xs
xsm
sm
md
lg

รอพิสูจน์ฝีมือ “ลุงตู่” นั่งหัวโต๊ะปราบยาบ้า-อาวุธ คืน “ปืนเถื่อน” ไม่ผิด -ไล่ออก “จนท.รัฐ” มีเอี่ยว “ผบ.ตร.” ฟุ้งยุทธศาสตร์ “ครูแม่ไก่” เจ๋งเป้ง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:




นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 ตุลาคม 2565
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  โศกนาฏกรรมเหตุกราดยิงเด็กที่หนองบัวลำภู จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในการปราบปรามยาเสพติดและการครอบครองอาวุธปืนจริงหรือไม่ยังเป็นคำถาม เพราะที่ผ่านมาการประกาศทำสงครามปราบยาบ้าเป็นวาระแห่งชาติ ก็เห็นๆ ว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า เนื่องจากขบวนการค้ายามักมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเอี่ยวด้วย เช่นเดียวกับ “ธุรกิจการค้าอาวุธปืน” ที่เข้าอีหรอบเดียวกัน 

ดังนั้น มูฟเม้นท์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จัดทำระเบียบหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าจะเป็นแค่การล้อมคอกแบบไฟไหม้ฟางเมื่อกระแสสังคมซาลงไปก็ปล่อยปละละเลยเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดที่ว่าทำท่าฟิตจัดโดยมีการประชุมนัดแรกไปเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา สะสางปัญหาเรื่องอาวุธทั้งการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต และการพกพาทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรี ให้ไกด์ไลน์ว่าผู้ยื่นขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน มีใบรับรองสุขภาพจิตจากแพทย์ มีการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม มีมาตรการทบทวนตรวจสอบคุณสมบัติตามระยะเวลาที่เหมาะสม หากพบปัญหาทางจิต หรือพฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม การใช้ยาเสพติดให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน

นอกจากนั้น ยังจะกวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายทางออนไลน์อย่างจริงจัง และจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายบางฉบับ กฎกระทรวงบางเรื่องที่จำเป็นให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องยาเสพติด พล.อ.ประยุทธ์โอ่ว่าที่ผ่านมาทำอย่างเต็มที่ ทั้งการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมี สืบสวนขยายผลทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและการยึดอายัดทรัพย์สิน บูรณาการนำผู้เสพเข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูล

 แต่ที่เป็นประเด็นใหม่อยู่ตรงที่การทบทวนกรณีผู้เสพให้ถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษา โดยจะดูปริมาณการครอบครองจะยังคงยึดถือกรณีผู้เสพครอบครอง 15 เม็ด หรือจะลดลงมาเป็น 5 เม็ด ซึ่งถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงต้องมีการปรับแก้กฎหมาย  
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำในส่วนเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องลงโทษอย่างเด็ดขาดในทุกกรณีโดยทันที

พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงผลการจับกุม 2 เครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ของกลางเป็นยาบ้าจำนวน 11.6 ล้านเม็ด คีตามีน 50 กิโลกรัม ยาไอซ์ 2 กิโลกรัม และยึดทรัพย์ได้ 1.5 ล้านบาท ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

ตร.เชียงรายลุยค้น 8 จุดเสี่ยงพัก-ขนลำเลียงยานรก พบทั้งคนเสพ-คนค้า และอาวุธปืนมากมาย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา
สำหรับมาตรการการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จำเป็นต้องเร่งค้นหาคัดกรองผู้ป่วยเข้าสู่สถานฟื้นฟู ภาคีเครือข่าย เร่งจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครบและครอบคลุมในทุกตำบล ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ส่วนท้องถิ่น และสถานบำบัดรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานของสากล ซึ่งกระบวนการบำบัดให้ใช้ชุมชนเป็นฐาน

