xs
xsm
sm
md
lg

สุดล้ำค่า ชม 10 ไฮไลต์ “เครื่องทองอยุธยาโบราณ” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดให้บริการแล้ว “อาคารเครื่องทองอยุธยา” สถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องทองอยุธยา ที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งนี้จึงขอชวนทุกคนมาชม 10 ไฮไลต์ เครื่องทองอยุธยาโบราณ ที่ไม่ควรพลาดมาให้ทุกคนได้รู้จักกัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา 

ภายในอาคารเครื่องทอง
ภายในอาคารเครื่องทอง มีโบราณวัตถุที่จัดแสดงจำนวนทั้งสิ้น 2,244 รายการ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ส่วนที่ 2 จัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องพุทธบูชา เครื่องอุทิศ และพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงกรุจำลองวัดราชบูรณะ ส่วนที่ 3 จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภายในอาคารเครื่องทอง

พระแสงขรรค์ชัยศรี
สำหรับไฮไลต์ 10 เครื่องทองอยุธยาโบราณ ที่ไม่ควรพลาด ได้แก่


พระแสงขรรค์ชัยศรี
พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นคำเรียกตามอย่างโบราณ มีการกล่าวถึงครั้งแรกในสมัยสุโขทัย โดยปรากฏในศิลาจารึกวัดศรีชุม พุทธศตวรรษที่ 19-20 ความว่า “เมื่อก่อนผีฟ้า เจ้าเมืองศรีโสธรปุระ ให้ลูกสาวชื่อนางสุขรมหาเทวี กับขรรค์ชัยศรี ให้นามเกียรติแก่พ่อขุนผาเมืองเหียม พ่อขุนบางกลางหาวได้ชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์ เพื่อพ่อขุนผาเมืองเอาชื่อตนให้แก่พระสหายอีก เมืองสุโขทัยเพื่อนั้น”

พระขรรค์เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในสิ่งของ 5 รายการ ที่เรียกกันว่า “เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์” ที่ต้องถวายแก่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระแสงขรรค์ที่พบในกรุพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะนั้น เมื่อพิจารณาลวดลายประดับจะเห็นถึงความเกี่ยวข้องกับศิลปะเปอร์เซีย-อิสลาม ได้แก่ ลายดอกไม้สามกลีบ และลายใบไม้ประดิษฐ์ หรือลายใบไม้สามเหลี่ยม ซึ่งเป็นลวดลายที่พบได้ในงานเครื่องปั้นดินเผาและงานประดับขอบที่วางคัมภีร์กุรอานสลักไม้

พระสุวรรณภิงคาร
พระสุวรรณภิงคาร
พระสุวรรณภิงคาร เป็นภาชนะใส่น้ำรูปทรงคล้ายน้ำเต้า มีฝาปิดและมีพวยเป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรมตามธรรมเนียมศาสนาพราหมณ์ ยอดฝาทำเป็นเศียรพรหมจตุรพักตร์ ปากภาชนะผายออก คอคอดสูง เชิงซ้อนชั้นผายออกรับกับลำตัวทรงกลม ส่วนบนและส่วนล่างของช่วงลำตัวตกแต่งด้วยลายกลีบบัว สองข้างตกแต่งด้วยแผ่นทองลักษณะคล้ายกลีบบัว ด้านหนึ่งทำเป็นรูปพญานาค 3 เศียร อีกด้านหนึ่งทำเป็นรูปเทวดาประทับเหนือดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือสังข์และวัชระ กึ่งกลางพระนลาฏสันนิษฐานว่าเป็นเนตรที่ 3 หรืออุณาโลม

พระสุวรรณภิงคาร เป็นภาชนะใส่น้ำสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการบำเพ็ญพระราชกุศล น้ำที่ใช้หลั่งเพื่ออุทิศส่วนกุศลนี้เรียกว่า ทักษิโณทก ด้วยเหตุนี้พระสุวรรณภิงคารจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระเต้าทักษิโณทก พระสุวรรณภิงคารที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องพุทธบูชาโดยเฉพาะ มิได้เป็นภาชนะสำหรับใช้งานจริง เนื่องจากส่วนก้นของพระสุวรรณภิงคารมีลักษณะกลวงจนถึงส่วนฐาน

พระคชาธารจำลอง
พระคชาธารจำลอง
พระคชาธาร คือช้างทรงของพระมหากษัตริย์ นับถือเป็นสัตว์มงคลมีกำเนิดจากเทพเจ้า เป็นสิริแก่ พระเจ้าแผ่นดิน โดยเฉพาะช้างตระกูลฉัททันต์และช้างอุโบสถ ถือว่าควรเป็นพาหนะของพระจักรพรรดิเท่านั้น ช้าง เป็นมงคล 1 ใน สัปตรัตนะ (แก้ว 7 ประการ) อันเป็นเครื่องประกอบพระบารมีของพระจักรพรรดิ ผู้มีพระราชอำนาจแผ่ไพศาลยิ่งกว่าพระราชาทั้งปวง

