xs
xsm
sm
md
lg

อย่าดูเบาปูติน!! ด้วยการเรียกระดมพลคราวนี้ ผู้นำรัสเซียถือว่านี่ไม่ใช่ ‘สงครามจำกัดวง’ อีกต่อไป แต่คือสงครามเบ็ดเสร็จที่ต้องรบเพื่อความอยู่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ทหารรัสเซียเล็งปืนไปยังเป้าหมาย ในพื้นที่แห่งหนึ่งของภูมิภาคดอนบาส ทางยูเครนตะวันออก
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ukraine – the situation (September 22) )
By UWE PARPART
22/09/2022

พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายตะวันตกซึ่งทึกทักยึดถือเอาว่ารัสเซียนั้นจบสิ้นแล้ว จะต้องพิจารณาทบทวนให้ดีว่า ความเป็นจริงต่างๆ ของ “การระดมพลบางส่วน” ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน นั้น หมายความว่าอะไรกันแน่

สรุปสาระสำคัญและภาพรวม

**ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพิ่งออกคำสั่งเรื่อง “การระดมพลเป็นบางส่วน” ด้วยการเรียกระดมให้ทหารกองหนุนจำนวนไม่เกิน 300,000 คนกลับเข้ามาเป็นทหารประจำการ โดยคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน เขาแจกแจงอย่างกระจ่างชัดว่า เขาไม่ได้มองว่าการเข้าแทรกแซงในยูเครนของรัสเซียคราวนี้ เป็น “การปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” แบบจำกัดอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นการสู้รบเพื่อต่อต้าน “กลไกทางทหารทั้งหมดทั้งสิ้นของฝ่ายตะวันตกที่นำมารวมเข้าด้วยกัน”

**“ในกรณีที่มีภัยคุกคามต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศของเรา และเพื่อพิทักษ์ป้องกันรัสเซียและประชาชนของเรา เป็นเรื่องแน่นอนที่เราจะใช้ประโยชน์ของระบบอาวุธต่างๆ ทั้งหมดที่เราสามารถใช้ได้ นี่ไม่ใช่การขู่ขวัญบลัฟฟ์กัน” ปูติน กล่าวเช่นนี้ในคำปราศรัยที่แพร่ภาพทางทีวีรัสเซีย

**แคว้น (oblast หรือในภาษาอังกฤษมักใช้ว่า region) 4 แคว้นในยูเครน ที่รัสเซียยึดครองดินแดนเอาไว้ได้แล้วบางส่วน ได้แก่ ลูฮันสก์ (Luhansk) โดเนตสก์ (Donetsk) ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) และเคียร์ซอน (Kherson) จะจัดการลงประชามติในประเด็นที่ว่าจะรวมเข้ากับรัสเซียหรือไม่ โดยเริ่มกันตั้งแต่วันศุกร์ (23 ก.ย.)

**ปฏิกิริยาโดยรวมร่วมกันของฝ่ายตะวันตกต่อการปราศรัยของ ปูติน คราวนี้คือ การหัวเราะเยาะเย้ยหยัน ทั้งนี้ ที่โดดเด่นกว่าเพื่อน มีอาทิ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร เบน วอลเลซ (Ben Wallace) วิจารณ์ว่าเป็น “สัญญาณของความล้มเหลว” นายกรัฐมนตรีดัตช์ มาร์ค รูตเตอ (Mark Rutte) บอกว่าเป็น “อาการตื่นตระหนก” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน กล่าวว่าเป็น “สัญญาณของความอ่อนแอ สัญญาณของความล้มเหลวของรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ ระบุว่าเป็น “พฤติการณ์ของความสิ้นหวัง”

**เลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) กล่าวว่า รัสเซียจะไม่สามารถเป็นผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ และจะเผชิญกับผลพวงต่อเนื่องอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ถ้ารัสเซียขืนใช้อาวุธนิวเคลียร์

**หลังจากชัยชนะที่ได้มาอย่างรวดเร็วและเป็นเนื้อเป็นหนังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การรุกของฝ่ายยูเครนในยุทธบริเวณภาคตะวันออก/ภาคกลาง ตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา มีความคืบหน้าไปเพียงเล็กน้อย และสูญเสียแรงโมเมนตัมแล้ว สำหรับการรุกในภาคใต้ที่เคยประกาศกันอย่างอึกทึกครึกโครม (เพื่อใช้เป็นกลลวง?) เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมนั้น ยังคงไม่ได้เริ่มต้นอะไรกันขึ้นมา