ขณะเดียวกัน ยังสั่งการให้ไปดูแลระบบสุขภาพจิตในโรงเรียน สถานศึกษาทุกแห่ง สถานประกอบการต่างๆ ที่มีพนักงานจำนวนมากและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง ทั้งกลุ่มงานจิตเวชและการปราบปรามยาเสพติดในทุกอำเภอ ให้มีการตั้งกองอำนวยการจิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอเพื่อที่จะได้ดูแลเบื้องต้นเรื่องจิตเวชในทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โดยใช้วิธีการชุมชนบำบัด มีสิทธิประโยชน์ต่างๆในการรักษาจิตเวชทางไกล เพื่อที่จะสามารถดูแลต่อเนื่องในชุมชน

 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขยายความให้ชัดเจนขึ้นว่า มาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ปืนที่มีใบอนุญาตและปืนเถื่อน สำหรับอาวุธที่ขออนุญาตใหม่นอกจากจะตรวจสอบคุณสมบัติขั้นพื้นฐานยังต้องมีใบรับรองแพทย์ด้านสุขภาพจิต และผู้บังคับบัญชาต้องรับรองความประพฤติด้วย ส่วนคนที่มีอาวุธแล้วมีมติว่าจะต้องทบทวนใหม่ทุก 3 ปี หรือ 5 ปี และต้องทบทวนความประพฤติ รวมถึงผู้ที่พ้นหน้าที่ไปแล้ว มีความจำเป็นหรือไม่ในการใช้อาวุธ ถ้าไม่จำเป็นก็เพิกถอนได้

 ส่วนอาวุธเถื่อนทั้งหมดได้ข้อยุติว่าจะต้องออกกฎหมายให้นำมาคืน โดยไม่มีความผิดทางอาญา แต่อย่าใช้คำว่านิรโทษกรรม และไม่ให้ขึ้นทะเบียน นี่คือความเปลี่ยนแปลง 

การเปิดให้นำเอาอาวุธปืนเถื่อนมาคืนนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จะต้องมีการออกเป็นกฎหมายโดยผ่านการพิจารณาของสภา เพราะอาวุธเถื่อนที่มีเป็นจำนวนมากถ้าไม่ดำเนินการ แต่กลับไปเข้มงวดกับผู้ที่ขออนุญาตถูกต้องจะทำให้พลาดเป้าเรื่องการมีอาวุธเถื่อน เราจะออกเป็นพระราชบัญญัติให้นำมาคืนรัฐ ถ้าเอามาคืนก็จบ ไม่มีโทษทางอาญา แต่ถ้าใครถือครองต่อไปจะมีโทษหนัก ส่วนการเพิกถอนของผู้ที่ครอบครองอยู่แล้ว ถ้าคุณสมบัติไม่เหมาะสมก็ไม่ควรจะครอบครองต่อ เจ้าหน้าที่รัฐจะยึดและให้ทายาทที่มีคุณสมบัติถือครองต่อ แต่ถ้าไม่มีทายาทจะขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาล

สำหรับเรื่องยาเสพติด ถ้าพื้นที่ไหนเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยจะมีผลทั้งทางกฎหมายและทางราชการ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ถ้าคนในหมู่บ้านรู้ว่ามี แต่ทางฝ่ายปกครองไม่รู้ ต้องประเมินถ้าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ก็จะทำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกลไกปราบปรามยาเสพติดทำงาน ต้องดำเนินการทั้งแหล่งผลิตและการยึดทรัพย์

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามา ก็ต้องรอดูว่ามาตรการเร่งด่วนที่ออกมา ทั้งคืนปืนเถื่อนโดยไม่มีความผิดทางอาญา การขออนุญาตใหม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ด้านสุขภาพจิตและการรับรองจากผู้บังคับบัญชา การทบทวนการถือครองอาวุธทุก 3 ปี 5 ปี รวมทั้งการลดจำนวนครอบครองยาบ้ากรณีผู้เสพถือเป็นผู้ป่วยจาก 15 เม็ด เหลือเพียง 5 เม็ด ถ้ามากกว่านี้ก็ถือเป็นผู้ค้าที่ต้องดำเนินคดี จะได้ผลสักกี่มากน้อย เพราะต้องไม่ลืมว่าปัญหาที่สุมทับอยู่ทุกวันนี้มีเจ้าหน้ารัฐเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น หากการเอาผิด ลงโทษไม่เด็ดขาด ลูบหน้าปะจมูก เหมือนที่ผ่านมาก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าเข้าอีหรอบเดิมๆ