พระคชาธารทองคำที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะทำจากทองคำประดับอัญมณีและแก้วสี อยู่ในอิริยาบถหมอบบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า งวงชูช่อพฤกษา ลำตัวประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์ ได้แก่ ผ้าปกกระพอง (ผ้าคลุมศีรษะ) สายรัดประคน สำอาง ซองหาง และวลัย ผูกสัปคับไว้ที่หลัง ส่วนหัวและลำตัวถอดแยกออกจากกันได้ ภายในกลวง ส่วนหางยึดด้วยลวดทองคำทำให้สามารถขยับได้

จุลมงกุฎ
จุลมงกุฎ
จุลมงกุฎ เครื่องประดับศีรษะ สำหรับสวมครอบมุ่นพระเมาลีหรือมวยผม ทำด้วยทองคำประดับแก้วสีเขียวและใส ยอดตกแต่งลายดอกจัน มีสายรัดทำเป็นสาแหรกสี่สายเชื่อมต่อกับแผ่นทองรัดรอบมวยผมหรือรัดเกล้าประดับลายรักร้อย ส่วนบนเป็นลายดอกไม้ขอบตกแต่งลวดทองลายไข่ปลา ระหว่างสาแหรกตกแต่งด้วยลายกระจัง รัดเกล้าเป็นแผ่นทองเชื่อมต่อเป็นวง ด้านหน้าแผ่ออกเป็นทรงสามเหลี่ยม ประดับลายช่อดอกไม้ประดิษฐ์ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แนวขอบบนและขอบล่างทำเป็นลายกระจังรวน แสดงขนบพระเจ้าแผ่นดินต้นกรุงศรีอยุธยาทรงเกล้าเกศาเป็นมวยสูงกึ่งกลางกระหม่อม

พระสุวรรณมาลา
พระสุวรรณมาลา
พระสุวรรณมาลา เครื่องประดับศีรษะสตรี รูปทรงคล้ายหมวก ยอดตัด ปิดทับส่วนบนพระนลาฏ หยักโค้งที่พระกรรเจียก ส่วนหลังเป็นขอบเว้าโค้งเพื่อรับมวยผมที่รวบต่ำอยู่ตรงท้ายทอย เกิดจากการถักด้วยเส้นลวดทองคำ กึ่งกลางส่วนยอดเป็นแผ่นทองประดับอัญมณีรูปดอกไม้ ด้านบนถักเป็นลายดอกไม้ 8 กลีบ ด้านข้างถักลายประจำยาม และด้านหลังถักลายเครือดอกไม้ สันนิษฐานว่าเป็นพระมาลามวยหางหงส์ของพระราชเทวี หรือพระอัครชายา

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นที่ 6 ทำจากอัญมณีวางซ้อนกัน 3 ชั้น รัดด้วยสาแหรกทองคำ อัญมณีชั้นล่างเป็นพลอยสีดอกตะแบก ชั้นกลางเป็นไพฑูรย์ และชั้นบนเป็นสปิเนล อันเป็นอัญมณีที่หายากและเป็นสีที่ไม่พบในประเทศไทย ด้านข้างของฐานสถูปประดับมรกต และเพทาย ภายในมีอัญมณีสีต่าง ๆ วางเรียงกัน ได้แก่ สปิเนล โกเมน ไพฑูรย์ และมุกดาหาร 

กลางสถูปเป็นตลับทองคำ ใต้ฝาตลับฝังอัญมณี 2 เม็ด ได้แก่ กะรุน  สีที่หาได้ยากในปัจจุบัน และสปิเนล สีที่ไม่พบในประเทศไทย ยอดฝาตลับประดับเพชร ซึ่งมีโครงสร้างผลึกในรูปแบบ สามเหลี่ยม ที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร อันหาได้ยากยิ่ง ภายในตลับทองคำประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 1 องค์ สัณฐานคล้ายเกล็ดพิมเสนสีขาวเป็นรุ้งพราว

ภาชนะหินรูปปลา
ภาชนะหินรูปปลา
ภาชนะรูปปลา ทำจาก geode (จีโอด)23 สันนิษฐานว่าคือปลาช่อน ตกแต่งโดยการเขียนลายด้วย น้ำทอง ตัดเส้นลายเกล็ดปลาด้วยสีดำและสีแดง ชิ้นส่วนด้านล่างเป็นลำตัวภาชนะ ทำสันที่ฐานให้สามารถตั้งได้ ด้านบนเป็นฝาภาชนะ ภายในบรรจุเครื่องใช้ขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ตลับทองคำรูปสิงโต ตลับทองคำลูกพิกุล ตลับอำพัน ตลับลายครามรูปเต่า ตลับลายครามรูปปลาปักเป้า ผอบหิน โถหิน กระปุกลายคราม ลูกคั่นแก้วผลึก ลูกคั่นทองคำ ประหล่ำทองคำ ด้ามมีดแก้วผลึก และประติมากรรมแก้วผลึกรูปเสือ

