xs
xsm
sm
md
lg

ราชสีห์เหยียบหนู กูไม่ให้มึงโต ปมร่าง กม.กัญชาฯวัดใจ “บิ๊กตู่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคง “ลูกผีลูกคน” สำหรับร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ) ที่ค้างเติ่งคาอยู่ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รอพิจารณาในวาระที่ 2-3 มาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว

ความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่เพียงแต่ชี้ความเป็นไปของ “พืชกัญชา” ในฐานะพืชเศรษฐกิจ หรือพืชการแพทย์ เท่านั้น ยังเป็นตัวชี้ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลด้วย

เพราะ “คู่ขัดแย้ง” ในประเด็นนี้ ทั้ง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ต่างเป็นเพื่อนร่วมรัฐบาล โดยมีพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ “เสี้ยม” อยู่อีกฟาก
ซ้ำร้ายผู้ที่ควรทำหน้าที่ “คนกลาง” อย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมีท่าทีออกแนว “เอียงๆ” ชอบกล

โดยเฉพาะล่าสุดกับการเรียก “นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เป็นการเรียกอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ มาชี้แจงเกี่ยวกับประกาศกระทรวงฯ ที่แม้จะอ้างว่าเป็นคำสั่งของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย แต่หากไม่มี “ไฟเขียว” จาก “นายกฯ ตู่” ก็คงไม่เชิญข้าราชการมา ทั้งที่ “เจ้ากระทรวง” อย่าง “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว รวมทั้งเป็น “เจ้าภาพ” ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ลาประชุม ครม. เนื่องจากติดภารกิจในต่างประเทศ

โดย “มารยาท” ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำกัน และควรจะรอ “เจ้ากระทรวง” กลับมาก่อน และชี้แจงด้วยตัวเอง

และก็เป็นไปตามคาดเมื่อรัฐมนตรีต่างรุมซัก “อธิบดี” จนไปไม่เป็น เพราะมีการสอบถามเลยเถิดไปนอกเหนือจากประกาศดังกล่าว กระทั่ง “หมอธงชัย” ต้องย้ำว่าสามารถชี้แจงได้เฉพาะประกาศที่เป็นเรื่องของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเท่านั้น ไม่สามารถตอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นได้

ตลกร้ายไปใหญ่เมื่อ “นายกฯ ตู่” โยนไปให้ “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ช่วยชี้แจง ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจของกระทรวงคมนาคมแต่อย่างใด

ที่สุด “วิษณุ” ก็แจ้งกับที่ประชุม ครม.ว่า ในวันที่ 22 พฤศจิกายน จะมีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่จะนำเรื่องเดียวกันไปหารือ แล้วจะนำกลับเข้ามาในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็ระบุว่า ในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า จะให้ “อนุทิน” มาชี้แจงในการประชุม ครม.ด้วยตัวเอง

ก็ไม่พ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า รู้ทั้งรู้ว่า “เจ้าของเรื่อง” ไม่อยู่ ก็ควรรอให้ “อนุทิน” กลับมาร่วมประชุม ไม่ใช่ทำกัน “ลับหลัง” เช่นนี้

อีกทั้งการนำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่มีสาระเพื่อควบคุม “ช่อดอกกัญชา” มาเป็นประเด็นในที่ประชุม ครม. ก็ไม่ต่างจาก “จ้องจับผิด” การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งที่รู้ว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องออกประกาศ เพื่อ “ควบคุม” สถานการณ์เฉพาะหน้า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมในทุกมิติยังไม่ผ่านสภาฯ ล่าช้าไปจากแผนเดิมอย่างมาก

สะท้อนให้เห็นถึง “เจตนา” ของ “บิ๊กตู่” ที่ดูจะไม่ประสงค์ดีกับนโยบาย “กัญชาทางการแพทย์” ของ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ใช่หรือไม่? เฉกเช่นเดียวกับที่ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแง่อยู่ในขณะนี้

