xs
xsm
sm
md
lg

มองมุมสมคบคิดการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (SVB)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



มองมุมสมคบคิดการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank) โดย ทนง ขันทอง

การล่มสลายของ 3 ธนาคารในสหรัฐ Silvergate Bank, Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank โดยเฉพาะ SVB ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ไม่ได้ล่มสลายเพราะปัญหาหนี้เสีย (insolvency) แต่มีปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างปัจจุบันทันด่วนอย่างรุนแรงจากการที่ผู้ฝากเงินถอนเงินจำนวนมากพร้อมๆกัน ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลังไม่มีเงินพอบนหน้าตักเพื่อจ่ายเงินให้ผู้ฝากเงิน

ประเด็นคือทำไมจึงมีผู้ฝากเงิน ซึ่งส่วนมากจะเป็นพวกสตาร์ทอัพที่เป็นลูกค้าหลักที่ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำธุรกิจด้วยจึงมีการถอนเงินจำนวนมากออกจากธนาคารในช่วงหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก็เป็นได้ก่อนวันพุธที่ 8 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ มีการรายงานว่าขาดทุน $1,800 ล้าน เพราะว่าต้องขายตราสารหนี้ออกไปก่อนเวลาอันสมควรเพื่อเอาเงินไปคืนลูกค้าที่ถอนเงินฝาก เมื่อขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ ทำให้ธนาคารประกาศขายหุ้นเพื่อระดมเงินทุน $2,500 ล้าน

จุดนี้เองที่ทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความไม่มั่นใจในฐานะการเงินของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้เกิดการแห่ถอนเงินกันอุตลุด ภายในระยะเวลาวันศุกร์วันเดียวธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ เจอการถอนเงินไป $42,000 ล้าน

ไม่ว่าธนาคารจะยิ่งใหญ่เพียงใด ถ้าหากเจอแบงก์รันอย่างนี้ก็ต้องล้มทั้งยืน

ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ มีขนาดใหญ่อันดับที่16ของสหรัฐ มีทรัพย์สิน $209,000 ล้าน และมีเงินฝาก $175,000 ล้าน

เนื่องจากมีสภาพคล่องล้นเหลือจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ไม่ได้ปล่อยกู้มาก เงินฝากกว่า 50% เอาไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับผลตอบแทนไม่มาก เพราะดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ธนาคารให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 0.50% ให้กับลูกค้า

ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดได้ตรึงดอกเบี้ยระดับต่ำมานานตั้งแต่วิกฤติปี2008 จนเกิดความเคยชินกันไปทั่วว่าสภาพคล่องที่ล้นเหลือจะอยู่คู่โลกตลอดไป ในปีที่ผ่านมาเฟดเริ่มหน้ามืดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และดุดันเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่หลุดกรอบเอาไม่อยู่ ทำให้ภายในหนึ่งปีดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพิ่มจาก 0%-0.25% เป็น 4.50%-4.75% และมีแนวโน้มจะดอกเบี้ยไปอีกจนอาจจะถึง 6% และจำเป็นต้องแช่ดอกเบี้ยระดับสูงนี้ต่อไปจนกว่าจะสามารถลากเงินเฟ้อลงมาที่เป้าหมาย 2% ซึ่งเป็นผลพวงของการเพิ่มปริมาณเข้าไปในระบบของธนาคารกลางสหรัฐ $8 ล้านล้าน และการใช้จ่ายงบประมาณขาดดุลมหาศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา

พันธบัตรอายุสั้นของรัฐบาลสหรัฐเคยให้ผลตอบแทน 1.75% ในปีที่ผ่านมา ตอนนี้ปาเข้าไป 5% ทำให้สร้างปัญหาให้กับธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ เพราะว่าตราสารหนี้ที่ถืออยู่ขาดทุนทางบัญชี เพราะว่าเมื่อยีลด์สูงขึ้น ราคาพันธบัตรจะลดลง แต่ถ้าถือจนครบอายุพันธบัตรจะไม่ขาดทุนแต่ประการใด

