xs
xsm
sm
md
lg

"โมจิญี่ปุ่น" แบบนี้ก็มีด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


โมจิแห้ง “คัมโมจิ” ภาพจาก haconiwa-mag.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีปีใหม่ค่ะ วันนี้เพื่อนผู้อ่านทำอะไรเป็นพิเศษบ้างไหมคะ ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นก็คงมีหลายบ้านที่รับประทานโมจิกันช่วงปีใหม่ เพราะเทพเจ้าปีใหม่เป็นเทพเจ้าแห่งข้าวด้วย โมจิซึ่งทำจากข้าวเหนียวจึงเป็นอาหารมงคลอย่างหนึ่ง ว่าแต่สิ่งที่คนญี่ปุ่นเรียกว่าเป็น “โมจิ” นั้น ที่จริงแล้วมีหลากชนิดมากจนจำไม่หวั่นไม่ไหว จึงขอเลือกเฉพาะโมจิที่พวกเราน่าจะไม่คุ้นตามาให้ดูกันค่ะ

โมจิขม “โทจิโมจิ” (栃餅)

“โทจิโมจิ” เป็นของขึ้นชื่อในหลายจังหวัดของญี่ปุ่น เช่น ยามางาตะ ฟูกูชิมะ กิฟุ และทตโทริ แต่เดิมเป็นอาหารสำคัญสำหรับหมู่บ้านในแถบภูเขาซึ่งปลูกข้าวไม่ได้ และเพิ่งกลายมาเป็นสินค้าของฝากอย่างหนึ่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง

“โทจิโมจิ” แบบสอดไส้ถั่วแดงบด กับแบบโปะถั่วแดงบด ภาพจาก lazuda.com
โมจิชนิดนี้ทำมาจากลูก “โทจิ” ซึ่งหน้าตาคล้ายเกาลัดมากแต่มีรสขม ไม่อาจทำให้สุกแล้วรับประทานแบบเดียวกับเกาลัดได้ แต่ต้องเอามาผ่านกรรมวิธีเอารสขมออก ซึ่งมีขั้นตอนเยอะแยะตั้งแต่เอาไปแช่น้ำ ต้มน้ำ แช่ขี้เถ้าไม้ ใช้เวลาทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 10 วันเลยทีเดียว ซึ่งแต่ละท้องถิ่นหรือครอบครัวจะมีกรรมวิธีเฉพาะของตัวเอง กระนั้นก็ไม่อาจกำจัดรสขมออกไปทั้งหมดได้ โทจิโมจิจึงมีรสขมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในตัว

เมื่อลูกโทจิผ่านกรรมวิธีเอารสขมออกแล้ว ก็นำไปนึ่งพร้อมข้าวเหนียว นวดแล้วปั้นเป็นก้อนกลม โทจิโมจิจะไม่ค่อยยืดเหมือนโมจิที่ที่จากข้าวเหนียวล้วน สามารถรับประทานได้หลายแบบ เช่น คลุกน้ำตาล คลุกหรือใส่ไส้ถั่วแดงบดรสหวาน(อังโกะ) หรือใส่ลงในถั่วแดงต้มน้ำตาล(โอะชิรุโกะ) หรือทำเป็นโอจาสึเกะ(ข้าวสวยราดน้ำชาหรือน้ำร้อนปรุงรส) ก็ได้ แต่บางคนบอกว่ารับประทานโทจิโมจิเป็นของหวานจะรสดีกว่ารับประทานเป็นอาหารคาว

โมจิดูดซู้ด ๆ “ซุซุริโมจิ” (すすりもち)

โมจิชนิดนี้มีวิธีการรับประทานที่ประหลาดมาก คือเอาโมจิที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ ไปจุ่มในน้ำร้อนเพื่อให้มันนุ่ม แล้วจับยืดออกเป็นเส้นยาวก่อนดูดกลืนลงคอโดยไม่เคี้ยว (เรียกว่า “โมจิซุซุหริ” もちすすり แปลว่า ‘ดูดกลืนโมจิ’) ซึ่งเขาว่าพอโมจิชุ่มน้ำแล้วจะไม่ติดคอ และให้ความรู้สึกดีตอนมันไหลลงคอ ซึ่งคนที่รับประทานเป็นก็บอกว่านี่เป็นวิธีรับประทานโมจิที่เอร็ดอร่อยดี

