xs
xsm
sm
md
lg

อาลัย... ‘เจียงเจ๋อหมิน’ ผู้นำที่พาจีนก้าวสู่มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เจียง เจ๋อหมิน โบกมือให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพขณะมาถึงสนามบินฮ่องกงเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2002 (ภาพรอยเตอร์)
ทางการจีนประกาศ “เจียงเจ๋อหมิน” ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ ในวัย 96 ปี ณ เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน ตอน 12.13 น. ของวันที่ 30 พ.ย.2022 ตามเวลาท้องถิ่น*

เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำการปกครองแผ่นดินจีนรุ่นที่สาม โดยสืบทอดอำนาจการเมืองต่อจากเติ้งเสี่ยวผิง เป็นประธานาธิบดีจีนนานนับสิบปีจนถึงปี 2003 และเป็นนายใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน 13 ปี จนถึงปี 2002

ทางการจีนประกาศข่าวอสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ในวันที่ 30 พ.ย.2022 (ภาพรอยเตอร์)
...เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำผู้มีบุคลิกโดดเด่นจากความช่างพูด สนุกสนานร่าเริง เล่นเปียโนชอบร้องเพลง ระหว่างเยือนอังกฤษ เจียงเคยคะยั้นคะยอให้ควีนเอลิซาเบธที่สองทรงร้องเพลงคาราโอเกะ ...ทว่า วรยุทธ์การนำประเทศที่สูงล้ำขั้นเทพของผู้นำเจียง ก็คือ การนำพาจีนฝ่าข้ามกำแพงโดดเดี่ยวของนานาชาติกลับสู่เวทีโลกหลังเหตุการณ์รุนแรงในการปราบปรามประท้วงใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 จนกระทั่งกลายเป็นพญามังกรผงาดขึ้นแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับที่สองของโลก...

เจียง เจ๋อหมิน กำลังบรรเลงเล่นเปียโนดั้งเดิมของโมทซาร์ท นักประพันธ์เพลงคลาสสิกผู้ยิ่งใหญ่ ระหว่างที่เยือนเมืองซัลทซ์บวร์ก บ้านเกิดของโมทซาร์ท ประเทศออสเตรีย วันที่ 30 มี.ค.1999 (แฟ้มภาพ เอพี)
มาย้อนรอยชีวิตผู้นำเจียง เจ๋อหมิน ผู้วางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ไปแล้ว เหลือเพียงสิ่งที่สถิตจารึกในประวัติศาสตร์จีน

เจียงเจ๋อหมิน เกิดเมื่อปี 1926 ที่เมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู จบการศึกษาเอกวิชาเครื่องกลไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเจียวทง ปี 1947 คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมของรัฐโดยทำงานในโรงงานผลิตอาหาร โรงงานทำสบู่ และโรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด เคยไปใช้แรงงานในฟาร์มช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-76) เป็นนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ (1985-1989) และเลขาธิการพรรคประจำเซี่ยงไฮ้ เจียงเป็นหัวหน้าฝักใฝ่การเมือง หรือมุ้งการเมืองที่เรียกว่า “ฝักใฝ่เซี่ยงไฮ้” ซึ่งแข่งขันอำนาจกับฝักใฝ่ต่างๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ผู้นำสูงสุดผู้ล่วงลับ เติ้งเสี่ยวผิง วัย 88 ปี (คนกลาง) กำลังคุยกับเจียงเจ๋อหมิน เลขาธิการพรรค ขณะที่ประสภาผู้แทนประชาชน วั่น ลี่ ผู้ล่วงลับ และบุตรสาวของเติ้ง คือ เติ้ง หรง ยืนมองที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 19 ต.ค.1992 (ภาพซินหัว ผ่านเอพี)
เจียงเจ๋อหมินได้ครองอำนาจใหญ่บนเวทีการเมืองแดนมังกรโดยการสนับสนุนอุปภัมภ์ของ เติ้งเสี่ยวผิง โดยก้าวขึ้นครองตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคในเดือน มิ.ย.ปี ค.ศ.1989 แทนที่จ้าวจื่ออหยาง ผู้ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคในความผิดสนับสนุนให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง** ดังนั้น เจียงจึงได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำแนวหน้าของจีนในยามที่ประเทศเผชิญปัญหาท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งทั้งการเมือง และเศรษฐกิจหลังเกิดเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างนองเลือด ทำให้จีนถูกนานาชาติบอยคอตโดดเดี่ยวจีน

