xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯเริ่มกระทืบรัสเซียให้ย่อยยับ ตั้งแต่ก่อนใช้‘แผนขยายองค์การนาโต้’มาประชิดติดแดนหมีขาวด้วยซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีบอริส เยตซิน ของรัสเซีย จับมือกันภายหลังลงนามในสนธิสัญญา START-2 ซึ่งถือเป็นสนธิสัญญาลดกำลังอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับสร้างประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 1993
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The first US onslaught to ‘weaken’ post-Cold War Russia
By JOHN WALSH
08/01/2023

กระทั่งก่อนการขยายองค์การนาโต้ออกมาประชิดติดแดนหมีขาวด้วยซ้ำไป สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกก็หาทางบีบคั้นทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในสภาพพิกลพิการ ในช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย

การโจมตีเล่นงานรัสเซียของฝ่ายตะวันตกระลอกแรกสุดในยุคหลังสงครามเย็น เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 แล้ว นานทีเดียวก่อนหน้าที่พวกเขาจะใช้หมัดเด็ดหนักหน่วงอีกหมัดหนึ่งอย่างการขยายองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) การโจมตีเล่นงานที่ว่านี้อยู่ในรูปของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในรัสเซียที่สหรัฐฯเป็นผู้โน้มนำให้เกิดขึ้นมา โดยสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในแดนหมีขาวตอนนั้นมีความลึกล้ำยิ่งกว่าและสร้างความหายนะหนักหน่วงกว่า “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” (Great Depression) ที่สร้างความวิบัติให้สหรัฐฯในช่วงทศวรรษ 1930

มันเกิดขึ้นในตอนที่ชาวรัสเซียยังกำลังพูดจาอย่างไร้เดียงสาเกี่ยวกับแนวความคิดในการสร้าง “บ้านเกิดเมืองนอนร่วมกันของชาวยุโรป” (common European home) และโครงสร้างความมั่นคงร่วมของยุโรป ที่จะรวมเอารัสเซียเข้าไว้ด้วย

“วิธีบำบัดรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า” ที่มีฝ่ายตะวันตกเป็นผู้คอยกำกับดูแล

ขนาดขอบเขตของภัยพิบัติทางเศรษฐกิจคราวนั้น ถูกแจกแจงเอาไว้อย่างกระชับในบทความที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ทางนิวยอร์กไทมส์ เขียนโดย พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ผู้ซึ่งแสดงความสงสัยว่ามีชาวอเมริกันมากน้อยแค่ไหนที่ตระหนักรับรู้ถึงความหายนะอย่างมโหฬารที่เกิดขึ้นกับรัสเซียคราวนั้น ครุกแมนถูกต้องแม่นยำทีเดียวในการบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น –ทว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นในการระบุถึงสาเหตุของมัน
(ดูบทความชิ้นนี้ของ พอล ครุกแมน ได้ที่ http://archive.today/R4sU1)

กราฟข้างล่างนี้แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับรัสเซียเมื่อตอนเริ่มต้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยเป็นผลลัพธ์ของนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ภายใต้การชี้นำของพวกที่ปรึกษาสหรัฐฯ ซึ่งบางทีนักเศรษฐศาสตร์ เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) อาจจะเป็นคนเด่นที่สุดกว่าใครเพื่อน
(กราฟนี้มาจาก https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.PP.KD?end=2021&locations=PL-RU-DE&start=1990)
(เจฟฟรีย์ แซคส์ เคยพูดถึงสิ่งที่เขาทำในรัสเซียในช่วงนั้นเอาไว้ที่ https://web.archive.org/web/20130316035403/http:/jeffsachs.org/2012/03/what-i-did-in-russia/)

นโยบายเหล่านี้ขับดันรัสเซียอย่างปัจจุบันทันด่วน ให้ก้าวจากเศรษฐกิจแบบมีการวางแผนจากส่วนกลางและมีการควบคุมราคา มาเป็นเศรษฐกิจที่ราคาถูกวินิจฉัยตัดสินโดยตลาด กระบวนการนี้มักถูกเรียกกันว่าเป็น “วิธีบำบัดรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า” (shock therapy)