ปัญหาอยู่ที่ผู้ฝากเงินเห็นโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่า เพราะว่าฝากกับธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ได้ดอกเบี้ย 0.50% แต่ถ้าไปซื้อพวกมันนี่มาร์เก็ตฟันด์จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าหลายเท่าตัวจากดอกเบี้ยในตลาดที่สูงขึ้น

นายจิ๋ม เบียนโก้ (Jim Bianco แห่ง Biancoresearch.eth) เขียนทวิตเตอร์อธิบายการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ได้อย่างน่าสนใจว่า นอกการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอย่างนัยสำคัญแล้วที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร กับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่สูงกว่ามากหลายเท่า การโยกเงินออกจากแบงก์อย่างรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ทำให้ผู้ฝากเงินสามารถถอนเงินจำนวนมากออกจากแบงก์ได้ โดยไม่ต้องไปรอยืนต่อแถวถอนเงิน

ประการที่สอง ในยุคของโซเซียลมีเดียข่าวสารต่างๆมีการแพร่กระจายกันฉับพลันรวดเร็ว เมื่อเกิดข่าวการถอนเงินจากธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้เกิดแพนิค ต่างแห่พอกันไปถอนเหมือนกัน เหมือนกับการที่มีคนตระโกนที่ในโรงหนังว่าไฟไหม้ ทำให้คนดูแห่หนีตายไปที่ประตูฉุกเฉิน โดยที่ไม่รู้ว่ามีไฟไหม้จริงหรือไม่

แบงก์รันของธนาคารซิลิโคนทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแคลิฟอร์เนียได้เรียกร้องให้สถาบันประกันเงินฝาก Federal Deposit Insurance Corporation เข้ามาดูแล ควบคุมกิจการ โดยสั่งให้ปิดแบงก์ และรอชำระบัญชี ลูกค้าที่มีเงินฝาก $250,000 จะได้เงินคืนครบถ้วน ผู้ที่ฝากมากกว่านั้นจะต้องรอการชำระบัญชี ขายทอดตลาดทรัพย์สินของแบงก์เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยแบ่งคืนให้กับเจ้าหนี้

มีรายงานว่ามีอีกหลายธนาคารที่อยู่ในข่ายว่าอาจจะเจอชะตากรรมแบงก์รันเดียวกันกับธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ดังรายชี่อต่อไปนี้ (ดูภาพประกอบ)

นายเจอโรม เพาเวลล์ ประธานเฟด และนาง เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐมีการประชุมด่วนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อหาทางเยียวยาแก้ไขสถานการณ์การล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคารของสหรัฐ โดยประกาศชัดเจนว่าทางการจะไม่ใช้เงินภาษีของประชาชนมาอุ้มธนาคารซิลิโคนเป็นอันขาด แต่จะมีการตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารใดที่ขาดสภาพคล่องที่เกิดจากการถอนเงินของผู้ฝากสามารถมากู้ยืมได้ โดยต้องเอาตราสารหนี้ที่มีคุณภาพมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน กระทรวงการคลังได้นำเม็ดเงิน $25,000 ล้าน จากกองทุน Exchange Stabilization Fund มาเป็นทุนประเดิมเพื่อโครงการเสริมสภาพคล่องแบงก์

ก็ต้องดูว่าวันนี้ จะเกิดแบงก์รันที่ธนาคารอื่นหรือไม่ และมาตรการของรัฐบาลสหรัฐจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินได้หรือไม่

ท้ังหมดนี้ คือการอธิบายการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ตามเนื้อผ้า แต่เราสามารถตั้งคำถามในเชิงสมคบคิดได้ว่าปัญหาของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ จะเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของวิกฤติที่ใหญ่กว่าที่กำลังจะตามมาหรือไม่ และวิกฤตินั้นจะเป็นวิกฤติที่ถูกออกแบบเพื่อที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าของการรีเซ็ตเงินสกุลหรือไม่

เราสามารถตั้งคำถามในเชิงสมคบคิดการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ว่ามีเรื่องราวที่ไม่ชอบมาพากล หรือมีวาระแอบแฝงเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

1. ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ และกระทรวงการคลังสหรัฐอยู่ในฐานะที่จะช่วยอุ้มธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ได้ แต่ทำไมไม่ทำ เพราะว่าธนาคารเพียงขาดสภาพคล่อง (liquidity crisis) ไม่ได้มีปัญหาหนี้เสียล้มละลาย (insolvency)

ตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 เฟดได้ทำการพิมพ์เงินร่วม $8 ล้านล้าน เพื่ออัดสภาพคล่องดอลล่าร์เข้าระบบ พร้อมทั้งกดดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำติดดิน โดยสภาพคล่องจากการทำคิวที่เพิ่มขึ้นมานำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตราสารหนี้จำพวก mortgage- backed securities ที่มีหลักทรัพย์อสังหาฯหนุนหลัง

เฟดเคยพิมพ์เงิน $40,000ล้าน ต่อเดือนในการทำคิวอี ทำไมถึงจะปล่อยเครดิตไลน์ให้สภาพคล่องให้กับธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ที่เจอการถอนเงินฝากไม่ได้?

ทุกคร้ังที่ธนาคารในเครือวอลล์สตรีทที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเฟดมีปัญหาสภาพคล่อง เฟดจะรีบเข้าไปอุ้มทันทีผ่านการให้กู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร หรือตลาดรีโป้ พร้อมดันดอกเบี้ยลงต่ำในอัตรามิตรภาพ อันเห็นได้จากช่วงปลายปี 2019 ที่ตลาดกู้ยืมเงินระยะสั้นในระบบธนาคารวอลล์สตรีทเกิดการขาดสภาพคล่อง บางแบงก์เป็นหมาหัวเน่าเพื่อธนาคารด้วยกันไม่ให้กู้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นถึง 10% เทียบกับไม่กี่เปอร์เซ็นต์ยามปกติ เฟดรีบอัดสภาพคล่องเข้าไปช่วย ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดกู้ยืมเงินระยะสั้นลดลงอย่างรวดเร็ว เสร็จแล้ว เฟดประกาศอย่างภูมิใจให้กับนักลงทุนได้รับทราบโดยทั่วกันว่าไม่ต้องห่วง เฟดจะดูแลความมั่นคงของแบงก์วอลล์สตรีทให้อยู่ยงตลอดไป

แสดงว่าเฟดเลือกปฏิบัติมีสองมาตรฐาน ธนาคารระดับชุมชน (community banks) หรือธนาคารระดับภูมิภาค (regional banks) เป็นประชาชนชั้นสองในสายตาเฟด ที่ยามเกิดวิกฤติจะถูกปล่อยล้ม เพื่อเปิดทางให้แบงก์วอลล์สตรีทเข้าไปช้อปของถูกด้วยการควบรวมกิจการ ส่วนธนาคารวอลล์สตรีทจะได้รับการอุ้มชู

ในวิกฤติการเงินปี 2008 มีบางธนาคารในเครือวอลล์สตรีทถูกปล่อยให้ล้มบ้าง เช่น เลห์แมนบราเธอร์ แบร์สเติร์นเพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด ท่ามกลางการล่มสลายของแบงก์ขนาดเล็กและกลางหลายพันแห่ง ส่วนแบงก์วอลล์สตรีทตัวหลักได้รับสภาพคล่องจากเฟดอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถเข้าไปยึดกิจการของแบงก์เล็กแบงก์กลางได้

2. โจ ไบเดนและรัฐสภาอเมริกันสุมหัวกันผ่านงบประมาณ $110,000 ล้าน ไปแล้ว เพื่อช่วยยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย ท้ังๆที่ยูเครนไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสหรัฐโดยตรง แต่รัฐบาลสหรัฐกลับช่วยยูเครนเหมือนการตีเช็คเปล่า