ตลับรูปสิงโต
ตลับรูปสิงโต
ตลับสิงโตแบบจีน เดิมบรรจุอยู่ภายในภาชนะหินรูปปลาร่วมกับเครื่องทองขนาดเล็กอื่น ๆ สันนิษฐานว่าเป็นของใช้ของเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีความสำคัญพระองค์หนึ่ง เมื่อสิ้นพระชนม์จึงนำมาอุทิศถวายลงในกรุเล็กใต้ฐานเจดีย์หรือมณฑปบริเวณใต้พื้นพระปรางค์พร้อมกับเถ้าอัฐิ

ตลับแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนลำตัวสิงโตช่วงล่างเป็นตัวตลับ และลำตัวช่วงบนและหัวเป็นฝาตลับ ตกแต่งด้วยการปรุลวดลายทั่วลำตัว ดวงตาและขนช่วงกลางส่วนหัวเคยประดับอัญมณี เขา หู ลิ้น และหาง ทำแยกจากส่วนลำตัวแล้วประกอบยึดเกี่ยวด้วยเส้นลวดทองคำ ทำให้สามารถขยับได้

ตลับรูปสิงโต
ตลับรูปสิงโต
ตลับสิงโตแบบจีน เดิมบรรจุอยู่ภายในภาชนะหินรูปปลาร่วมกับเครื่องทองขนาดเล็กอื่น ๆ สันนิษฐานว่าเป็นของใช้ของเจ้านายฝ่ายหญิง อาจใช้บรรจุสีผึ้งทาปาก ตัวสิงโตอยู่ในท่าทางหมอบเหลียวหลังบนฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สามารถแยกออกจากส่วนลำตัวได้ ตกแต่งด้วยการลงยาสีเขียว น้ำเงิน และแดง ดวงตาประดับอัญมณี ส่วนหางทำแยกจากส่วนลำตัวแล้วประกอบยึดเกี่ยวด้วยเส้นลวดทองคำ ทำให้สามารถขยับได้

การลงยา เป็นเทคนิคการตกแต่งผิววัสดุหลากชนิดเพื่อปกป้องพื้นผิวและเพิ่มสีสัน โดยใช้สารที่มีลักษณะคล้ายแก้ว ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างผงโพแทสเซียม ซิลิกา และน้ำมัน เคลือบลงบนผิวกระเบื้อง ทอง เงิน ทองแดง แก้ว ฯลฯ แล้วเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ การลงยาตลับสิงโตชิ้นนี้เป็นแบบ Champlevé คือการทำลายให้นูน โดยพื้นผิวของโลหะจะถูกทำให้เป็นร่องหรือช่อง จากนั้นจึงทาน้ำยาลงในช่องดังกล่าว แล้วนำไปเผาเพื่อให้น้ำยานั้นหลอมละลาย หลังจากเผาเสร็จจึงปรับพื้นผิวให้เรียบและขัดผิวเงา

ผอบทองคำ
ผอบทองคำ
ผอบทองคำทรงกระบอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 223 องค์ ตกแต่งด้วยเทคนิคการลงยาและประดับอัญมณี ส่วนก้นผอบสอบเข้าเชิงตกแต่งลายบัวคว่ำบัวหงายประดับทับทิม ปากผอบผายออก ส่วนฝาผอบทรงกรวยสูงทำเป็นรูปกลีบบัวซ้อนกันหลายชั้น ยอดเป็นดอกบัวตูม กลีบบัวชั้นที่ 2 จากด้านล่างประดับอัญมณี 9 ชนิด ได้แก่ เม็ดสีขาวคือเปลือกหอย เม็ดสีชมพูเข้มคือทับทิม เม็ดสีน้ำตาลอมเทาคือเพทาย เม็ดสีเขียวคือมรกต เม็ดสีเหลืองคือบุษราคัม เม็ดสีเขียวนวลอมเหลืองอ่อนคือไพฑูรย์ เม็ดสีส้มคือคาร์นีเลียน เม็ดสีน้ำเงินคือไพลิน และเม็ดสีเหลืองอ่อนอมเขียวคือเขียวส่อง ส่วนกลีบบัวชั้นอื่นประดับทับทิม

เครื่องทองอยุธยาชิ้นอื่นๆ ที่จัดแสดง

เครื่องทองอยุธยาชิ้นอื่นๆ ที่จัดแสดง

เครื่องทองอยุธยาชิ้นอื่นๆ ที่จัดแสดง

ภายในอาคารเครื่องทอง

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น