xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights:ดรามานักท่องเที่ยวจีนหลังจากการเปิดประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเกาหลีใต้ และถูก “เลือกปฏิบัติ” แยกออกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น (แฟ้มภาพจาก โซเชียลจีน เวยปั๋ว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล

ในบทความนี้ผู้เขียนอยากที่จะเล่าสู่กันฟังถึงประเด็นดรามาเกี่ยวกับการเดินทางออกไปต่างประเทศท่องเที่ยวของคนจีน ตอบรับกับนโยบายยกเลิกการกักตัวขาเข้าของประเทศจีน หลังวันที่ 8 ม.ค.เป็นต้นไป จีนเริ่มบังคับใช้นโยบายยกเลิกการกักตัวขาเข้าประเทศ ก็ตรงกับช่วงใกล้วันหยุดยาววันตรุษจีนพอดิบพอดี ซึ่งในปีนี้วันหยุดตรุษจีนในประเทศจีนจะอยู่ระหว่างวันที่ 20-27 ม.ค. ทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะมีวันหยุดที่ทางการประกาศออกมา แต่การเดินทางจริงของมหาชนจีนจะเริ่มทยอยก่อนวันที่ 20 ม.ค. และการเดินทางกลับไปทำงานของมหาชนจีนก็จะทยอยกลับไปจนหลังวันที่ 27 ม.ค. ดังนั้นชาวจีนส่วนมากจะหยุดพักผ่อนช่วงตรุษจีนเกือบๆ ครึ่งเดือนเลยทีเดียว

วันตรุษจีนในปี 2023 นี้เป็นวันหยุดยาวที่มีความพิเศษมากๆ เพราะเป็นปีแรกที่การเดินทางภายในทั่วประเทศจะอิสระไร้ข้อกังวลด้านมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้ชาวจีนที่ทำงานต่างถิ่นสามารถเดินทางกลับไปรวมตัวกันที่บ้านเกิด ทานอาหารเย็นในวันสุดท้ายของปี (ตามปฏิทินจีน) อย่างพร้อมเพรียงกันได้ ที่คนจีนเรียกว่า “年夜饭” (อ่านว่า เหนียนเย่ฟั่น) เพราะตามธรรมเนียมในวันตรุษจีนที่ปฏิบัติกันมา ในวันตรุษจีนคือวันที่เครือญาติมาเจอกันทานข้าวด้วยกัน ฉลองวันขึ้นปีใหม่ด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ดังนั้น ปกติบรรยากาศในวันตรุษจีนของจีนจะคึกคักและครื้นเครงมาก แต่เพราะการระบาดของโควิดที่ผ่านมา 3 ปี กอปรกับนโยบายการป้องกันที่เข้มข้น ทำให้ตรุษจีนที่ผ่านมา 3 ปีไม่คึกคักเท่าที่ควร คนจีนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปบ้านเกิดได้ และคนอีกจำนวนมากเช่นกันก็เลือกที่จะไม่เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อเฉลิมฉลอง เพราะเกรงว่าจะมีอุปสรรค เช่น ต้องถูกกักตัว เป็นต้น

ดังนั้น การเดินทางของมวลชนจีนในตรุษจีนปีนี้จะคึกคักอย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่การเดินทางกลับบ้านเกิดของคนจีนในประเทศและจากคนจีนในต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศเท่านั้น ยังมีคนจีนอีกกลุ่มใหญ่ที่เลือกเดินไปท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงตรุษจีนอีกด้วย เพราะการปลดล็อกการกักตัวขาเข้าประเทศจีนทำให้ภาคธุรกิจในประเทศจีนและภาคธุรกิจต่างประเทศที่ทำมาค้าขายกับจีนต่างตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก อย่างเช่น ข่าวในไทยของเรามีการนำเสนอการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนกันอย่างคึกคัก มีการประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหลังจากที่นักท่องเที่ยวจีนกลับมา และกล่าวกันว่าอีกไม่นานจีนจะกลับมาทวงบัลลังก์นักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย เป็นต้น

การเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีนในจีนปี 2023 นี้คึกคักเป็นพิเศษในรอบ 3 ปี เนื่องจากรัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมโควิดจากวันที่ 8 ม.ค. ในภาพเมื่อวันที่ 18 ม.ค. คลื่นผู้โดยสารที่สถานีรถไฟในเซี่ยงไฮ้ กำลังเดินทางกลับบ้านเกิดหรือท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
นโยบายยกเลิกการกักตัวขาเข้าประเทศของจีนมาพร้อมกับการลดระดับโรคโควิด-19 ลงหนึ่งระดับเป็นระดับที่สอง โดยจะทำให้การบริหารจัดการด้านโรคโควิด-19 เข้าสู่ภาวะการเฝ้าระวังและป้องกันเหมือนโรคระบาดอื่นๆ การลดระดับการจัดการโควิดลงนี้จะเน้นไปที่การรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงวัย การจัดหายารักษาโรคและชุดตรวจ ATK ที่เพียงพอ การเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลทั่วประเทศให้รับมือกับผู้ป่วยโควิดอาการหนัก จากนโยบายในปัจจุบันเห็นได้ว่าจีนเลือกที่จะอยู่ร่วมกับโควิดเหมือนกับประเทศอื่นๆ แล้ว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนจีนก็จะค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติเฉกเช่นก่อนโควิด

ดรามาเกี่ยวกับการออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการกักตัวขาเข้าประเทศ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีปฏิกิริยาต่อการ “เปิดประเทศของจีน” ที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มีนโยบายการรับนักท่องเที่ยวจีน ที่จีนอ้างว่า “เป็นการเลือกปฏิบัติ” ก็สร้างความไม่พอใจต่อชาวโซเชียลจีนเป็นจำนวนมาก โดยเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นประกาศต้อนรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนแบบมีเงื่อนไข คือต้องมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบในระยะเวลาที่กำหนด (เกาหลีใต้ต้องแสดงผลตรวจเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมง ญี่ปุ่นแสดงผลตรวจเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง) และหลังจากลงจากเครื่องบินแล้วยังต้องได้รับการตรวจ RT-PCR อีกครั้ง หากว่ามีผลเป็นบวกต้องถูกแยกไปกักตัว ในแง่ของค่าใช้จ่ายการตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการกักตัว สำหรับเกาหลีใต้ผู้เดินทางชาวจีนต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนญี่ปุ่นจะฟรีให้ทั้งหมด

และดรามาดังของกลุ่มนักเดินทางชาวจีนที่ไปเกาหลีใต้หลังวันที่ 8 ม.ค. ได้มีกระแสต่อต้านในโซเชียลจีนที่รุนแรง โดยมีการเผยแพร่และมีภาพของนักเดินทางจีนรายหนึ่งที่เดินทางไปเกาหลีใต้ว่า “หลังจากที่ชาวจีนเดินทางถึงสนามบินอินชอนที่เกาหลีใต้ จะถูกแยกออกจากนักเดินทางจากประเทศอื่น นักเดินทางชาวจีนถูกให้คล้องคอด้วยป้ายสีเหลือง และให้เดินไปนั่งรอการตรวจ RT-PCR ก่อนจะเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้”

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นประเด็นวิจารณ์ฮอตในโซเชียลจีนอยู่หลายวัน มีการโจมตีเกาหลีใต้และมองว่าการกระทำแบบนี้เฉพาะเจาะจงกับชาวจีนเท่านั้น เป็นการเลือกปฏิบัติในขณะที่นักเดินทางจากประเทศอื่นๆ เช่น ชาวสหรัฐฯ เดินทางเข้าเกาหลีใต้ได้อย่างอิสระ และชาวโซเชียลจีนยังมีการรณรงค์และชักชวนกันไม่ต้องไปเที่ยวและสนับสนุนเกาหลีใต้อีกด้วย ไม่นานหลังจากดรามาโซเชียล สถานทูตจีนประจำเกาหลีใต้ก็ออกประกาศระงับการออกวีซ่าระยะสั้นให้ชาวเกาหลีใต้ที่จะเดินทางไปจีน เสมือนเป็นการ “แลกหมัด” กัน

ในด้านของการเดินทางของคนจีนไปญี่ปุ่นก็มีดรามาประเด็นการเลือกปฏิบัติเช่นกัน แต่กระแสไม่แรงเท่าฝั่งของเกาหลีใต้ และสถานทูตจีนในประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีประกาศระงับการออกวีซ่าให้คนญี่ปุ่นที่จะเดินทางมาจีนแต่อย่างใด

