xs
xsm
sm
md
lg

ปั่น MORE ปล้นโบรกเกอร์สะท้านตลาดหุ้น มั่งคั่ง=พังพินาศ ตลท.ตามล้อมคอกคุมปล่อยมาร์จิ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิบัติการไล่ล่าแก๊งปล้นโบรกเกอร์เสียหายกว่า 4.5 พันล้านสะท้านวงการตลาดทุนกรณีซื้อขายหุ้น MORE จะสามารถเอาผิดผู้ร่วมขบวนการตั้งแต่หัวยันหางได้หรือไม่ยังต้องติดตาม แต่ที่แน่ๆ งานนี้สะท้อนภาพโบรกเกอร์มั่งคั่งและพังพินาศเพราะการปล่อยวงเงินซื้อหุ้นให้นักลงทุนมีปัญหา เข้าตำรา “หมองูตายเพราะงู” ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เทกแอคชันอย่างเชื่องช้าเช่นเคย

เปิดแผนล้วงคองูเห่า ปล้นเงินโบรกเกอร์

การซื้อขายหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ที่มีการตั้งคำสั่งซื้อช่วงเปิดตลาดการซื้อขาย (ATO) ในราคา 2.90 ปริมาณการซื้อขายที่ 1,531.77 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 4,442.13 ล้านบาท ก่อนจะถูกเทขายจนราคาหุ้นจะดิ่งลงต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 11 พ.ย. 2565 โดยปิดที่ราคา 1.37 บาท รายการซื้อขายล็อตใหญ่ที่ผิดปกติเช่นนี้ กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบของหลายหน่วยงาน

ความผิดปกติดังกล่าวคล้ายตั้งเป้าปล้นโบรกเกอร์โดยตรงนั้น สุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์ “ชุมชนคนหุ้น” มองว่าเลียนแบบวิธีการมาจาก “แก๊งตกทอง” โดยวงการโบรกเกอร์เชื่อว่านักลงทุนขาใหญ่รายหนึ่งเป็นผู้วางแผนปฏิบัติการล่วงหน้า โดยให้นอมินีเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์โดยใช้หุ้น MORE เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่อีกฝั่งก็ให้นอมินีนำหุ้น MORE จำนวน 1,531 ล้านหุ้น ไปเปิดบัญชีไว้กับโบรกเกอร์อีกหลายสิบแห่ง

กระทั่งถึงวันนัดหมาย 10 พ.ย. 2565 นอมินีที่เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ประมาณ 10 ราย สั่งซื้อหุ้นช่วง ATO ในราคาหุ้นละ 2.90 บาท จำนวน 1,531.77 ล้านหุ้น ส่วนนอมินีฝั่งขายซึ่งเตรียมหุ้นไว้ในพอร์ตที่เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์กว่า 20 แห่ง จะตั้งขายในราคาเปิด เมื่อราคาแม็ตซ์กันการซื้อขายลุล่วงแผนของแก๊งตกทองในขั้นแรกถือว่าสำเร็จ โดยนอมินีที่สั่งซื้อไว้จะไม่ชำระค่าหุ้นให้โบรกเกอร์ที่รับคำสั่งซื้อ โดยยอมให้ถูกยึดหลักประกัน แต่นอมินีที่สั่งขายจะรอรับค่าสั่งขายรวมเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท

หุ้น MORE ที่นอมินีขาใหญ่วางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับโบรกเกอร์ ประมาณ 11 แห่ง มีจำนวนประมาณ 500 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่เงินจากการขายหุ้น MORE ผ่านนอมินีมีประมาณ 4,500 ล้านบาท หักลบส่วนต่างคงเหลือประมาณ 3,000 ล้านบาท เป็นกำไรบนความย่อยยับของโบรกเกอร์ประมาณ 30 ราย

