xs
xsm
sm
md
lg

ระบบธนาคารสหรัฐพังเพราะเฟด (Federal Reserve)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ระบบธนาคารสหรัฐพังเพราะเฟด (Federal Reserve)
โดย ทนง ขันทอง


เราสามารถฟันธงได้เลยว่า วิกฤติธนาคารที่ค่อนข้างรุนแรงที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้มีสาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด หรือจงใจให้ผิดพลาด หรือตั้งใจทำให้พังของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Federal Reserve)ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดให้กับพวกแบงค์วอลล์สตรีทที่เป็นผู้ถือหุ้น โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงของระบบการเงิน ระบบธนาคาร รวมท้ังเศรษฐกิจส่วนรวม เพราะถือดีว่ามีอำนาจพิมพ์ดอลล่าร์ จะใส่ดอลล่าร์ในมือใครก็ได้

ความผิดพลาดนั้นมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาของเฟดที่ไม่ได้ยึดหลักทางสายกลาง แต่มีการใช้นโยบายการเงินเหมือนนั่งรถไฟเหาะอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การเงินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 2009 ถึงต้นปี 2022 ที่มีการกดดอกเบี้ยลงศูนย์เปอร์เซ็นต์ และคงดอกเบี้ยต่ำอย่างอย่างผิดปกติเป็นเวลารวมกัน13ปีเต็ม รวมท้ังการเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบอย่างมหาศาลมีผลทำให้เกิดฟองสบู่ทางการเงินไปท่ัว (The Everything Bubble) หรือเกิดmispricingหรือการที่ราคาทรัพย์สินต่างๆสูงขึ้นผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงมาก

ผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจเกินความจำเป็น บวกกับงบประมาณขาดดุล หรือการก่อหนี้มหาศาลของภาครัฐ ทำให้เกิดแรงกดดันของเงินเฟ้ออย่างรุนแรง พอเฟดกลับลำเปลี่ยนนโยบายการเงินมาสกัดเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปี 2022 ด้วยการดึงดอกเบี้ยขึ้น8คร้ังจาก 0%-0.25% ถึงระดับ 4.50%-4.75% รวมท้ังดูดเงินกลับออกจากระบบ $573,000 ล้าน จากการทำ Quantitative Tightening มีผลทำให้ราคาทรัพย์สินทุกประเภทตกฮวบฮาบลงมา ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร ตลาดหุ้น อสังหาฯ ส่งผลให้เกิดวิกฤติกับระบบธนาคารของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารขนาดกลาง และขนาดเล็กที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของดอกเบี้ย (interest rate shock) ไม่ได้


ธนาคารซิลิคอน แวลเลย์ ธนาคารซิกเนเช่อร์ที่ถูกปิด รวมท้ังธนาคารเฟิร์ส รีพับลิกไม่ได้มีปัญหาหนี้เสียเหมือนในปี 2008 แต่มีปัญหาขาดสภาพคล่องที่เกิดจากการขาดทุนของการถือครองพันธบัตรที่ซื้อมาในช่วงยิลด์ หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ หลังจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงตั้งแต่มีนาคมปี 2022 ธนาคารที่ถือพันธบัตรในพอร์ตการลงทุนประสบกับการขาดทุนทางบัญชี เพราะว่ายิลด์ที่สูงขึ้น

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 2 ปี ของรัฐบาลสหรัฐอยู่ที่ 0.75% ในช่วงต้นปี 2022 แต่เวลานี้พุ่งขึ้นไปเป็น 4% กว่า ทำให้มีการโยกเงินฝากที่ให้ผลตอบแทน 0.2% ไปลงใน Money Market Funds ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า การแบงค์รัน หรือถอนเงินฝากแบบแพนิกทำให้ธนาคารหาสภาพคล่อง หามาคืนให้ผู้ฝากเงินไม่ทัน จำต้องขายพันธบัตรออกไปขาดทุนป่นปี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แบงค์ล้ม

โจ ไบเดนออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า จะปกป้องเงินฝากของประชาชน โดยไม่จำกัดวงเงิน เพราะกลัวว่าธนาคารจะถูกถอนเงินจนล่มเป็นโดมิโน เท่ากับว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังประกันเงินฝาก $19 ล้านล้าน ท้ังหมดในระบบแบงค์ ในขณะเดียวกันมีรายงานว่าธนาคารสหรัฐประมาณ 190 แห่ง มีฐานะอ่อนแอคล้ายกับธนาคารซิลิคอน แวลเลย์จากจำนวนท้ังหมด 4,500 แห่ง จะแบกไหวไม่ไหวไม่รู้ ต้องให้สัญญาอุ้มแบงค์ท้ังระบบไปก่อน วิกฤติคร้ังนี้ทำให้เกิดสองมาตรฐานในระบบธนาคารของสหรัฐ คนฝากโยกเงินออกจากธนาคารเล็ก ธนาคารขนาดกลางไปฝากกับธนาคารใหญ่ของวอลล์สตรีทที่ทางการจะไม่ปล่อยให้ล้ม (Too big to fail)