จับความได้ว่า “อนุทิน” เองก็ไม่พอใจเช่นกัน จากคำให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยที่ระบุว่า “หากผมไม่ติดภารกิจอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นทุกอย่างก็คงเสร็จเรียบร้อยแล้ว และหากนายกรัฐมนตรีอีกข้อสงสัย ก็พร้อมที่จะรายงานอยู่แล้ว ซึ่งการประชุม ครม.ในวันนั้น อธิบดีกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ก็ถูกเรียกตัวมาด่วนโดยไม่มีการเตรียมตัวมาล่วงหน้า ซึ่งมันเป็นเรื่องของรัฐมนตรี คือตัวผม หากจะรอสักนิดนึง ผมก็จะสามารถชี้แจงในทุกประเด็นได้”

นอกจากนั้น “หมอหนู” ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า “ที่ผ่านมา มีคนบอกว่าเป็นห่วง กังวล โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล แต่จะให้ออกกฎหมาย ก็บอกว่าไม่เอา จะเอากัญชาไปเป็นยาเสพติด มันก็ย้อนแย้งกับนโยบายรัฐบาลแล้ว จะมาบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ เพราะเรื่องกัญชาเป็นนโยบายของพรรคภุมิใจไทย เราหาเสียงเรื่องนี้ ไว้ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง ตอนฟอร์มรัฐบาล ได้ยอมรับนโยบายของแต่ละพรรค เรายอมรับนโยบายของพรรคท่าน เรายอมรับนโยบายการเกษตรของพรรคท่าน เรายอมรับนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคท่าน เรายอมรับนโยบายคนละครึ่งของพรรคท่าน เรื่องมารยาท เราก็ยกมือสนับสนุนท่าน โดยเฉพาะตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคภูมิใจไทย ก็ยกมือสนับสนุนให้หัวหน้าพรรค ไปจนถึงรัฐมนตรีทุกคน บางทีพรรคท่านเองยังไม่สนับสนุนกันเองเลย แต่เราสนับสนุน เรามีมารยาท และกาละเทศะ”

“ตอนนี้ มันต้องต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเองให้ดี สนับสนุนกันและกันเพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล ต้องอยู่ด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์ สร้างความเป็นปึกแผ่น ขับเคลื่อนประเทศไปได้ รัฐบาลถ้าสามัคคี รัฐบาลถ้าเข้มแข็ง ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนภาคส่วนต่างๆ ภูมิใจไทยยึดถือเรื่องนี้ เรื่องกติกาการอยู่ร่วมกัน ...ถ้าจะอยากอยู่ร่วมกัน มันต้องสนับสนุนกัน เพราะว่าไม่ใช่นโยบายที่ผิดกฎหมาย มันไม่ได้สร้างความเสียหายอย่างที่พูด ไม่เอากัญชา แต่มาเอาเหล้าก้าวหน้า ...แต่ทุกวันนี้ ที่บอกว่าห่วงสังคม แต่ไม่ให้ออก แล้วยังจะให้กลับไปเป็นยาเสพติดอีก มันผิดสัตยาบันในการร่วมรัฐบาล”

ขณะเดียวกันยังมีอีกหนึ่งข้อสังเกตที่ไม่อาจมองข้ามได้จาก “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” นักกิจกรรมประชาสังคม แนวร่วมเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และ กมธ.กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัวในประเด็น “เส้นทางการล้มกฎหมายกัญชา” เอาไว้ 4 ข้อด้วยกันคือ

“1. วันจันทร์ที่จะถึงนี้ มีข่าวว่า ป.ป.ส. จะพากัญชาเข้าสู่โหมดยาเสพติด

2. ล้ม พ.ร.บ.กัญชา ที่จะเข้าสภาประมาณวันพุธ

3. หลังจากนั้น จะนำไปสู่การเขียนกติกาบางอย่าง เพื่อให้กลุ่มเฉพาะเท่านั้น ที่ทำกัญชาได้

4. ตอนนี้บรรษัทใหญ่หลายสิบบริษัท ได้เตรียมการสำหรับธุรกิจกัญชาไว้เรียบร้อยแล้ว รวมเงินลงทุนคงจะหลายพันล้าน”
ประสิทธิชัยบอกด้วยว่า “ประเทศนี้เกิดการรวมหัวของนักการเมืองกับกลุ่มทุนเสมอ และประชาชนจะต้องตกเป็นผู้ถูกกระทำในทุกอย่างของประเทศนี้ เรื่องใหญ่สุดตอนนี้ คือ ป.ป.ส. จะนำกัญชาไปสู่ยาเสพติดในวันจันทร์นี้ มันจะเจ๊งระนาวกันทั้งประเทศ เหลือเฉพาะทุนใหญ่ ต้นไม้ต้นหนึ่งประชาชนยังปลูกไม่ได้ แต่ผู้มีอำนาจจะปลูกกี่ล้านต้นก็ได้”

