xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เป้า! ใครสั่งถอนหมายจับ “ส.ว.ทรงเอ” เตือนเรื่องยังไม่จบ จับตาหลังการเมืองเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สนธิ” ชี้ปมถอนหมายจับ “ส.ว.อุปกิต” คดีเชื่อมโยงเครือข่ายยาเสพติด สะเทือนวงการยุติธรรมทั้งต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำ ชี้มีคนใหญ่คนโตสั่งถอนหลังศาลอนุมัติหมายภายในวันเดียว อ้างให้ออกเป็นหมายเรียกก่อน ผ่านมา 5 เดือนยังไม่มีสักหมาย แต่ตำรวจ 4 นายที่ทำคดีถูกย้ายกระเด็นกระดอนออกไปหมดแล้ว เชื่อคดียังไม่จบ พยานกลักฐานยังอยู่ครบ อายุความยังไม่หมด รอการเมืองเปลี่ยนเท่านั้น

ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการถอนหมายจับนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า เป็นเรื่องที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการยุติธรรม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยนายอุปกิตนั้นถูกตรวจสอบพบว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายยาเสพติดใหญ่ที่ใช้ชื่อเครือข่ายอัลลัวร์ ของนายตุนมินลัต ชาวพม่า ที่ถูกจับกุมพร้อมกับนายดีน ยัง จุลธุระ ลูกเขยของนายอุปกิต เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา


แต่ต่อมากลับมีการโยกย้ายตำรวจระดับนายพันในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล 4 นายที่ทำคดีนี้ ได้แก่ พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวนสอบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน หัวหน้าทีมตำรวจชุดจับกุมนายตุนมินลัต เดิมมีคำสั่งย้ายไป สภ.บ้านเดื่อ จังหวัดชัยภูมิ มีผลตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2566

คนที่สอง วันที่ 31 มกราคม 2566 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ พ.ต.ท.สุชาติ มงคลพิพัฒน์ รองผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวนสอบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ซึ่งเคยเป็นรองหัวหน้าชุดจับกุมนายตุนมินลัต ย้ายไปรับตำแหน่งรองผู้กำกับการปราบปราม สภ.ตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

คนที่สาม พ.ต.ท.ชำนาญยุทธ ก้อนฆ้อง สารวัตร กองกำกับการสืบสวนสอบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ถูกสั่งย้ายไปเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง

คนสุดท้าย คือ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตร กองกำกับการสืบสวนสอบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ถูกคำสั่งย้ายไปเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ถึงแม้ว่าจะได้ตำแหน่งเดิม และ สน.พญาไท ถือว่าเป็นโรงพักเกรด A แต่ก็ถูกตัดจากการทำคดีนี้


ต่อมาในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ในโลกออนไลน์มีการเปิดเผยจดหมายฉบับหนึ่งเกี่ยวกับคดีดังกล่าว เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องขอออกหมายจับนายอุปกิต ปาจรียางกูร และการเพิกถอนหมายจับ จาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ นายตำรวจคนที่สี่ถูกย้ายอย่างมีเงื่อนงำ

จดหมายฉบับนี้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ เขียนถึง นายปุณณะ จงนิมิตสถาพร ผู้พิพากษาศาลฎีกา และกรรมการตุลการศาลยุติธรรม ลงวันที่ 5 มีนาคม 2566 จดหมายนี้มีความยาว 7 หน้ากระดาษ จำนวน 27 ข้อ แจกแจงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับที่มาของคดี จนนำมาสู่การขอออกหมายจับนายอุปกิต ของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ เนื้อหาในจดหมายสรุปได้ 8 หัวข้อ ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขออนุมัติหมายจับ นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา และศาลก็ได้อนุมัติหมายจับ ตามหมายจับศาลอาญา ที่ จ. 554/2565


ข้อที่สอง วันเดียวกันนั้น ศาลเพิกถอนหมายจับ โดยอ้างว่านายอุปกิต มีตำแหน่งเป็น ส.ว. เชื่อว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ตามกระบวนการพิจารณา ยจ. 2329/2565

