ณ วัดโพธิ์ชัย ต.ในเมือง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย / ครั้งที่ 9 จัดงานในวันที่ 18 เมษายน 2566 ณ วัดถ้ำอินทร์แปลง ต.หนองกุงศรี อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี และ ครั้งที่ 10 จัดงานในวันที่ 23 เมษายน 2566 ณ บ้านนากลาง ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา


ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะหมอลำ “เสียงอิสาน” ได้ที่ Facebook : หมอลำเสียงอิสาน นกน้อย อุไรพร

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น