xs
xsm
sm
md
lg

“หมออุดม” เผย 1 ต.ค.ยุบ ศบค.ใช้กลไก มติ ครม.มอบทุกกระทรวงทำงานร่วมกัน ไม่กลัวการระบาดระลอกใหม่ เพราะเซตระบบไว้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ชี้ หาก 1 ต.ค. นี้ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบ ศบค. จะต้องใช้กลไกตามมติ ครม. ที่มอบให้ทุกกระทรวงทำงานร่วมกัน ไม่กลัวการระบาดระลอกใหม่ เพราะเซตระบบไว้แล้ว

วันนี้ (23 ก.ย.) นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวก่อนการประชุม ศบค. ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คน ส่วนการตรวจเอทีเคที่รายงานเข้าระบบมีประมาณ 13,000-14,000 คนต่อวัน และยังมีเอทีเคที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบอีก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า มีประมาณ 2-3 เท่าต่อวัน ซึ่งเมื่อนับรวมผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 3-4 หมื่นรายต่อวัน แต่มีอาการที่ไม่รุนแรง และนั่นคือ เหตุผล การเปลี่ยนผ่าน โรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ยังไม่เท่ากับการเป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้ แต่ทั้งนี้ เมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง ก็ถือว่าสามารถผ่อนคลายกิจกรรมได้ แต่ตนเองขอย้ำ ทุกคนต้องดูแลตัวเอง เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่คนต่อวัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับทั่วโลก ที่มีอยู่ร้อยละ 1 ซึ่งไทยถือว่าต่ำกว่าทั้งโลกมาก ซึ่งมาจากการดูแลกันอย่างดี แต่แม้จะมีผู้เสียชีวิตไม่มาก ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น

พร้อมระบุว่า หลังจากติดโควิด-19 แล้วมักจะมีอาการลองโควิด ที่ทำให้บั่นทอนสุขภาพ และการทำงาน จนนำมาสู่ความวิตกกังวล และกลายเป็นจิตวิตกในที่สุด

นายแพทย์อุดม กล่าวว่า ดังนั้น การประชุมวันนี้ก็จะคุยเรื่องแผนการเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่โรคเฝ้าระวังที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่มากนัก เช่น การผ่อนคลาย ไม่ให้ชาวต่างชาติ ตรวจ ATK รวมถึงไม่ดูการฉีดวัคซีน เป็นต้น แต่ยังเน้นให้ประชาชน ต้องดูแลตนเอง เพราะยังต้องอยู่กับโควิดไปอีกไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี จึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้

พร้อมย้ำ ทุกคนต้องต้องประเมินความเสี่ยงตนเอง อย่าไปในที่แออัด ลดพื้นที่เสี่ยงในที่ชุมชน ยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยเหตุผลที่ยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย เพราะยังมีความเสี่ยง ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังไม่หมดไป แต่ต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

นายแพทย์อุดม กล่าวเน้นย้ำเรื่องวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เนื่องจาก มีประโยชน์ คือ 1. ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าตัวเรา 2. เมื่อรับเชื้อไปแล้ว ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังคนอื่น และ 3. ป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงและไม่เสียชีวิต ถึงร้อยละ 80 และถ้าฉีดเข็มกระตุ้น เข็ม 3-4 จะช่วยไม่ให้เกิดลองโควิด ซึ่งควรฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ให้ได้ร้อยละ 70 ขึ้นไป เพราะตอนนี้การฉีดเข็ม 3 อยู่ที่เพียงร้อยละ 46-47 เท่านั้น ซึ่งวัคซีนในประเทศมีเพียงพอ
 
ทั้งนี้ หากมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ยืนยันว่า รัฐบาลไม่กลัวในเรื่องนี้ เพราะได้มีการวางระบบไว้หมดแล้ว โดยเรียนรู้จากตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยจะต้องเป็นความร่วมมือจากทุกกระทรวง ซึ่งที่ผ่านมา เป็นการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดย ศบค. ทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันได้ และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบ ศบค. ไปด้วย ซึ่งในวันนี้ก็จะหารือกัน โดยเบื้องต้นจะให้ คณะรัฐมนตรี มอบหมายงานเหมือนกับ ศบค. เพื่อให้กระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกัน ก่อนที่ระยะยาวจะรอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อ ที่ขณะนี้จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีโครงสร้างบางส่วนที่คล้าย ศบค. โดยที่ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก แต่เมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ก็จะใช้วิธีมอบหมายกระทรวงต่างๆ ให้ทำหน้าที่ ในการทำงานและบูรณาการร่วมกัน โดยใช้มติคณะรัฐมนตรีไปก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ สามารถประกาศ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ ก่อนทำเข้าสู่สภาภายหลัง แต่ช่วงที่ผ่านมามีปัญหา จึงยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ยืนยันว่า จะไม่เกิดสุญญากาศระหว่างรอกฏหมาย เพราะสถานการณ์ไม่เข้มข้นเท่ากับช่วงที่มี ศบค. และกระทรวงต่างๆ คุ้นเคยการทำงาน และมีความเชื่อมโยงกันหมดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น