ภาคตะวันออก/ภาคกลาง

กองกำลังฝ่ายยูเครนยังคงบีบกระชับที่มั่นต่างๆ ของฝ่ายรัสเซียที่บริเวณรอบๆ เมืองลีมาน (Lyman) และจุดต่างๆ ทางด้านตะวันออก การโจมตีใส่เมืองลีมาน ได้วิวัฒนาการกลายเป็นการดวลกันด้วยอาวุธหนักยิงได้ไกล (artillery) ทั้งนี้ ตามความเห็นของเจ้าหน้าที่เพนตากอนรายหนึ่งที่ไม่มีการระบุชื่อ
(artillery หมายรวมถึงพวกอาวุธหนักยิ่งได้ไกลที่ใช้ทางการทหาร โดยครอบคลุมทั้งปืนครก ปืนใหญ่ และจรวดหลายลำกล้อง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Artillery -ผู้แปล)

ฝ่ายรัสเซียได้จัดตั้งแนวป้องกันในทิศทางเหนือ-ใต้ขึ้นมาแล้ว 2 แนว โดยแนวแรกขนานไปตามลำแม่น้ำออสโคล (Oskol River) ส่วนแนวที่สองอยู่ห่างออกไปอีกทางตะวันออกราวๆ 20 กิโลเมตร ตามแนวเส้นพรมแดนระหว่างแคว้นคาร์คิฟ (Kharkiv) กับแคว้นลูฮันสก์

ไกลออกไปทางใต้ การปฏิบัติการรอบๆ เมืองบัคมุต (Bakhmut) ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีรายงานว่าเกิดการสู้รบในเมืองโซเลดาร์ (Soledar) เป็นครั้งแรกในรอบ 1 สัปดาห์ พวกบล็อกเกอร์ของรัสเซียอ้างว่า กองกำลังฝ่ายรัสเซียในที่สุดแล้วก็สามารถเข้าควบคุมย่านชุมชนไซต์ซีวี (Zaitseve) ซึ่งอยู่ติดกับด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองบัคมุต

กองกำลังฝ่ายรัสเซียยังคงเดินหน้าการปฏิบัติการในพื้นที่ที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโดเนตสก์ โดยรุกออกมาจากหมู่บ้านปิสกี้ (Pisky) มุ่งไปยังย่านชุมชนเปอร์โวมาอิสเก (Pervomaiske) และเมืองมาเวลสเก (Nevelske) รวมทั้งยังรุกไปในทิศตะวันตกเฉียงใต้มุ่งสู่เมืองมาร์อินกา (Marinka) เพื่อก่อให้เกิดผลในเชิงบดบี้ระดับเล็กๆ ใส่ฝ่ายยูเครน ทั้งนี้ การรุกของฝ่ายรัสเซียเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนการถล่มด้วยปืนครก ปืนใหญ่ และจรวดอย่างมโหฬาร

ภาคใต้

ในแคว้นเคียร์ซอน ถ้าหากพิจารณากันในขอบเขตที่ว่ามีการเปิดศึกสู้รบกัน มันก็เป็นศึกการสู้รบกันทางด้านวิศวกรรม โดยที่ปืนครก ปืนใหญ่ และจรวดของฝ่ายยูเครน ยิงถล่มโจมตีใส่แนวเส้นทางคมนาคมต่างๆ (Lines of Communication) ของฝ่ายรัสเซียอย่างต่อเนื่อง เวลาเดียวกันนั้น พวกทหารช่างฝ่ายรัสเซียก็เดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการสร้างและซ่อมแซมสะพานลอยน้ำ (pontoon bridge) แห่งต่างๆ และในการใช้เรือเฟอร์รีทำการลำเลียงขนส่งข้ามแม่น้ำตามจุดต่างๆ
(แนวเส้นทางคมนาคมต่างๆ Lines of Communication หรือ LOCs เส้นทางที่เชื่อมหน่วยทหารที่กำลังปฏิบัติการสู้รบกับฐานส่งกำลังบำรุงของตน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Line_of_communication#:~:text=A%20line%20of%20communication%20(or,to%20continue%20to%20operate%20effectively. -ผู้แปล )

แหล่งข่าวฝ่ายรัสเซียหลายรายบอกว่า ในพื้นที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเคียร์ซอน กองกำลังฝ่ายยูเครนกำลังตกเป็นฝ่ายรับบนทางหลวงสาย M14 มุ่งหน้าสู่เมืองมีโคลาอิฟ (Mykolaiv) เช่นเดียวกับตรงบริเวณห่างจากเมืองเคียร์ซอนไปทางตะวันตกราว 30 กิโลเมตร ตามแนวถนนเลียบชายชายฝั่งในพื้นที่ของย่านชุมชนโอเล็กซานดริฟกา (Oleksandrivka)