 แฟ้มภาพ 5 มี.ค.1999 เจียงเจ๋อหมิน (ซ้าย) พูดคุยกับจู หรงจี ฉายา “ซาร์เศรษฐกิจแห่งจีน” ในการประชุมเต็มคณะของสภาประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง
เจียงเจ๋อหมินก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่สามของจีน และได้กระชับอำนาจอย่างสมบูรณ์ในปี 1997 หลังจากที่การนำของผู้นำรุ่นที่สองปิดฉากลงไปด้วยอสัญกรรมของเติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมินครองอำนาจสูงสุดปกครองจีนเคียงคู่กับขุนพลใหญ่อย่างหลี่ เผิง และ จูหรงจี ผู้มีฉายาว่า “ซาร์เศรษฐกิจแห่งเมืองจีน” ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจ นายกฯ จูสร้างวีรกรรมในการปฏิรูปอุตสาหกรรมของรัฐอันสร้างความเจ็บปวดระนาวโดยตำแหน่งงานอาชีพในภาคอุตสาหกรรมของรัฐถูกยุบไปถึง 40 ล้านตำแหน่งในปลายทศวรรษที่ 1990 พร้อมกับแปรรูปรัฐวิสาหกิจบ้านที่อยู่อาศัยในเมือง การก่อสร้างบูมจนพลิกโฉมเมืองต่างๆ ให้กลายเป็นดงตึกระฟ้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจทะยานขึ้นไปลิ่วๆ

ต้อนรับอาคันตุกะสำคัญ...เจียงเจ๋อหมินกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ระหว่างพิธีต้อนรับผู้นำรัสเซียที่มหาศาลาประชนจีน กรุงปักกิ่ง ภาพเมื่อ 18 ก.ค. ปี 2000 (ภาพซินหัว/เอพี)
เจียงเจ๋อหมินลงจากอำนาจสูงสุดในเดือนพ.ย. ปี 2002 ปิดฉากผู้นำรุ่นที่สาม พร้อมกับส่งมอบอำนาจให้ผู้นำรุ่นที่สี่ โดยมี หูจิ่นเทา เป็นเลขาธิการพรรค และควบตำแหน่งประธานาธิบดีในปีถัดมา เจียงไม่ยอมส่งมอบอำนาจใหญ่ทั้งหมดให้หูจิ่นเทาผู้นำที่เติ้งเสี่ยวผิงวางตัวไว้ให้สืบทอดอำนาจการนำประทศหลังสิ้นวาระสมัยของผู้นำรุ่นที่สาม ทำให้เจียงไม่สามารถเลือกทายาทตำแหน่งจากฝักใฝ่ของตน เจียงยังนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางซึ่งคุมกองทัพปลดแอกประชาชนจีนซึ่งมีกำลังพลถึง 2 ล้านคนต่อไปจนถึงปี 2004 จึงยอมเปิดทางให้หูจิ่นเทาขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการทหาร ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดความแตกแยกภายในรัฐบาล

อดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน มองขึ้นไปขณะที่ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา กล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ในวันที่ 8 พ.ย.2012
หลังจากที่เจียงลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก็ยังทรงอิทธิพลและดันเหล่าศิษย์ก้นกุฏิขึ้นมาอยู่ในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคซึ่งกุมอำนาจสูงสุดในการตัดสินชี้ขาดกิจการของประเทศชาติ จนกระทั่งสีจิ้นผิง ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคในปี 2012 เจียงก็ค่อยๆ หายไปจากสังเวียนการเมือง

ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน กล่าวคำปราศรัยในพิธีส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนแก่จีนในเที่ยงคืนวันที่ 1 ก.ค.1997 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีนช่วงยุคเจียงเจ๋อหมินคือ เหตุการณ์อังกฤษส่งมอบอำนาจปกครองเกาะฮ่องกงให้แก่จีนในปี 1997 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การปิดฉากลัทธิเจ้าอาณิคมยุโรปที่ยึดครองเกาะฮ่องกง 150 ปี เจียงได้ยืนเคียงข้างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในพิธีส่งมอบเกาะฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 ก.ค.1997 และโปรตุเกสส่งมอบอำนาจปกครองมาเก๊าให้แก่จีนปี 1999 จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้สำเร็จในปี 2001 หลังจากที่เจรจามา 12 ปี ปักกิ่งชนะการยื่นขอเป็น เจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนประจำปี 2008 โดยเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่มีประชากรมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ซึ่งด้วยเพราะเงื่อนไขความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

เจียงเจ๋อหมิน (ขวา) กับสีจิ้นผิง ในพิธีปิดการประชุมสมัชชาพรรค ครั้งที่ 19 กรุงปักกิ่ง 24 ต.ค.2017
ยุคเศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาลภายใต้การนำของเจียงเจ๋อหมิน ได้แบ่งแยกสังคมจีนเป็นฝ่ายผู้ชนะและฝ่ายผู้สูญเสีย ขณะที่คลื่นผู้คนจากเขตชนบทหลั่งไหลข้ามถิ่นไปหางานทำในโรงงานตามเมืองต่างๆ เศรษฐกิจมังกรเบ่งบานโตขึ้นถึง 7 เท่า และรายได้ในเขตเมืองพุ่งกระฉูด

ส่วนปัญหาในยุคของเจียงเจ๋อหมินก็มีมาก ได้แก่ การประท้วงที่ปรากฏได้ยากในจีน คนนับล้านสูญเสียงานในวิสาหกิจรัฐ เกษตรกรร้องทุกข์เกี่ยวกับภาษีและค่าธรรมเนียม อัตราการหย่าสูง คอร์รัปชันผุดเป็นดอกเห็ดหน้าฝน

เจียงเจ๋อหมินใช้แว่นขยายอ่านเอกสารรายงานของสีจิ้นผิง ระหว่างพิธีเปิดประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 19 ในวันที่ 18 ต.ค.2017
ปฏิปักษ์การเมืองตัวเอ้คือ กลุ่มลัทธิความเชื่อที่เทศนาการนั่งสมาธิ ‘ฝ่าหลุนกง’ ออกมาแผลงฤทธิ์ท้าทายผู้นำจีนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลจีนประกาศให้ฝ่าหลุนกงเป็นกลุ่มผิดกฎหมาย และตะลุยปราบสาวกของกลุ่มทั่วประเทศ เจียงยังประกาศกร้าว “เสถียรภาพสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด” ไล่ปราบกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล เช่น กลุ่มที่พยายามตั้งพรรคประชาธิปไตยแห่งจีน (China Democracy Party) ด้วยโทษจำคุก 12 ปี ในความผิดบ่อนทำลายความมั่นคง

ในปี 1996 ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรก รัฐบาลของเจียงพยายามข่มขู่ผู้ออกเสียงโดยยิงขีปนาวุธไปฟาดใกล้ๆ เส้นทางเดินเรือในช่องแคบไต้หวัน สหรัฐฯ ออกมาแทรกแซงโดยส่งเรือรบเข้ามาในบริเวณเพื่อโชว์กล้ามสนับสนุนไต้หวัน ขณะเดียวกัน การค้าระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันโตวันโตคืนถึงระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ภาพสีจิ้นผิง ยืนถัดจากอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน (คนกลาง) และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ในพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ภาพ 1 ต.ค. 2019 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
สำหรับมรดกการนำของเจียงเจ๋อหมินที่ได้รับการยกเทิดทูนไว้ในธรรมนูญพรรค คือ แนวคิดสามตัวแทน (Three Represents) หมายถึง พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเป็นตัวแทนของพลังการผลิตที่ก้าวหน้าของจีน เป็นตัวแทนวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าของจีน และเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของมวลชนจีนส่วนใหญ่ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักธุรกิจภาคเอกชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคร่วมพัฒาประเทศได้**