 กรณีนี้นับเป็นการอาศัยช่องของกฎ T+2 คือ การรับเงินค่าขายหลักทรัพย์และการหักเงินค่าซื้อหลักทรัพย์จากบัญชีจะดำเนินการใน 2 วันทำการหลังจากการทำรายการซื้อขาย หรือ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” ซึ่งประเภทบัญชีที่จ่ายเงินและหักเงินตามกฎ T+2 คือ บัญชีเงินสด หรือ Cash Account ซึ่งเป็นบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่นักลงทุนสั่งซื้อหลักทรัพย์เท่ากับวงเงินที่ได้รับ โดยโบรกเกอร์แต่ละแห่งจะดูวงเงินการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละราย ตามฐานะทางการเงิน หลักประกัน และความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติวงเงินแล้ว นักลงทุนต้องวางหลักประกัน 15% ของวงเงินดังกล่าวไว้กับโบรกเกอร์ หลักประกันจะเป็นเงินสดหรือหลักทรัพย์ก็ได้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่แผนขั้นสองของแก๊งตกทองที่รอรับการชำระราคาค่าหุ้นในวันที่ 14 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา กลับไม่ฉลุยตามที่วาดหวัง

ทั้งนี้ การชำะราคาค่าซื้อขายหุ้นใช้ระบบ T+ 2 โดยชำระราคาค่าซื้อขายภายใน 2 วัน ซึ่งก็คือวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. โบรกเกอร์ฝั่งซื้อจะต้องชำระราคาภายใน 12.00 น. และโบรกเกอร์ฝั่งขายจะต้องชำระเงินให้ลูกค้าที่สั่งขายภายในเวลา 15.00 น. แต่รายการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นในวันพฤหัสฯ ที่ 10 พ.ย. บรรดาโบรกเกอร์ประมาณ 11 ราย ฝั่งซื้อได้เรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการชำระราคาทั้งซื้อและขายหุ้น MORE ชั่วคราว ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องระบบซื้อขาย อ้างว่าไม่มีอำนาจสั่งระงับการชำระราคาค่าซื้อขายหุ้น MORE และถ้าระงับอาจถูกฟ้องดำเนินคดีได้

เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมินคำร้องขอ มีรายงานว่าทางกลุ่มโบรกเกอร์ ได้เข้าไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พ.ย. เพื่อขอให้คำสั่งซื้อดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากหุ้น MORE มีสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ แต่ ก.ล.ต. ไม่ยอมให้ยกเลิก โดยระบุว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโบรกเกอร์เอง และถ้ายอมให้โมฆะได้นักลงทุนอื่นที่ทำรายการซื้อ-ขาย อย่างถูกต้องจะได้รับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกแรงของกลุ่มโบรกเกอร์ในที่สุดก็เห็นผล เพราะหลังจากโบรกเกอร์หารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และดึงเอาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติดังกล่าว พบข้อมูลต้องสงสัยอาจเป็นการกระทำความผิดเข้าข่ายกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ก่อนถึงเส้นตายชำระค่าซื้อขายหุ้น วันที่ 14 พ.ย. 2565 ปปง.จึงอาศัยกฎกระทรวงปี 2563 ข้อ 16, 17 และ 23 สั่งระงับการชำระค่าหุ้น MORE ในธุรกรรมต้องสงสัยของกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีวอลุ่มเทรดตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อบัญชีในวันที่ 10 พ.ย. 2565 เอาไว้ก่อน พร้อมกับให้โบรกเกอร์ที่เกี่ยวข้องกลับไปตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายหุ้น MORE ในวันเกิดเหตุว่า เป็นการจับคู่ซื้อขายของผู้ลงทุนกลุ่มเดียวกันเองหรือไม่

ในวันเดียวกัน  นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือขอให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย โดย พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง พร้อมตั้งทีมช่วยสอบสวน

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แถลงแนวทางแก้ไขปัญหากรณีหุ้น MORE และสั่งหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในวันที่ 14 พ.ย. 2565 เพื่อลดกระแสความสับสนกังวลและผลกระทบต่อตลาดฯ

