xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนเวลานี้ --การต่อสู้กันระหว่าง ‘แพทริออต’ ขีปนาวุธเพื่อการป้องกันเมดอินยูเอสเอ กับ ‘อิสกันเดอร์’ ขีปนาวุธเพื่อการโจมตีของรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประธานาธิบดีโวโลดีมาร์ เซเลนสกี ของยูเครน ขณะไปกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม โดยที่มีรองประธานาธิบด กมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ (ซ้าย) ในฐานะประธานวุฒิสภา  และ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ช่วยกันถือธงชาติยูเครน ซึ่ง เซเลนสกี มอบให้แก่พวกเธอ
In Ukraine, it’s Patriot vs. Iskander for now
BY M. K. BHADRAKUMAR
22/12/2122

สงครามยูเครนในเวลานี้ มอสโกแสดงความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมถอยหลังกลับ ขณะที่โอกาสซึ่ง เคียฟ จะได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ก็ไม่เคยเป็นอะไรมากไปกว่าการปล่อยตัวให้เริงร่าอยู่ในความฝันจินตนาการ เมื่อมองดูหนทางข้างหน้า ขณะที่ แพทริออต เป็นอาวุธเพื่อการป้องกันซึ่งจะทำให้ภาวะชะงักงันยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ อิสกันเดอร์ กลับเป็นอาวุธซึ่งมีศักยภาพที่จะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกม

จากการที่พรรครีพับลิกันตั้งท่าเตรียมเข้าควบคุมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป ถึงแม้ได้ครองเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียงหน่อยเดียวก็ตามที เรื่องนี้ทำให้คณะบริหารไบเดนกำลังทุ่มเทความพยายามเพื่อดูดเงินงบประมาณออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับเอาไปใช้ในสงครามตัวแทนเพื่อเล่นงานรัสเซียในยูเครน ก่อนที่จุดศูนย์กลางความสนใจในกิจการทางนิติบัญญัติของคองเกรสจะเกิดการปรับเปลี่ยน โดยที่ขณะนี้ทำเนียบขาวกำลังเสนอขอเงินก้อนใหม่เพื่อใช้ในการนี้เกือบๆ 45,000 ล้านดอลลาร์ แล้วใครล่ะที่สามารถหาคะแนนสนับสนุนเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับนักแสดง-นักการเมืองผู้มีผลงานความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แล้ว?

ตรงนี้เองที่ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ เซเลนสกี เดินเข้าฉาก เมื่อ เซเลนสกี เสนอตัวในวันที่ 18 ธันวาคมว่า เขาสามารถหาเวลาไปเยือนกรุงวอชิงตันได้สัก 2-3 ชั่วโมงในวันที่ 21 ธันวาคม ประธานาธิบดีไบเดน ก็รีบตกลงทันที สำหรับ เซเลนสกี ก็เช่นเดียวกัน มันคุ้มค่าที่จะให้ใครๆ ได้เห็นภาพเขากำลังกุมมือของ ไบเดน เอาไว้ ท่ามกลางข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันในกรุงเคียฟ

แน่นอนล่ะ เมื่อพิจารณาจากภาพมุมกว้างในทางยุทธศาสตร์ ฉากเหตุการณ์ที่อยู่ด้านหลังการที่ เซเลนสกี ตัดสินใจเดินทางไปวอชิงตันอย่างเร่งด่วน ย่อมต้องเป็นทริป 1 วันไปยังกรุงมินสก์ ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งส่งผลเป็นการเขย่าภูมิรัฐศาสตร์แห่งความมั่นคงของยุโรปทีเดียว ทั้งนี้การตัดสินใจของเครมลิมที่จะจัดหาการป้องปรามด้านนิวเคลียร์ให้แก่ เบลารุส คราวนี้ ทำให้ เคียฟ และ วอชิงตัน ต้องพากันจับจ้องตาเขม็ง (ดูเพิ่มเติมในบล็อกของผม เรื่อง NATO nuclear compass rendered unavailing https://www.indianpunchline.com/nato-nuclear-compass-rendered-unavailing/)

