xs
xsm
sm
md
lg

10 ไฮไลต์ “วัดอรุณราชวราราม” วัดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


วัดอรุณราชวราราม
เดินเที่ยว “วัดอรุณฯ” ชมพระปรางค์ที่สวยงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา และที่รู้จักกันดีก็คือ ยักษ์วัดแจ้ง แต่นอกจากนี้ ที่วัดอรุณฯ ยังมีอีกหลายจุดที่ไม่ควรพลาด ไม่ว่าจะเป็น วิหารน้อย โบสถ์น้อย พระประธานในพระอุโบสถ เป็นต้น

วัดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา
หนึ่งในวัดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งกรุงเทพมหานคร ก็คือ “วัดอรุณราชวราราม” ที่คนไทยคุ้นเคยกับภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณกันเป็นอย่างดี หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่วัดอรุณฯ ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องแวะมาเยี่ยมชม

“วัดอรุณราชวราราม” มีชื่อเดิมว่า “วัดมะกอกนอก” แต่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปลี่ยนชื่อจากวัดมะกอกนอกมาเป็น “วัดแจ้ง” เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระองค์ได้เสด็จมาถึงที่นี่ในยามแจ้ง ในสมัยกรุงธนบุรี วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้งในขณะนั้นถือเป็นวัดประจำวัง เพราะอยู่ในเขตของพระราชวังเดิม จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา และในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น วัดแจ้งแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตและพระบางอีกด้วย โดยได้อัญเชิญมายังประเทศไทยเมื่อครั้งที่เราไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2322 ในครั้งนั้นได้มีการจัดงานสมโภชพระแก้วและพระบางถึง 3 วัน 3 คืนด้วยกัน

พระปรางค์วัดอรุณฯ
วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ เนื่องจากในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมแห่งนี้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่ มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง 7 วัน 7 คืน และพระองค์ยังได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดแจ้งมาเป็น "วัดอรุณราชธาราม" และเปลี่ยนเป็น "วัดอรุณราชวราราม" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

สำหรับใครที่จะมาเที่ยวที่วัดอรุณฯ แล้วไม่รู้ว่าจะชมตรงจุดไหนบ้าง ชวนมาทำความรู้จักกับ 10 ไฮไลต์อันโดดเด่นของวัดอรุณฯ กัน

พระปรางค์วัดอรุณฯ

ยอดปรางค์

ปรางค์ประธาน และปรางค์ทิศ
พระปรางค์วัดอรุณฯ
“พระปรางค์วัดอรุณฯ” ที่โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งองค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่พระปรางค์องค์เดิมที่มีมาตั้งแต่แรก พระปรางค์องค์เดิมนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสูงเพียง 8 วา หรือ ประมาณ 16 เมตร เท่านั้น แต่พระปรางค์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้มีการต่อเติมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นี้แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

องค์พระปรางค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นพระมหามงกุฎนภศูล

กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 81.85 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์

พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน

พระแท่นบรรทม

หลวงพ่อรุ่งมงคล
โบสถ์น้อย
เป็นพระอุโบสถหลังเก่าของวัดอรุณฯ ภายในประดิษฐาน “พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ให้ผู้ที่มาเยือนได้สักการะ และทางด้านซ้ายของบรมรูปหล่อ เป็นที่ตั้งของศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์ ตรงข้ามของพระบรมรูปหล่อฯ เป็น “พระแท่นบรรทม” ที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมาประทับในปลายรัชกาล ส่วนด้านหลังของพระบรมรูปฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อรุ่งมงคล”

พระจุฬามณีเจดีย์

พระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วิหารน้อย
วิหารน้อย หรือวิหารหลังเก่า สันนิษฐานว่า ถูกสร้างมาพร้อมกับโบสถ์น้อยในสมัยอยุธยาที่ตั้งอยู่ข้างด้านข้าง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุฬามณีเจดีย์” เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะ มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์อยู่ทั้ง 4 มุม ซึ่งเมื่อครั้งอดีตนั้น วิหารน้อยแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เมื่อครั้งที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว โดยได้ประดิษฐานอยู่ที่นี่นานถึง 5 ปี นอกจากนี้ก็ยังมี “พระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” อยู่ด้านในวิหารน้อยด้วย

ยักษ์วัดแจ้ง
ยักษ์วัดแจ้ง
ถ้าเคยได้ยินตำนานยักษ์วัดแจ้ง-ยักษ์วัดโพธิ์ ก็คือพญายักษ์ ณ วัดอรุณฯ ที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูยอดมงกุฎอยู่ 2 ตน มือทั้งสองกุมกระบอง ยักษ์กายสีขาวชื่อ สหัสเดชะ และยักษ์กายสีเขียวชื่อ ทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายเครื่องแต่งตัว ส่วนยักษ์วัดโพธิ์ ก็เป็นพญายักษ์ที่ ยืนเฝ้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑปอยู่ 2 ตน ยักษ์กายสีแดงชื่อ พญาสัทธาสูร และยักษ์กายสีเขียวชื่อ พญาขร ตามตำนานนั้นเล่ากันว่า ยักษ์วัดโพธิ์มาตีกับยักษ์วัดแจ้ง ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง เลยเรียกกันต่อมาว่าท่าเตียน