นอกจากจะดึง ปปง. และตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามาช่วยคลี่คลายปมธุรกรรมที่ผิดปกติดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทน 11 บริษัทหลักทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีซื้อขายหุ้น MORE เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อตรวจสอบเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น MORE ในลักษณะผิดปกติหลัง ตลท. แจ้งว่าพบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) และให้หยุดพักการซื้อขาย (SP) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. โดยแจ้งว่าหุ้น MORE มีการซื้อขายวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ผิดปกติไปจากช่วงก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท ในจำนวนนั้นสร้างความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์หลายรายมีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท การซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ โดยมี  นายอภิมุข บำรุงวงศ์  เป็นผู้ซื้อ ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเขาอาจรู้เห็นกับผู้ขายจนไม่สามารถชำระราคาค่าหุ้นได้ ภาระจ่ายทั้งหมดจะตกอยู่กับโบรกเกอร์ที่ต้องเป็นผู้จ่ายเงินแทนให้กับผู้ขาย

 ชำแหละตัวละครโยงเกมปั่น MORE 

ทันทีที่ถูกไล่บี้ตีกรอบแคบโดยถนนทุกสายพุ่งเป้าไปยังนายอภิมุข หรือ “เสี่ยปิงปอง” เศรษฐีอายุน้อยพันล้าน วัย 32 ปี อดีตมาร์เก็ตติ้ง บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด เขาออกตัวผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตกใจที่ทีมงานดูแลพอร์ตการลงทุนของตัวเองตั้งซื้อหุ้น MORE จำนวนมาก เรื่องที่เกิดขึ้นได้แต่โทษตัวเองที่ประมาทไว้ใจคนอื่น

นายอภิมุข ระบุว่าทีมที่ดูแลพอร์ตได้แจ้งและสรุปว่าได้ส่งคำสั่งซื้อหุ้น MORE ไป 11 โบรก ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ได้ชำระค่าหุ้นไปแล้วประมาณ 100 ล้านบาท จากที่ต้องชำระกว่า 4.4 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะให้ทนายไปเจรจากับโบรกเกอร์ว่าจะดำเนินการอย่างไร วันที่เกิดเรื่องได้เดินทางไปส่งลูกแล้วกลับมานอน พอตื่นมาก็พบว่าตัวเองเป็นหนี้เกือบ 4,000 ล้านบาท จากที่วันก่อนเป็นเศรษฐีอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท

 “ผมมีหน้ามีตาทางสังคม พอบอกชื่อคนก็รู้จัก ผมรวยตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยความสามารถตัวเอง ถ้าจะทำบ้าๆ บอๆ ผมไม่ใช้ชื่อตัวเองหรอก ทำไมผมต้องทำร้ายตัวเอง เพราะสามารถตั้งใครขึ้นมาก็ได้ แต่วันนี้พูดไปไม่มีประโยชน์ เพราะคนก็คิดว่าผมสมรู้ร่วมคิด” นายอภิมุข หรือ “เสี่ยปิงปอง” ผู้ถือหุ้น MORE อันดับสี่ จำนวน 586,778,233 หุ้น หรือ 8.98% ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเคลียร์ปมถูกโยงธุรกรรมซื้อขายหุ้น MORE 

จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ ถือหุ้นในบริษัท 6 แห่ง มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท อภิมุข โฮลดิ้งส์ จำกัด 3.บริษัท เวสท์ รีโนเวชั่น จำกัด 4.บริษัท ฑีเลี่ยม จำกัด 5.บริษัท เอเอฟพีพลัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 6.บริษัท กัณณพฤกษ์ ฟู๊ด แอนด์ คอสเมติกส์ จำกัด

ทั้ง 6 บริษัทข้างต้น เป็นมอร์ รีเทิร์น ที่ทำเม็ดเงินให้นายอภิมุข เป็นกอบเป็นกำมากที่สุด แต่ทว่า ธุรกรรมสุดอเมซิ่งของ MORE คราวนี้ มีคำถามว่าใช่เป็นฝีมือของ “เสี่ยปิงปอง” และทีมงานบริหารพอร์ต หรือว่ายังมีตัวเอ้ที่ใหญ่กว่าอยู่เบื้องหลัง โดยนายอภิมุข ถูกจัดวางให้เป็นตัวเปิดเกมและเสี่ยงคุก

