xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษอย่าบิดเบือน! จีนโต้ข้อกล่าวหาทำร้ายนักข่าวบีบีซี พร้อมตั้งคำถามฝากกลับไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน
โฆษกกระทรวงต่างประเทศแดนมังกรชี้ อังกฤษบิดเบือนความจริงอย่างฉกาจฉกรรจ์ หลังจากนายกรัฐมนตรีเมืองผู้ดีระบุว่า นักข่าวสื่อบีบีซีถูกทำร้ายในจีน ขณะรายงานสถานการณ์ประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งภาพนักข่าวถูกลากตัวกลายเป็นคลิปวิดีโอว่อนสะพัดสื่อสังคมออนไลน์ โดยโฆษกชี้แจงสาเหตุที่ตำรวจต้องเข้าจับกุมนักข่าว พร้อมกับร่ายยาวพฤติกรรมแย่ๆ ของสื่อเมืองผู้ดีรายนี้

นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ของอังกฤษ แถลงนโยบายด้านต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) โดยได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน รวมทั้งกรณีการประทุษร้ายนายเอ็ดเวิร์ด ลอว์เรนซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี นอกจากนั้น เขายังระบุว่า จีนก่อปัญหาท้าทาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมและผลประโยชน์ทั่วทั้งระบบของอังกฤษ


วันถัดมา นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน จึงได้ออกมาชี้แจงว่า เหตุการณ์ประท้วงในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อคืนวันที่ 27 พ.ย.นั้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตำรวจท้องที่จึงขอให้ผู้ชุมนุมออกไปจากบริเวณสี่แยก นายลอว์เรนซ์ ก็อยู่ในบริเวณนั้นด้วย แม้ตำรวจได้ชี้แจงถึงความจำเป็น แต่เขาปฏิเสธทำตาม โดยตลอดเวลาเหล่านั้นเขาไม่แสดงตัวว่าเป็นนักข่าว ตำรวจจึงต้องนำตัวออกไปจากบริเวณ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการยืนยันตัวตนและแจ้งข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้รับทราบแล้ว ตำรวจจึงได้ปล่อยไป ซึ่งนายจ้าว ระบุว่า ทุกอย่างต้องกระทำไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่นักข่าวบีบีซีผู้นี้ไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจที่พยายามรักษากฎหมาย อีกทั้งตอนนั้นเขายังทำตัวราวกับว่าเขาตกเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำ

นายจ้าว ยังจับพิรุธของสำนักข่าวบีบีซีว่า บีบีซีรีบรายงานข่าวในทวิตเตอร์ทันทีว่า นักข่าวของตนถูกตำรวจ “จับกุม” และถูก “ทุบตี” ขณะกำลังทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว เพื่อป้ายสีกันอย่างง่ายๆ ให้จีนเป็นฝ่ายผิด การเจตนาบิดเบือนความจริงนี้อยู่ในหนังสือคู่มืออันน่ารังเกียจของบีบีซี ที่เห็นกันจนคุ้นชินเกินไปแล้ว


นายจ้าว ยังอบรมจรรยาบรรณของสื่อมวลชนอีกว่า เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศมีสิทธิในการเสนอข่าว แต่ต้องมีจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของจีนด้วยเช่นกัน นอกจากต้องแสดงบัตรสื่อมวลชนก่อนจะรายงานข่าว หรือสัมภาษณ์ และไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรมที่ขัดแย้งกับฐานะของนักข่าว โดยจีนมีสื่อต่างชาติหลายสำนักเข้ามาทำข่าว แต่เกิดปัญหาแบบนี้กับบีบีซีอยู่เสมอๆ ได้อย่างไรกัน


นอกจากนั้น โฆษกกระทรวงต่างประเทศแดนมังกรยังตั้งคำถามฝากไปถึงรัฐบาลอังกฤษ และบีบีซี


ข้อแรกได้แก่ รัฐบาลอังกฤษจัดการกับการชุมนุมประท้วงในประเทศของตนอย่างไร โดยในปี 2563 ผู้ประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ในกรุงลอนดอนถูกตำรวจจับกุมกว่า 150 คน และในการประท้วงการลดรายจ่ายสาธารณะของรัฐบาลเมื่อปี 2564 มีประชาชนถูกจับกุมไปกว่า 200 คน ขณะที่มีวิดีโอเผยแพร่สู่สาธารณชน เผยให้เห็นตำรวจอังกฤษรุมเตะต่อยผู้ประท้วง ซึ่งปราศจากอาวุธคนหนึ่ง แม้ผู้ประท้วงคนดังกล่าวแทบไม่มีผ้าผ่อนติดกาย ร้องไห้ และร้องขอความเมตตา แต่ตำรวจอังกฤษก็ยังไม่หยุด


ข้อที่สอง รัฐบาลอังกฤษปฏิบัติกับผู้สื่อข่าวอย่างไรกัน เขายกตัวอย่างเมื่อไม่กี่ปีก่อน กรณีนักข่าวสตรีชาวจีนคนหนึ่งใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะสื่อมวลชน ตั้งคำถามเชิงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของพรรคอนุรักษนิยม แต่กลับถูกทำร้ายร่างกาย และถูกศาลอังกฤษตัดสินว่ากระทำผิด หรือกรณีนายเกรแฮม ฟิลลิปส์ นักข่าวอังกฤษ ที่กลายเป็นพลเมืองแดนผู้ดีคนแรกที่ถูกขึ้นบัญชีคว่ำบาตรโดยประเทศของตัวเอง เพราะสร้างเนื้อหาข่าวสารที่ตะวันตกไม่ชอบ


ข้อที่สาม บีบีซีมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศจีนอย่างไรกันแน่ ตั้งแต่การใช้ฟิลเตอร์ติดหน้ากล้องที่มืดมัว เพื่อรายงานข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับจีน การรายงานข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับภูมิภาคซินเจียง โดยอาศัยแค่ภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งไม่เหมือนจริงหลายภาพ กับการเขียนข่าวของกลุ่มต่อต้านจีนเป็นหลัก หรือการเสนอข่าวโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งบีบีซีทำได้แม้กระทั่งการใช้วิดีโอการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายมาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จีนใช้ความรุนแรงในการป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนั้น นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา บีบีซียังรายงานข่าวโดยเพิกเฉยพฤติกรรมรุนแรงของฝ่ายผู้ประท้วงในฮ่องกง เอาแต่กล่าวหาว่าตำรวจฮ่องกงโหดร้ายอย่างเดียว


อังกฤษต้องเคารพต่อข้อเท็จจริง ปฏิบัติอย่างรอบคอบ และยุติการปฏิบัติ 2 มาตรฐานแบบปากว่าตาขยิบเสียที โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลจาก
“UK's accusing of China 'assaulting' BBC journalist a serious distortion of the facts: FM spokesperson” ในโกลบอลไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น