พูดแบบสรุปรวบย่อ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ ปูติน ไปเยือนกรุงมินสก์คราวนี้ คือ เบลารุสเได้รับกำแพงปกป้องคุ้มครองสุดแกร่ง ซึ่งจำเป็นสำหรับการที่ มินสก์ จะดำเนินการสนับสนุนการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครนต่อไป เวลาเดียวกัน กำแพงแกร่งนี้ก็ตอบสนองวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดประการหนึ่งของฝ่ายมอสโกไปด้วย เมื่อพิจารณาว่า เบลารุส เอื้ออำนวยให้เกิดความล้ำลึกทางยุทธศาสตร์ซึ่งจำเป็นสำหรับการปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียในยูเครนในเฟสต่อไป


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความฝันของนาโต้ที่ต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ “ช่องว่างซูวัลกี” (Suwalki Gap) และตัดขาดฐานนิวเคลียร์อันใหญ่โตมโหฬารในแคว้นคาลินินกราด (Kaliningrad) ริมทะเลบอลติก ออกจาก เบลารุส และดินแดนตอนในเข้าไปของรัสเซีย เป็นอันว่าถูกบดขยี้ลงแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งยุคหลังสงครามเย็นจึงกำลังเปลี่ยนเส้นทางกันแล้วอย่างแท้จริงในอาณาบริเวณแผ่นดินใหญ่แถบนี้ของยุโรป

ผลก็คือ มอสโกอาจจะเพิ่งส่งสัญญาณออกมาว่า ยุทธศาสตร์ของฝ่ายอังกฤษ-อเมริกันที่จะติดอาวุธยูเครนมากขึ้นทุกทีๆ รวมทั้งอาจแอบซ่อนอำพรางไว้ด้วยแผนการบุกโจมตีเข้าไปภายในดินแดนรัสเซียด้วยนั้น ไม่ใช่จะดำเนินไปโดยไม่ถูกตอบโต้ อันที่จริงแล้ว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส ประกาศว่า ระบบจรวด เอส-400 (S-400) และระบบจรวดอิสกันเดอร์ (Iskander) ที่จัดส่งมาให้โดยรัสเซีย ได้รับการติดตั้งประจำการเพื่อปฏิบัติหน้าที่สู้รบแล้ว

อิสกันเดอร์ เป็นระบบขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) แบบเคลื่อนย้ายที่ตั้งได้อย่างคล่องแคล่ว โดดเด่นด้วยสมรรถนะการโจมตีอย่างแม่นยำแบบสมัยใหม่ มีพิสัยทำการ 400 กิโลเมตรและมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ มันมีการเชื่อมต่อกับระบบตัวเซนเซอร์ที่จัดวางเป็นเครือข่าย และสามารถใช้เป็นขีปนาวุธโจมตีได้อย่างรวดเร็วเพื่อเล่นงานเป้าหมายต่างๆ ทั่วทั้งยุทธบริเวณโดยต้องการระยะเวลาเตรียมการแค่สั้นๆ

อิสกันเดอร์ ยังมีศักยภาพในการเคลื่อนที่ด้วยอัตราความเร็วจี๋ถึง 2.1 กิโลเมตร/วินาที ขณะอยู่ในระยะสุดท้ายเมื่อมันกลับลงมาจากชั้นบรรยากาศระดับสูงและดำดิ่งพุ่งสู่เป้าหมาย (high terminal phase) ขีปนาวุธแบบนี้ติดตั้งอุปกรณ์ก่อกวนสัญญาณเพื่อต่อสู้กับพวกเป้าหลอกของข้าศึก และเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีทั้งสำหรับการต่อกรกับพวกเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ และการโจมตีใส่เป้าหมายอยู่กับที่แห่งสำคัญๆ เป็นต้นว่า กองบัญชาการ, โรงงานผลิตทางอุตสาหกรรม, โครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติฝ่ายพลเรือนซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวด, และพวกที่ตั้งคลังอาวุธยุทธสัมภาระซึ่งมีเกราะป้องกันแน่นหนา