กล่าวสำหรับ บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) ชื่อเดิมคือบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 21ธ.ค. 2555 และเปลี่ยนชื่อเป็น MORE เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2562 ประกอบธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก คือธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน ภายใต้บริษัทย่อยคือ บริษัท พี เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด และบริษัท อีเอสพี รี-ไล้ฟ์ แบตเตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจวางระบบน้ำประปาเพื่อบริหารจัดการน้ำประปาบนเกาะเสม็ด ภายใต้บริษัทย่อยคือ บริษัท เสม็ด ยูทิลิตี้ส์ จำกัด และธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทย่อยคือบริษัท มอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ผลการดำเนินงาน MORE งวด 9 เดือน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 มีกำไรสุทธิ 21.57 ล้านบาท ลดลง 80.49% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่ลดลงมาจากรายได้อื่นจากการกลับรายการค่าเผื่อประมาณการหนี้สินจากภาระค้ำประกันจำนวน 99.29 ล้านบาท

ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น MORE ประกอบด้วย 1.นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ 1,547 ,200,165 หุ้น หรือ 23.69% 2.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 886,525,028 หุ้น หรือ 13.57% 3.นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล 742,862,800 หุ้น หรือ 11.37% 4.นายอภิมุข บำรุงวงศ์ 586,778,233 หุ้น หรือ 8.98% 5.นาย วสันต์ จาวลา 431,989,100 หุ้น หรือ 6.61% 6.นาย สามารถ ฉั่วศิริพัฒนา 279,000,065 หุ้น หรือ 4.27% 7.UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED 193,747,000 หุ้น หรือ 2.97% 8.น.ส. อรเก้า ไกยสิทธิ์ 136,114,700 หุ้น หรือ 2.08% 9.นาย เอกภัทร พรประภา 122,118,400 หุ้น หรือ 1.87% 10.น.ส. จิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ 85,134,000 หุ้น หรือ 1.30%

 เมื่อดูจากโครงสร้างผู้ถือหุ้น MORE ย่อมมีคำถามถึงผู้ถือหุ้นเบอร์หนึ่ง คือ นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ หรือ “เสี่ยม๊อ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งออกมาเผยทันควันว่า ไม่ได้ขายหุ้น MORE และยังคงถือหุ้นครบทั้งจำนวนกว่า 1,500 ล้านหุ้น ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 3-5 ก็ไม่ได้ขายหุ้นเช่นกัน แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือคนในแวดวงตลาดหุ้น เชื่อคำปฏิเสธของ “เสี่ยม๊อ” เพียงใด 

“เสี่ยม๊อ” คาดการณ์ว่าผู้ที่ขายหุ้นออกจำนวน 1,500 ล้านหุ้นนั้น คาดว่าเป็นกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นที่นายอภิมุข บำรุงวงศ์ เป็นผู้ชักชวนเข้ามาลงทุน และถือหุ้นไม่ถึง 1 ปี โดยหากว่ากลุ่มนักลงทุนดังกล่าวต้องการจะขายนายอภิมุข ก็จะเป็นผู้รับซื้อ

สำหรับกรณีที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน “เสี่ยม๊อ” เชื่อว่าถ้านายอภิมุข เป็นผู้ไปรับซื้อจากนักลงทุนที่เขาชวนมาลงทุน กรณีนี้ก็ไม่แปลกใจ เพราะนายอภิมุข ก็เคยทำแบบนี้มาแล้ว

“เสี่ยม๊อ” ยังโอดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวลงแรงมาก จนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของบริษัทร่วงลงมาเหลือเพียง 8,947 ล้านบาท จากเดิมที่เคยสูงถึงระดับ 20,000 ล้านบาท