อันที่จริงประเด็นกัญชาจะไม่มาถึงจุดนี้เลย หาก ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ผ่านสภาฯ ตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว ช่วงเดือนกันยายน 2565 และป่านนี้น่าจะมีผลบังคับใช้ได้แล้ว

ทว่า ก็เป็นพรรคประชาปัตย์ที่เคยสนับสนุน “กัญชา” ในช่วงที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่เป็น “ร่างของรัฐบาล” เข้าสู่สภาฯ ในวาระแรก วาระรับหลักการ จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมา “ค้านหัวชนฝา” ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ผ่านมาขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างกฎหมายฯ ซึ่งก็มี กมธ.ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ร่วมด้วยซะอย่างนั้น

ก็ไปเข้าทางพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่ก็ปรับท่าทีหันมาจ้องล้มร่างกฎหมายกัญชาด้วยเช่นกัน
จนเกิดปรากฏการณ์ที่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” คู่แค้นไม่เผาผี หันมาสามัคคีเฉพาะกิจ โหวตถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ออกจากวาระประชุม เพื่อให้ กมธ.กลับไปพิจารณาแก้ไขใหม่

ซึ่งในมุมของเจ้าภาพอย่าง “ภูมิใจไทย” ก็มองเป็นอื่นไม่ได้ นอกเหนือจาก “เกมการเมือง”ครั้งนั้น “บังซุป” ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ก็ระบุว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากแรงกดดันทางการเมือง โดยท่านอ้างความเป็นห่วงต่อสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์”
หนึ่งในข้ออ้างสำคัญของฝ่ายที่ลงมติให้ตีกลับร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ไปนั้น คือการที่มีการขยายร่างกฎหมายจากเดิมที่มี 45 มาตรา เพิ่มขึ้นมาเป็น 95 มาตรา โดยระบุว่า “ผิดปกติ”

ทั้งที่ในความเป็นจริงก็มีประจักษ์พยานชัดเจนว่า กมธ.ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ซึ่งเดิมมีท่าทีสนับสนุน ต่างเสนอแก้ไขเนื้อหาในหลายประเด็น ทำให้จากเดิมที่มี 45 มาตรา ขยายเพิ่มขึ้นมาเป็น 95 มาตรา

ตามคำกล่าวอ้างของ “บังซุป” ก็ยืนยันว่า มาตราต่างๆ ที่ขยายขึ้นมานั้นก็เป็นไปตามข้อเสนอของ กมธ.ที่มาจากทุกพรรคการเมือง รวมไปถึงภาคประชาชน เพื่อให้ร่างกฎหมายมีความรอบคอบรัดกุมมากที่สุด

ที่สำคัญ กมธ.จากค่ายสะตอ อย่าง กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์เอง ยังเป็นผู้เสนอเลยเถิดไปถึงการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ฟูลมูนปาร์ตี้ การพี้กัญชา แต่เสียงส่วนใหญ่ใน กมธ.ไม่เอาด้วย
ปรากฎว่า พรรคประชาธิปัตย์ โดย “เสี่ยตาล” สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง กลับออกมาเหน็บแนมถึงร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ว่า เป็น “กัญชาเสรีสุดขั้ว” และตั้งธงว่าจะลงมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่อยู่ในคิวต้นๆ ของวาระการประชุมสภาฯ โดยที่ไม่ปฏิเสธหรือยอมรับว่า คนของพรรคตัวเองเสนอ “เลยซอย” มากกว่าเสียอีก

ไม่แปลกที่ “ศุภชัย” จะสอนมวยกลับว่าเป็นการ “ตั้งธง” ที่จะเตะถ่วง-คว่ำร่างกฎหมาย โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายแต่อย่างใด

