xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าแนวรบเตะสกัด “กัญชา” ภาคธุรกิจเคว้งรอความชัดเจน เผชิญปัญหา “แก๊งใต้ดิน” ตีตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  กลับมาฝุ่นตลบอีกครั้งหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงมติถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ออกจากวาระการประชุมสภาฯ  ล่าสุดเครือข่ายหมอออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการเล่นเกมการเมืองของส.ส.ที่พลิกกลับลำ ขณะที่กลุ่มธุรกิจสายเขียวยังเดินหน้าลุยต่อ แต่ที่ออกอาการลูกผีลูกคนคือวิสาหกิจชุมชนที่กำลังเคว้งคว้าง 

การถอนร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ จากการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 เพื่อไปปรับปรุงก่อนนำเข้าสภาฯ อีกครั้งในการเปิดประชุมสมัยหน้า ก่อให้เกิดกระแสความวิตกกังวลในสังคมว่าจะเกิดช่วงสุญญากาศไม่มากก็น้อย รัฐบาลจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นว่ามีประกาศกระทรวงสาธารณสุขควบคุมการใช้กัญชาอยู่หลายฉบับขอประชาชนอย่าได้ห่วงกังวล

 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า นับตั้งแต่รัฐบาลดำเนินนโยบายส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ โดยปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ยกเว้นแต่เพียงสารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% ที่ยังถือเป็นยาเสพติด มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศหลายฉบับเพื่อควบคุมการใช้กัญชาให้เป็นไปตามนโยบายที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาแล้ว ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือ ควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 ควบคุมไม่ให้มีการ สูบ เสพในที่สาธารณะทุกประเภท หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 มุ่งกำกับให้ใช้กัญชาในฐานะพืชสมุนไพรควบคุมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน มีการห้ามจำหน่ายกัญชาให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร หากฝ่าฝืนก็ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

ด้านการควบคุมการนำกัญชาไปประกอบอาหาร มีประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องควบคุม กำกับ และจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและการต้องตระหนักถึงความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ ทางด้านผู้ประกอบการที่จะนำกัญชา กัญชงไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เวชภัณฑ์ หรือเครื่องสำอาง ก็ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ

อีกทั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ที่มี  นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ยังสามารถพิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ มาดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพิ่มเติมได้

ทางด้าน นายอนุทิน ย้ำอีกครั้งว่า ขอให้เชื่อมั่นว่าประกาศ สธ. รัดกุมเพียงพอที่จะคุ้มครองเด็กและเยาวชน และห้ามใช้นันทนาการ ไม่ต้องกังวล ส่วนข้อเสนอจะให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเป็นการแก้ปัญหาแบบสิ้นคิด มาถึงจุดนี้แล้ว เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ก็เป็นเรื่องของสภาฯ เมื่อให้กลับมาทบทวนใหม่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ก็จะกลับไปพิจารณาอีกที

ไม่เพียงแต่เกมในสภาฯ เท่านั้นที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งผลักดันนโยบาย “กัญชาเสรี” ต้องฟันฝ่า ยังมีกระแสการคัดค้านของบรรดาหมอๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องก็ยังไม่ลดละ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มบุคลากรทางแพทย์ 1,368 รายชื่อ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปิดสุญญากาศทางกัญชา หลังร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ถูกถอนออกจากวาระการประชุมสภาฯ