นอกจากจะปัดไม่เกี่ยวแล้ว “เสี่ยม๊อ” ยังเสนอทางออกว่า หากโบรกเกอร์จะนำหุ้น MORE ที่เป็นหลักประกันออกมาขาย (ฟอร์ซเซล) แทนที่จะขายในตลาดฯ ก็มาขายให้กับกลุ่มของตนเอง โดยจะชักชวนพรรคพวกมารับซื้อหุ้น MORE ในราคาที่โบรกเกอร์และกลุ่มที่มารับซื้อเห็นว่าเหมาะสมกับมูลค่าของบริษัทเพื่อลดความเสียหายแก่โบรกเกอร์และนักลงทุนรายย่อย และไม่ทำให้ราคาหุ้น MORE ปรับตัวลงไปมาก ทั้งทำให้ MORE กลับมาเทรดได้เร็วขึ้น ลดความกังวลแก่ผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งถ้าตกลงราคากันได้ก็จะช่วยหยุดความเสียหายน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี นายอมฤทธิ์ กล่าวว่าส่วนตัวไม่สามารถเข้าไปร่วมรับซื้อหุ้น MORE ได้เพราะ MORE อยู่ระหว่างการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 300 ล้านหุ้น ราคาเพิ่มทุนประมาณหุ้นละ 2.20 บาท รวมมูลค่า 660 ล้านบาท โดยจะประชุมผู้ถือหุ้นให้พิจารณาอนุมัติในวันที่ 30 พ.ย. 2565

สำหรับความเสียหายย่อยยับที่โบรกเกอร์ต้องแบกรับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่ามูลค่าความเสียหายของ บล.กรุงศรี มูลค่า 1,000 ล้านบาท, บล.เกียรตินาคินภัทร มูลค่า 700 ล้านบาท, บล.ดาโอ มูลค่า 600 ล้านบาท, บล.เอเซีย เวลท์ มูลค่า 100 ล้านบาท, บล.คิงส์ฟอร์ด มูลค่า 300 ล้านบาท เป็นต้น

เอาเป็นว่าเวลานี้ หลายหน่วยงานกำลังเข้ามาตรวจสอบ และสอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องรอผลสรุปสุดท้ายว่าผู้ร่วมแก๊งปล้นโบรกเกอร์ครั้งนี้มีใครเข้าร่วมขบวนการ จะสาวถึงปลาใหญ่หรือจะมีม้าอาสาเล่นบท  “แพะรับบาป” แลกผลตอบแทนอันแสนงามหลังจบคดี โดยมีข่าวลือว่า ตัวแทนหรือนอมินีที่เปิดบัญชีไว้กับโบรกเกอร์ประมาณ 20 แห่ง และรับใบสั่งขายหุ้น MORE ช่วง ATO หลายคนเผ่นหนีไปแล้ว มีแต่ “เสี่ยปิงปอง” ที่ยังยืนสู้เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางแต่เพียงผู้เดียว

 เคส MORE สะท้อนตลาดทุนช่องโหว่บานเบอะ

บทเรียนที่สำคัญยิ่งที่ต้องเก็บรับและปิดช่องโหว่ของตลาดทุน เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยไม่ให้โจรใส่สูทปล้นซึ่งหน้า บรรดาโบรกเกอร์ต้องล้างอาย และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนต้องไวต่อการสกัดกั้นปัญหาไม่ให้ความเสียหายลุกลามอย่างรวดเร็ว เพราะทุกนาทีของการเทรดที่ผิดปกติในตลาดหุ้นคือความเสียหายที่จะตามมาในวงกว้างอย่างที่เห็น และเคสของ MORE ก็สะท้อนรูโหว่ของระบบการซื้อขายหุ้นแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือ T+ 2 ที่จะต้องหาทางอุดให้ได้