ท่าที “มีพิรุธ” ของพรรคประชาธิปัตย์นี่เองที่ทำให้ “หมอหนู-อนุทิน” อดรนทนไม่ได้ และออกมาตั้งคำถามแบบไม่ไว้หน้าเพื่อร่วมรัฐบาลว่า “รับงานใครมา” พร้อมทั้งทวงถามด้วยว่า ทีนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เคยขัดขวางเลย
แล้วก็เป็น “สาทิตย์” ที่ออกมาโต้ข้างๆ คูๆ ว่า พรรคประชาธิปัตย์รับงานจาก “ประชาชน”

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

  นายอนุทิน ชาญวีรกูล

 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
อันที่จริงในห้วงแห่งความขัดแย้งของ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ที่เกิดขึ้น “คนกลาง” อย่าง “นายกฯ ตู่” ควรออกมาทำหน้าที่ “หย่าศึก” ด้วยเพราะกระทบถึงเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในฐานะ “ผู้นำรัฐบาล” กลับไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมา โดย “โยนกลอง” ให้เป็นเรื่องของสภาฯ ส่วนการลงมติของ “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ในอาณัติแบบ “กดปุ่ม” ได้นั้น ก็มีแนวโน้มว่า จะปล่อยให้ “ฟรีโหวต”

ราวกับว่า ไม่ยี่หระหากร่างกฎหมายนี้จะตกไป เหมือนลืมไปว่ารัฐบาลเป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับนี้ และนโยบายกัญชาเสรียังถูกนับเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย

ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้เองก็เป็นช่องให้พรรคฝ่ายค้านโดยหัวหอกทั้งพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ได้ที “เสี้ยม” ไม่หยุด ทั้งการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายใน “คีย์เดียว” กับพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนการ “ยืมมือ” องค์กรอื่นในการสกัดนโยบายกัญชาทางการแพทย์

ไม่ว่าจะเป็นรายการ “ผิดคิว” โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้า และ ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แแทนราษฎร ที่เคยโพล่งออกมาว่า เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูบเพื่อให้ “ยุบพรรค” ภูมิใจไทย จากการเสนอนโยบายกัญชาเสรี จนถูกกระแสตีกลับ จนต้อง “กลืนน้ำลาย” แต่ก็ไม่ทันการ ถือว่า “เสียคน” ในทางการเมืองไปแล้ว

หรือการที่พรรคก้าวไกลยื่นหนังสือต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องเรียนการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของ รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมายจากกรณีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้อง ศาลปกครอง เพิกถอนการใช้ประกาศฉบับปี 2565

และเสนอให้กระทรวงและคณะกรรมการมีแนวทางควบคุมการใช้กัญชาให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

รวมทั้งการยื่นต่อศาลปกครองกลางโดยตรง เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับเดียวกัน พร้อมทั้งมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว

สาระของประกาศลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ก็คือการถอด “กัญชา” ออกจาก “บัญชียาเสพติด”

ซึ่งการยื่นต่อศาลปกครองของฝ่ายค้านก็คือให้ “ถอย” สถานะกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดดังเดิมนั่นเอง

เรื่องนี้ “หมอเก่ง” วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุถึงสาเหตุการยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า แม้จะมีการควบคุมกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม แต่กลับพบว่า เด็ก และเยาวชน มีการเข้าถึงกัญชากันอย่างแพร่หลาย สะท้อนว่า ไม่เกิดสภาพบังคับที่แท้จริง จึงต้องมองกลับไปที่ต้นตอของปัญหาว่าประกาศของกฎกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับความเห็นชอบโดยตรงจาก รมว.สาธารณสุข จากความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส.มีปัญหาหรือไม่

ขณะที่ สุทิน คลังแสง รองหัวหน้า และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ก็ระบุว่า หลายองค์กรกังวลนโยบายกัญชาเสรี กฎหมายอาจจะผลเสียมากกว่าผลดี เมื่อกฎหมายหวังพึ่งไม่ได้จึงมีการเสนอให้หยุดไว้ก่อน โดยได้ขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ประกาศมีผลบังคับใช้ และสะดุดหยุดลง

