xs
xsm
sm
md
lg

“เชียงใหม่” สายมู ชวนขอพร 5 จุดสุดฮิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


วัดป่าแดด วัดดังของสายมู
ช่วงนี้เทรนด์การท่องเที่ยว “สายมู” ยังคงมาแรงไม่มีตกกระแส หลายคนเสาะหาเส้นทางไหว้พระ กราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรในเรื่องต่างๆ และที่ “เชียงใหม่” ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่สายมูมุ่งหน้ามา เพราะที่นี่มีวัดดัง และแหล่งขอพรยอดฮิตหลายๆ จุด

ชวนมาขอพรกับ 5 จุดสุดฮิต ที่ “เชียงใหม่” เสริมมงคลให้สายมู

พระประธานในวิหารหลวงลายคำ วัดป่าแดด

พระพิฆเนศภายในหอมหาเทพบูรพาจารย์

เข้าไปลอดท้ององค์พระพิฆเนศทางด้านหลังหอมหาเทพบูรพาจารย์
ขอพรองค์พระพิฆเนศ วัดป่าแดด
“วัดป่าแดด” เป็นจุดที่หลายๆ คนนิยมมาทำพิธีขอพรจากองค์พระพิฆเนศที่วัดป่าแดด และต่างก็สมหวังกันไปหลายราย ปัจจุบัน ท่านพระครูปลัดนันทวัฒน์ (พระอาจารย์พยุงศักดิ์ ธีรธมฺโม) หรือครูบาคัมภีรธรรม เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแดด ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ พระวิปัสสนาจารย์ของเมืองเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง นอกจากท่านจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนมีสานุศิษย์มากมายแล้ว ท่านยังเป็นที่เจริญศรัทธาเลื่องลือในเลขยันต์วัตถุมงคลสายล้านนา เทียน ตะกรุดที่สืบมาจากครูบาอาจารย์ แผ่นยันต์ล้านนาที่ท่านจารด้วยมือทุกแผ่น ตะกรุดมหาหวาน ที่เหล่าศิลปินดาราในวงการบันเทิงต่างเเสวงหาไว้ครอบครอง นอกจากนี้ เหรียญพระพิคเณศวร์ เหรียญครูบาศรีวิชัย พระพุทธสิหิงค์ลอยองค์ ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น 1 รุ่น 1 ตะกรุดสาริกาคู่ และเเมลงภู่คำ ต่อเงิน ต่อทอง ก็เป็นเครื่องรางของมงคลเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ลูกหาที่นิยมชมชอบในสายมูเตลู

นอกจากเครื่องรางของขลังต่างๆ แล้ว คนที่มาเยือนวัดป่าแดดต่างก็ต้องการที่จะมาขอพรกับ "องค์พระพิฆเนศ" เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ผู้ขจัดอุปสรรคปัญหาทั้งหลาย โดยพระพิฆเนศของวัดป่าแดดแห่งนี้ก็เป็นที่เลื่องลือว่ามีพลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

ใครที่เพิ่งเคยมาครั้งแรกแล้วกลัวจะไหว้ไม่ถูกก็ไม่ต้องกังวล เพราะทางวัดได้เตรียมเอกสารขั้นตอนการไหว้ขอพรให้สัมฤทธิ์ผล พร้อมทั้งของไหว้ต่างๆ ไว้พร้อม โดยองค์พระพิฆเนศนามว่า "อุตรศรีคณปติ" แปลว่า ผู้ประทานความสำเร็จในทางทิศเหนือ ซึ่งสร้างจากโลหะสัมฤทธิ์รมดำ มีสี่พระกร ทรงวัชระ บ่วง งา และถ้วยขนม ประดิษฐานอยู่ภายในหอมหาเทพบูรพาจารย์ หรือวิหารพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นอาคารปูนยกพื้นสูงสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในทาสีแดงชาดทั้งหมด

พระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง

ศาลหลักเมืองและองค์ท้าวเวสสุวรรณ วัดเจดีย์หลวง

ท้าวเวสสุวรรณ วัดเจดีย์หลวง
ขอพรท้าวเวสสุวรรณ วัดเจดีย์หลวง
“วัดเจดีย์หลวง” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1928 - 1945 และมีการบูรณะมาหลายสมัย

ภายในวัดมี “พระธาตุเจดีย์หลวง” ที่ว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ หรือล้านนา คือ สูงประมาณ 80 เมตร เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ถือว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่

ส่วนในวิหารหลวงประดิษฐาน “พระอัฎฐารส” เป็นพระประธาน ล่อด้วยทองสำริด ปางห้ามญาติสูง 18 ศอก พระนางติโลกะจุดา ราชมารดาของพญาติโลกราช โปรดฯให้หล่อขึ้น โดยนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสง่างามที่สุดในล้านนา โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์มีลักษณะอ่อนโยน พระพุทธรูปยืนมีขนาดใหญ่ได้สัดส่วน เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับพระพุทธรูปแบบล้านนาหรือพระสิงห์ ซึ่งได้รับอิทธิพลต้นแบบจากศิลปะปาละ (อินเดีย) (ปัจจุบันกำลังมีการบูรณะวิหารหลวง)