ภาพเจียงเจ๋อหมิน ปรากฏบนจอระหว่างพิธีฉลองครอบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงปักกิ่ง ภาพวันที่ 28 มิ.ย. 2021 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)
ผลงานชิ้นโบแดงในการนำการปกครองบริหารประเทศชาติของเจียง คือพาจีนสู่เวทีโลกและฟื้นฟูประเทศหลังเหตุการณ์วุ่นวายปี 1989 เปิดทางให้ทุนนิยมเข้ามาในพรรคและนำจีนทะยานสู่มหาอำนาจเศรษฐกิจ โดยแซงหน้าเยอรมนีและญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับที่สองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

ในบั้นปลายชีวิตของผู้เฒ่าเจียงเจ๋อหมิน ได้รับการดูแลจากบุตรชาย 2 คน และภรรยา หวังเย่ผิง ซึ่งทำงานในหน่วยงานของรัฐ รับผิดชอบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของรัฐ


ที่มาข้อมูล
สำนักข่าวเอพี : Jiang Zemin, who guided China's economic rise, dies

*รายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัว

**มังกรผงาด, 70 ปี การเมืองสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ.1949-2019) เขียนโดย ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา

เจียงเจ๋อหมิน และควีนเอลิซาเบธที่สอง ในงานเลี้ยงทางการที่พระราชวังบัคกิ้งแฮม วันที่ 19 ต.ค. 1999 (แฟ้มภาพ เอพี)
ชมภาพย้อนรอยประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน เยือนต่างประเทศ

ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมินที่ทัชมาฮัล อินเดีย ภาพ 30 พ.ย. 1996 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์)

เจียง เจ๋อหมิน กำลังหวีผมขณะไปชมพีระมิดในอียิปต์ 14 พ.ค.1996 (แฟ้มภาพ เอพี)

ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ บิล คลินตัน (ขวา) และเจียงเจ๋อหมิน ที่สนามหญ้าทิศใต้ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ภาพวันที่ 29 ต.ค.1997 (แฟ้มภาพ เอพี)

เจียง เจ๋อหมิน (กลาง) และอดีตรองประธานาธิบดี เฉียน ฉีเชิน และผู้ช่วยประธานาธิบดีเจิ้ง ชิ่งหง ในงานเลี้ยงที่เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ไชนิส อเมริกัน คอมมูนิตี ในลอสแองเจลิส เมื่อวันที่ 2 พ.ย.1997 (แฟ้มภาพ เอพี)

เจียงเจ๋อหมิน ที่วิลเลียมสเบิร์ก เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ 28 ต.ค.1997 (แฟ้มภาพ เอพี)

รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ อัลกอร์ (ขวา) กำลังแชร์เรื่องโจ๊กกับเจียง เจ๋อหมิน ที่การประชุมสุดยอดเอเปก นอกเมืองกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (แฟ้มภาพ เอพี)

เจียงเจ๋อหมิน (ขวา) กำลังแสดงการทักทายแบบประเพณีชนเผ่าเมารี ที่เรียกว่า “ฮองงิ” (Hongi) กับผู้อาวุโสเมารีจากนิวซีแลนด์ ที่ซัมมิตเอเปก วันที่ 12 ก.ย.1999 (แฟ้มภาพ เอพี)

เจียง เจ๋อหมิน กับหวัง เย่ผิง ภริยา และสตรีหมายเลขหนึ่งแดนมังกร กำลังโบกมืออำลาขณะเดินทางออกจากซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 30 พ.ย.1998 (แฟ้มภาพ เอพี)

เจียงเจ๋อหมินลอยตัวในทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) ประเทศอิสราเอล ภาพเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2000 (แฟ้มภาพ เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น