ข้อที่สาม ในวันที่ 3 ตุลาคม ที่มีการอนุมัติหมายจับและเพิกถอนหมายจับ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ดังนี้

ช่วงเช้า 09.30 น. พ.ต.ท.มานะพงษ์ พร้อมทีมงาน ได้เดินทางไปศาลขออนุมัติหมายจับ เนื่องจากก่อนหน้านที่จะขอหมายจับ มีนายตำรวจระดับสูงพยายามล็อบบี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดชื่อ ส.ว.อุปกิต ออกจากคดี แม้ว่าทางตำรวจจะมีหลักฐานมากเพียงพอที่จะดำเนินคดี จึงเชื่อว่ามีผู้เจตนาขัดขวางไม่ให้ ส.ว.อุปกิต เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ต่อมา ผู้พิพากษาเวรได้เรียก พ.ต.ท.มานะพงษ์ มาไต่สวนถึงรายละเอียด และในที่สุดเมื่อเห็นรายละเอียดแล้วก็เลยอนุมัติหมายจับและหมายค้น ในเวลา 11.00 น.

พ.ต.ท.มานะพงษ์ และทีมงาน ยืนยันว่า การขอหมายจับและหมายค้นนั้น ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ทั้งยังเป็นการขอหมายจับนอกสมัยประชุม โดยวันที่ 3 ตุลาคมนั้น เป็นช่วงเวลาที่อยู่นอกสมัยประชุมสภา

ต่อมา เวลา 12.00 น. เมื่อได้หมายจับแล้ว พ.ต.ท.มานะพงษ์ และทีมงาน ก็กลับถึงที่ทำงาน และประสานงานให้สำนักงาน ป.ป.ส. ประสานแจ้งข้อกล่าวหาและลงประกาศสืบจับ ส.ว.อุปกิต ในระบบ Crimes ซึ่งเป็นระบบออนไลน์ของตำรวจ

พอนำข้อมูลใส่ในระบบเท่านั้นเอง เวลา 13.30 น. ก็มีโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาล เรียกให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ กับทีมงาน นำหมายจับฉบับจริงและเอกสารต่างๆ จำนวน 2 ลัง กลับไปที่ศาลอีกครั้งหนึ่ง

14.00 น. เมื่อ พ.ต.ท.มานะพงษ์ กับทีมงาน ถูกเรียกขึ้นไปพบกับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่ห้องทำงาน โดยระหว่างนั้นได้มีนายตำรวจระดับสูง ซึ่งเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ โทรศัพท์มาสอบถามว่า เหตุใดจึงขอออกหมายจับ ส.ว.อุปกิต ซึ่งแหล่งข่าวยืนยันว่าตำรวจที่โทรมานั้นก็คือ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข จริง/เท็จอย่างไรไม่ยืนยัน แต่นี่คือข้อมูลที่สืบได้มา

เมื่อไปถึงรองอธิบดีศาลอาญา พ.ต.ท.มานะพงษ์ กับทีมงาน ก็ถูกเรียกไปห้องทำงานของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในการเรียกเข้าไปพบนี้ รองอธิบดีศาลฯ ได้ต่อว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ ว่า ตำรวจกำลังจะล้มอำนาจนิติบัญญัติของประเทศ


พ.ต.ท.มานะพงษ์ เขียนในจดหมายว่า “...ได้พูดในทำนองต่อว่าข้าพเจ้าว่า เหตุใดจึงมาขอออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภา และหาว่าข้าพเจ้าจะล้มอำนาจนิติบัญญัติของประเทศ”

พ.ต.ท.มานะพงษ์ อธิบายต่อว่า การร้องขอออกหมายจับ ส.ว.อุปกิต ก็เพราะคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงินนี้มีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ซึ่งผู้พิพากษาเวรก็เห็นชอบและอนุมัติตามคำร้อง