เส้นกราฟข้างบนนี้มาจากธนาคารโลก (ลิงก์คือ https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.PP.KD?end=2021&locations=PL-RU&start=1990)
ที่มา: เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยธนาคารโลก ภายใต้นโยบายต่างๆ ของ Creative Commons

จากเส้นกราฟ แสดงให้เห็นว่า ตอนเริ่มต้น “การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า” ในปี 1991 เศรษฐกิจของรัสเซียคว่ำคะมำลงมาอยู่ที่ 57% ของระดับที่มันเคยอยู่ในปี 1989 นั่นคือทรุดตัวลง 43% เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของทศวรรษ 1930 ไหลรูดลงมาอยู่ที่ 70% ของระดับก่อนเศรษฐกิจตกต่ำของมัน หรือทรุดตัวลง 30%
(เรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.britannica.com/event/Great-Depression)

ความคาดหมายการคงชีพ (Life expectancy) หล่นลงมาราวๆ 4 ปีในรัสเซียระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ความยากจนและความสิ้นหวังกลายเป็นบรรทัดฐานปกติ จากประสบการณ์ของผมเอง มีชาวอเมริกันไม่กี่คนเท่านั้นที่ทราบเรื่องนี้ และยิ่งน้อยลงไปอีกที่ยังคงเข้าอกเข้าใจขนาดขอบเขตของมัน

ทำไมโปแลนด์จึงทำได้ดีกว่า

ในกราฟข้างบนนี้ ยังนำเอาข้อมูลของโปแลนด์มาแสดงเอาไว้ด้วยเพื่อการเปรียบเทียบกัน ทำไมล่ะ? เพราะมีการนำเอา “การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า” มาใช้ในโปแลนด์ด้วย โดยเริ่มต้น 2 ปีก่อนหน้ารัสเซีย นั่นคือในปี 1989

เพียงแค่เหลือบมองกราฟข้างบน ก็สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเส้นกราฟของประเทศทั้งสอง ยิ่งกราฟในตารางข้างล่างนี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเน้นย้ำให้ต้องคิดเห็นเช่นนั้น กราฟที่อยู่ข้างล่างนี้ แสดงมูลค่าจีดีพีแท้จริง (real GDPs) ของทั้งรัสเซียและโปแลนด์ ที่มีการแปลงให้ปีแรกที่พวกเขาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด มีมูลค่าเท่ากับ 100 ทั้งนี้กราฟนี้ได้มาจากผลงานการวิจัยของเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟในปี 2001 ซึ่งเขียนโดย เจอราร์ด โรแลนด์ (Gerard Roland) เรื่อง “Ten Years After … Transition and Economics.” (สิบปีหลังจาก ... การเปลี่ยนผ่านและเศรษฐศาสตร์) โดยที่ผลงานวิจัยนี้ได้รับการอ้างอิงจาก ครุกแมน
(งานวิจัยของเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟปี 2001 เขียนโดย Gerard Roland เรื่อง “Ten Years After … Transition and Economics.” ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jstor.org/stable/4621689)
(ดูเพิ่มเติมที่ พอล ครุกแมน อ้างอิงงานวิจัยชิ้นนี้ได้ที่ https://www.nytimes.com/2022/09/02/opinion/russia-economy-mikhail-gorbachev.html)

(โรแลนด์ ยังนำเอา จีน เข้ามาใส่ไว้ในกราฟนี้ด้วย บทเรียนอย่างหนึ่งที่ได้ก็คือ จีนเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจแบบตลาดโดยที่ไม่ได้ผ่าน “การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า” และกระทำเช่นนั้นได้อย่างประสบความสำเร็จอย่างน่าตื่นตะลึง โดยที่ไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปขึ้นต่อความเมตตาที่จะแบ่งปันให้ของสหรัฐฯ)

Roland, Gérard. “Ten Years after … Transition and Economics.” IMF Staff Papers 48 (2001): 29–52.