สงครามปราบยาและอาวุธคราวนี้ จึงต้องดูว่าเจ้าหน้ารัฐโดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงจะกระตือรือร้นเข้าร่วมทัพทำงานเชิงรุกหรือจะใส่เกียร์ว่าง งานนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) ออกมาขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกป้องกันปราบปรามยาเสพติด โดยประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ มีข้าราชการตำรวจ ระดับรอง ผู้บัญชาการ (ผบช.) รวมถึงผู้กำกับการ (ผกก.) หัวหน้าสถานีตำรวจทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา

ผบ.ตร. ลั่นวาจาว่า ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติเป็นวาระเร่งด่วน ปีนี้จะเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทุกมิติ ทั้งการสกัดกั้นการลักลอบขน จำหน่าย ผลิต โดยจะโฟกัสเข้มข้นที่การทำงานของตำรวจในพื้นที่ ทั้งในมิติของงานค้นหาผู้เสพ นำผู้เสพไปบำบัด หรือดำเนินคดี การดำเนินการกับผู้จำหน่าย และแนวทางการป้องกัน และสร้างชุมชนยั่งยืน

 “....อยากให้ตำรวจกวาดบ้านตัวเองให้ดี ตรวจสอบตำรวจที่อาจมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ส่งสัญญาณเตือนก่อน อย่าไปช่วยกัน ต้องดำเนินคดี .... ผมก็ส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่ 1 ตุลาคม อย่าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถ้าฝ่าฝืนก็ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นเรื่องนี้ในแต่ละพื้นที่มักจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเกี่ยวข้อง ผู้บังคับบัญชาต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ต้องจัดการพวกนี้ ถ้าเขาไม่เปลี่ยนใจ ยังฝ่าฝืน ยังทำอยู่ต้องจัดการ ต้องกล้าดำเนินการ...” ผบ.ตร. กล่าว 

ผบ.ตร. เชื่อมั่นว่าการสร้างเครือข่าย  "ครูแม่ไก่”  เพื่อแนะนำผู้ปฏิบัติงานด้านอื่นๆ เช่น สายตรวจหมู่บ้าน โดยผู้ผ่านการอบรมเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายจะได้ผล ตำรวจต้องไม่ทำงานลำพัง ให้ประสานความร่วมมือกันท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนทางธรรมชาติ อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ช่วยกันในการค้นหา ลงระบบ สแกนว่าใครเป็นปัญหาระดับสีเขียว สีเหลือง สีแดง เพื่อทำมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมในระดับครอบครัว

สำหรับพื้นที่ไหนหากมีปัญหามากให้หัวหน้าสถานีตำรวจ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการเข้าไปขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และ ผบ.ตร.จะนั่งหัวโต๊ะประชุมศูนย์ป้องกันปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปส.ตร.) ด้วยตนเอง จะเข้าไปตรวจสอบการทำงานด้านยาเสพติดทั้งระดับภาค ระดับจังหวัด พร้อมลงพื้นที่ชุมชนสอบถามความคืบหน้าการปฏิบัติตามนโยบายโดยไม่บอกล่วงหน้า ดังนั้นทุกพื้นที่ต้องทำจริงและเตรียมพร้อมให้ตรวจสอบทุกเมื่อ