 นายภากร ปีตธวัชชัย  กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ  นายพิเชษฐ์ สิทธิอำนวย  นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณีหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตลท.ระบุว่าได้พบความผิดปกติการซื้อขายหุ้น MORE ในวันที่ 10 พ.ย.65 โดยราคาพุ่งขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด +4.3% จากราคาปิดในวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการซื้อขายตลอดทั้งวันสูงถึง 7,143 ล้านบาท ขณะที่ค่าเฉลี่ย 30 วันก่อนหน้าอยู่ที่เพียง 360 ล้านบาท/วัน โดยช่วงเปิดตลาดมีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1,500 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเกือบ 4,300 ล้านบาท

โดยลักษณะของการส่งคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติมีหลายประการ โดยตลท.พบฝั่งซื้อหุ้น MORE ผิดปกติมาจากผู้สั่งซื้อรายเดียว ที่ราคา 2.90 บาท/หุ้นผ่านบล.หลายแห่ง ขณะที่สมาคม บล.เผยกรณีหุ้น MORE มีโบรกฯฝั่งซื้อราว 10 ราย ฝั่งขายไม่ถึง 10 ราย ความเสียหายยังบอกไม่ได้ โดยรายการต้องสงสัยหุ้น MORE ถูก HOLD ไว้ตามเกณฑ์ ปปง.ยังเบิกเงินไม่ได้ และตลท.ยังไม่มีความชัดเจนปลด SP หุ้น MORE หรือไม่ ในเบื้องต้นที่ได้กำหนดขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามการซื้อขายเป็นระยะเวลา 3 วัน จนถึงวันที่ 18 พ.ย. 2565

 สรุปคือฝั่งซื้อพบว่าเป็นการส่งคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อเพียง 1 รายผ่านบริษัทสมาชิกหลายแห่งที่ราคา 2.90 บาท ในส่วนของฝั่งขายนั้น พบว่า มีการส่งคำสั่งขายเป็นจำนวนมากจากผู้ขายหลายรายที่ระดับราคาใกล้เคียงกับราคาเสนอซื้อ โดยมีจำนวนที่สั่งขายตั้งแต่ประมาณ 70 ล้านหุ้น/ราย ไปจนถึงประมาณ 600 ล้านหุ้น/ราย และทันทีที่เปิดตลาดได้เปิดการจับคู่ซื้อขายกับผู้ขายหลายรายผ่านบริษัทสมาชิกหลายแห่ง จากนั้นไม่ถึง 20 นาทีหลังเปิดตลาดราคาได้ทยอยปรับลดลงจนไปต่ำสุดที่ Floor ที่ราคา 1.95 บาท และปิดตลาดที่ราคาดังกล่าว โดยฝ่ายกำกับการซื้อขายของ ตลท. ได้แจ้งเตือนบริษัทสมาชิกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

จากนั้นในวันที่ 11 พ.ย. 65 หลังเปิดการซื้อขายราคาหุ้น MORE เปิด Floor ที่ 1.37 บาท แต่มูลค่าการซื้อขายเบาบางเหลือเพียง 134 ล้านบาท จากกว่า 7,000 ล้านบาท ในวันก่อนหน้า 

ขณะเดียวกัน ตลท.จะร่วมกับสมาคม บล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยถอดบทเรียนกรณีหุ้น MORE เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้หลักเกณฑ์หลายอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหุ้น

“.... ประชาชนนักลงทุนที่มองว่าทางตลาดหุ้นดำเนินการช้าไปหรือไม่นั้น เราเห็นความผิดปกติตั้งแต่ตลาดเปิดแล้วทำให้ ซึ่งเราออกมาเตือนในช่วงของหยุดการซื้อขายในช่วงเที่ยงว่าการซื้อขายมีความผิดปกติ และเกณฑ์ของเราจะต้องเตือนในช่วงที่ตลาดปิดแล้ว เราก็มาเตือนเลยในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเป็นเหมือนกันทั่วโลก” นายภากร กล่าว

สำหรับกรณีของโบรกเกอร์นั้น ต้องยอมรับว่า การสร้างความมั่งคั่งให้โบรกเกอร์ช่องทางหนึ่งคือ การปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหุ้นหรือมาร์จิ้นที่มีความเสี่ยงสูง อย่างที่นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า พวกโบรกฯ ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 14-20 โบรกฯ โดยเฉพาะรายที่ชอบจูงใจให้คนมาเล่นเยอะๆ เช่น ให้ค่าคอมต่ำๆ ให้มาร์จิ้นเยอะๆ งานนี้ มีปัญหาสภาพคล่องแน่นอน