มันเป็นเรื่องตลกที่รัฐบาลสหรัฐมีเงินภาษีช่วยยูเครนแบบไม่อั้น ส่งทหารส่งอาวุธไปช่วยรบ แต่ไม่มีเงินดูแลประชาชนผู้ฝากเงิน โดยปฏิเสธที่จะช่วยธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ อย่างสิ้นเชิง ท้ังๆที่ธนาคารแห่งนี้ขอย้ำอีกทีไม่ได้มีปัญหาหนี้เสีย ปัญหาล้มละลายหรือฉ้อฉล (อันนี้ยังไม่แน่ใจ) การให้สภาพคล่องกับธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ จะช่วยทำให้การแพนิกแห่ถอนเงินเบาบางลงหรือหมดไป แต่รัฐบาลสหรัฐกลับเลือกใช้วิธีการปิดกิจการแทน ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขา หรือความไม่ไว้วางใจของผู้ฝากเงินกับธนาคารอื่นๆที่มีฐานะคล้ายกับธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ วิกฤติที่ป้องกันได้ ที่เกิดจากน้ำผึ้งหยดเดียวจะลามปาม จนอาจจะกลายเป็นวิกฤติที่ใหญ่ขึ้นก็ได้

ถ้าวิกฤติธนาคารสหรัฐลุกลามขยายวง จะเท่ากับว่าเฟดกับกระทรวงการคลังสหรัฐสงใจต้องการให้เกิดวิกฤติเสียเอง

ช่วงวิกฤติ 2008-2009 เฟดเปิดสว็อปไลน์ให้กับธนาคารกลางของยุโรป และประเทศที่เป็นพันธมิตรที่ขาดสภาพคล่องดอลล่าร์ และให้ธนาคารต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นดอยช์แบงก์ ยูบีเอส เครดิต ซูอิส บาร์คเลย์ รอยัล แบงก์ออฟสก็อตแลนด์ กู้เงินนับหลายแสนล้านดอลล่าร์ โดยอ้างเพื่อเพื่อปกป้องระบบการเงินโลก แต่ในปี1997 เฟดไม่ได้ช่วยประเทศไทยแม้แต่เหรียญเดียว ทั้งๆที่แค่เปิดเครดิตไลน์ให้ไทย $10,000-$20,000 ล้าน เราก็คงไม่ต้องประกาศภาวะล้มละลาย และต้องเข้าโปรแกรมของไอเอ็มเอฟ

แค่ธนาคารกระจอกๆอย่าง ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ แห่งเดียวกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการสหรัฐ ท้ังๆที่เฟดพิมพ์เงินได้ไม่อั้น มิหนำซ้ำเฟดกับกระทรวงคลังกลับทำตัวสูงส่งว่า ถ้าช่วยไปแล้วจะเกิด moral hazard คือการไม่สำนึกผิด แล้วจะกลับมาทำบาปทางการเงินอีกในอนาคต

3. ในระบบการเงินของสหรัฐ ซึ่งเป็นแม่แบบของทุนนิยมทางการเงิน (financial capitalism) ที่มีรากฐานมาจากระบบหนี้ (debt-based system) ที่มีการก่อหนี้ หรือใช้เงินในอนาคตเพื่อลงทุน ขยายกิจการ หรือใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจไปล่วงหน้าก่อน ทำให้จำต้องมีประสิทธิภาพในเรื่องของ productivity หรือความสามารถในการหาเงินเพื่อมาจ่ายหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย แต่เป็นที่ทราบกันดี การใช้เงินมันง่ายกว่าการหาเงิน เมื่อเวลาผ่านไป ระบบหนี้จะอยู่ไม่ได้ เพราะว่ารายได้จะไม่พอการจ่ายเงินต้นกับดอกเบี้ย รวมท้ังภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างก็มีหนี้สาธารณะที่เกินเยียวยา ไม่มีทางเก็บภาษีหรือหารายได้มาจ่ายหนี้คืนได้ รัฐบาลสหรัฐไม่คิดจะจ่ายหนี้ $31.4 ล้านล้าน อยู่แล้ว ซึ่งเทียบเท่า 130% ต่อจีดีพี ได้แค่ให้เฟดพิมพ์เงินอุ้มฐานะการคลังถูไถอยู่ๆกันไป การเพิ่มหนี้เข้าไปในระบบทั้งจากการสร้างเงินของธนาคารกลาง ระบบเครดิตของธนาคาร และงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลทำให้เกิดเงินเฟ้อที่ในที่สุดจะกลับมาทำลายค่าเงิน และระบบเศรษฐกิจในที่สุด