จากกราฟนี้ มันกระจ่างชัดเจนในฉับพลันว่า โปแลนด์ ผ่านระยะตกต่ำช่วงสั้นๆ กินเวลาราว 2 ปีก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนกับรัสเซีย ซึ่งยังคงอยู่ในอาการหล่นฮวบฮาบอยู่ถึง 16 ปี ทำไมสองประเทศนี้จึงมีความแตกต่างกันเช่นนี้?

ส่วนใหญ่ๆ ของคำตอบในเรื่องนี้ ได้จาก เจฟฟรีย์ แซคส์ ผู้อยู่ในแถวหน้าของพวกที่ปรึกษาซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศทั้งสอง และด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ที่ทราบดีเกี่ยวกับสิ่งที่เขาพูด ทั้งนี้ แซคส์ พูดเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์แก่รายการข่าวออนไลน์ “เดโมเครซี นาว!” (Democracy Now!) ว่า เขาอยู่ตรงนั้นด้วยในระหว่าง “การทดลองแบบมีการควบคุม” ซึ่งเขาสามารถสังเกตการณ์มองเห็นว่าอะไรที่นำไปสู่ผลลัพธ์ซึ่งออกมาแตกต่างกันมากมายเช่นนี้
(ดูรายการสัมภาษณ์นี้ได้ที่ https://youtu.be/wmOePNsNFw0 หรือhttps://www.democracynow.org/2022/8/30/wests_false_narrative_china_russia_ukrain)

แซคส์ พูดเอาไว้ดังนี้:

ผมได้ดำเนินการทดลองแบบที่มีการควบคุมเงื่อนไขต่างๆ เพราะผมเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจให้แก่โปแลนด์ และก็ให้แก่สหภาพโซเวียตในปีสุดท้ายของประธานาธิบดี (มิฮาอิล) กอร์บาชอฟ และให้แก่ประธานาธิบดี (บอริส) เยลตซิน ใน 2 ปีแรกของรัสเซียที่แยกตัวออกมาเป็นเอกราช นั่นคือปี 1992 และ 93 งานของผมคือการเงิน การหาทางช่วยรัสเซียให้ค้นพบหนทางที่จะแก้ไขปัญหาได้จริงๆ อย่างที่คุณ (หมายถึงผู้สัมภาษณ์ ฮวน กอนซาเลซ Juan Gonzalez) พูดเอาไว้นั่นแหละ มันเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ใหญ่โตมโหฬารมาก

“และข้อเสนอแนะพื้นฐานของผมในโปแลนด์ และต่อมาคือในสหภาพโซเวียต และในรัสเซีย ก็คือ: ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ในสังคม และวิกฤตการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ โลกตะวันตกที่ร่ำรวยควรที่จะช่วยเหลือเพื่อกระทืบบดขยี้เจ้าวิกฤตการณ์ทางการเงินพิเศษผิดธรรมดานี้ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นมาด้วยการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต

“ครับ มันน่าสนใจมาก ในกรณีของโปแลนด์ ผมมีข้อเสนอแนะพิเศษเจาะจงมากๆ ออกมาชุดหนึ่ง และข้อเสนอแนะเหล่านี้ทั้งหมดก็เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลสหรัฐฯ –ทั้งการก่อตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินขึ้นมา, การยกเลิกหนี้สินบางส่วนให้โปแลนด์, การเปิดทางให้มีการยักย้ายถ่ายเททางการเงินจำนวนมากเพื่อนำพาโปแลนด์ให้พ้นออกมาจากความยากลำบากเหล่านี้ แล้วคุณรู้ไหม ผมตบหลังตบไหล่ให้ตัวเองด้วยความดีใจ “โอ้ ดูนี่สิ!”