ในขณะเดียวกัน เฟดแอบกลับไปทำคิวอี ด้วยการพิมพ์เงินเข้าไปแล้วอย่างน้อย $300,000 ล้าน เพื่อซื้อพันธบัตรของบรรดาธนาคารที่มีปัญหาถูกถอนเงิน ที่เอาพันธบัตรมาแลกดอลล่าร์กับเฟดตามราคาหน้าตั๋วโดยไม่ถูกดิสเคาท์จากยิลด์ที่สูงขึ้น เท่ากับว่าเฟดกำลังเอาการขาดทุนของแบงค์มาใส่บัญชีตัวเอง เท่านั้นยังไม่พอ เจพี มอร์แกนเขียนรายงานว่าเฟดอาจต้องใช้เงินมากถึง $2 ล้านล้าน เป็นอย่างน้อยในการอุ้มธนาคารที่อ่อนแอ

วิกฤติธนาคารของสหรัฐปี 2023 ระเบิดออกมาแล้ว โดยที่ทุกคนรู้ว่ามันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าจุดจบจะอยู่ที่ไหน ความเสียหายจะมากน้อยเพียงใด

ส่วนการล่มสลายของธนาคารเครดิต ซูอิสที่ยุโรป โดยถูกธนาคารคู่แข่งยูบีเอสเข้าไปเทคโอเวอร์มีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารที่ผิดพลาด เกิดการขาดทุนมโหฬาร มีเรื่องอื้อฉาวมาก ท้ังรัฐบาลสวิส และเครดิต ซูอิสมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแซงชั่นรัสเซียที่บุกยูเครน ทำให้น่าจะถูกตอบโต้ด้วยการถอนเงินฝาก หรือยกเลิกการทำธุรกิจกับธนาคารสวิส จีน ซาอุดิ อาราเบีย และประเทศอื่นๆมองว่าการฝากเงินที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป เพราะว่าไม่ได้ทำตัวเป็นกลางจึงทะยอยถอนเงินออก ในไตรมาสที่ 4ของปีที่ผ่านมา เครดิส ซูอิสเจอการถอนเงินออกไปมากกว่า $88,000 ล้าน อีกสาเหตุที่ทำให้เครดิต ซูอิสล้มน่าจะมาจากความผิดพลาดในการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ที่มีพอร์ตอยู่$39ล้านล้าน ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยความเสียหายให้กับเครดิต ซูอิสมาก ถึงกับต้องขอเครดิตไลน์จากธนาคารกลางสวิสมากถึง$54,000ล้าน แสดงว่าเครดิต ซูอิสถูกถอนเงิน หรือขาดทุนมีเงินไหลออกเรื่อยๆ

ถ้าจะพูดให้ถึงแก่น วิกฤติระบบธนาคารที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้มาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดของเฟด ที่ไม่ยอมดำเนินนโยบายการเงินสายกลาง

ทางสายกลางคืออะไร

เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อหาทางดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงขบฟัน กลั้นหายใจ อดอาหาร จนร่างกายซูบผอม แต่หลังจากทดลองเป็นเวลานาน 6 ปีแล้วไม่เกิดผล

อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชได้เสด็จลงมาดีดพิณถวาย 3 วาระ คือดีดพิณสายที่ 1 ขึงไว้ตึงเกินไปเมื่อดีดก็จะขาด ดีดพิณวาระที่ 2 ซึ่งขึงไว้หย่อน เสียงจะยืดยานขาดความไพเราะ และวาระที่ 3 ดีดพิณสายสุดท้ายที่ขึงไว้พอดี จึงมีเสียงกังวานไพเราะ

พระพุทธเจ้าจึงทรงพิจารณาเห็นว่า ทางสายกลางคือไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป นั่นคือทางที่จะนำสู่การพ้นทุกข์ หลังจากนั้นจึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา และหันมาฉันอาหารตามเดิม

เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว พระพุทธเจ้าไปประทับใต้ต้นโพธิ์เพื่อทำสมาธิ และตั้งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวว่า จะไม่ทรงลุกจากที่นั่งจนกว่าจะบรรลุมรรคผลหรือตรัสรู้ และในที่สุดก็ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

การดำเนินนโยบายการเงินสายกลางก็เช่นกัน หมายความว่าดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ถ้าจำเป็นต้องตึง ก็จะตึงไม่นานเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหย่อนก็จะต้องหย่อนไม่นานเกินไป หรือในอีกแง่หนึ่งต้องหาจุดสมดุลของอัตราดอกเบี้ย หรือปริมาณเงินในระบบที่เหมาะสมให้เจอ

ไม่ใช่เวลาลดดอกเบี้ยก็ลดอุตลุด พอขึ้นดอกเบี้ยก็ขึ้นเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้

ตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี ของการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4%-6% ระหว่างทางเกิดสงครามกลางเมืองในศตวรรษที่ 19 เกิดสงครามโลก 1, 2 ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 แต่เงินเฟ้อ หรือดอกเบี้ยไม่เคยสูงปรู๊ดปร๊าดเกือบไปถึง 20% เหมือนอย่างปี 1980 ที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงเพื่อปกป้องดอลล่าร์ หลังจากที่สหรัฐยกเลิกผูกดอลล่าร์กับทองคำในปี 1971 ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-2009 กลับมีการริเริ่มนโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์


Fed ไม่ได้เดินทางสายกลางในการบริหารนโยบายการเงิน เพราะว่าทุกคร้ังที่ใช้ดอกเบี้ยต่ำจะสร้างฟองสบู่ทางการเงิน เมื่อขึ้นดอกเบี้ย ฟองสบู่จะแตก อันเห็นได้จากฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2000 ฟองสบู่ซับไพรม์แตกในปี 2007 ฟองสบู่วอลล์สตรีทแตกในปี 2008

วิกฤติ 2008 ทำให้เฟดมีข้ออ้างในการดำเนินนโยบายการเงินแบบทุ่มสุดตัวจนหมดหน้าตัก คือกดดอกเบี้ยลง0% และการทำคิวอี หรือการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบมหาศาลผ่านการอุ้มพันธบัตรรัฐบาล และซื้อmortgage-backed securities หรือตราสารหนี้ที่มีอสังหาฯเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จนทำให้งบดุลของเฟดปูดขึ้นมาจาก $900,000 ล้าน ก่อนวิกฤติ จนเกือบแตะ $9 ล้านล้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของฟองสบู่การเงิน (The Everything Bubble) และการเกิดความผิดเพี้ยนของราคา (mispricing) ของทรัพย์สินทุกอย่าง ส่งผลให้เกิดความเปราะบางในระบบธนาคาร

ในขณะเดียวกัน หนี้ภาครัฐพุ่งจาก $9 ล้านล้านในปี 2009 มาชนเพดานที่ $31.4 ล้านล้าน ในเวลานี้ หรือกว่า 120% ต่อจีดีพี

ความจริงแล้ว ถ้าเฟดไม่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล จะทำให้รัฐบาลไม่ใช้เงินมือเติบ ในช่วงสามปีระหว่างปี 2020 ถึงตอนนี้ รัฐบาลสหรัฐก่อหนี้ไปแล้ว $7 ล้านล้าน เพื่อสนองตัณหานักการเมือง และการเข้าไปซื้อ mortgage-backed securities เป็นการช่วยแบงค์วอลล์สตรีทให้สามารถโละพอร์ตที่ปล่อยสินเชื่อบ้านออกไปได้

ท้ังนโยบายการเงินที่หละหลวม และการใช้จ่ายภาครัฐที่มือเติบ ทำให้สหรัฐต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อที่หนักหน่วงที่หลายคนเกรงว่าจะเกิดเงินเฟ้อระดับไฮเปอร์ โดยเงินเฟ้อปีที่แล้วไปพีคที่ 9.1%ในเดือนมิถุนายน และเฉลี่ยท้ังปีอยู่ที่ 8.5% ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ 6% ทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่เป้าหมาย 2% ดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันให้ตลาดบอนด์มียิลล์สูงขึ้น และมีราคาตก และแบงก์ที่ถือบอนด์ขาดทุนทางบัญชี และส่งผลกระทบต่อตลาดอนุพันธ์ที่พวกธนาคารเล่นกันเอง โดยที่คนนอกไม่มีใครล่วงรู้ความจริงว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่

ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดจะประชุมเพื่อตัดสินใจว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หรือจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ระบบแบงก์ที่เปราะบางอยู่แล้วจะมีวิกฤติรุนแรงขึ้น ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ย ต่อไปจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อยากยิ่งขึ้น ความน่าเชื่อถือของเฟดที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วจะหมดไป

บางคนมองว่าดอกเบี้ยของเฟดอาจจะต้องไปถึง 6%-7% ถึงจะเอาเงินเฟ้ออยู่ในรอบนี้ แต่ระบบแบงก์ไม่สามารถรับดอกเบี้ยในระดับที่สูงอย่างนั้นได้ จะไปต่อไม่ไหว ด้วยเหตุนี้ เฟดที่แสร้งทำอาการขึงขังในการจัดการกับเงินเฟ้อ คงต้องกลับลำมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป และต้องกลับมาทำคิวอี ซึ่งก็ได้ทำแล้ว $300,000 ล้าน รวมท้ังลดดอกเบี้ยลง เพื่อปกป้องระบบธนาคาร โดยจะปล่อยให้เงินเฟ้อวิ่งแซงหน้าต่อไป อย่างไรก็ดี เฟดได้ประกาศแล้วในกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า จะให้มีการใช้ระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์แบบใหม่ เรียกว่า FedNow ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะรองรับการเปิดตัวของดิจิตัลดอลล่าร์ (Central Bank Digital Currency) ที่จะมาแทนดอลล่าร์ในปัจจุบัน เพื่อการรีเซ็ตกุลเงินและการล้างหนี้สหรัฐไปในตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น