xs
xsm
sm
md
lg

‘สงครามเทค’ ของสหรัฐฯ กำลังแสดงสัญญาณแห่งการพังทลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เครื่องจักร lithography รุ่นใช้เทคโนโลยี EUV ที่ทันสมัยที่สุดของเอเอสเอ็มแอล แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสหรัฐฯ สามารถใช้ข้ออ้างเรื่องมีส่วนประกอบของเทคโนโลยีอเมริกันอยู่เป็นจำนวนมากมาสกัดกั้นไม่ให้ส่งขายแก่จีน แต่เมื่อวอชิงตันเรียกร้องให้ระงับการขายเครื่องที่เป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่ากว่านี้ด้วย เนเธอร์แลนด์ก็แสดงท่าทีจะไม่ตอบสนอง
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US tech war shows signs of crumbling
By DAVID P. GOLDMAN
27/11/022

เนเธอร์แลนด์มีอาการลังเลที่จะหยุดยั้งการส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยี DUV ซึ่งไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำยุคล้ำสมัย ไปให้แก่จีน ขณะที่บริษัทเกาหลีใต้ยังคงขายชิปรุ่นใหม่ที่สุดของพวกเขาให้แก่บริษัทแดนมังกรด้วยซ้ำ ด้านบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันพูดชัดๆ ถึงการข้ามลอดพวกกฎระเบียบจำกัดควบคุมใหม่ๆ ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาบังคับใช้ เพื่อจะได้ค้าขายกับทางจีนต่อไปได้ เหล่านี้ต่างแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการกำราบลงโทษของวอชิงตันกำลังลดต่ำลงไปเรื่อยๆ

นิวยอร์ก - มันจะเป็นยังไงนะถ้าพวกเขาประกาศที่จะทำสงคราม แล้วไม่มีใครมาเข้าร่วมเลย? (What if they had a war and nobody came?) นี่เคยเป็นมุกเยาะเย้ยต่อต้านสงครามเวียดนามที่ดังเกรียวกราวในทศวรรษ 1960 หากจะอัปเดต “มีม” (meme) นี้ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันก็คงต้องพูดว่า มันจะเป็นยังไงนะ ถ้าพวกเขาประกาศที่จะทำสงครามเทค แล้วไม่มีใครมาเข้าร่วมเลย? (What if they had a tech war and nobody came?) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับการที่อเมริกากำลังใช้มาตรการจำกัดควบคุมการค้าเพื่อเล่นงานปรปักษ์รายหนึ่งของตนอย่างดุเดือดรุนแรงที่สุดนับจากสงครามเย็นสิ้นสุดลงเป็นต้นมา

บริษัท เอเอสเอ็มแอล (ASML) ของเนเธอร์แลนด์ เพลเยอร์ระดับท็อปรายหนึ่งของโลกในเรื่องเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ แสดงท่าทีคัดค้านความเรียกร้องต้องการอย่างเอิกเกริกเกรียวกราวของสหรัฐฯ ที่จะให้ทางบริษัทยุติการขายเครื่องจักรอุปกรณ์ของตนแก่ประเทศจีน ขณะเดียวกัน ยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่ารัฐบาลดัตช์พรักพร้อมที่จะยอมอ่อนข้อให้วอชิงตันในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วสื่อบางรายตีความเอาไว้ด้วยซ้ำไปว่า การแถลงเมื่อเร็วๆ นี้ของรัฐมนตรีการค้าของดัตช์คือการบอกปฏิเสธไม่ยอมร่วมหอลงโรงด้วย

เอเอสเอ็มแอล เป็นผู้ผลิตเครื่องจักร lithography ที่ดีที่สุดในโลก และได้ขายเครื่องจักรแบบนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยี Deep Ultraviolet หรือ DUV ให้แก่พวกโรงงานผลิตชิปของจีนไปเกือบๆ 200 เครื่องแล้ว ทว่าเครื่องจักรรุ่นก้าวหน้าที่สุดของบริษัทซึ่งใช้เทคโนโลยี Extreme Ultraviolet หรือ EUV ทำออกมาโดยต้องพึ่งพาอาศัยพวกทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกันในสัดส่วนมากเพียงพอที่จะเปิดทางให้วอชิงตันสามารถสกัดกั้นเรียกร้องไม่ให้ขายไปให้แก่จีน ทั้งนี้เครื่องจักรรุ่นเทคโนโลยี EUV เวลานี้ยังคงเป็นอุปกรณ์ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์รุ่นก้าวหน้าที่มีขนาดความกว้างของทรานซิสเตอร์ระดับ 6 นาโนเมตร หรือน้อยกว่านั้น