ข้อที่ห้า หลังจากที่มีการหารือระหว่างอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โดยลับแล้ว พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ถูกเรียกเข้าไปพบอีกครั้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ถามว่ามีความเห็นอย่างไร หากจะถอนหมายจับนายอุปกิต ซึ่ง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ตอบว่า ถ้าวันดังกล่าวมีการถอนหมายจับนายอุปกิต พ.ต.ท.มานะพงษ์ ก็เชื่อว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับนายอุปกิต ทั้งๆ ที่มีหลักฐานชัดเจน และเชื่อได้ว่า อาจมีการล้มคดี ซึ่งในที่สุดแล้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตัดสินใจให้มีการถอนหมายจับ

ข้อที่หก หลังจากนั้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ขอโทษ พ.ต.ท.มานะพงษ์ แทนรองอธิบดีฯ ที่ใช้กริยาวาจาไม่เหมาะสม

พ.ต.ท.มานะพงษ์ บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้พูดคุยกัน ท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งวันแรก หากไม่มีการถอนหมายจับ ผู้ใหญ่น่าจะตำหนิอย่างแน่นอน ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบว่า "ผู้ใหญ่" ที่ท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวนั้นคือใคร

ข้อที่เจ็ด นับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม จนถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีต่อก็ไม่เคยมีการออกหมายเรียกนายอุปกิตมารับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ก็ตรงตามที่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ พูดว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อีกหน่อยนายอุปกิตก็จะหลุดพ้นจากคดีนี้ ทั้งๆ ที่หลักฐานโยงใยถึงนายอุปกิตอย่างเต็มที่

ข้อที่แปด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 พ.ต.ท.มานะพงษ์ และผู้บังคับบัญชา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีนายอุปกิต สมาชิกวุฒิสภา ก็เลยถูกย้ายกระเด็นกระดอนไปดำรงตำแหน่งอื่น นอกจากกองกำกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งที่ไม่ได้สมัครใจและไม่มีความผิด จึงเชื่อได้ว่าการโยกย้ายดังกล่าวมีเจตนาให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ และพวก ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับคดีของนายอุปกิตได้อีก


ทั้งนี้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ทิ้งท้ายในจดหมายฉบับดังกล่าวว่า “การประวิงเวลาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินคดีกับนายอุปกิต ปาจรียางกูร ในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อความศรัทธาของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และการเพิกถอนหมายจับด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ถูกออกหมายจับเป็นบุคคลสำคัญ เป็นการทำลายหลักการที่ว่า "บุคคลย่อมเสมอภาคภายใต้กฎหมาย"


“สาเหตุที่ข้าพเจ้าไม่ได้ร้องเรียนเรื่องนี้มายังคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เนื่องจากข้าพเจ้าเกรงว่าผู้พิพากษาเวรจะเดือดร้อนจากการถูกแทรกแซงโดยใช้ดุลพินิจจากผู้บังคับบัญชา”

สะเทือนวงการยุติธรรม

นายสนธิ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เทียมฟ้า จดหมายฉบับนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการยุติธรรม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา และคนในแวดวงกฎหมาย โทรศัพท์มาหาผมเต็มไปหมด ถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง 1 ใน 3 เสาหลักของประเทศชาติ คือระบบยุติธรรม น่าจะล่มสลาย และคงจะไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป ทั้งประชาชน และคนในวงการยุติธรรม

คำถามที่สำคัญคือ ทำไมนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา วัย 61 ปี ถึงเข้าไปอยู่ในแผนผังอาณาจักรพนันออนไลน์ทุนไทยเทา ซึ่งเกี่ยวกับเกมอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันด้วย ?