หลังจากนี้ บรรดาโบรกฯจะเข็ดหลาบมากขึ้น การขอมาร์จิ้นโดยวางหุ้นเป็นประกัน (โดยเฉพาะหุ้นเถื่อนๆ) จะยากมากหรืออาจไม่มีการปล่อยมาร์จิ้นเลย หากนักลงทุนจะซื้อขายต้องใช้บัญชีเงินสดซื้อขายเท่านั้น บรรดาหุ้นซิ่งเล็กๆ ทั้งหลาย สภาพคล่องจะหายอย่างรวดเร็วเข้าสู่โหมด ice age ยุคน้ำแข็ง เมื่อบวกกับภาพใหญ่ สภาพคล่องโลกถูกถอนจาก QT ยุคน้ำแข็งของหุ้นเล็กอาจนานแสนนานกว่าที่จะจินตนาการถึง

“จากเดิมโบรกเกอร์จะมีแผนธุรกิจยึดแหล่งรายได้มาจากค่าคอมมิชชั่นและการปล่อยกู้ยืมเงินแก่นักลงทุน และบางโบรกเกอร์ใช้แผนกดค่าคอมมิชชั่นตนเองให้ต่ำ ซึ่งจากรายได้ค่าคอมน้อย ก็จะไปหวังพึ่งมูลค่าการปล่อยกู้ยืมเงินปริมาณเยอะๆ ซึ่งจะทำให้การธุรกิจดังกล่าวอยู่บนความเสี่ยงมาก หลังจากนี้ โบรกเกอร์เหล่านี้จึงน่าจะเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น หรือโบรกเกอร์ที่เคยปล่อยกู้ง่าย ก็จะปล่อยกู้ยากขึ้น....” นายประกิต คาดการณ์

อีกประเด็นที่พูดถึงกันคือ การใช้หลักประกันหุ้นตัวเดียวเวียนเปิดพอร์ตขอวงเงินจากหลายโบรกเกอร์ เพิ่มอำนาจซื้อแก่นักลงทุน ซึ่งตอนนี้มีการโยนข้อเสนอออกมาว่าควรมีศูนย์กลางจัดเก็บข้อมูลหรือบูโรเพื่อให้โบรกเกอร์ทราบว่าหุ้นที่ลูกค้านำมาใช้เป็นหลักประกันนั้นหมุนเวียนนำไปใช้ที่ไหนบ้าง เพื่อเพิ่มความระมัดระวังและลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

 แต่ที่สำคัญ ระบบหลังบ้านหรือระบบตรวจสอบลูกค้าและหลักประกันของโบรกเกอร์ต้องเข้มแข็ง ซึ่งแผนปล้นซึ่งหน้าครั้งนี้คำถามเบื้องต้นที่โบรกเกอร์ต้องตอบให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกคือ ทำไมหุ้นอย่าง MORE ที่ไม่ใช่หุ้นที่มีพื้นฐานเลิศเลอถูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อเพิ่มอำนาจการซื้อหุ้นได้มากมายมหาศาลเช่นนี้ และเหตุไฉนโบรกเกอร์ถึงอนุญาตให้ซื้อขายด้วยบัญชีที่ไม่ต้องวางเงินหรือหลักทรัพย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ 

การมุ่งมั่นสร้างความมั่งคั่งอาจนำไปสู่การพังพินาศในชั่วพริบตาอย่างที่กำลังลุ้นระทึกกันในเวลานี้ว่าจะมีโบรกเกอร์รายไหนที่ต้องล้มหายตายจากหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่ไม่ได้อยู่ใต้ร่มธงของแบงก์พาณิชย์ และมีปัญหาเรื่องการตั้งสำรอง


กำลังโหลดความคิดเห็น