ณ ระดับทางยุทธศาสตร์ ระบบอิสกันเดอร์น่าที่จะถูกใช้เป็นแกนกลางของความพยายามใดๆ ก็ตามของฝ่ายรัสเซียในการบริหารจัดการกับการขยายยกระดับการสู้รบ และการปิดฉากสงครามในยูเครน นี่จึงเป็นหลักฐานชัดเจนว่า รัสเซียกำลังเตรียมตัวสำหรับผลสุดท้ายทุกๆ ชนิดที่อาจเกิดขึ้นได้

ในอีกด้านหนึ่ง ไบเดน ก็ใช้วาทศิลป์อย่างดีที่สุดของเขาในการโยนฉายาต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการผรุสวาทเข้าใส่ปูติน ขณะที่มี เซเลนสกี ยืนอยู่ข้างๆ เขาที่ทำเนียบขาว รวมทั้งเอาเรื่องเล่าด้วยความรู้สึกลำพองแบบผู้พิชิตของวอชิงตัน มาพูดซ้ำอีกครั้ง พร้อมกับกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯจะสนับสนุนยูเครน “เรื่อยไปไม่ว่าจะนานแค่ไหน”

อย่างไรก็ดี ชีวิตนั้นเป็นของจริง ขณะที่โวหารวาทศิลป์ในทางการเมืองน้อยนักที่จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความเป็นจริง การพยากรณ์อนาคตจากสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจำเป็นต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ในการแถลงสรุปกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของทำเนียบขาวที่ไม่มีการระบุว่าเป็นผู้ใด แม้พูดยืนยันว่าสหรัฐฯกำลังอยู่ระหว่างการนำเอาระบบขีปนาวุธสำหรับป้องกันขีปนาวุธ “แพทริออต” (Patriot) ไปให้แก่ยูเครน แต่ก็เสริมด้วยคำเตือนว่า ยังจะต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนก่อนที่ขีปนาวุธ แพทริออต จะไปถึงยูเครนจริงๆ นอกเหนือจากจะต้องใช้เวลา “หลายเดือน” ในการฝึกกองทัพยูเครนให้ใช้งานระบบอาวุธนี้ได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2022/12/21/background-press-call-on-the-upcoming-visit-of-president-zelenskyy-of-ukraine/)

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) “จะฝึกฝ่ายยูเครนในประเทศที่สามให้ใช้ชุดขีปนาวุธนี้ ในทันทีที่ฝึกเสร็จ พวกเขาจะกลับเข้าไปในยูเครนพร้อมกับชุดขีปนาวุธที่จะนำไปใช้งาน มันจะไม่ใช่บุคลากรสหรัฐฯที่ทำหน้าที่เหล่านี้ และดังนั้นจึงไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในแง่นี้ ... (เรา) ไม่ได้กำลังหาทางเพื่อเข้าพัวพันในการทำสงครามโดยตรงกับรัสเซีย และในวันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องนี้หรอก”

ชัดเจนมากว่า นี่คือความพยายามที่จะลดทอนความอึกทึกเกรียวกราวของเรื่องนี้ มอสโกกล่าวเตือนเอาไว้แล้วว่า ถ้าสหรัฐฯเดินหน้าจัดส่ง แพทริออต ไปให้ยูเครนแล้ว ก็จะเกิด “ผลต่อเนื่อง” และกองกำลังฝ่ายรัสเซียจะถือว่ามันเป็นเป้าหมายที่จะโจมตีได้

นอกจากนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้นี้ยังกล่าวย้ำยืนยันว่า “ท่านประธานาธิบดี (ไบเดน) มีความชัดเจนอย่างมากๆ ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เขาไม่ได้โลเล และเขาก็จะไม่มีการโลเลในวันพรุ่งนี้ หรือในเดือนหน้า หรือในปีหน้า จากที่ได้ยืนยันเอาไว้แล้วว่าสหรัฐฯไม่ส่งกองกำลังไปยังยูเครนเพื่อทำการสู้รบโดยตรงกับฝ่ายรัสเซีย”

สิ่งที่เป็นแก่นแกนในการไปเยือนวอชิงตันของ เซเลนสกี ก็คือ ความจำเป็นเร่งด่วนของคณะบริหารไบเดนที่จะต้องประคับประคองให้ได้รับความสนับสนุน “จากทั้งสองพรรคใหญ่” และ “จากทั้งสองสภา” ในรัฐสภาสหรัฐฯ สำหรับการให้เงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก 45,000 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามตรงๆ ณ การแถลงข่าวร่วมกับ เซเลนสกี ที่ทำเนียบขาว เกี่ยวกับการจัดส่งขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถโจมตีถึงรัสเซียไปให้แก่ยูเครน ไบเดน ก็กล่าวยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ความคิดที่ว่าเราจะให้วัสดุอุปกรณ์แก่ ยูเครน ซึ่งมีความแตกต่างในระดับรากฐานจากสิ่งที่กำลังส่งไปที่นั่นอยู่แล้วนั้น เป็นสิ่งที่มีลู่ทางโอกาสทีเดียวที่จะสร้างความแตกแยกขึ้นในนาโต้ และสร้างความแตกแยกขึ้นในสหภาพยุโรป ตลอดจนในส่วนอื่นๆ ของโลก ... (บรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ) ไม่ต้องการที่จะเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 3 ...

“ผมใช้เวลาไปแล้วหลายร้อยชั่วโมงในการพูดคุยกันตรงๆ กับพวกพันธมิตรยุโรปของเรา และกับพวกประมุขแห่งรัฐของประเทศเหล่านี้ และในการชี้แจงเหตุผลว่าการที่พวกเขายังคงให้ความสนับสนุนยูเครนต่อไปนั้นคือสิ่งซึ่งเป็นผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างมหาศาลขนาดไหน พวกเขาเข้าใจเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่พวกเขาไม่ได้คิดที่จะเข้าทำสงครามกับรัสเซีย พวกเขาไม่ได้คิดที่จะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2022/12/21/remarks-by-president-biden-and-president-zelenskyy-of-ukraine-in-joint-press-conference/)

นี่เป็นคำแถลงที่ไม่ธรรมดาเลย โดยเฉพาะเมื่อออกมาในช่วงจังหวะเวลานี้ มันมีความหมายเท่ากับเป็นการยื่นช่อมะกอกสันติภาพไปยังมอสโกว่า สหรัฐฯไม่ได้ต้องการไต่บันไดทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน มันก็ทำให้เกิดปริศนาขึ้นมาเกี่ยวกับการไปเยือนสหรัฐฯของ เซเลนสกี

ถึงแม้ทริปไปวอชิงตันของ เซเลนสกี ถูกกำหนดจัดวางเอาไว้ล่วงหน้าว่าคือการแสดงออกในทางยุทธศาสตร์ถึงความสมัครสมานสามัคคีกัน ทว่ามันก็ไม่สามารถปกปิดรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นมา --นั่นก็คือความหวาดกลัวอันลึกเร้นที่ว่า แรงหนุนหลัง เคียฟ อาจจะจืดจางลงขณะที่การสู้รบยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ พูดกันง่ายๆ ก็คือว่า ความรู้สึกที่ว่าความช่วยเหลือที่สหรัฐฯให้แก่ยูเครนไม่ควรอยู่ในลักษณะของการมอบ “เช็กเปล่า” เพื่อให้กรอกตัวเงินกันตามใจชอบนั้น มีแต่จะกลายเป็นกระแสแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ในรัฐสภาอเมริกัน