ฟากฝั่งกระทรวงมหาดไทย ก็ทำท่าขึงขังไม่แพ้กัน โดย  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ  ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยว่า จากฐานข้อมูลกรมการปกครอง พบว่า มีพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติด สูงถึง 279,094 ครัวเรือน ใน 31,744 หมู่บ้าน ซึ่งถ้าเราเอาจำนวนสมาชิกในครอบครัวมาคูณจะทำให้ตัวเลขประชาชนที่ได้รับผลกระทบถึงเป็นหลักล้านคน จึงต้องทำงานเชิงรุก โดยกรมการปกครองขีดเส้นตายว่า ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ จะมีข้อมูลผู้เสพผู้ค้ายาเสพติดทั่วประเทศในเบื้องต้น เพื่อนำมาใช้วางแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ปปส. และสาธารณสุข โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นแม่งานในการค้นหาผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกตำบล/หมู่บ้าน ทั้งผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ค้า

นายสุทธิพงษ์ ขอให้มั่นใจว่าฝ่ายปกครองจะเต็มที่ ทั้งการกวาดบ้านตนเอง คนของเราต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และพุ่งเป้าทำทุกมาตรการอย่างจริงจัง รวมทั้งการหาสถานที่ปรับปรุงเป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตอนนี้ไฟยาเสพติดไหม้ประเทศของเราแล้ว ต้องประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างเข้มข้น ต้องช่วยกันทำให้ผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา บุคลากรภาครัฐในทุกสังกัดทุกพื้นที่ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและได้รับการสุ่มตรวจทุกคน

นอกจากนี้ ต้องทำให้หมู่บ้านในกองทุนแม่ของแผ่นดินทั้ง 100% ต้องสะอาด ต้องไม่มีผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเป็นตัวอย่างและเฝ้าระวังไม่ให้ยาบ้าแพร่เข้าไปในหมู่บ้านได้ โดยมี อปท. เป็นหน่วยในการสนับสนุนด้านงบประมาณบริหารจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย โดยอธิบดีกรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน ป.ป.ส.

หากหน่วยงานรัฐเริ่มต้นแก้ปัญหายาเสพติดกับการครอบครองอาวุธปืนจากการปัดกวาดบ้านของตัวเองอย่างจริงจังดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าสงครามครั้งนี้ยังพอมีหวังเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะเครือข่ายค้ายาค้าอาวุธหาได้ดำเนินการโดยลำพังโดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้องหลังคอยหนุนนำแต่อย่างใด

ขณะที่หน่วยงานรัฐทำท่าขึงขังจริงจังในการทำสงครามปราบยาเสพติด ก็มีเสียงสะท้อนจาก  “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ”  ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “คนไข้บอกว่า เดี๋ยวนี้ยาบ้า 4 เม็ดร้อย ยาบ้ามีแพร่หลายในแทบทุกชุมชน ราคาลดลงจากสิบปีที่แล้วเม็ดละ 200-300 บาท เหลือ 4 เม็ดร้อย และกำลังจะถูกลงอีก แต่ละคนหากใช้เพลินๆ ก็วันละ 10 เม็ด ช่วงไหนเงินน้อยก็ลดจำนวนลง

“ส่วนน้ำกระท่อมนำมาต้มเป็น 4 คูณร้อย ผสมโค๊กกับยาแก้ไอ เป็นพื้นฐานต้มกินทุกวัน จนเป็นเครื่องดื่มแห่งชาติในพื้นที่ชายแดนใต้ไปแล้ว ปัญหายาเสพติดนี่ทุกฝ่ายในพื้นที่แทบจะสิ้นหวัง นโยบายให้ผู้เสพมาบำบัดไม่ได้ผลหรอกถ้าทุกพื้นที่ยังหายาง่ายและราคาแสนถูก

“โรงพยาบาลทั่วประเทศพร้อมไหมกับการดูแลรักษาคลื่นผู้ใช้ยาหากยกพลกันมารักษา คำตอบคือ “ไม่พร้อม” เพราะการรักษาไม่ใช่การจ่ายยา ซึ่งเสร็จในสามสี่นาที แต่ต้องทำกระบวนการปรับความคิดปรับพฤติกรรม แก้ปมแก้ปัญหาเป็นรายคน หรือทำกลุ่มบำบัดเป็นกลุ่มเล็กๆ จึงพอจะได้ผล

“ปัจจุบันผมเองยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ โรงพยาบาลก็ทำการดูแลรักษาเต็มที่วนๆ ไปเฉพาะคนที่เดินมาโรงพยาบาล แต่ในชุมชนยังมีอีกมากมาย วันนี้ยาบ้าถูกเหมือนขนมถุง เข้าถึงง่าย แล้วเราจะเปลี่ยนผ่านสังคมสู่สังคมปลอดยาเสพติดได้อย่างไร คิดไม่ออกเลยครับ” ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ทิ้งท้าย

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็กระแสกับเขาด้วยโดยสะท้อนภาพว่าประชาชนร้องเรียนเรื่องปัญหายาบ้ามากพอๆ กับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ยาบ้าที่มีขายทั่วไปทุกหมู่บ้านและราคาถูกมากเม็ดละเพียง 20 บาท หาซื้อง่ายเหมือนซื้อขนม ให้กินก่อนผ่อนทีหลังได้ ทางพรรคฯ ขอประกาศยุทธการปราบยาบ้าคืนลูกหลานสู่อ้อมอกพ่อแม่ เร่งนำผู้เสพมาบำบัดให้หายขาด ปราบปรามจริงจังลากตัวพ่อค้า สายยาและเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นเป็นใจมารับโทษขั้นสูงสุด และสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยการจัดตั้งสภาชุมชนทุกหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยเข็มมุ่งที่ตรงกัน เช่น ทำให้หมู่บ้านปลอดอาชญากรรมร้ายแรงและยาเสพติด

ต้องบอกว่าการแก้ปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้า เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ดังที่ นพ.สุภัทร ว่าไว้ ทั้งนี้ตามรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย ที่ระบุในแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565 โดยสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ซึ่งตั้งเป้าหมายแก้ไขปัญหายาเสพติดและลดระดับปัญหาให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน 3 ปี และลดระดับของปัญหาจนไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศภายในปี พ.ศ. 2580 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดูเหมือนจะเป็นไปเพียงฝันลมๆ แล้งๆ

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าวฯ รายงานว่า สถานการณ์ปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดของไทยในปีนี้ ยังไม่ลดระดับความรุนแรงลง ช่วงนี้กลุ่มขบวนการลำเลียงมีการเปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนย้ายยาเสพติดจากแหล่งผลิตในพื้นที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา นำเข้าสปป.ลาวก่อนลักลอบนำเข้าไทยส่งผลให้พื้นที่ชายแดนที่ติดกับสปป.ลาว ตั้งแต่พื้นที่ อำเภอเวียงแก่น อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ต่อเนื่องไปตลอดถึงชายแดนภาตะวันออกเฉียงเหนือ (เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม) มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดเพิ่มขึ้น

 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบนำเข้าสูงสุด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการจับกุมคดียาเสพติดรายสำคัญ 345 คดี ของกลางยาบ้า 176 ล้านเม็ด เฮโรอีน 1,328 กก. ไอซ์ 11,984 กก. คีตามีน 880 กก. เอ็กซ์ตาซี 28,720 กก. กัญชา 33,885 กก. และโคเคน 16 กก. โดยจังหวัดที่นำเข้าสูงสุด คือ นครพนม หนองคาย บึงกาฬ ตามลำดับ 