ณ บริเวณรอบๆ หัวสะพานข้ามแม่น้ำอินฮูเลตส์ (Inhulets River) ของฝ่ายยูเครน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมีโคลาอิฟไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 60 กิโลเมตร กองกำลังฝ่ายรัสเซียได้รุกพิสูจน์หยั่งกำลังเข้าไปทางปีกซ้ายของพื้นที่ส่วนยื่นนูนออกมาของฝ่ายยูเครน ติดๆ กับด้านใต้ของหมู่บ้านดาวีดิฟ บริด (Davydiv Brid) หัวสะพานของฝ่ายยูเครนนี้เมื่อนับจนถึงปัจจุบันก็ปรากฏเป็นรูปร่างลักษณะเช่นเวลานี้มาเป็นเวลาราว 6 เดือนแล้ว

การประเมินผล

สถานการณ์การสู้รบในยูเครนกำลังเกิดการพัฒนา ทำให้มองเห็นผลประเมินสุทธิชั่วคราวโดยรวมเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของกองกำลังที่กำลังเป็นปรปักษ์กันอยู่ รวมทั้งแนวโน้มต่างๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงเดือนแห่งฤดูหนาว

มันเพียงพอแล้วที่จะพูดกันที่ตรงนี้เวลานี้ได้เลยว่า “การวินิจฉัยตัดสิน” อย่างสอดคล้องพร้อมเพรียงกันของพวกผู้นำฝ่ายตะวันตก (ต่อการประกาศระดมพลของปูติน) อยู่ในลักษณะการยึดมั่นร่วมกันที่มุ่งใช้ภาษาอย่างเป็นทางการให้อยู่ในกรอบเดียวกัน มากกว่าที่จะเป็นการประเมินโดยมุ่งพิจารณาความเป็นจริง

เราได้รับฟังคำปราศรัยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียนี้ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และไม่เห็นด้วยเลยไม่เพียงแต่กับถ้อยคำโวหารแบบพูดออกมาตามสคริปต์ที่เตรียมไว้ของพวกผู้นำโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ยังไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานของเรา สตีเฟน ไบรเอน (Stephen Bryen) อีกด้วย –อย่างน้อยที่สุดก็ในจุดหนึ่ง กล่าวคือ ขณะที่ ไบรเอน มองว่าคำปราศรัยของปูตินคราวนี้มีลักษณะไม่อยู่กับบร่องกับรอย แต่เรานั้นเห็นเป็นตรงกันข้าม
(ดูความเห็นของ สตีเฟน ไบรเอน ซึ่ง เอเชียไทมส์ นำมาเผยแพร่ในเวลาเดียวกันนี้ด้วย ได้ที่ https://asiatimes.com/2022/09/shocking-behavior-by-putin-and-biden/)

ปูตินนั้นพูดอย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กันทีเดียว และใช้เหตุผลมากมายเพื่อไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สงครามคราวนี้ไม่ได้เป็น (ถ้าหากว่ามันเคยเป็น) เรื่องระหว่างตัวเขากับประธานาธิบดีโวดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เกี่ยวกับยูเครนและรัสเซียอีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก—ที่มีอเมริกาอยู่ในฐานะนำ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ขณะกล่าวปราศรัยเรื่องความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในภาพนิ่งซึ่งถ่ายจากวิดีโอที่ทำเนียบประธานาธิบดีแดนหมีขาวเผยแพร่ออกมาในวันพุธ (21 ก.ย.)
ปูตินอธิบายอย่างชัดเจนแจ่มแจ๋วว่า เขาทราบดีว่า ฝ่ายตะวันตก--อันดับแรกก่อนใครเพื่อนก็คือสหรัฐฯ— นั้น ไม่ได้ต้องการที่จะหาทางรอมชอมในทางยุทธศาสตร์กับทางรัสเซียหรอก หากแต่มุ่งที่จะทำลายและตัดแบ่งเฉือนรัสเซียซึ่งเขาเป็นผู้นำมาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตนี้ ปูตินจะไม่เพียงแค่สู้รบในสงครามที่จำกัดวงอีกต่อไปแล้ว และสามารถคาดหมายได้ว่า เขาจะระดมทรัพยากรต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นของเขามาใช้ในการสู้รบคราวนี้ ประโยคสุดท้ายในคำปราศรัยของเขามีความชัดเจนมากๆ นั่นคือ ปูตินเวลานี้มองตัวเขาเองว่าอยู่ในระนาบทางประวัติศาสตร์อย่างเดียวกับผู้นำชาวรัสเซียคนอื่นๆ ในอดีต ซึ่งได้ปกป้องรักษามาตุภูมิให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย

“มันเป็นธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมาในประวัติศาสตร์ของเรา และก็เป็นชะตากรรมของชาติของเราที่จะต้องเข้าหยุดยั้งพวกซึ่งกระหายที่จะเป็นผู้ครอบงำเหนือโลกทั้งโลก และข่มขู่คุกคามที่จะตัดเฉือนและนำเอามาตุภูมิของเราไปเป็นทาส ขอให้แน่ใจกันได้เลยว่าในครั้งนี้เราก็จะกระทำอย่างเดียวกัน” เขาบอก