เนื้อหาในแถลงการณ์สรุปความได้ว่า หลังจากกัญชาไม่ได้กำหนดถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ยังคงไม่มีนโยบายควบคุมการใช้กัญชารวมถึงแนวทางบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมอย่างครอบคลุมและปลอดภัย ส่งผลให้มีการใช้กัญชาในเชิงนันทนาการอย่างแพร่หลาย จึงนับภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน แพทย์ทั่วประเทศทั้ง 1,365 รายชื่อจึงขอสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทยโดยแพทยสภา แพทยสมาคม ราชวิทยาลัย และวิทยาลัยแพทย์ ที่ออกประกาศเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ซึ่งเน้นให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกวิธีที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ขอคัดค้านการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และขอให้ทุกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาได้มีกลไกที่จะยับยั้งการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการด้วยเสมอ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากระแสการคัดค้านกัญชาจะออกมาในรูปแบบใด แต่การเดินหน้ากัญชาในเชิงพาณิชย์ ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับจากการปลดล็อกพืชกัญชาจากบัญชียาเสพติด โดยกลุ่มธุรกิจที่สร้างกระแสฮือฮาล่าสุดคือ  กลุ่มบริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป หรือ GTG ที่ตั้งเป้าเป็น “ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย” จากธุรกิจกัญชา

 นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (Golden Triangle Group Co., Ltd.) หรือ GTG เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจกัญชาทั่วโลกเติบโตสูงมาก ข้อมูลจาก fortunebusinessinsights คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2564 – 2571 ธุรกิจกัญชาจะมีอัตราการเติบโต 30% ต่อปี หรือมีมูลค่าถึง 197,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2571 จากปี 2564 มีมูลค่า 28,266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าภายใน 2567 หลายประเทศเตรียมปลดล็อกกัญชาให้เป็นธุรกิจถูกกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศไทย ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ธุรกิจกัญชาในประเทศไทยจะขยายตัว 15% จนถึงปี 2568 หลังจากมีการปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 43,000 ล้านบาท

"ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าธุรกิจกัญชาในประเทศไทยมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ถือเป็นธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล โดย GTG เน้นการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง และพร้อมจะจำหน่ายในตลาดที่ถูกกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ" นายกฤษณ์ กล่าว

สำหรับ GTG ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสายพันธุ์กัญชามากว่า 12 สายพันธุ์ เพื่อการเพาะปลูกให้ได้มาตรฐานกัญชาทางการแพทย์ ซึ่ง GTG ถือเป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ได้รับมาตรฐานกัญชาทางการแพทย์ของประเทศเยอรมัน CUMCS จาก Control Union มาตรฐานนี้ครอบคลุมถึงการปลูก การตาก การบ่ม การเก็บ ซึ่งเป็นมาตรฐานในการนำเข้ากัญชาทางการแพทย์ ตามมาตรฐาน GACP (Good Agricultural and Collection Practices) จากสหภาพยุโรป และ GTG มีแผนการพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งมีศักยภาพความพร้อมที่ส่งออกกัญชาทางการแพทย์สู่สหภาพยุโรปได้ภายในปี 2023

ทั้งนี้ GTG พร้อมเปิดรับพันธมิตรเพื่อดำเนินธุรกิจกัญชาแบบ One Stop Service มุ่งเน้นการขายต้นอ่อนและให้คำปรึกษาด้านการเพาะปลูก การทำฟาร์มให้ได้ผลผลิตสูง สำหรับนักธุรกิจและผู้ที่มีความสนใจ โดยมีโมเดลธุรกิจ 2 รูปแบบ ได้แก่ Contract Farming ให้บริการควบคุมดูแลกระบวนการผลิตดอกกัญชาตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวช่อดอกและการตัดแต่งซ่อดอกในโรงปลูกกัญชาระบบปิดตามมาตรฐาน GACP ควบคุมดูแลการปลูกโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีประสบการณ์การปลูกกัญชาในระดับสากล

อีกรูปแบบหนึ่งคือ GTG Network Farming เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของฟาร์มกัญชาระบบปิด แบบ One Stop Service ตั้งแต่การก่อสร้าง กระบวนการปลูก กระบวนการผลิต ตลอดจน Supply chain ที่สามารถควบคุมสภาวะการปลูกได้ด้วยระบบฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการส่งออก ให้ผลผลิตคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอ การันตีการซื้อกลับ สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาน้อยกว่า 3 ปี หากดำเนินงานตามข้อกำหนดของบริษัท คาดว่าปีนี้จะทำสัญญากับกลุ่ม Network Farming ประมาณ 5 ราย ส่วน Contract Farming จะทยอยหาพันธมิตรเข้ามาร่วมธุรกิจในระยะถัดไป