ในพื้นที่วัดยังมี “ศาลหลักเมือง” ซึ่งด้านในมีเสาหลักเมือง หรือ เสาอินทขิล ให้ได้เข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล และที่อยู่ติดๆ กันก็คือ “ท้าวเวสสุวรรณ” ที่มีข้อมูลจารึกไว้ด้านหน้าว่า

พญายักขราช (ศาลใต้) สร้างวันเสาร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ.2343 พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 2 ตน ไว้หน้าวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ยักษ์/กุมภัณฑ์ 2 ตนนี้ คอยพิทักษ์เสาอินทขิลหลักเมืองเชียงใหม่ (ตำนานเมืองเชียงใหม่ ฉบับพระพุทธิมา ผูก 7 หน้า 13)

พระวิหารหลวง วัดโลกโมฬี

พระรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี

เจดีย์ขนาดใหญ่ภายในวัดโลกโมฬี
ขอพรความรักจากพระนางจิรประภามหาเทวี วัดโลกโมฬี
“วัดโลกโมฬี” ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใด แต่ได้ปรากฏชื่อวัดโลกโมฬีอยู่ในตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ในยุคล้านนา สมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช ทรงโปรดอาราธนาให้คณะของพระอุทุมพรบุปผมหาสวามีเจ้า เมืองเมาะตะมะ จำนวน 10 รูป มาสืบทอดพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนา ซึ่งคณะสงฆ์เหล่านั้นได้จำพรรษาที่วัดโลกโมฬี อันเป็นสถานที่ใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างเมือง

กระทั่งต่อมาในปีพ.ศ. 2070 พญาแก้ว ได้โปรดให้สร้างพระมหาเจดีย์และพระวิหารหลวง ในปีพ.ศ. 2088 ได้มีการบรรจุพระอัฐิของพระเมืองเกษเกล้า ทางด้านกำแพงทิศเหนือของพระอาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำพระองค์ จากนั้นเสนาอำมาตย์จึงได้ทูลเชิญพระนางจิรประภามหาเทวี ขึ้นครองราชในปี พ.ศ. 2088 – 2089 อันเป็นช่วงเวลาที่เหล่าขุนนางเรืองอำนาจทำให้เมืองเชียงใหม่อ่อนแอ เป็นเหตุให้สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตรย์อยุธยายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระนางจิรประภามหาเทวี ซึ่งมีความรักและความเป็นห่วงไพร่ฟ้าประชาชนของพระองค์ จึงทรงรักษาเอกราชของบ้านเมืองไว้ได้ โดยไม่เกิดความสูญเสียใดๆ แม้แต่น้อย พร้อมกับทูลเชิญพระไชยราชาธิราชเสด็จมาทำบุญที่วัดโลกโมฬี และยังพระราชทานทรัพย์สร้างกู่พระเมืองเกษเกล้าให้สมพระราชเกียรติ ด้วยเหตุนี้พระนางจิรประภามหาเทวี จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งความรัก” ตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา ซึ่งภายในวัดก็ยังมีพระรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี ประดิษฐานอยู่

สิ่งที่สำคัญภายในวัดคือ พระเจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายย่อเก็จ องค์เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ที่องค์ เรือนธาตุประดับด้วยรูปเทวดารูปปั้นกึ่งลอยตัวที่ย่อมุม ด้านละ 2 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลารองรับองค์ระฆังสิบสองเหลี่ยม พระเจดีย์และลวดลายปูนปั้นที่วัดโลกโมฬีนี้ จัดได้ว่าเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาชิ้นเอก ชิ้นหนึ่งในเมืองเชียงใหม่

ด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูศิลปะล้านนา มีลวดลายปูนปั้นที่งดงาม หากมองเข้ามาด้านในจะเห็น “วิหารหลวง” เป็นวิหารไม้สักศิลปะแบบล้านนา ลักษณะงดงาม ประณีต มีลายแกะสลักอย่างสวยงาม ที่แปลกตาและเด่นมากก็คือตรงหน้าบันรูปจั่วได้ประดับกระจกสี ซึ่งทำให้เกิดสีสันหลากสีบนหลังคาวิหารที่มีพื้นโทนสีดำ ซึ่งพื้นดำนี้มีส่วนช่วยขับกระจกสีแดง ขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง จนดูระยิบระยับ พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร มีเพดานและต้นเสาแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม พระพุทธรูปมีนามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี

วัดพระธาตุดอยคำ

หลวงพ่อพูดได้ วัดพระธาตุดอยคำ

หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ
กราบหลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ
“วัดพระธาตุดอยคำ” สร้างในปี พ.ศ.1230 รัชสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 1230 ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"