สตีเฟน ไบรเอน พูดเอาไว้ถูกต้องแล้ว นั่นคือ เรากำลังอยู่ในช่วงขณะซึ่งอันตรายเสียยิ่งกว่าตอนเกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) เสียอีก

แต่ไม่ใช่เนื่องจาก ปูติน ไม่อยู่กับร่องกับรอย หากเนื่องจากเขาดูเหมือนจะตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเลือดเย็นที่จะต้องอยู่รอดต่อไปและเป็นฝ่ายชนะให้ได้ และก็เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ตลอดจนพวกที่ปรึกษาของเขานั้น เห็นกันได้ถนัดตาว่าขาดไร้ซึ่งความสามารถในการวางแผนจัดทำหนทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการทูต หรือแม้กระทั่งแค่จะพิจารณานำเอาหนทางนี้มาแก้ปัญหาด้วยซ้ำไป

พวกผู้รู้ด้านการทหารของฝ่ายตะวันตก และบางทีกระทั่งรวมไปถึงเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ “เกรตเดน” สโตลเตนเบิร์ก ผู้ซึ่งทึกทักยึดถือเอาอย่างง่ายๆ ว่าฝ่ายรัสเซียนั้นจบสิ้นแล้ว สมควรที่จะต้องพิจารณาความเป็นจริงเหล่านี้เอาไว้

ใช่ครับ แนวรบด้านคาร์คิฟซึ่งแทบไม่มีกำลังทหารเหลืออยู่ เมื่ออาศัยประโยชน์จากข่าวกรองนาโต้แบบเรียลไทม์ และอาวุธทุกๆ อย่างของฝ่ายตะวันตกในทางเป็นจริง ก็ช่วยให้กองกำลังฝ่ายยูเครนที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี สามารถกวาดชัยชนะด้วยกำลังทหารที่เหนือกว่าระดับ 5 ต่อ 1 ฝ่ายรัสเซียเจอการบุกคราวนี้อย่างเซอร์ไพรส์ และต้องจ่ายค่าตอบแทนในราคาแพงลิ่ว

ในประวัติศาสตร์การทหาร เรื่องแบบนี้มีตัวอย่างอยู่มากมาย ในสงครามโลกครั้งที่สอง ศึกชิงเมืองคาร์คิฟเกิดขึ้นมาถึง 4 รอบ 4 หน การรบเหล่านี้มีกำลังพลเกี่ยวข้องเป็นจำนวนล้านๆ ไม่ใช่แค่ไม่กี่พันคน ฝ่ายเยอรมันชนะไป 3 หน ฝ่ายรัสเซียชนะหนเดียวแต่เป็นหนสุดท้ายซึ่งกลายเป็นตัวตัดสินชี้ขาด

แน่นอนทีเดียวว่า การระดมพลของรัสเซียเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา ถึงแม้เป็นการเรียกพลแค่บางส่วนและเรียกแต่พวกทหารกองหนุนผู้ซึ่งเคยเป็นทหารประจำการกันมาก่อนแล้วก็ตามที แต่การระดมพลเช่นนี้ก็เป็นการสร้างโอกาสภายในระยะเวลาสองถึงสามสัปดาห์ ที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การมีกองกำลังซึ่งผ่านการฝึกมาแล้วและติดอาวุธยุทโธปกรณ์แบบครบเครื่อง ตัวอย่างเช่น การนำเอากำลังพลจากภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย มายังแนวรบด้านดอนบาส พวกเขาสามารถที่จะเคลื่อนย้ายเข้ามาแทนที่ในดอนบาสได้ ขณะที่พวกทหารกองหนุนถูกเรียกกลับเข้าประจำการแทนที่ด้วยความรวดเร็ว

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือว่า สงครามนี้ในตอนนี้จะกลายเป็นสงครามสู้รบกันแบบเบ็ดเสร็จครอบคลุม พวกโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนจะกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วย ขณะที่รัสเซียจะใช้ประโยชน์จากกำลังทางอากาศและกำลังทางนาวีของตนอย่างเต็มที่ การปรับเปลี่ยนกระแสคลื่นแห่งสงครามซึ่งเกิดขึ้นมา ยังไม่น่าที่จะกลายเป็นการกลับตาลปัตรจากสภาวการณ์ที่รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบในทันทีทันใดหรอก

แต่ในเมื่อ นาโต้ยังคงไม่ได้เข้าไปแทรกแซงโดยตรงไม่ว่าจะเป็นทางภาคพื้นดินหรือทางอากาศ ฤดูหนาวที่เย็นยะเยือก ยากลำบาก และอันตราย จึงกำลังทอดเงาดำทะมึนรออยู่ที่ขอบฟ้าแล้ว

อูเว พาร์พาร์ต เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของเอเชียไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น