นอกจากนี้ GTG ยังเปิดฟาร์มกัญชาต้นแบบ ขนาดพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร บริเวณถนนอาจณรงค์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำธุรกิจกัญชาแบบครบวงจร โดยใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท

"GTG ต้องการเป็นบริษัทยูนิคอร์นรายแรกในเอเชียที่ทำธุรกิจกัญชาและไบโอเทค วันนี้เราถือว่าประสบความสำเร็จกว่าครึ่งทางแล้ว จากการได้รับมาตรฐานส่งออกจากประเทศเยอรมนีมารองรับ และคาดว่าจะพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2566 " นายกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

เช่นเดียวกันกับ  บริษัทหลักทรัพย์ กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ที่ประกาศบุกธุรกิจกัญชง-กัญชาครบวงจร ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยังคงเดินหน้าต่อแม้ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ จะลากยาวออกไปก็ไม่ส่งผลกระทบ

 ดร.พงษ์สกร ดำเนิน  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานธุรกิจพลังงานและกัญชง-กัญชา บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจกัญชง-กัญชาครบถ้วนตั้งแต่ใบอนุญาตนำเข้าเมล็ด, การปลูก, โรงสกัดสาร, และส่งออกสารสกัดจากพืชกัญชงครบถ้วน รวมถึงยังมีสัญญาทางธุรกิจกับพันธมิตรอีกหลายองค์กร ดังนั้น บริษัทจึงยังคงศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจ เน้นการทำตลาดในต่างประเทศเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของยา-เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ควบคู่กับดำเนินการขอมาตรฐานการส่งออกช่อดอกแห้งไปในประเทศยุโรปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของบริษัท

สำหรับพืชกัญชงนั้นบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องทั้งการปลูก–สกัด–ส่งมอบผลผลิตให้กับคู่ค้าและพันธมิตรทางการค้า–และพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนพืชกัญชา บริษัทมุ่งเน้นการทำตลาดต่างประเทศ โดยศึกษาร่วมกับองค์กรผู้พัฒนายารักษาโรคร้ายแรง อาทิ ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นสารสำคัญในการผลิตยารักษาโรค รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ

 นอกจาก GUNKUL ที่วางแผนรุกธุรกิจกัญชาครบวงจรแล้ว กลุ่มธุรกิจกัญชาต้นน้ำยังมีบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ZIGA, บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ที่สามารถเดินหน้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าร่างกฎหมายกัญชา กัญชง จะเร็วหรือช้าก็ไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากได้รับใบอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนส่วนกลางน้ำที่เตรียมลงทุนสร้างโรงงานสารสกัด CBD ในกัญชง และสาร THC ในกัญชา อาจต้องดีเลย์แผนการลงทุนลงทุนออกไปเมื่อการทำคลอดกฎหมายกัญชา กัญชง ยังไม่มีความชัดเจน ยิ่งบริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตคงต้องรออีกยาว โดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกาศแผนลงทุนในส่วนนี้มาก่อนหน้า เช่น บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD, บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ JP เป็นต้น

สำหรับกลุ่มเน้นลงทุนปลายน้ำที่วางเป้าหมายนำสารสกัดไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง คงต้องรอความชัดเจนเช่นเดียวกับกลุ่มกลางน้ำ โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สร้างข่าวฮือฮาจากเตรียมเข้ามาลงทุน เช่น บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือNRF, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS, บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN, บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY,

บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP, บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือSAPPE, บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO, บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC, บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO, บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดี การเฮโลขี่กระแสกัญชงกัญชายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า เดือน ส.ค. 2565 มีบริษัทจดทะเบียนเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา กัญชง มากกว่า 70 บริษัท เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 2565 ที่มีประมาณ 50 บริษัท และเดือน มิ.ย. ประมาณ 20 บริษัท