ประการแรก เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่านายอุปกิตมีตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา มาจากอำนาจการคัดเลือกและการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประการที่สอง การขยายผลการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดและฟอกเงินของพม่า คือนายตุนมินลัต และ นายดีน ยัง จุลธุระ ลูกเขยของ ส.ว.อุปกิต เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ได้เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายบ่อนอัลลัวร์ และคนใกล้ชิดนายอุปกิตนั้น มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับนายเอ๊ดดี้ พันณรงค์ ขุนพิทักษ์ ผู้ทำเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศไทย แต่มีนายตำรวจใหญ่สนับสนุนการพนันออนไลน์ของนายเอ๊ดดี้ ทำให้นายเอ๊ดดี้ และพรรคพวก ประกอบไปด้วย ไข่เจียว นายคมสัน รุกขพันธ์ และ พีท หรือปีเตอร์ วริศ ลิ่มอติบูลย์ สามารถหนีไปอยู่อังกฤษ  และเครือข่ายนายเอ๊ดดี้นั้น เชื่อมโยงกับ นอท กองสลากพลัส


นอกจากนี้ ตอนที่ออกหมายจับเอ๊ดดี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยการปล่อยให้เอ๊ดดี้ และบุคคลในเครือข่าย หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป เกี่ยวพันระหว่างนายอุปกิต ปาจรียางกูร นายชาคริส กาจกำจรเดช บุคคลซึ่งนายอุปกิตอ้างต่อ ป.ป.ช. ว่าเป็นผู้ซื้อกิจการโรงแรมอัลลัวร์ ต่อจากตนเอง นายดีน ยัง จุลธุระ ลูกเขยของนายอุปกิต ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งคือ นายพันณรงค์ ขุนพิทักษ์ เจ้าพ่อเครือข่ายพนันออนไลน์รายใหญ่ของประเทศไทย จนในที่สุดนำมาสู่การดำเนินคดีต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายอุปกิตด้วย


ประการที่สาม ประเด็นนี้หลายคนพูดตั้งแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แต่จนปัจจุบันก็ไม่มีการตามต่ออีกแล้ว คือประเด็นความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ว.อุปกิต กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีสถานภาพเป็นสมาชิกพรรคอยู่

หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ว.อุปกิต กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็คือตึกที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ ในซอยอารีย์ 3 ที่ทำการอยู่เลขที่ 35/3 ซอยอารีย์ 5 แขวงพญาไท กรุงเทพมหานคร ย้ายมาตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2565

เมษายน 2563 บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย ซึ่งเคยมีนายอุปกิตเป็นผู้บริหารและถือหุ้นใหญ่กว่า 24 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2558-2562 โดยขายออกไปก่อนเข้ามารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2562 ได้ซื้อที่ดินผืนนี้มาจากเอกชน

มกราคม 2564 ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย เริ่มสร้างอาคารแล้ว จนเสร็จ ต่อมาสิงหาคม ปีเดียวกัน (2564) ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ให้กับ ส.ว.อุปกิต

29 กรกฎาคม 2565 พรรครวมไทยสร้างชาติ เช่าตึกบนที่ดินดังกล่าว ขนาด 150 ตารางวา เป็นที่ทำการพรรค

3 สิงหาคม 2565 พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดตัวโลโก้พรรค ที่ทำการพรรคใหม่ โดยย้ายจากซอยเพชรเกษม 18 แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ มายังซอยอารีย์ 5 ถนนพญาไท

9 มกราคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ


นายสนธิ กล้าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดออกมาประโยคหนึ่ง อ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมายให้เต็มที่ แต่ล่วงเวลามา 4 เดือนแล้ว ยังไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับออกมาอีกเลย แต่มีการย้ายตำรวจ 4 นายออกไป แปลว่าผู้หลักผู้ใหญ่ คนมีอำนาจ ทั้งขบวนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จงใจจะตัด ส.ว.อุปกิต ให้ออกจากการเป็นจำเลยในคดีนี้ เพราะถ้าไม่มีหมายเรียกมา ส.ว.อุปกิต ก็ไม่ได้เป็นจำเลยใช่หรือไม่

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีการออกหมายเรียกนายอุปกิต ปาจารียางกูร ส.ว. ของพนักงานสอบสวน บช.ปส. อ้างว่าเรื่องนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ได้มีการสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พัวพัน และสามารถขยายผลคดีได้หลายราย บางรายก็หลบหนี ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับและติดตามจับกุมมาได้ บางรายหลบหนีอยู่ ก็ยังสืบสวนเพื่อต้องจับกุมให้ได้