แต่ DUV ที่เป็นเทคโนโลยีเก่ากว่า ซึ่งใช้ในการผลิตชิปขนาด 16 นาโนเมตร และอาจใช้ทำชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้ด้วย –ทว่ามีความจำกัดบางอย่างบางประการไม่ได้ตกอยู่ใต้มาตรการจำกัดของสหรัฐฯ

ทางเนเธอร์แลนด์น่าที่จะยังคงขายเทคโนโลยีนี้ให้แก่จีนต่อไป ถึงแม้ฝ่ายอเมริกันเรียกร้องให้ยุติ ส่วนพวกบริษัทจีนนั้นแสดงความมั่นอกมั่นใจว่าพวกเขาสามารถที่จะหาช่องโหว่เพื่อหลีกหนีมาตรการจำกัดควบคุมของฝ่ายอเมริกันได้ เวลาเดียวกัน บรรดาผู้ผลิตชิปชาวเกาหลีใต้ก็กำลังขายชิปใหม่ที่สุดของพวกเขาให้แก่จีนเหมือนกัน สำหรับโรงงานผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกาซึ่งประสบความลำบากยุ่งยากมากจากมาตรการของทางการอเมริกัน กำลังคิดค้นหนทางที่จะข้ามลอดพวกกฎระเบียบใหม่ๆ ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม

“เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ต่างๆ ของเราเอง –ความปลอดภัยแห่งชาติของเรา แต่ก็ต้องปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเราด้วย” รัฐมนตรีการค้า ลีสเจอ ไชรมาเกอร์ (Liesje Schreinemacher) กล่าวไว้เช่นนี้ที่รัฐสภาเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ จะเดินทางไปเนเธอร์แลนด์ในเดือนนี้ เพื่อหาทางล็อบบี้ฝ่ายดัตช์ในเรื่องจีน แต่มีเครื่องบ่งชี้หลายอย่างแสดงว่ารัฐบาลดัตช์ได้ตัดสินใจเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

พวกบริษัทญี่ปุ่น เป็นต้นว่า โตเกียว อิเล็กตรอน (Tokyo Electron) แคนนอน (Canon) และนิคอน (Nikon) ก็ขายอุปกรณ์ให้ทางจีนอยู่เหมือนกัน รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ให้คำตอบอย่างตรงๆ ต่อข้อเรียกร้องของวอชิงตันที่ให้ยุติการจัดส่งสินค้าพวกนี้ไปยังจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิปของญี่ปุ่นคิดเป็นประมาณ 20% ของยอดขายทั้งหมดทีเดียว

แต่กลุ่มผู้มีอำนาจ (Establishment) ของญี่ปุ่นนั้น “มีความรู้สึกรังเกียจและเหนื่อยหน่ายกับเรื่องการหย่าร้างแยกขาดจากจีนที่สหรัฐฯ พยายามประกาศให้กระทำตาม” ชิเงซาบุโระ โอกุมาระ (Shigesaburo Okumara) บรรณาธิการใหญ่ (chief editor) ของนิกเกอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเอาไว้เช่นนี้จากที่ประชุมคณะกรรมาธิการไตรภาคี (Trilateral Commission) ซึ่งจัดขึ้นในโตเกียว เมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการไตรภาคีทำหน้าที่กลั่นกรองนำเสนอความคิดเห็นของพวกชนชั้นนำในภาคธุรกิจและการทูตมาตลอดช่วงเวลา 50 ปีแห่งการดำรงคงอยู่ของตน
(คณะกรรมาธิการไตรภาคี เป็นองค์การระหว่างประเทศนอกภาครัฐบาล มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมบ่มเพาะความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Trilateral_Commission --ผู้แปล)

โอกุมาระ แห่งนิกเกอิ เอเชีย เขียนเอาไว้ดังนี้:

ผู้เข้าร่วมจำนวนมากดูเหมือนมีความรู้สึกรังเกียจและเหนื่อยหน่ายกับเรื่องการหย่าร้างแยกขาดจากจีนที่สหรัฐฯ พยายามประกาศให้กระทำตาม ในนามของลัทธิแนวความคิดซึ่งมุ่งแยกออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง “ประชาธิปไตย VS เผด็จการรวบอำนาจ” ผู้เข้าร่วมบางส่วนแสดงความวิตกเกี่ยวกับลักษณะของมาตรการแซงก์ชันทางการค้าตลอดจนการนำมาตรการเหล่านี้มาปฏิบัติของสหรัฐฯ ซึ่งมีลักษณะบังคับเอาตามอำเภอใจและไร้กฎเกณฑ์ไม่อาจคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าได้