“ผมจัดทำข้อเสนอแนะออกมา และหนึ่งในนั้นคือ ขอให้จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ปรากฏว่าทางทำเนียบขาวตกลงยอมรับภายในเวลา 8 ชั่วโมง ดังนั้น ผมจึงคิดว่า “เยี่ยมไปเลย”

“แล้วก็มาถึงการขอร้องการเสนอแนะในทำนองคล้ายๆ กันนี้ ตอนแรกเลยคือในนามของ กอร์บาชอฟ ในช่วงวันท้ายๆ (ของสหภาพโซเวียต) และจากนั้นก็ประธานาธิบดีเยลตซิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเสนอแนะ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานอย่างเดียวกันของพลวัตทางเศรษฐกิจ ปรากฏว่าถูกทำเนียบขาวปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา

“ผมไม่เข้าใจเลย ผมต้องบอกคุณอย่างนี้ ในตอนนั้นนะ ผมบอกว่า “แต่ว่ามันทำงานได้ผลในโปแลนด์นะ” แล้วพวกเขาก็จะจ้องมองผมด้วยสายตาที่ว่างเปล่า ในความเป็นจริง มีรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนหนึ่งเมื่อปี 1992 พูดกับผมว่า “ท่านศาสตราจารย์แซคส์ มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลยว่าผมเห็นด้วยกับคุณหรือไม่เห็นด้วย มันจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาหรอก”

“ผมต้องใช้เวลาอยู่พักหนึ่งทีเดียว จริงๆ นะ ที่จะเข้าใจเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอยู่เบื้องลึกลงไป ช่วงนั้นเป็นวันเวลาของ (ดิ๊ก) เชนีย์, และ (พอล) วูลโฟวิตซ์, และ (โดนัลด์) รัมสเฟลด์ และสิ่งที่ต่อมาจะกลายเป็น “โครงการสำหรับศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (Project for the New American Century) ซึ่งหมายถึงว่า เพื่อความต่อเนื่องต่อไปอีกของฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ของอเมริกัน

“ผมมองไม่เห็นเรื่องนี้หรอกในขณะนั้น เพราะผมยังคงคิดในแบบที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง จะช่วยเหลือเอาชนะวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ยังไง แต่ว่าการเมืองแบบมุ่งให้โลกมีขั้วเดียวนั้นกำลังปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว และมันสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แน่นอนทีเดียว มันปล่อยให้รัสเซียตกอยู่ในวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพเยอะแยะมากมายที่มีผลกระทบต่อเนื่องตามมาของมันเองในหลายๆ ปีต่อจากนั้น

“แต่มันยังมีมากกว่านั้นอีก คนเหล่านี้กำลังวางแผนการกันอยู่ตั้งแต่ตอนต้นๆ แล้ว ถึงแม้ได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างเปิดเผยเอาไว้กับกอร์บาชอฟและเยลตซิน ในเรื่องที่จะไม่ขยายองค์การนาโต้ ครั้นแล้ว (บิลล์) คลินตัน ก็เริ่มการขยายนาโต้เข้าไปใน 3 ประเทศของยุ
โรปกลาง –ได้แก่ โปแลนด์, ฮังการีล และสาธารณรัฐเช็ก— จากนั้น จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็เพิ่มไปอีก 7 ประเทศ –บัลแกเรีย, โรมาเนีย, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย, และรัฐบอลติกทั้ง 3 ลัตเวีย, เอสโตเนีย, ลิทัวเนีย— แล้วมันก็กลายเป็นปัญหาขัดแย้งกับรัสเซีย”


ผลงานของพวกนีโอคอน

เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากว่า จุดหมายปลายทางของสหรัฐฯนั้นไม่ได้อยู่ที่การช่วยเหลือรัสเซีย หากแต่เป็นการนำพาพวกเขาไปสู่ความล่มจมต่างหาก และ แซคส์ ก็เชื่อมโยงได้อย่างถูกต้องที่บอกว่ามันเกี่ยวข้องกับความเรียกร้องต้องการให้สหรัฐฯครองฐานะเป็นเจ้าเหนือกว่าใครๆ ในโลก ซึ่งมีการกำหนดจัดวางกันขึ้นมาเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงหลายๆ เดือนก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์เสียอีก และได้รับการตอกย้ำจากพวกนีโอคอน (นีโอคอนเซอร์เวทีฟ Neo-conservative พวกอนุรักษนิยมใหม่) ผู้ซึ่งเวลานี้คือพวกสนับสนุนแนวความคิดเช่นนี้อย่างออกหน้าออกตาที่สุด ในบรรดาคนเหล่านี้ที่ แซคส์ เอ่ยชื่อเอาไว้คนหนึ่งคือ พอล วูลโฟวิตซ์ ผู้ซึ่งเสนอ “หลักการ” ที่รวบรวมเป้าหมายต่างๆ ของยุคหลังโซเวียตเอาไว้ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้:

วัตถุประสงค์ประการแรกของเราคือการป้องกันไม่ให้มีคู่แข่งขันรายใหม่ใดๆ สามารถผงาดขึ้นมาอีก ไม่ว่าบนดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียตหรือว่าในที่อื่นๆ ซึ่งทำท่าจะเป็นภัยคุกคามในลักษณะที่สหภาพโซเวียตเคยทำท่าเช่นนั้นมาแล้วในอดีต

“นี่คือข้อพิจารณาข้อที่สำคัญเหนือกว่าข้ออื่นๆ ซึ่งแฝงฝังอยู่เบื้องลึกของยุทธศาสตร์ใหม่ทางด้านกลาโหมในระดับภูมิภาค และเรียกร้องกำหนดให้เราต้องใช้พยายามหรือต้องป้องกันไม่ให้มหาอำนาจที่เป็นปรปักษ์ใดๆ ก็ตามที สามารถสร้างฐานะครอบงำภูมิภาคหนึ่งๆ ซึ่งมีทรัพยากรต่างๆ ที่เมื่ออยู่ใต้การควบคุมอย่างรวมศูนย์แล้ว จะเพียงพอสำหรับการให้กำเนิดมหาอำนาจระดับโลกขึ้นมาได้”

(เรื่องกำเนิดของแนวความคิดที่เรียกร้องต้องการให้สหรัฐฯครองฐานะเป็นเจ้าเหนือกว่าใครๆ ในโลก ดูเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Tomorrow, the World: The Birth of U.S. Global Supremacy เขียนโดย Stephen Wertheim https://www.amazon.com/Tomorrow-World-Birth-Global-Supremacy-ebook/dp/B08FGDS5GW/ref=sr_1_1?crid=2QKKAHP6GLD0C&keywords=tomorrow%2C+the+world+the+birth+of+u.s.+global+supremacy&qid=1672532291&s=books&sprefix=tomorrow+the+world%2Cstripbooks%2C137&sr=1-1)
(เรื่อง “หลักการ” วูลโฟวิตซ์ ดูเพิ่มเติม ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Wolfowitz_Doctrine)

วูลโฟวิตซ์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เราต้องธำรงรักษากลไกสำหรับการป้องปรามพวกที่มีศักยภาพจะกลายเป็นคู่แข่ง ไม่ให้พวกเขาแม้กระทั่งแสวงหาทางแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลก”

แล้วจะมีวิธีการใดซึ่งทำให้สหรัฐฯสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ ได้ดีไปกว่าการลิดรอนทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียอยู่ในสภาพพิกลพิการ? แซคส์ ลากเส้นเชื่อมโยงตรงแน่วจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 มาถึงการขยายองค์การนาโต้ ขณะที่การก่อรัฐประหารซึ่งมีสหรัฐฯหนุนหลัง เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้องในยูเครนเมื่อปี 2014 และต่อเนื่องมาจนถึงสงครามตัวแทนของสหรัฐฯในยูเครน ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ถูกวางแผนออกมาเพื่อทำให้รัสเซีย “อ่อนแอลง” เช่นเดียวกัน เราสามารถที่จะมองเห็นเงื้อมมือของสหรัฐฯเกี่ยวข้องอยู่ในทุกๆ ก้าวเดินของเส้นทางนี้

