xs
xsm
sm
md
lg

“หอโหวด ๑๐๑” แลนด์มาร์กสุดอลังการแห่งร้อยเอ็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


หอโหวด ๑๐๑
ชวนชม “หอโหวด ๑๐๑” แลนด์มาร์กสุดอลังการแห่ง จ.ร้อยเอ็ด ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง กับตัวตึกที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนด้านบนนั้นเป็นจุดชมวิวเมืองร้อยเอ็ด ขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง

หอชมเมืองร้อยเอ็ดริมบึงพลาญชัย
หากเดินทางเข้ามาในตัวเมือง “ร้อยเอ็ด” ตรงเข้ามาในใจกลางเมือง ก็จะมองเห็นตึกสูงๆ รูปทรงเหมือน “โหวด” เครื่องดนตรีของภาคอีสาน ซึ่งต้องนับว่าตึกสูงๆ หลังนี้เป็นแลนด์มาร์กของร้อยเอ็ด เพราะไม่ว่าอยู่ตรงไหนของเมืองก็จะมองเห็นตึกนี้อยู่เสมอ

และแลนด์มาร์กแห่งนี้ก็คือ “หอโหวด ๑๐๑” หรือ “หอชมเมืองรูปทรงโหวด” ที่เป็นดังสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด

“หอโหวด ๑๐๑” ตั้งอยู่ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดและบึงพลาญชัย

หอโหวด ๑๐๑

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และก่อนที่จะขึ้นไปเยี่ยมชมด้านบนหอโหวด ขอแวะเที่ยวรอบๆ ในบริเวณนี้ก่อน โดยจุดนี้เป็นที่ตั้งของ “ประตูเมืองสาเกตนคร” (ชื่อของร้อยเอ็ดในอดีต) ส่วนใกล้ๆ กันมี “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่สร้างขึ้นเพื่อจารึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้แยกเมืองร้อยเอ็ดเมืองกาฬสินธุ์ เมืองมหาสารคามออกจากมณฑลอีสานมารวมกันตั้งเป็นมณฑลร้อยเอ็ด ตั้งกองพลทหารราบที่ 10 กองบินน้อย และสโมสรเสือน้ำขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

รอบๆ จุดนี้เป็น “สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด” สวนสุขภาพที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นกีฬาต่างๆ รวมไปถึงการนั่งเล่นพักผ่อน หรือการจัดกิจกรรมอื่นๆ ด้วย

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด

บึงพลาญชัย
และในบริเวณนี้ก็มีบึงน้ำขนาดใหญ่ ชื่อว่า “บึงพลาญชัย” อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของเมืองร้อยเอ็ด ภายในบึงมีปลาใหญ่น้อยหลากหลายสายพันธุ์ มีการตกแต่งบริเวณรอบๆ บึงด้วยต้นไม้ดอกไม้ช่วยเพิ่มความสดชื่น และบนเกาะภายในบึงก็ยังมี “ศาลหลักเมืองร้อยเอ็ด” ให้แวะเข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

สำหรับ “หอโหวด ๑๐๑” มีจุดเริ่มต้นในการก่อสร้างมาจากความต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยตั้งแต่ปี 2548 มีแนวคิดในการก่อสร้างหอชมเมืองร้อยเอ็ด ด้วยความสูง 101 ศอก (50.5 เมตร) มีพื้นที่เป็นศูย์การค้า หอประชุม และพื้นที่ชมวิว โดยจะจัดสร้างขึ้นในบริเวณตลาดหายโศรก ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดร้อยเอ็ดมาอย่างยาวนาน แต่ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้เนื่องจากอยู่ในแนวรัศมีการบินของสนามบินมณฑลทหารบกที่ 27

ศาลหลักเมืองร้อยเอ็ด

สักการะศาลหลักเมืองร้อยเอ็ด
ต่อมามีการปรับแผนการก่อสร้าง ย้ายมาสู่ที่ตั้งใหม่ในบริเวณคูเมืองเก่าด้านทิศตะวันตกของบึงพลาญชัย แต่ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างได้เนื่องจากอยู่ในเขตโบราณสถาน ถัดจากนั้นจึงมีแผนในการก่อสร้างบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และมีการพัฒนารูปแบบหอโหวดชมเมืองร้อยเอ็ดให้มีความสูง 101 เมตร และแบ่งออกเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรสการ ร้านขายของ พื้นที่ชมวิว และสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัด

หลังจากนั้นจึงได้เริ่มมีการก่อสร้างในปี 2560 แล้วเสร็จในราวๆ ปี 2563 และต่อมายังมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในเพิ่มเติม ได้แก่ ร้อยเอ็ดสกายวอล์ก และจุดเครื่องเล่นโหนสลิง บริเวณชั้น 34 และต่อเติมโดมชั้น 35 เป็นหอพระสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปประจำเมือง

หอโหวด ๑๐๑

หอโหวด ๑๐๑
ปัจจุบัน หอโหวด ๑๐๑ เสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนด้วยแนวคิดการการออกแบบที่พัฒนามาจาก “โหวด” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของภาคอีสาน และความสูง 101 เมตร ที่มาจากชื่อของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยความสูง 101 เมตรมีความสูงเทียบเท่าอาคารสูง 35 ชั้น ฐานด้านล่างกว้าง 30 เมตร ยอดโหวดกว้าง 20 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 3,621 ตารางเมตร

นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวที่หอโหวด ๑๐๑ สามารถขึ้นที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นทางเข้าหลัก ที่ชั้นนี้จะมีเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ จุดจำหน่ายบัตรเข้าชม และนิทรรศการเปี่ยวกับโหวด เครื่องดนตรีของภาคอีสานอันเป็นต้นแบบของหอชมเมืองแห่งนี้ บนชั้น 3 และ 4 ยังสามารถขึ้นไปชมได้ฟรี เป็นร้านขายของที่ระลึก สินค้าพื้นเมือง ร้านกาแฟ และร้านอาหาร

บริเวณชั้น 2

ชมวิว 360 องศา ที่ชั้น 31
จากนั้นขึ้นไปบนชั้น 31 เป็นจุดชมวิวภายใน ที่สามารถเดินชมได้แบบ 360 องศา แต่ละมุมก็จะติดตั้งกล้องส่องทางไกล และมีจอแสดงข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถมองเห็นได้ในมุมนั้นๆ เช่น ในมุมหนึ่งจะสามารถมองไปได้ไกลถึงพระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ส่วนอีกมุมจะสามารถมองเห็น “พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี” หรือที่เรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปยืนปางประทานพรซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวัดบูรพาภิราม

บึงพลาญชัยในมุมสูง

 หลวงพ่อใหญ่ ณ วัดบูรพาภิราม

แชนเดอเลียร์ดอกอินทนินบก
ชั้นที่ 32 จะเป็นจุดถ่ายภาพสวยๆ มีอุโมงค์ดอกไม้ที่เหมือนหลุดเข้ามาในสวนสวยๆ โดยเฉพาะบริเวณบันไดเดินขึ้นด้านบน จะเป็นบันได้ที่ประดับด้วยแชนเดอเลียร์ดอกอินทนินบก (ดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด) ที่ทำจากคริสตัล

บริเวณชั้น 33 เป็นจุดจัดแสดงนิทรรศการ ส่วนที่ชั้น 34 เป็นจุดชมวิว 360 องศา สามารถเดินดูได้รอบๆ รับลมเย็นสบายจากภายนอกเพราะไม่มีกระจกกั้น และที่เป็นไฮไลต์ของชั้นนี้คือ ร้อยเอ็ดสกายวอล์ก ทำเป็นพื้นกระจกใสที่สามารถมายืนชมเมืองในมุมสูง ใครที่กลัวความสูงอาจจะมีขาสั่นบ้าง แต่วิวสวยๆ ที่ได้เห็นก็ทำให้หายกลัวไปได้บ้าง

ชมวิว 360 องศา ที่ชั้น 34

สกายวอล์กร้อยเอ็ด
และที่ชั้น 35 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของหอโหวด ๑๐๑ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมิ่งเมืองมงคล” พระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นเมื่อปี 2367 โดยพระยาขัติยะวงษา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนที่ 2 และถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ชั้น 35 แห่งนี้ หรือที่เรียกชื่อว่า พุทธพิมานมงคล เพื่อเป็นมิ่งขวัญของชาวร้อยเอ็ด และยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่ถูกอัญเชิญมาจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ม

ใครที่อยากชมวิวยามเย็นไปจนถึงช่วงค่ำๆ ของเมืองร้อยเอ็ด แนะนำให้มาถึงที่นี่ช่วงบ่ายแก่ๆ เดินชมในแต่ละชั้นจนเต็มอิ่ม แล้วเฝ้ารอช่วงพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า จากนั้นแสงไฟสีสันต่างๆ ก็จะเริ่มส่องสว่าง เปลี่ยนเมืองร้อยเอ็ดให้มีสีสันสวยงามในยามค่ำคืน

พุทธพิมานมงคล ชั้น 35

พระพุทธมิ่งเมืองมงคล

พระบรมสารีริกธาตุ

ชมวิวยามค่ำคืน

บัตรเข้าชมหอโหวด ๑๐๑

เดินเล่นรอบๆ หอโหวด ๑๐๑

เดินเล่นรอบๆ หอโหวด ๑๐๑

หอโหวด ๑๐๑
* * * * * * * * * * * * * *

“หอโหวด ๑๐๑” ตั้งอยู่ติดกับบึงพลาญชัย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เปิดให้เข้าชมทุกวัน ชั้น 2 เปิด-ปิดจำหน่ายตั๋วตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. ชั้นที่ 2-3 เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 9.00 - 19.00 น. เข้าชมฟรี ชั้นที่ 28-35 เปิดให้บริการ 10.00 - 19.00 น. เสียค่าบริการในการเข้าชม สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-4351-4101, 09-5224-4101 Facebook : หอโหวด ๑๐๑ ROIET TOWER

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น