ตัว ไบเดน เองคาดการณ์ว่า การสู้รบขัดแย้งยูเครน จะกลายเป็นประเด็นหนึ่งของการรณรงค์หาเสียงในปี 2024 และจะมีการตั้งคำถามต่างๆ ขึ้นมามากมาย อย่างที่สื่อ “เดอะฮิลล์” (The Hill) เขียนเอาไว้ว่า “พวกที่สงสัยข้องใจพากันโต้แย้งว่า สหรัฐฯไม่ได้มีผลประโยชน์สำคัญยิ่งยวดอะไรในยูเครน เงินที่ไหลทะลักเข้าไปให้ เคียฟ นั้นมากมายเหลือล้นเกินไปแล้ว และยังแปดเปื้อนด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น แถมสงครามนี้ยังเป็นการหันเหความสนใจออกไปจากปัญหาต่างๆ ภายในประเทศที่มีอยู่มากมายท่วมท้น ซึ่งล้วนแต่เรียกร้องต้องการความใส่ใจ”
(เดอะฮิลล์ เป็นสื่ออเมริกันที่เน้นรายงานข่าวเกี่ยวกับรัฐสภา, ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหาร, และการรณรงค์หาเสียงในสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Hill_(newspaper) -ผู้แปล)

ในทำนองเดียวกัน ความกังวลใจที่อยู่ในความคิดของชาวยุโรปนั้น เห็นชัดเจนว่าคือเรื่องที่พวกคอมเมนเตเตอร์ชื่อดังทรงอิทธิพลชาวแองโกล-แซกซอน และพวกนักการเมืองในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันออก กำลังกลายเป็นผู้ที่กำหนดวาระการปฏิบัติการของยุโรปไปเสียแล้ว ทั้งนี้ น่าสนใจมากที่ประธานาธิบดีแฟรงก์-วอลเทอร์ สไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นนักการทูตมากประสบการณ์ ได้โทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในวันที่ 20 ธันวาคม อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เซเลนสกี ไปวอชิงตัน

บันทึกสรุปย่อการหารือคราวนี้ของฝ่ายจีน ให้น้ำหนักกับประเด็นที่ว่า ขณะที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องยูเครนนั้น สี แสดงความสนับสนุน อียู “ในการสาธิตให้เห็นถึงความเป็นอิสระในทางยุทธศาสตร์ของตน และในการนำไปสู่การสถาปนาโครงสร้างด้านความมั่นคงของยุโรปที่มีความสมดุล, มีประสิทธิภาพ, และยั่งยืน เพื่อทำให้สันติภาพถาวรและเสถียรภาพระยะยาวในทวีปยุโรปกลายเป็นความจริงขึ้นมา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202212/t20221222_10993699.html)

แน่นอนว่า จากข้อเท็จจริงที่การเยือนของ เซเลนสกี อุดมไปด้วยเรื่องอาวุธ แต่เรื่องการเจรจาสันติภาพกลับขาดหายไปอย่างน่าเศร้าใจ สภาพเช่นนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นใน เบอร์ลิน และ ปารีส ซึ่งถึงอย่างไรก็ยังคงเป็นจุดศูนย์กลางการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายของยุโรป ทั้งนี้คำถามที่ว่าสงครามยูเครนจะยุติลงอย่างไร คือสิ่งที่สร้างความกระวนกระวายใจอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า รัสเซียดูเหมือนมีความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมถอยหลังกลับ ขณะที่โอกาสซึ่งยูเครนจะได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ก็ไม่เคยเป็นอะไรมากไปกว่าการปล่อยตัวให้เริงร่าอยู่ในความฝันจินตนาการ เมื่อมองดูหนทางข้างหน้า ขณะที่ แพทริออต เป็นอาวุธเพื่อการป้องกันซึ่งจะทำให้ภาวะชะงักงันยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ อิสกันเดอร์ กลับเป็นอาวุธซึ่งมีศักยภาพที่จะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกม

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/in-ukraine-its-patriot-vs-iskander-for-now
กำลังโหลดความคิดเห็น