ส่วนที่สมาชิกมาอภิปรายว่ามี ส.ว. เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันนี้ นายกฯ บอกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งฝ่ายสืบสวนและสอบสวนได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนการเพิกถอนหมายจับเป็นดุลพินิจของฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความเห็นให้ออกเป็นหมายเรียกออกมาก่อน ตนไม่อยากจะขอไปก้าวกายความเห็นนี้ เนื่องจากไม่ใช่การปฏิบัติการของฝ่ายบริหาร แต่เป็นเรื่องความผิดนอกราชอาณาจักรที่พนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ ที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ตามกฎหมาย จึงต้องมีการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมรอบคอบก่อน เมื่อพบว่าใครเกี่ยวข้องจะออกหมายเรียก ซึ่งจะออกตอนไหน อย่างไรนั้น เป็นดุลพินิจและการปฏิบัติของพนักงานสอบสวน ตามกฎหมาย ป. วิ อาญา ซึ่งคดียังอยู่ในระหว่างการสอบสวนและยังอยู่ภายในอายุความ

ถ้าออกหมายเรียก ภายใน 15 วัน ไม่มาพบพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ก็มีเหตุออกหมายจับ เพราะฉะนั้นไม่มีใครไปเอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลือแต่อย่างใด เพราะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย นั่นคือสิ่งที่นายกฯ พูด


อย่างไรก็ตาม นายกฯ จะพูดอย่างไรก็พูดไป กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า หลังจากนายกฯ ตอบคำถามในสภาฯ ผ่านมา 1 เดือนแล้ว ถึงวันนี้ยังไม่มีการออกหมายเรียกหรือหมายจับ ส.ว.อุปกิต แต่อย่างใด คนที่จะออกหมายเรียกได้ก็คือตำรวจ ในเมื่อตำรวจที่ทำคดีถูกย้ายกระเด็นกระดอนไป และไม่ให้เกี่ยวข้องกับคดีนี้อีก ตำรวจที่รับผิดชอบต่อไป ก็ไม่ออกหมายเรียก เพราะได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากผู้บริหารประเทศหรือไม่?

เรื่องนี้เป็นแค่บทหนึ่งของการเปิดโปงขบวนการทุนสีเทาที่แทรกซึมเข้าไปสู่การเมือง เชื่อมโยงไปถึงอาณาจักรพนันออนไลน์ไทยเทา อย่างที่คนทั่วไปอาจคิดไม่ถึง

รู้จัก ส.ว.อุปกิต

นายอุปกิต ปาจารียางกูร ชื่อเล่นชื่อ เสี่ยอู เป็นบุตรชายนายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 สมัย สมัยนายธานินทน์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2504 จบปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต จาก Skidmore College, Saratoga Springs ที่นิวยอร์ก ปริญญาโทด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม จากประเทศเบลเยียม


นายอุปกิตเป็นนักธุรกิจฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า มีชื่อเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ ตั้งอยู่ที่กรุงเนปิดอว์ จดทะเบียนในปี 2559 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 ได้ยื่นลาออกจากบอร์ดบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารในซอยอารีย์ และเอามาขายต่อให้นายอุปกิตเป็นส่วนตัว

นายอุปกิตเมื่อลาออกแล้วก็ล้างพอร์ตหุ้น 600 ล้านบาท รวมทั้งขายโรงแรมอัลลัวร์ รีสอร์ท โฮเต็ล ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ให้กับนักธุรกิจไทยรายหนึ่ง คือ นายชาคริส กาจกำจรเดชร ในราคา 8,150,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยกว่า 251 ล้านบาท เพราะเกรงจะถูกครหาเมื่อมารับตำแหน่งเป็น ส.ว.