ภาพจาก furusapo.fururi.jp
ปัจจุบันพบการรับประทานโมจิชนิดนี้เฉพาะในเมืองชิโรอิชิ จังหวัดซางะเท่านั้น โดยคนของ “สมาคมอนุรักษ์การดูดกลืนโมจิ” จะมาสาธิตให้ดู แต่พวกเขาก็บอกว่าอย่าเลียนแบบเพราะอันตรายมาก อาจติดคอเสียชีวิตได้ เพราะสมัยก่อนในจังหวัดซางะเองก็มักมีข่าวคนเสียชีวิตเพราะการดูดกลืนโมจินี้เอง ที่จริงอย่าว่าแต่โมจิชนิดนี้เลย ขนาดโมจิทั่วไปก็มีคนรับประทานแล้วติดคอเสียชีวิต มักเป็นข่าวที่ได้ยินช่วงปีใหม่

ชมวีดีโอได้ที่



ว่ากันว่าราว 400 ปีก่อนมีหัวหน้าซามูไรผู้หนึ่งมารวบรวมกำลังไพร่พลในเมืองชิโรอิชิ ชาวบ้านก็ทำโมจิมาต้อนรับ แต่บรรดาซามูไรจะรีบไปขึ้นเรือ จำต้องรีบรับประทาน เลยเอาโมจิจุ่มน้ำร้อนรับประทาน จึงเป็นที่มาของโมจิประหลาดชนิดนี้

โมจิแห้ง “คัมโมจิ” (寒餅)


“คัมโมจิ” เป็นอาหารการกินอย่างหนึ่งในแถบหมู่บ้านที่ทำการเกษตร ได้จากการถนอมอาหารด้วยสภาพภูมิอากาศหนาวจัดแถบภูเขาและไม่โดนความชื้นจากลมทะเล โดยจะเริ่มทำในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ซึ่งอากาศหนาวที่สุด สามารถเก็บไว้รับประทานเป็นของว่างได้โดยการย่างหรือใส่ไมโครเวฟ เป็นของขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของเมืองทาเตยามะ จังหวัดโทยามะ

ภาพจาก ippin.gnavi.co.jp
วิธีการทำคือเอาข้าวเหนียวมาตำจนเหนียวหนืดเป็นโมจิ แล้วค่อยใส่ส่วนผสมอื่น เช่น ถั่วดำ สาหร่าย กุ้ง น้ำตาลทรายแดง บีทรูท เป็นต้น จากนั้นนวดให้แน่นไม่ให้มีอากาศอยู่ภายใน แล้วเอาใส่ในพิมพ์ไม้ทิ้งไว้หนึ่งวันให้แข็งตัว เมื่อได้ที่แล้วจึงเอาออกจากพิมพ์มาตัดเป็นแผ่นบาง ๆ เท่ากัน ร้อยเป็นพวงด้วยเชือก แล้วเอาไปตากให้แห้งในที่ร่มซึ่งมีการควบคุมความชื้นไว้ราว 40-50 วัน

โมจิที่แห้งได้ที่แล้วจะมีขนาดเล็กลงจากเดิม จึงเขย่าให้หลุดออกจากเชือกที่ผูกไว้ได้ง่าย จากนั้นก็นำมาบรรจุห่อ หรือร้อยเชือกใหม่ให้ดูเก๋ไก๋ วางจำหน่ายได้ มีทั้งรสหวานและรสเค็มให้เลือก วิธีรับประทานคือให้เอาไปอุ่นในไมโครเวฟหรือใส่เตาอบขนาดเล็ก 2-3 นาที จะได้คัมโมจิที่ขนาดใหญ่ขึ้นราว 3-4 เท่าและกรุบกรอบ ดูหน้าตาแล้วก็คล้ายข้าวเกรียบของไทยเลยนะคะ แต่เคี้ยวแล้วไม่รู้จะเหมือนข้าวเกรียบไทยหรือเซมเบ้ญี่ปุ่นมากกว่ากัน ไว้มีโอกาสต้องลอง

โมจิเสียบไม้ย่าง “อาบุริโมจิ” (あぶり餅)

โมจิชนิดนี้มีขนาดจิ๋วเท่านิ้วโป้ง ปรุงรสด้วยการคลุกเคล้าผงคินาโกะ(ผงถั่วเหลือง) ก่อนเสียบไม้ไผ่ย่างเตาถ่านส่งกลิ่นหอม เมื่อได้ที่แล้วก็ชุบซอสมิโสะขาวรสหวาน เสิร์ฟมาในจานทีละ 13 ไม้สำหรับ 1 ที่ เรียกว่า “อาบุริโมจิ” ซึ่งแปลว่า ‘โมจิลนไฟ’ เป็นของขึ้นชื่อย่านศาลเจ้าอิมามิยะ(今宮神社) ในจังหวัดเกียวโต