นี่ไม่ใช่เป็นแนวความคิดต่อต้านอเมริกันอย่างธรรมดาๆ หรอกนะ ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ผ่านการศึกษาระดับสูงในสหรัฐฯ กันมาแล้วทั้งนั้น และจริงๆ แล้วพวกเขาต่างมีความผูกพันอย่างแรงกล้ากับคุณค่าแบบอเมริกัน อย่างเช่น อิสรภาพ และความยุติธรรม

กระนั้น ความกระวนกระวายของพวกเขาต่อการเผชิญหน้าหน้าระหว่าง 2 ชาติแข็งแกร่งที่สุดซึ่งเป็นเจ้าใหญ่เหนือใครๆ ก็เป็นเรื่องที่จริงจัง และพวกเขามีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าข้อโตแย้งตลอดจนทัศนะของพวกเขาควรที่จะเป็นที่รับฟังของผู้เข้าร่วมประชุมจากฝ่ายอเมริกันและฝ่ายยุโรป สมาชิกหลายๆ ฝ่ายเน้นย้ำว่า การเข้าร่วมของจีนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจตัดทิ้งออกไปได้เลย ถ้าหากคณะกรรมาธิการนี้ต้องการที่จะรับมือกับประเด็นระดับโลกต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Newsletters/Editor-in-chief-s-picks/Editor-in-chief-s-picks236)

เวลานี้มีเพียงบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited หรือ TSMC) ของไต้หวัน และซัมซุง ของเกาหลีใต้เท่านั้น ซึ่งสามารถผลิตชิปชนิดที่ติดตั้งทรานซิสเตอร์เอาไว้อย่างหนาแน่นมากๆ และใช้พลังงานอย่างทรงประสิทธิผล โดยที่ทรานซิสเตอร์แต่ละตัวมีขนาดจิ๊บจิ๋ว มีความกว้างของ gate width น้อยกว่า 7 นาโนเมตร

หลังจากความอลหม่านวุ่นวายบางอย่างบางประการในนาทีสุดท้าย ในที่สุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็ตกลงให้เวลาแก่พวกบริษัทเกาหลี 1 ปีก่อนบังคับใช้มาตรการจำกัดควบคุม ทั้งนี้ ซัมซุงคือผู้ที่ได้อานิสงส์มากที่สุดจากการเลื่อนออกไปคราวนี้ โดย ซัมซุง มีสัญญาที่จะจัดส่งชิปขนาด 3 นาโมเมตร ให้แก่บริษัทไป่ตู้ (Baidu) ของจีน นอกเหนือจากลูกค้ารายอื่นๆ แล้ว

ซัมซุง คือยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปอันดับ 2 ของโลกรองลงมาจาก ทีเอสเอ็มซี เท่านั้น ยิ่งสำหรับพวกชิปความจำด้วยแล้ว ยักษ์เกาหลีใต้รายนี้คือหมายเลข 1 โคเรีย อิโคโนมิก เดลี่ (Korea Economic Daily) รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนว่า ซัมซุงจะ “ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งใช้ในศูนย์ข้อมูลคลาวด์ (cloud data centers) ให้แก่ ไป่ตู้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kedglobal.com/korean-chipmakers/newsView/ked202211220027)

ไป่ตู้ หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีระดับท็อปของจีน บอกกับพวกนักลงทุนเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนว่า ไม่ได้มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการจำกัดควบคุมของสหรัฐฯ ไม่ว่าในกรณีใดๆ

เต้า เซิน (Dou Shen) ประธานด้านเอไอ คลาวด์ (AI Cloud) ของ ไป่ตู้ กล่าวในการแถลงผลประกอบการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนว่า “ส่วนใหญ่ๆ ทีเดียวของธุรกิจเอไอ คลาวด์ ของเรา และกระทั่งธุรกิจ เอไอ ในวงกว้างด้วยซ้ำ ไม่ได้พึ่งพาอาศัยพวกชิประดับก้าวหน้ามากๆ อะไรมากมายนักหรอก แล้วประการที่สอง สำหรับพวกธุรกิจของเราส่วนที่จำเป็นต้องใช้พวกชิประดับก้าวหน้า ในความเป็นจริง เราก็มีการสต๊อกเอาไว้จนเพียงพอแก่การใช้งานสำหรับการสนับสนุนธุรกิจของเราในระยะใกล้ๆ นี้”