ขึ้นมาถึงด้านบนวัดแล้วจะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ชื่อว่า “หลวงพ่อพูดได้” จากนั้นเดินเข้าไปด้านในวัด ไปสักการะพระธาตุดอยคำ และพระพุทธรูปสำคัญองค์ต่างๆ โดยเฉพาะ “หลวงพ่อทันใจ” ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพญากือนา กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันมีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ มีผู้นิยมเดินทางมาขอพรและบนบานสานกล่าว เมื่อได้ผลสำเร็จสมดังที่ตั้งใจ ก็มักจะถวายดอกมะลิเพื่อแก้บน ซึ่งหากใครต้องการซื้อพวงมาลัยดอกมะลิเพื่อแก้บน จะมีขายอยู่หลายร้านบริเวณริมถนนปากทางเข้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์

ไหว้พระทำบุญกันแล้ว อย่าลืมเดินออกมาบริเวณจุดชมวิวด้านนอก ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งบริเวณสนามบินเชียงใหม่ และอุทยานหลวงราชพฤกษ์

พระธาตุดอยสุเทพ

พระธาตุดอยสุเทพ
สักการะพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุประจำเมืองเชียงใหม่
“พระธาตุดอยสุเทพ” สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 โดยพระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระ นำมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ขุดพบจากนิมิตฝันของพระมหาสุมนเอง เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่เชียงใหม่แล้ว พระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน พระเจ้ากือนาทรงเลื่อมใส ได้อัญเชิญบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก

ส่วนองค์ที่สอง ได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างเพื่อเสี่ยงทายว่า ช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นั่น แล้วปล่อยช้างไป ช้างได้มุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันตก ขึ้นไปยังดอยสุเทวะฤาษี (ดอยสุเทพ) แล้วมาหยุดอยู่ที่ยอดดอย พระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่นั้น มีขนาดสูง 5 วา

ในสมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ของเชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ โดยขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สูง 11 วา กว้าง 6 วา และให้ช่างนำทองคำมาทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และราชโอรสของพระเมืองเกษเกล้าได้ทรงตีทองคำแผ่นติดไว้ที่องค์พระธาตุ ต่อมา พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น

ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพนั้น มาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ชักชวนชาวบ้านที่ศรัทธาให้ร่วมมือกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ รวมระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างราว 6 เดือน

ปัจจุบัน วัดพระธาตุดอยสุเทพถือว่าเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติหากว่ามาเที่ยวที่เชียงใหม่แล้วก็มักจะหาโอกาสมาเยี่ยมชมสักครั้งหนึ่ง

The Inside House

ห้องพักแบบ เดอะ พูล สวีท

อาหารเช้าที่ ห้องอาหาร GHIN

อาฟเตอร์นูนทีภายในห้องพัก
พักผ่อนใจกลางเมืองที่ “The Inside House”
สายมูคนไหนมาทำบุญกันแล้วอยากหาที่พักในตัวเมืองเชียงใหม่ ก็สามารถมาพักผ่อนกันได้ที่ “The Inside House” ที่พักซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ (บนถนนสามล้าน ไม่ไกลจากวัดพระสิงห์) เป็นอาคารสีขาวสไตล์ล้านนาโคโลเนียลในช่วงทศวรรษ 1920 ด้านในตกแต่งได้อย่างลงตัวด้วยศิลปะล้านนาผสมผสานตะวันตก

ห้องพักของที่นี่จะแบ่งออกเป็น 2 แบบหลัก คือ เดอะ พูล สวีท อยู่บนชั้นหนึ่งและชั้นสี่ ห้องพักมีความเป็นส่วนตัว สะดวกสบายและการออกแบบห้องสวีทแต่ละห้องมีเอกลักษณ์และมีความหรูหรา ล้อมรอบด้วยต้นเฟินและมอสที่สดชื่นและเย็นสบาย ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ มีอ่างจากุชชี่ที่ให้อาบน้ำกลางแจ้ง และสระว่ายน้ำ เดอะ เบด รูม ห้องนอนที่ได้รับการตกแต่งในสไตล์ล้านนาโคโลเนียล มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และมีอ่างอาบน้ำริมระเบียงที่ให้บรรยากาศของความผ่อนคลาย

ในช่วงเช้าที่ห้องอาหาร GHIN จะให้บริการอาหารเช้าแบบนานาชาติ อาหารท้องถิ่น และฟิวชัน ที่เป็นเมนูอาหารเหนือนำเสนอในสไตล์ตะวันตก ในบรรยากาศนั่งสบายทั้งด้านในร้านและในสวน ส่วนช่วงบ่ายมีบริการอาฟเตอร์นูนที (สามารถเลือกนั่งที่ห้องอาหาร หรือจัดเสิร์ฟในห้องพักได้)

นับว่าเป็นที่พักใจกลางเมืองเชียงใหม่ที่มีบรรยากาศแห่งการพักผ่อน ท่ามกลางสถาปัตยกรรมสวยๆ และเหมาะอย่างยิ่งกับการทัวร์ไหว้พระขอพรในเมืองเชียงใหม่ของสายมู

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น