ส่วนชายแดนภาคเหนือพื้นที่นำเข้าหลัก การจับกุมน้อยกว่าทางภาคอีสานแต่ของกลางที่ตรวจยึดได้ยังมีปริมาณสูงอยู่ โดยมีการจับกุมคดียาเสพติดสำคัญ 161 คดี ของกลางยาบ้า 156 ล้านเม็ด นอกนั้นเป็นเฮโรอีน ไอซ์ ฯลฯ ซึ่งการลักลอบนำเข้าครั้งปริมาณมากอย่างต่อเนื่องทำให้มียาเสพติดจำนวนมากหลุดรอดเข้ามายังพื้นที่ตอนในของประเทศได้ โดยการลำเลียงที่นิยมใช้มี 3 ลักษณะ คือ อำพรางมากับรถบรรทุกพืชผลทางการเกษตร ใช้รถยนต์กระบะดัดแปลงเป็นตู้ทึบสำหรับขนสินค้า ลำเลียงโดยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นขบวนลำเลียง มีรถนำขบวน

สถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดมีแนวโน้มที่แพร่ระบาดมากขึ้น ตามการขับเคลื่อนของอุปทาน (Supply) ของการผลิตยาเสพติดนอกประเทศ จากปริมาณยาเสพติดที่มีการลักลอบนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยาเสพติดกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และด้วยกลยุทธ์การค้าของกลุ่มนักค้ายาเสพติดที่ทำให้ยาเสพติดมีราคาที่ถูกลง ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการใช้ยาเสพติดในประเทศ ผู้เสพรายใหม่จะเข้าสู่วงจรยาเสพติดมากขึ้น จากข้อมูลผู้เข้าบำบัดรักษาที่เข้าสู่ระบบจะพบสัดส่วนผู้เสพรายใหม่ถึง ร้อยละ 70.34 ไม่นับรวมผู้เสพจำนวนมากที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา หลบซ่อนไม่แสดงตัว จนเกิดภาวะการเสพติดซ้ำ ซึ่งจะส่งผลต่ออาการทางจิตเวชจากยาเสพติด

ข้อมูลจากระบบการบำบัดรักษายาเสพติด (บสต.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด 155,500 ราย เทียบปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด 212,646 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 98 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 25-29 ปี ยาเสพติดที่แพร่ระบาดมากที่สุด คือยาบ้า ร้อยละ 79.2

 ส่วนปัญหาเรื่องการครอบครองอาวุธปืนของไทย ก็น่าห่วงไม่ใช่น้อยเพราะนำโด่งเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว โดยข้อมูลจากองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืนขนาดเล็ก (Small Arms Survey) หรือ SAS ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า หากดูสถิติประเทศที่พลเรือนครอบครองปืนสูงสุด อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ประมาณ 393.3 ล้านกระบอก อันดับ 2 อินเดีย ประมาณ 71.1 ล้านกระบอก อันดับ 3 จีน ประมาณ 49.7 ล้านกระบอก 

 ขณะที่ประชาชนไทยครอบครองอาวุธปืนขนาดเล็กในปี 2017 เป็นอันดับ 13 ของโลก หากนับประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน ประชากรของไทย 68 ล้านคน มีอาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของพลเรือนมีถึง 10,342,000 กระบอก นับเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคิดเป็นอาวุธปืนขนาดเล็ก 15 กระบอก ต่อประชากร 100 ขณะที่ปืนราว 6.2 ล้านกระบอก มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปืนไม่มีทะเบียนราว 6 ล้านกระบอก อัตราการครอบครองอาวุธปืนของไทยถือว่าสูงเป็นอันดับต้นของภูมิภาค และทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของตลาดมืดการค้าอาวุธ นอกเหนือจากกัมพูชาและเวียดนาม  

ฐานข้อมูลของสถาบันตรวจวัดและประเมินสุขภาพ ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เกิดเหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์ World Population Review ที่เผยแพร่ ผลสำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลกประจำปี 2022 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 มีผู้เสียชีวิต 2,804 คน โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน

 สถานการณ์ยาเสพติดและการครอบครองอาวุธของไทยแลนด์ข้างต้น กับความจริงจังในการปราบปรามอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ พี่น้องประชาชนคนไทยคงได้แต่ต้องท่องคาถาตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนหลีกให้พ้นเป็นดีที่สุด 


กำลังโหลดความคิดเห็น