พระอุโบสถ

พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดอรุณฯ ก็มีความงามไม่แพ้ที่ไหนๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนามว่า "พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก" พระประธานองค์นี้กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง และที่ฐานชุกชีนี้ยังบรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูคงแป๊ะ และครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร และ พระแจ้ง (องค์เล็กตรงกลางด้านล่าง)
พระวิหารหลวง
พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ด้านในประดิษฐาน "พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร" พระประธานประจำพระวิหารหลวง และสักการะพระอรุณ หรือพระแจ้ง พระพุทธศิลป์แห่งลานช้าง

ตุ๊กตาศิลาจีนในวัดอรุณฯ

ตุ๊กตาศิลาจีนในวัดอรุณฯ

ตุ๊กตาศิลาจีนบริเวณลานระเบียงคดรอบพระอุโบสถ
ตุ๊กตาศิลาจีน
วัดอรุณฯ เป็นอีกวัดที่มีตุ๊กตาศิลาจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีต ตุ๊กตาหินเหล่านี้มีทั้งการสั่งเข้ามาเพื่อประดับตกแต่งตามวัดต่างๆ รวมไปถึงการเข้ามาในฐานะอับเฉา ใส่ไว้ใต้ท้องเรือสำเภาเพื่อถ่วงน้ำหนักไม่ให้เรือโคลง สำหรับตุ๊กตาหินในวัดอรุณฯ มีหลายรูปแบบ ทั้งรูปคนต่างๆ นักบวช ผู้หญิง เด็ก ตัวงิ้วที่แต่งกายสวยงาม รูปสัตว์ต่างๆ โดยรอบๆ วัดจะมีประดับไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งตามทางเดิน บริเวณพระปรางค์ โดยเฉพาะบริเวณลานระเบียงคดรอบพระอุโบสถ

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ประดิษฐานอยู่ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไว้ ณ ที่นี้ เนื่องจากพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันและศรัทธาในวัดอรุณฯ เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ ก็ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมแห่งนี้ และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ และที่ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของท่านอีกด้วย

ตราพระราชลัญจกร ประจำรัชกาลที่ ๕

ตราพระราชลัญจกร ประจำรัชกาลที่ ๔
ตราพระราชลัญจกร ประจำ ๕ รัชกาล
บริเวณซุ้มเหนือบานประตูทางเข้าพระปรางค์ทั้งด้านนอกและด้านใน จะได้เห็นลวดลายปูนปั้นบวสี เป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕ โดยรั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี 3 ประตู ซุ้มเหนือบานประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็น รูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒ ประตูกลางระหว่างโบสถ์น้อยและวิหารน้อยเป็น รูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕ และประตูข้างใต้พระวิหารน้อยเป็น รูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔ ส่วนที่รั้วทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี 2 ประตู ซุ้มเหนือบานประตูเหนือเก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑ ประตูใต้เก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓

ใส่ชุดไทยเที่ยววัด

ใส่ชุดไทยเที่ยววัด

ใส่ชุดไทยเที่ยววัด

ใส่ชุดไทยเที่ยววัด
ใส่ชุดไทยเดินเที่ยววัด
เทรนด์ใหม่สุดฮิตของการไปเที่ยวที่วัดอรุณฯ คือการใส่ชุดไทยเดินชมวัด ซึ่งก็มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย ที่มาเช่าชุดไทยสวยๆ พร้อมเครื่องประดับ เดินถ่ายภาพตามจุดต่างๆ ในวัด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สวมชุดไทย ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา จีน เป็นต้น

สำหรับเทรนด์การแต่งชุดไทยเที่ยววัดอรุณฯ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นจากการที่ยูทูปเบอร์ชาวเวียดนามลงคลิปการใส่ชุดไทยเที่ยววัดอรุณฯ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามแห่มาถ่ายภาพตาม และภาพชุดไทยกับวัดอรุณฯ ก็มีการเผยแพร่ตามสื่อโซเชียลช่องทางต่างๆ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยนิยมตามกันมา

จากการสอบถามร้านเช่าชุดไทยที่อยู่รอบๆ วัด พบว่าราคาในการเช่าชุดไทย เริ่มต้นที่ 200 บาท เช่าได้ 2-3 ชั่วโมง โดยมีชุดให้เลือกหลากหลาย ทั้งชายและหญิง สีสันสดใส มีเครื่องประดับและกระเป๋า-ร่ม ให้บริการด้วย และบางร้านก็มีบริการแต่งหน้าให้ด้วย (อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

ร้านเช่าชุดไทยรอบๆ วัด

ร้านเช่าชุดไทยรอบๆ วัด











#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น