คำถามคือ เรามาถึงจุดที่สหรัฐ และโลกตะวันตกต้องล้างหนี้ เพื่อเริ่มต้นกันใหม่ Debt Jubilee ผ่านการรีเซ็ตสกุลเงิน (currency reset) ที่มีการพูดกันมานานพักใหญ่แล้ว

ความจริง มีการเตรียมเงินดิจิตัลของธนาคารกลาง Central Bank Digital Currency (CBDC) เพื่อเอาไว้รองรับการรีเซ็ตสกุลเอาไว้แล้ว มีการปล่อยเงินคริปโต บิทคอยน์ออกมาชิมลางเพื่อโยนหินถามทาง ก่อนที่จะใช้ CBDC เพื่อล้างหนี้ ใครถือหนี้ในรูปดอลล่าร์เก่าก็ซวยไป เพราะว่า CBDC จะเป็นเงินสกุลใหม่ที่เอี่ยมอ๋องไร้มลทิน จะเอาดอลล่าร์เก่ามาแลกดอลล่าร์ดิจิตัลในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ว่ากันอีกที

4. เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่การกดดอกเบี้ยต่ำมานาน แล้วขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงทันทีเพื่อช็อคตลาดและการปล่อยให้ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ล้มเพื่อนำไปสู่การล้มระบบแบงก์ปัจจุบันที่เราคุ้นกันหรือไม่ ซึ่งจะเพื่อเปิดทางให้ธนาคารกลางที่เป็นผู้ออก CBDC เข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะว่าประชาชนคนทั่วไปหรือบริษัทสามารถเปิดบัญชีโดยตรง (retail & corporate account) กับธนาคารกลางได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีบริการของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวกลาง (intermediary) เหมือนอย่างปัจจุบัน

จุดอ่อนของธนาคารพาณิชย์ในระบบปัจจุบันถือรับเงินฝาก แล้วไปปล่อยกู้ระยะยาว โดยมีเงินกองทุนเพียงเล็กน้อยรองรับหนี้เสีย ถ้าหากมีหนี้เสียมาก ธนาคารจะล้มละลายเมื่อเงินกองทุนหมดหน้าตัก หรือถ้าหากเจอผู้ฝากเงินถอนเงินพร้อมกันทันที จะไม่สามารถเอาเงินกู้ หรือเงินลงทุนแปลงเป็นสภาพคล่องมาคืนเงินให้ก็ผู้ฝากได้ จะทำให้ล้มละลายเหมือนธนาคารซิลิคอนวัลเลย์

ธนาคารกลางที่ทำตัวเป็นธนาคารพาณิชย์แทน จะไม่มีปัญหาสภาพคล่อง เพราะว่าสามารถพิมพ์ดอลล่าร์ดิจิตัลได้ไม่จำกัน สามารถจำกัดการถอนเงินได้ หรือควบคุมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบแบบเบ็ดเสร็จ ประชาชนจะได้อุ่นใจว่าจะไม่เกิดแบงก์รันอีกต่อไป แต่อำนาจทางการเงินทะลุฟ้าจะตกกับธนาคารกลาง ที่เตรียมการออกเงินดิจิตัล พร้อมกับการล้างหนี้ รีเซ็ตสกุลเงิน และกระชับอำนาจเผด็จการทางการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ

ก็ต้องดูว่า การปล่อยให้ธนาคารซิลิโคนล้มละลายมีวาระแอบแฝงของเฟดที่จะรวบอำนาจทางการเงิน พร้อมๆกับการล้างหนี้ของประเทศไปในตัวหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นไปตามวาระThe Great Reset ของ World Economic Forum
กำลังโหลดความคิดเห็น