ในความเป็นจริงแล้วการเดินทางและการร่วมมือในภาคประชาชนของจีนและเกาหลีใต้มีมาก เนื่องจากระยะทางเดินทางไปมาหาสู่กันที่ไม่ไกล ทำให้คนจีนจำนวนมากนิยมไปเกาหลีใต้ เช่น 1/3 ของยอดขายสินค้าในร้านสินค้าปลอดภาษี (Duty-Free Shop) ในเกาหลีใต้มาจากชาวจีน ชาวจีนไปเรียนที่เกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ส่วนชาวเกาหลีใต้ก็เดินทางมาเรียนและทำธุรกิจในจีนจำนวนมากเช่นกัน อย่างในช่วงที่จีนปิดประเทศมา 3 ปี เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่จีนยังคงออกวีซ่านักศึกษาให้

กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางมาไทยหลังจากที่จีนเปิดประเทศ ได้รับการต้อนรับอย่างดีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภาพเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2023 (แฟ้มภาพ เอพี)
จากสถิติจากเว็บไซต์เกี่ยวกับการเดินทางของจีน Qunar.com ระหว่างวันที่ 1-13 ม.ค.ที่ผ่านมา รายงานยอดจองตั๋วเครื่องบินขาเข้าและขาออกจากประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ เที่ยวบินขาเข้าจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ การเดินทางมาจากเกาหลีใต้ ฮ่องกง ไทย มาเก๊า และมาเลเซีย ส่วนเที่ยวบินขาออกจากจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ การเดินทางไปไทย มาเก๊า เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และสิงคโปร์

จากสถิตินี้จะเห็นได้ว่าการเดินทางเข้าและออกจีน เกาหลีใต้ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรก ในประเด็นนี้เองมีผู้เชี่ยวชาญของจีนออกมาชี้แจงว่า เกาหลีใต้อาจจะไม่ได้สนใจกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากนักเพราะไปเน้นหนักกับอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อ GDP เกาหลีใต้ไม่ถึง 3% แต่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้เป็นอุตสาหกรรมบริการที่สร้างงานและเงินให้ประชาชนชนชั้นกลางได้เป็นจำนวนมาก เกาหลีใต้ควรมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนมหาศาล

สำหรับตัวผู้เขียนเองมองว่า ดรามาการเดินทางท่องเที่ยวจีนเกาหลีและญี่ปุ่นนี้เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะ 3 ประเทศเพื่อนบ้านนี้ที่ผ่านมาจะมีสงครามน้ำลายในประเด็นต่างๆ กันอยู่บ่อยๆ

ไทยแลนด์ของเราเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากสื่อและโซเชียลจีนอย่างกว้างขวาง ในแง่ของการอ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีน ยิ่งผู้นำประเทศไทยถึง 3 ท่านไปยืนรอรับนักท่องเที่ยวจีนจากไฟลต์บินปฐมฤกษ์ในวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา สร้างความประทับใจต่อชาวจีนจำนวนมาก อีกทั้งไทยเองมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนปีใหม่ที่ออกนโยบายฉีดวัคซีน MRNA ให้นักท่องเที่ยว ทำให้ชาวจีนจำนวนมากสนใจเดินทางมาเที่ยวไทย เพราะทัศนคติที่ดีของรัฐบาลไทยที่สื่อถึงจีน ทำให้ชาวเน็ตจีนจำนวนมากนำบรรยายกาศการต้อนรับที่เป็นมิตรของไทยมาเปรียบเทียบกับประเทศที่เข้มงวดกับการเดินทางของชาวจีน

สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว นักท่องเที่ยวจีนถือว่าเนื้อหอมและเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ต้องแบ่งมาให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะไทยแต่หลายประเทศเพื่อนอาเซียนก็เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา โดยมาเลเซียและกัมพูชาคาดการณ์ว่าคนจีนจะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศของตนในปีนี้ประมาณ 2 ล้านคน สำหรับตัวเลขการคาดการณ์ของนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาไทยจากทางไทยเราเอง คาดว่าในปีนี้อาจจะสูงถึง 5-10 ล้านคนก็เป็นไปได้

สรุปคือ ในมุมของชาวจีนที่จะเดินทางไปเที่ยวประเทศต่างๆ ทั่วโลกหลังปลดล็อกจากโควิด-19 นี้ ผู้เขียนมองว่าบรรยากาศความสัมพันธ์ของจีนต่อประเทศนั้นๆ มีปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ชาวจีนยุคใหม่ที่มีเงิน มีกำลังใช้จ่าย มองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปแล้วปลอดภัย ไปเที่ยวแล้วสบายใจ และค่อนข้างให้ความสำคัญกับทัศนคติต่อคนจีนในประเทศเจ้าบ้านด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น