ภาพจาก wagashi.kotolog.jp
ร้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึงพันปี คือ ร้าน “อิจิมนจิยะ วาสุเกะ” (一文字屋 和輔) ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า “อิจิหวะ” (一和) เปิดมาตั้งแต่สมัยเฮอัน (พันกว่าปีก่อน) และต่อมาเปิดร้านสาขา “คาซาริยะ” (かざりや) ในสมัยเอโดะ (ประมาณ 400 ปีก่อน) เชื่อกันว่าการรับประทานอาบุริโมจิจะช่วยขับไล่โรคภัยและสิ่งอัปมงคล เพราะไม้ไผ่ที่เสียบอาบุริโมจิมีการ “ปลุกเสก” จากศาลเจ้าอิมามิยะแล้ว ส่วนที่ขายจำนวนไม้เลขคี่ก็เพราะเชื่อกันว่าเลขคี่เป็นมงคล

อาบุริโมจินั้นจะอร่อยที่สุดเมื่อรับประทานใหม่ ๆ หรืออย่างช้าภายใน 3 ชั่วโมง แต่ก็มีขายให้ลูกค้าซื้อกลับไปเป็นของฝากด้วยเช่นกัน ได้ข่าวแว่ว ๆ ว่ารสชาติของอาบุริโมจิระหว่างร้านอิจิหวะกับร้านคาซาริยะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ส่วนร้านไหนจะอร่อยกว่าก็ต้องลองรับประทานดู

โมจิสามสี “ฮิชิโมจิ” (菱餅)

โมจิสีชมพู-ขาว-เขียวน่ารักเหมือนขนมชั้นของเรานี้ เป็นของคู่ “ฮินะมัตสึหริ” (ひな祭り) หรือวันเด็กผู้หญิงของญี่ปุ่น โดยใช้ประดับที่ชั้นวางตุ๊กตา แล้วสามารถนำมารับประทานในวันนั้นหรือวันถัดมาได้ แต่บางคราวก็อาจใช้ฮิชิโมจิจำลองซึ่งทำมาจากเรซินหรือพลาสติก แบบนี้จะเอาไว้ตกแต่งอย่างเดียวเท่านั้น

ภาพจาก takuhai.daichi-m.co.jp
สมัยโบราณฮิชิโมจิมีแค่สองสี คือสีขาวและสีเขียว มี 3 ชั้นบ้าง 5 ชั้นบ้าง ต่อมาในสมัยเมจิเริ่มมีการเพิ่มสีชมพูเข้ามาด้วย ทั้งสามสีนี้จะสะท้อนถึงฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงเดียวกับวันเทศกาลเด็กผู้หญิงนั่นเอง โดยมีอิมเมจว่า “ท่ามกลางหิมะขาว มีใบเขียวแตกยอด และดอกท้อผลิบาน” ส่วนจะเรียงสีไหนก่อนหลังหรือจะขนาดใหญ่เล็กเท่าใด ว่ากันว่าอาจจะแล้วแต่ท้องถิ่นนั้น ๆ

สาเหตุที่ฮิชิโมจิมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนก็เพราะจำลองรูปร่างของผล “ฮิชิ” ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นในน้ำ แตกใบลอยอยู่บนผิวน้ำแบบพืชตระกูลดอกบัว เนื่องจากฮิชิอายุยืน การจำลองรูปร่างของฮิชิก็เป็นเคล็ดว่าจะได้อายุยืนเช่นเดียวกัน อีกอย่างคือผลฮิชิดูแหลมเหมือนหนาม จึงว่ากันว่าจะได้ขับไล่ยักษ์ร้ายด้วย การรับประทานฮิชิโมจิจึงเป็นเคล็ดว่าเด็กผู้หญิงจะได้เติบโตมาแข็งแรง

ผลฮิชิ ภาพจาก dailyportalz.jp
เวลาจะรับประทานฮิชิโมจิ สามารถตัดแบ่งแยกสี แล้วนำไปย่างหรือต้มให้สุก แล้วฉีกเป็นคำ ๆ เพื่อให้ส่วนแหลม ๆ หายไป เป็นเคล็ดว่าชีวิตจะได้ราบรื่นไม่มีอุปสรรค สามารถรับประทานคู่กับของที่ชอบได้เหมือนโมจิทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นถั่วแดงบด คินาโกะ โชยุผสมน้ำตาล โชยุ หรือห่อสาหร่าย

แต่ละท้องถิ่นของญี่ปุ่นก็มีโมจิเฉพาะของตัวเอง และยังมีแบบอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากที่ไม่อาจเล่าได้หมดในที่นี้ ไว้คราวหน้าถ้ามีโอกาสไปญี่ปุ่น ลองหาโมจิแต่ละชนิดรับประทานดูนะคะ น่าจะสนุกดีและอิ่มหมีพีมัน

ขอให้เพื่อนผู้อ่านทุกท่านมีความสุข ความสบายใจ และเจอแต่สิ่งดี ๆ ด้วยการสร้างเหตุปัจจัยอันดีตลอดปีนี้นะคะ สวัสดีปีใหม่ค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น