ท่าทีของฝ่ายค้านดูจะ “ย้อนแย้ง” กับ “ข้ออ้าง” ในการให้ถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 พอสมควร เพราะเหตุที่ยังไม่มี “กฎหมายควบคุม” ก็เนื่องจากฝ่ายค้านเป็นผู้กดปุ่มสกัดไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้พืชกัญชาทั้งระบบ ผ่านสภาฯ ในสมัยประชุมที่แล้วด้วยตัวเอง

ตามรูปการณ์ที่เกิดขึ้น ก็พอจะเดาได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในวาที่ 2-3 เร็ววันนี้ คงไม่รอดสันดอน โดยเฉพาะเมื่อเสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ร่วมกับ ส.ส.พลังประชารัฐ สวิงไปประสานกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เหมือนเมื่อครั้งลงมติตีกลับร่างฯไปให้ กมธ.พิจารณาแก้ไขใหม่

ซึ่งทาง กมธ.ที่มี “บังซุป-ศุภชัย” เป็นประธาน ยืนยันที่จะส่งเนื้อหาที่เคยเสนอให้สภาฯ พิจารณาโดยไม่แก้ไข โดยย้ำว่า “ในรายงานของ กมธ. นั้น มีเนื้อหาที่เป็นข้อห่วงใย กับร่างกฎหมายจะถูกเติมเนื้อหาเพิ่มเป็น 95 มาตรา สะท้อนให้เห็นถึงความรอบคอบของ กมธ. และความพยายามที่จะทำให้ร่างกฎหมายมีความรัดกุม”

แม้จะดูเหมือน “ดื้อแพ่ง” ไม่ทำตาม “เสียงข้างมาก” แต่ก็มองได้ว่า ท่าทีของ กมธ.เป็นการยืนยันในหลักการของร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมมาอย่างรัดกุมแล้ว ไม่ได้หวั่นไหวไปกับ “เกมการเมือง” ที่เกิดขึ้นในสภาฯ

ยิ่งถอดรหัสคำพูดของ “สุทิน” ที่เคย “ล็อกคอ” พรรคประชาธิปัตย์ว่า ให้หนักแน่นในจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องกัญชา ซึ่งหมายรวมถึงการลงมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เพราะหากบิดพลิ้วผิดคำพูดก็อาจโดนสั่งสอนในการเลือกตั้งที่จะมาถึงได้

ก็ยิ่งสะท้อนได้ว่า ปัจจัยการตัดสินใจเรื่องนี้เป็นเรื่อง “การเมือง” มากกว่า “สาระ” ความเป็นห่วงประชาชนตามที่กล่าวอ้าง

และหากใครได้ติดตามความสัมพันธ์ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ก็ยิ่งจะเห็นได้ว่า ปัจจัยทางการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญของ “ศึกกัญชา” ครั้งนี้ เหนือกว่าความเป็นห่วงเด็ก และเยาวชน หรือผลกระทบต่อสังคมด้วยซ้ำ

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ “ค่ายสะตอ” ล้มเหลวในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็เป็นเพราะ “ค่ายเซราะกราว” บุกเจาะพื้นที่ภาคใต้ จนสามารถปักธงได้ ส.ส.ใต้มานับสิบชีวิต ซึ่งก็เท่ากับลดจำนวน ส.ส.ในพื้นที่หากินของพรรคประชาธิปัตย์ไปในตัว

ผนวกกับความร้อนแรงของพรรคภูมิใจไทย ที่บัดนี้ขึ้นมาเหนือพรรคประชาธิปัตย์หลายช่วงตัว หากปล่อยให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ สำเร็จ ก็เหมือนยื่น “ดาบ” ให้คู่แข่งในการเลือกตั้ง เพราะจะเป็นเครื่องยืนยันนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยที่ว่า “พูดแล้วทำ” และ “ทำได้จริง” เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

อารมณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่หวาดระแวงการขยายพื้นที่ในภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ต้องสกัดคู่แข่งในพื้นที่ภาคอีสานรวมไปถึงภาคเหนือบางส่วน

เป็นเหตุให้คู่แค้นอย่าง “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” ถึงรวมกันเฉพาะกิจได้ในงานนี้