จากการเปิดบัญชีทรัพย์สินฯ ของนายอุปกิต มีทรัพย์สินกว่า 1,700 ล้านบาท มีหนี้สินทั้่งหมดแค่ 48 ล้านบาท มีรายได้รวม 566 ล้าน 9 แสนกว่าบาท มีรายจ่ายรวม 6 ล้าน 4 แสนบาท เคยขายพระเครื่อง 1 องค์ ให้กับเซียนพระในราคา 30 ล้านบาท

ชีวิตส่วนตัว นายอุปกิต ปาจรียางกูร เป็นอดีตสามีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน แต่ปัจจุบันได้หย่าร้างกันไปแล้ว

3 สมาคมตำรวจแถลงการณ์ย้ำขอออกหมายจับถูกต้อง

เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจ และ พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ นายกสมาคมพนักงานสอบสวน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กรณีการถอนหมายจับ ส.ว.อุปกิต แบบมีข้อกังขา ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่หลายประเด็น


ประเด็นข้อแรก พ.ต.ท.มานะพงษ์ ในฐานะเจ้าหน้าที่สืบสวน ได้เคยดำเนินการออกหมายจับนายตุนมินลัต กับพรรคพวก รวม 9 คน ซึ่งต่อมาได้มีการจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีแล้ว 5 คน ดังนั้น ตำรวจไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน หรือพนักงานสอบสวน ย่อมมีอำนาจร้องขอให้ศาลออกหมายจับได้ หากเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนคดีที่ร้องขอหมายจับนั้น แต่ต้องมาให้ท่านผู้พิพากษาสอบถามก่อนที่จะออกหมายจับ ซึ่งก็ทำตามกติกาเรียบร้อยแล้ว

ประเด็นที่สอง การขอออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด ปัจจุบันการออกหมายจับต้องมีการนำข้อมูลมาลงในระบบ CRIME ของตำรวจ ซึ่งจะทำการเชื่อมข้อมูลไปยังระบบของศาล ทำให้ปัญหาการออกหมายลอยไม่อาจเกิดขึ้นได้

ประเด็นที่สาม อำนาจการจับของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยหลักจะต้องมีคำสั่งศาลหรือหมายจับ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 อาจจะมีการจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลหรือหมายจับ ดังนั้น การออกหมายจับจึงมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน หากแต่เป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานตามปกติของฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสอบสวน การขอออกหมายจับสามารถทำได้ภายใต้หลักมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะกระทำความผิด และไม่มีระเบียบ คำสั่ง ที่กำหนดให้ต้องเสนอเอกสารสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับการ (ผบก.) ให้พิจารณาก่อนขอออกหมายจับแต่ประการใด

ก็คือว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำคดีใดคดีหนึ่ง ถ้ามีเหตุอันควร มีหลักฐานอันเพียงพอได้ ก็สามารถที่จะยื่นเองได้เลย โดยที่ไม่ต้องแจ้งขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา

ประเด็นที่สี่ กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ กับหลักการเดิม ที่ต้องขออนุมัติจับกุมต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อน จึงไปขอศาลออกหมายจับหรือแจ้งข้อหา แต่ปัจจุบันการขออนุมัติออกหมายจับต่อศาลก่อน ถึงจะไปขออนุมัติแจ้งข้อกล่าวหาต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ดังนั้น หมายจับที่ศาลออกให้ก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้แจ้งข้อหา ย่อมเป็นหมายจับที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผิด แม้ต่อมาจะจับกุมผู้ต้องหาได้โดยที่เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังไม่อนุมัติในการแจ้งข้อหา ก็ถือว่าเป็นการจับโดยชอบ เพียงแต่ยังไม่สามารถแจ้งข้อหาได้ แจ้งได้แต่เพียงว่าถูกจับตามหมายเท่านั้น

