xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประวัติ “ชลธี นุ่มหนู” ชาวสวนทุเรียนแท้ ทำงานแก้ปัญหาผลไม้ตะวันออกกว่า 20 ปี รู้ดีใครไอ้โม่งทุบตลาดทุเรียนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จากกรณีที่ นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ หลังกรมวิชาการเกษตร มีคำสั่งย้ายด่วนให้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร และมีคำสั่งให้ นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เข้าดำรงตำแหน่ง ผอ.สวพ.6

เนื่องจากไม่ยอมรับในคำสั่งดังกล่าว และเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมเพราะตนเองเพิ่งปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สวพ.6 ได้เพียง 2 ปี อีกทั้งยังเหลืออายุราชการอีก 5 ปี ที่สำคัญมีความต้องการที่จะสานต่องานแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน และทุเรียนสวมสิทธิ รวมถึงการออกหนังสือรับรอง GAP ให้ผู้ประกอบการและชาวสวนในพื้นที่ที่ยังเหลืออีกมากถึง 80,000 บาท 

คำสั่งดังกล่าวทำให้กลุ่มเกษตรกร และชาวสวนในพื้นที่ภาคตะวันออกลุกฮือต่อต้านพร้อมรวมตัวยื่นหนังสือต่อทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างจริงจัง และขอให้ยื้อคำสั่งดังกล่าวไว้ เพื่อให้ นายชลธี ได้อยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศต่อไป 

แต่สุดท้ายข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไม่เป็นผล หลัง นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 859/2565 ลงวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติการลาออก และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2565 โดยท้ายคำสั่งระบุว่าลาออกเนื่องจากต้องการไปประกอบอาชีพอื่นและดูแลบุพการี ซึ่งเป็นไปตามที่ นายชลธิ นุ่มหนู ได้เคยประกาศไว้ ทั้งที่ยังเหลืออายุราชการอีกประมาณ 5 ปีนั้น


วันนี้ (30 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เปิดประวัติที่น่าสนใจของ นายชลธี นุ่มหนู ว่า นอกจากจะเป็นชาวตราดโดยกำเนิด และครอบครัวได้ยึดอาชีพทำสวนผลไม้มานานจนทำให้มีความรู้และเข้าใจในการปลูกทุเรียนได้เป็นอย่างดีแล้ว ในแง่ของการศึกษายังสำเร็จการศึกษาในระดับ ปวส.จากวิทยาลัยเกษตรกรรมจันทบุรี (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก) ก่อนจะเริ่มชีวิตราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเกษตร 1 สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จ.เชียงใหม่ และทำงานวิจัยด้านไม้ผลเมืองหนาวอยู่นาน 2 ปี

จากนั้นในปี 2531-2533 ได้ลาออกจากราชการเพื่อเข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ และเมื่อปลดประจำการได้เข้าทำงานราชการต่อที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โดยได้ทำงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร จากนั้นจึงสอบเลื่อนตำแหน่งเป็นนักวิชาการเกษตร 3 ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไปของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ในปี 2545 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต ที่ 6 เพื่อทำงานวิจัยด้านไม้ผลเมืองร้อน เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ ก่อนได้รับการเลื่อนชั้นเป็นผู้อำนวยการกลุ่มประสานและบริหารนโยบาย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 และย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.จันทบุรี 6 ในปี 2560


ส่วนในปี 2563 ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย เดินหน้าควบคุมปราบปรามผลผลิตทุเรียนอ่อนที่เป็นปัญหาใหญ่ของการทำลายตลาดทุเรียนไทย ร่วมกับฝ่ายปกครอง และภาคประชาชนในพื้นที่จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับฉายา "มือปราบทุเรียนอ่อน"

ไม่เพียงเท่านั้นยังกำหนดแนวทางจัดการกับขบวนการสวมสิทธิทุเรียนไทยจนทำให้ผู้เสียประโยชน์ฝ่ายการเมืองเคลื่อนไหวหนัก จนต้องประกาศลาออกจากชีวิตข้าราชการที่ทำงานรับใช้ชาติมานานถึง 36 ปี ตัดใจทิ้งอายุราชการที่ยังเหลืออีก 5 ปี เพื่อออกมาขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคประชาชน ปกป้องทุเรียนไทยร่วมกับชาวสวน และภาคเกษตรกรในพื้นที่

โดยก่อนหน้านี้ นายชลธี เคยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังลาออกจากราชการแล้วตนเองจะเข้าไปดูแลสวนทุเรียนของครอบครัวด้วยตัวเอง ควบคู่ไปกับการทำงานภาคประชาชนเพื่อสานต่องานที่เคยทำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อน และทุเรียนสวมสิทธิ เพื่อรักษาอนาคตของทุเรียนไทยให้อยู่กับลูกหลาน โดยจะเป็นการทำงานประสานไปกับหน่วยงานของรัฐ

ส่วนในอนาคตจะลงเล่นการเมืองหรือไม่ยังไม่ได้ตัดสินใจ พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดทาบทามให้ลงสนามการเลือกตั้งแต่อย่างใด ซึ่งสุดท้ายจะเล่นการเมืองหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ






กำลังโหลดความคิดเห็น