เซิน กล่าวต่อไปว่า “เมื่อเรามองกันที่ระยะกลางจนถึงระยะยาวไกลกว่านั้น จริงๆ แล้วเรามีการพัฒนาชิปเอไอ ของเราเองขึ้นมา ซึ่งใช้ชื่อว่า คุนหลุน (Kunlun) จริงๆ แล้ว เราได้เริ่มต้นใช้ชิปคุนหลุนเพื่อสนับสนุนภาระหน้าที่ เอไอ-คอมพิวติ้ง ขนาดใหญ่ๆ บางอย่างบางประเภทเป็นการภายในกันแล้วด้วยซ้ำ เรายังใช้ คุนหลุน มาให้บริการพวกลูกค้าภายนอกแล้วเช่นกัน ดังนั้น เนื่องจากเรามีสมรรถนะทางด้าน เอไอ อย่างครบครันทุกๆ อย่าง ตั้งแต่ชิปไปจนถึงพวกกรอบโครง เอไอ ไปจนถึงพวกโมเดลรากฐาน และจากนั้นไปถึงซอฟแวร์แอปพลิเคชัน ดังนั้นเราจึงสามารถบรรลุประสิทธิผลในขั้นสูงขึ้นมากๆ ขณะที่เราใช้ประโยชน์จากภารกิจต่างๆ ด้านเอไออย่างเต็มที่สุดๆ จากปลายหนึ่งไปจดอีกปลายหนึ่ง”

ผู้บริหารของ ไป่ตู้ ผู้นี้สรุปว่า “มาตรการจำกัดการขายชิป (ของสหรัฐฯ) ควรที่จะมีผลกระทบเพียงระดับจำกัดต่อการดำเนินธุรกิจของเราในระยะใกล้ๆ นี้ ตรงกันข้าม เรากลับคิดว่ามันจะก่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดดีๆ บางอย่างขึ้นมาสำหรับพวกบริษัทชิปของจีน และในที่สุดแล้ว ชิป เอไอ คุนหลุน ของเราตลอดจนธุรกิจ เอไอ ของเรา จะได้รับประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้”

ยักษ์ใหญ่เทคจีนอีกรายหนึ่งซึ่งชำนาญพิเศษในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจ ยืนยันว่าพวกแอปพลิเคชันทางด้านอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และการทำเหมือง แห่งยุคเทคโนโลยีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชิประดับก้าวหน้าที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชาวอเมริกันผู้หนึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ ว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ นั้นบริหารโดยคนที่ไม่ได้มีไอเดียเลยว่าอุตสาหกรรมนี้เขาดำเนินงานกันอย่างไร คุณไม่จำเป็นต้องใช้ชิป 5 นาโนเมตรสำหรับพวกแอปพลิเคชันทางอุตสาหกรรมหรอก พวกโทรศัพท์มือถือ 5จี นั้นต้องมีการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากๆ และใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้นชิปรุ่นใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่เห็นกันว่าสำคัญในกระบวนการทางอุตสาหกรรมนั้น เรื่องความเร็วของชิปยังสำคัญไม่มากเท่ากับคุณภาพของซอฟต์แวร์ และการดีไซน์ระบบ”

ในเวลาเดียวกันนี้ พวกบริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯ กำลังมีการดีไซน์ชิปสำหรับขายให้แก่จีน ซึ่งสามารถอยู่ภายในกรอบข้อกำหนดทุกๆ ด้านตามมาตรการจำกัดการค้าที่กระทรวงพาณิชย์อเมริกันประกาศออกมาบังคับใช้ เป็นต้นว่า อินวิเดีย (Nvidia) ประกาศเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนว่า บริษัทจะขายโปรเซสเซอร์ AI ให้แก่จีน ซึ่งจะสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้แบบเดียวกับโปรเซสเซอร์ที่เป็นรุ่นล้ำยุคตัวท็อปของอินวิเดีย ทว่าระดับความเร็วถูกลดลงมา

ขณะที่ผลการศึกษาซึ่งกระทำโดยบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) ชิ้นหนึ่งในปีนี้ ประมาณการเอาไว้ว่า การสั่งห้ามขายเซมิคอนดักเตอร์แก่จีนอย่างชนิดสมบูรณ์แบบ จะทำให้พวกผู้ผลิตสหรัฐฯ ต้องสูญเสียรายรับของพวกตนไป 37%

กฎระเบียบฉบับวันที่ 6 ตุลาคมของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ถูกรีบเร่งผลักดันออกมาโดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับอุตสาหกรรมนี้เสียก่อน ด้วยความประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้พวกนักล็อบบี้ของภาคธุรกิจเข้ามาต่อรองทำให้มาตรการเหล่านี้ลดความเฉียบขาดลงไป ทว่าอุตสาหกรรมนี้มีทรัพยากรมากมายมหาศาลที่จะนำมาใช้งานได้ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้รายหนึ่งบอกกับ เอเชียไทมส์ว่า บริษัทรายใหญ่ๆ จะค้นพบช่องโหว่เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกทำนองเดียวกันกับอินวีเดีย เพื่อที่จะได้ค้าขายกับจีนต่อไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น