ประเด็นที่ห้า หากศาลใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายแล้วควรต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในอดีตเคยมีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับอดีตอธิบดีดีเอสไอ (ธาริต เพ็งดิษฐ์) แต่ศาลยกคำร้อง โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นอำนาจเฉพาะของผู้พิพากษา ที่เมื่อสั่งคำร้องโดยชอบแล้ว ย่อมมิอาจจะเพิกถอนได้ นัยก็คือว่า ในเมื่อหมายจับครั้งแรกได้รับการอนุมัติจากผู้พิพากษาเวรแล้ว อธิบดีฯ ศาลอาญา หรือรองอธิบดีฯ ไม่สามารถที่จะเพิกถอนได้ เพราะเป็นอำนาจโดยชอบของผู้พิพากษาเวรนั้น

ฉันใดฉันนั้น เมื่อศาลพิจารณาออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภาไปโดยชอบแล้ว การจะสั่งเพิกถอนในภายหลังจะต้องมีเหตุตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบเป็นหลักในการพิจารณา หาใช่อ้างเพียงเหตุผิดหลง


"ส.ว.อุปกิต" ลอยนวล แต่เรื่องยังไม่จบ

“ประเด็นอยู่ที่ไหน ? ประเด็นสำคัญคือท่านรองอธิบดีฯ ศาลอาญา และท่านอธิบดีศาลอาญา ท่านอาจจะไม่ได้ตั้งใจที่จะทำผิดพลาดแบบนี้ แต่ท่านรู้หรือเปล่าว่า ตอนนี้ตัวท่านทั้งสองได้ปล่อย ส.ว.อุปกิต ไปแล้ว โดยที่ท่านอาจจะไม่ได้ตั้งใจ

“ท่านอธิบดี ท่านรองอธิบดีครับ 4 เดือนมาแล้ว ไม่มีการออกหมายเรียกและจะไม่ออกด้วย ก็แสดงว่า ท่านจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผมไม่รู้ ท่านทำหน้าที่ปล่อย ส.ว.อุปกิต ลอยนวลไป ทั้งๆ ที่ฝ่ายตำรวจยืนยันว่ามีหลักฐานมากเพียงพอที่จะมัดตัว ส.ว.อุปกิต ว่าได้ร่วมกระทำผิดกับคนที่ถูกออกหมายจับไปก่อนล่วงหน้านั้น”
นายสนธิกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสนธิกล่าวว่า ตนยังเชื่อมั่นว่าในที่สุดแล้วตัวการสำคัญจะต้องถูกเปิดเผยออกมา เพราะข้อมูลเกี่ยวกับนายอุปกิตนั้น ตำรวจยังมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไร ขณะที่อายุความยังมีอยู่ อย่างน้อย 10 ปี หรือ 15 ปี

“มีคนต้องจดบัญชีนี้ลงหนังหมา ตำรวจที่ให้ความร่วมมือมาข่มขู่เด็ก 4 คนที่ทำคดีนี้อย่างซื่อสัตย์สุจริต หรือนักการเมืองที่ใช้อำนาจการเมืองโยกย้ายตำรวจพวกนี้ออกไป และที่สำคัญ ย้ายเพื่ออะไร ? ให้ตัดขาดจากการสอบสวนสืบสวนคดีนี้ เพราะว่าทีมงาน 4 คนนี้ เมื่อจับ ส.ว.อุปกิตมาได้ ก็จะสืบสวนสอบสวนต่อ เพื่อหาเครือข่ายที่โยงใย เกี่ยวพันกับเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ซึ่งเป็นคนที่ใหญ่โตมาก จนกระทั่งเรานึกไม่ถึง ใหญ่โตจริงๆ เรานึกไม่ถึง

“ส่วนตัวผมเชื่อว่ายังไม่จบ และผมเชื่อว่าในกระบวนการศาลยุติธรรมนั้น คงจะพูดกันเรื่องนี้อย่างมากมาย ผมเห็นใจท่านรองอธิบดีฯ ศาลอาญา และอธิบดีฯ ศาลอาญา เพราะในที่สุดท่านก็คือข้าราชการ เมื่อท่านเป็นข้าราชการแล้ว ถึงจะอยู่ในราชการของฝ่ายศาลยุติธรรม แต่เมื่อมีคนตำแหน่งใหญ่ๆ โทรศัพท์มาขอ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”
นายสนธิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น