โดยทาง “สุทิน” ยังประเมินเสียงโหวตร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ในสภาฯ ด้วยว่า เมื่อ “ประชาธิปัตย์-ฝ่ายค้าน” มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย จุดชี้วัดจึงอยู่ที่ “พลังประชารัฐ” ว่าจะลงมติในทิศทางใด

เมื่อย้อนไปเช็กคะแนนเสียงการลงมติ “แช่แข็ง” ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เมื่อเดือนกันยายน 65 ซึ่งผลการลงมติเสียงข้างมาก 198 เสียง เห็นด้วยให้ถอนเนื้อหา ต่อเสียงไม่เห็นด้วย 136 เสียง และมีผู้งดออกเสียง 12 เสียงนั้น

พบว่า เสียงเห็นด้วยให้ “ถอน” ร่างกฎหมายมาจาก พรรคเพื่อไทย เห็นด้วย 93 เสียง และไม่เห็นด้วย 7 เสียง, พรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วย 47 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง, พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย 30 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง, พรรคก้าวไกล ครั้งนั้รส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ถอนเนื้อหา แต่มีเพียง 1 เสียงที่เห็นด้วย, พรรคภูมิใจไทยออกเสียงไม่เห็นด้วยอย่างพร้อมเพรียง ส่วนพรรคอื่นๆ นั้น ลงมติกันอย่างหลากหลาย

จะเห็นได้ว่า มติแช่แข็งร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ครั้งนั้น เสียงแตกต่างกันอยู่ราว 60 เสียง ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยให้ถอนร่างก็เป็นการผสมโรงกัน 3 พรรค คือ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ” ส่วน “ก้าวไกล” ในวันนั้นก็มีจุดยืนให้พิจารณาร่างกฎหมายต่อ

จุดชี้วัดของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นในส่วนของ “พลังประชารัฐ-ก้าวไกล”

ในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้นเคยแสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างของ กมธ. แต่เห็นถึงความจำเป็นในการออกกฎหมายควบคุมการใช้พืชกัญชา ทว่า จุดยืนที่ว่าก็เปลี่ยนไปหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ ถูกสภาฯ ตีตกไปเมื่อไม่นานมานี้

จนพรรคก้าวไกลออกโรงมาคัดค้านนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์อย่างที่เห็น ก็ทำให้เชื่อว่าเสียง ส.ส.ก้าวไกล ที่เคยไม่เห็นด้วยกับการถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะสวิงกลับไปโหวตไม่เห็นด้วยในครั้งนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะ “รอด” หรือ “ร่วง” จึงอยู่ที่ “พลังประชารัฐ” ที่มี ส.ส.รวมกับในส่วนของ “ซุ้มผู้กอง” พรรคเศรษฐกิจไทย รวมแล้วกว่า 100 เสียง

หรือจะพูดให้ถูก ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะ “รอด” หรือ “ร่วง” อยู่ที่ “นายกฯ ตู่”

อย่างที่ระบุข้างต้นว่าเสียง ส.ส.พลังประชารัฐ อยู่ในข่ายที่สามารถ “กดปุ่ม” ได้ เพียงแค่รอ “ใบสั่ง” จาก “บิ๊กตู่” ผ่าน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น

และรอยร้าวระหว่าง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ที่ว่ากันว่าอาจชี้เป็นตายไปถึงการ “ยุบสภา” ก่อนเวลาอันควร ก็ย่อมอยู่สายตาของ “นายกฯ ตู่” มาตลอด

อีกทั้งรายงานผลกระทบจากการปลดล็อกพืชกัญชาในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มีกรณีที่ร้ายแรง หรือน่าเป็นห่วงอย่างมีนัยสำคัญ ก็น่าจะอยู่บนโต๊ะทำงานนายกฯ โดยตลอดเช่นกัน

ก็ต้องวัดใจ “บิ๊กตู่” ว่า บทสรุปของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะออกทางไหน

แต่จากท่าทีล่าสุดดูเหมือน “ท่านผู้นำ” มองข้ามเรื่องประโยชน์ของพืชกัญชา แต่ไปติดลูกเกรงอกเกรงใจ “ค่ายสะตอ” มากกว่า เหมือนหลายๆ เรื่องในช่วงรัฐบาลชุดนี้ ที่ยามมีประเด็นเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ทีไร ก็ดูจะโอนอ่อนผ่อนตามแบบผิดปกติ