ขณะเดียวกัน แอป “ปลูกกัญ” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 20 ก.ย. 2565 มีการลงทะเบียนจำนวน 1,088,323 คน ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 1,054,044 ใบ ออกใบรับจดแจ้งกัญชง 34,279 ใบ

นอกจากนั้น กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. ระบุข้อมูลจำนวนใบอนุญาต ณ วันที่ 19 ก.ย.2565 (ข้อมูลก่อนวันที่ 9 มิ.ย. 2565) พบว่า ทั้งหมด 2,943 รายการ จำนวนสถานที่ทั้งหมด 3,408 แห่ง แบ่งเป็น 1.ใบอนุญาตครอบครอง 122 รายการ 122 แห่ง 2.ใบอนุญาตนำเข้า 12 รายการ 12 แห่ง 3.ใบอนุญาตผลิต (ปลูก) 881 รายการ จำนวนสถานที่ 1,345 แห่ง 4.ใบอนุญาตจำหน่าย 1,875 รายการ 1,876 แห่ง 5.ใบอนุญาตส่งออก 1 รายการ 1 แห่ง 6.ใบอนุญาตผลิต (ปรุง) ทั้งหมด 7 รายการ 7 แห่ง และ 7.ใบอนุญาตผลิต (แปรรูป/สกัด) ทั้งหมด 41 รายการ 41 แห่ง

สำหรับภาพรวมของการปลูกกัญชา พบว่า ทั่วประเทศมีการขออนุญาตปลูก 1,345 แห่ง รวมพื้นที่ขอปลูก 946,443 ตารางเมตร จำนวน 955,438 ต้น โดย 10 จังหวัดที่ปลูกมากสุด คือ เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สกลนคร ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ ชลบุรี อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด

ทว่า การเปิดกว้างกัญชาเชิงพาณิชย์ ที่แห่ปลูกและจัดหาได้ง่ายขึ้น ทำให้ราคาในตลาดลดต่ำลง โดยมีรายงานข่าวว่า จากเดิมที่หาซื้อยากและมีราคาสูง เช่น ใบแห้ง ที่เคยขายกิโลกรัมละ 15,000-16,000 บาท ขณะนี้ราคาร่วงมาเหลือเพียงประมาณ 3,000 บาท เพราะทุกคนที่ลงทะเบียนขออนุญาตต่างปลูกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

นอกจากนั้น ยังมีกระแสความหวั่นเกรงว่าเมื่อปลูกกันมากแล้วจะไม่มีตลาดรองรับ ตามที่  น.ส.ธนัชชา ชลายนนาวิน  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด ผู้สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดใหญ่ เพ ลา เพลิน โมเดลนำร่องปลูกกัญชา-กัญชง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าเกษตรกรรายย่อยที่เริ่มลงทุนปลูกกัญชาเพราะคาดหวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่น่าจะมีตลาดรองรับ เริ่มมองไม่เห็นความชัดเจนหลังจากร่างกฎหมายกัญชาฯ ล่าช้าออกไป บวกกับเป็นการปลูกโดยไม่มีความรู้ว่าตลาดอยู่ไหน ใครเป็นผู้ซื้อหรือต้องมีคุณภาพอย่างไรจะทำให้เกิดปัญหาตามมา

เวลานี้ เพ ลา เพลิน ที่เดิมเน้นปลูกกัญชาเพื่อใช้งานด้านการแพทย์ตามออเดอร์ โดยส่งขายให้องค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเริ่มเปลี่ยนมาเน้นการปลูกกัญชงเกือบ 100% เพราะกัญชามีสาร THC หรือสารมึนเมาอยู่ค่อนข้างสูง ส่วนกัญชงมีสาร THC ต่ำ แต่มีสาร CBD สูง ซึ่งใช้ในทางการแพทย์ เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมมากกว่าและสามารถนำไปแปรรูปค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ยา อาหารเสริม ไฟเบอร์ เป็นต้น

สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งติด 1 ใน 10 จังหวัดที่ปลูกกัญชามากที่สุดในประเทศไทย และเป็นฐานที่มั่นของพรรคภูมิใจไทย ที่ผลักดันนโยบายกัญชา ยังเตรียมจัดงาน  “พันธุ์บุรีรัมย์”   มหกรรมกัญชา-กัญชง เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. 2565 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ คาดว่างานนี้จะมีบริษัท ร้านค้า วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมออกร้านมากกว่า 300 บูท และผู้สนใจเข้าชมงานมากกว่า 200,000 คน จากงานครั้งแรกเมื่อเดือนเม.ย. 2562 มีผู้ร่วมงาน 150,000 คน

ขณะที่ จังหวัดนครพนม ที่พรรคภูมิใจไทย นำร่องปั้นเป็น  “มหานครแห่งกัญชา” อีกแห่งนั้น ก่อนหน้านี้ชาวนครพนมต่างรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมเข้าร่วมโครงการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข จำนวนไม่น้อย แต่ผ่านการขออนุญาตอย่างถูกต้องเพียงไม่กี่แห่ง มิหนำซ้ำร่างกฎหมายกัญชาฯ ที่ลากยาวออกไปยิ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจน ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ

 น.ส.พรปวีร์ จิตมาตย์  อายุ 44 ปี ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรทางการแพทย์แบบผสมผสาน หมู่ 13 บ้านนาบัง ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า ได้รวมกลุ่มเกษตรกรประมาณ 10 คน ระดมทุนกว่า 2.5 แสนบาท ตั้งวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาทางการแพทย์มาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 โดยร่วมมือกับ รพ.สต. และยื่นขออนุญาตปลูกกัญชามากว่า 1 ปี พร้อมกับลงทุนสร้างโรงเรือนตามมาตรฐาน แต่สุดท้ายไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือการเสนอขออนุญาตตามระเบียบกฎหมาย ปล่อยให้เกษตรกรดำเนินการเองทุกขั้นตอน ตอนนี้อยู่ในสภาพคล้ายถูกลอยแพ ต้องแบกภาระค่าลงทุนและซ่อมแซมโรงเรือน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขและช่วยเหลือเยียวยา

ไม่เพียงวิสาหกิจชุมชนตกอยู่ในสภาพดังกล่าวเท่านั้น แต่เวลานี้ยังมีปัญหา “กัญชาใต้ดิน” ยังเข้ามาตีตลาดขายในราคาถูก รวมทั้งกัญชาที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศในราคาถูกอีกด้วย ตามที่ นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้บริหารฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา และผู้ร่วมก่อตั้งร้าน RG420 cannabis store ข้าวสาร ให้สัมภาษณ์สื่อว่า การลักลอบนำเข้ากัญชาราคาถูกจากต่างประเทศที่มีการเปิดเสรีมาก่อน ทำให้เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหาไม่สามารถขายผลผลิตได้เพราะผู้ซื้อมีทางเลือกอื่นที่ราคาถูกกว่า

นอกจากนั้น เขายังคาดว่าปลายปีนี้ผลผลิตกัญชาจะออกมาจำนวนมากสิ่งที่ภาครัฐต้องตระหนักคือเกษตรกรจะนำผลผลิตไปขายที่ไหน จะหารายได้อย่างไร ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องออกมาช่วยกันปั้นอุตสาหกรรมปลายน้ำมารองรับ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหากัญชาล้นตลาด ส่งผลต่อราคาขาย ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาเป็นคนกลางในการกำหนดราคา และตรวจสอบเส้นทางการผลิตและการจัดจำหน่ายเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้เสพและเกษตรกรผู้ปลูกกัญชาที่ได้รับการอนุญาตจากทางการ

 ถึงเวลานี้ การผลักดันให้กัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างรายได้ให้เกษตรกร ต้องฟันฝ่าปัญหาอีกสารพัดสารพัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น