ไม่สอดคล้องกับเรื่องเล่าของตัวเอง นิวยอร์กไทมส์จึงไม่เผยแพร่

ในบทความของ คลุกแมน กล่าวถึงผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างกันในกรณีของโปแลนด์และรัสเซีย แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยซึ่งผิดแผกกันของประเทศทั้งสอง โดยที่ปัจจัยดังกล่าวอาจจะเป็นสาเหตุของการที่ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนกัน ขณะที่ แซคส์ คือผู้ที่ชี้ให้เห็นสาเหตุเช่นว่านี้ประการหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาประจักษ์พบเห็นด้วยตนเอง

คลุกแมน ไม่ได้มีการอ้างอิงกล่าวถึงประสบการณ์ของ แซคส์ ซึ่งตัวแซคส์เองได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึงครั้งแล้วครั้งเล่าในการให้สัมภาษณ์ครั้งต่างๆ นอกจากนั้นยังปรากฏอยู่ในข้อเขียนต่างๆ หลายหลากย้อนหลังกลับไปได้จนถึงปี 1993 และในข้อเขียนยาวเหยียดชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2012 ซึ่งเขาบรรยายเอาไว้ว่า การที่ฝ่ายตะวันตกไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ คือ “ความหงุดหงิดผิดหวังที่ใหญ่โตที่สุดของเขา” เรื่องราวที่ แซคส์ พูดเอาไว้นี้ไม่ได้เป็นความลับอะไรเลย และแน่นอนทีเดียวว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้เก่งกาจสามารถคนหนึ่งจะต้องทราบเรื่องเช่นนี้อยู่แล้ว
(นอกจากที่คำให้สัมภาษณ์ของ เจฟฟรีย์ แซคส์ ที่อ้างอิงไว้ข้างต้นแล้ว ยังสามารถติดตามเรื่องที่เขาพูดเอาไว้เกี่ยวกับ “การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า”ในอีกหลายๆ ครั้งหลายๆ สื่อ ตัวอย่างเช่น https://www.antiwar.com/blog/2022/12/21/jeffrey-sachs-discusses-the-war-in-ukraine-shock-therapy-and-more/)
(ข้อเขียนของ เจฟฟรีย์ แซคส์ ในปี 1993 ดูได้ที่ http://www.earthinstitute.columbia.edu/sitefiles/file/about/director/documents/jrliei0193.pdf)
(ข้อเขียนของแซคส์ในปี 2012 ดูได้ที่ https://web.archive.org/web/20130316035403/http:/jeffsachs.org/2012/03/what-i-did-in-russia/)

แน่นอนทีเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ร่วมส่วนอยู่ในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ซึ่งตัว แซคส์ เองได้อภิปรายแสดงความเห็นเอาไว้ที่ https://web.archive.org/web/20130316035403/http:/jeffsachs.org/2012/03/what-i-did-in-russia/ แต่ว่าไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าการกระทำของสหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกนั่นแหละคือปัจจัยสำคัญยิ่งยวดในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของรัสเซีย

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ชั่วขณะแห่งปัจจุบันที่สหรัฐฯทำสงครามตัวแทนในยูเครน และบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นอย่างโหดเหี้ยมต่อรัสเซีย อย่างไรก็ดี ความรู้ความเข้าใจนี้ไม่ได้มีความสอดคล้องกับเรื่องเล่าซึ่งนิวยอร์กไทมส์กักขังหน่วงเหนี่ยวตัวเองเอาไว้ –และนั่นก็หมายถึงกักขังหน่วงเหนียวท่านผู้อ่านของตัวเองอีกด้วย

จอห์น วี วอลช์ เคยเป็นศาสตราจารย์ด้านสรีรศาสตร์และประสาทวิทยา อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ชาน (Chan Medical School) ของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ จวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เขาเขียนบทความในประเด็นเรื่องสันติภาพและการดูแลสุขภาพให้แก่สื่อต่างๆ ทั้ง San Francisco Chronicle, EastBayTimes/San Jose Mercury News, Asia Times, LA Progressive, Antiwar.com, CounterPunch และอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น