ทั้งที่ในความเป็นจริงพรรคภูมิใจไทยของ “หมอหนู” ทำตัวเป็น “เด็กดี” และปวารณาตัวเป็น “หนูช่วยราชสีห์” มาโดยตลอด หลายครั้งที่ “ทีมลุง” เพลี่ยงพล้ำก็เป็น “ทีมเซราะกราว” ที่เข้าไปหิ้วปีกอยู่ข้างกาย ไม่ว่าจะเป็นเกมในสภาฯ หรือครั้งที่ “ลุงตู่” โดนแบนชั่วคราวจากประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ

ที่สำคัญหากมองยาวไปถึงการเลือกตั้งไปถึงการเลือกตั้งที่จะมาถึง ขณะที่ “ค่ายลุงๆ” ยังไม่ตกผนึก อยู่ในสถานการณ์ไม่สู้ดีต่อการจะได้ไปต่อ รีเทิร์นกลับมาเป็นรัฐบาล พลังทางการเมืองวันนี้ของ “ค่ายเซราะกราว” น่าจะมีความสลักสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะกับการสกัดเป้าหมายแลนด์สไลด์ของ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย

จนมองไปได้ว่า เหตุที่ “ลุงตู่” ไม่ตามใจพรรคภูมิใจไทย เหมือนที่ตามใจพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด ก็อาจเป็นเพราะ “เรื่องการเมือง” จากความที่ “ค่ายเซราะกราว” เริ่มสยายปีกยิ่งใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การเมือง หรือผลงานในระหว่างร่วมรัฐบาล

กระทั่งวันนี้ พรรคภูมิใจไทย ถูกยกให้เป็นเบอร์ 1 ของขั้วรัฐบาลปัจจุบันในการปะทะกับพรรคเพื่อไทย เบอร์ 1 ซีกฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งหน้า เหนือกว่าพรรคที่จะชู “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วยซ้ำ

นำมาซึ่งกระแสคาดการณ์ว่า ด้วยห้วงวาระนายกฯ 2 ปี ของ “ลุงตู่” อาจจะต้องเข้าโปรแกรม “นายกฯ คนละครึ่ง” กับ “หมอหนู-อนุทิน” ในรัฐบาลสมัยหน้า

เป็นเหตุให้ “ลุงตู่” เกินอาการหวาดระแวงที่ “ค่ายเซราะกราว” อาจจะโตเกินไป หากได้ผลงานโบว์แดงอย่างการผลักดันนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์สำเร็จก็เป็นได้

ยิ่งมีคำประกาศของ “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย ในการประกาศปั้น “ลูกศิษย์หนู” ให้เป็นนายกฯ ด้วยแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคภูมิใจไทยวันนี้ ก็เข้าทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ “ก๊วนสี่กุมาร” ที่นำโดย “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพลังประชารัฐ ที่วางตัวในฐานะ “คนทำงาน” ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการต่อรองทางการเมือง

ทว่า ท้ายที่สุด เสียงเรียกร้องที่เคยสนับสนุนให้ “สมคิด” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562 ก็ตามมาหลอกหลอน “บิ๊กตู่” จนเมื่อรัฐบาลตั้งหลักได้แล้ว ก็เลยฉวยจังหวะถีบหัวส่ง “ทีมสมคิด” ออกไป

กลายเป็น “ซิกเนเจอร์” ของ “ลุงตู่” ที่เมื่อมี “คู่เทียบ” มาหายใจรดต้นคอ ก็มองว่า เป็น “เสี้ยนหนาม” ที่ต้องกดไว้ไม่ให้โต หรือสกัดให้พ้นทาง

จาก “หนูช่วยราชสีห์” ในวันวาน มาวันนี้ “ราชสีห์” กลับเลือกจะเหยียบ “หนู” ไว้ไม่ให้โตซะอย่างนั้น.

(คลิกอ่าน “เตือนก่อนพังถ้า “กัญชา” จะเป็นยาเสพติดอีกในสัปดาห์หน้า?” โดย “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” )



กำลังโหลดความคิดเห็น