xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ตรังชงสอบโครงการแก้มลิงน้ำพราย “แอบตักดินขาย-เวนคืนราคาแพง” ทั้งยังมีป้ายผู้สมัคร ส.ส.โผล่ประสานงบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ตรัง - ป.ป.ช.ตรังชงสอบโครงการแก้มลิงน้ำพราย “แอบตักดินขาย-เวนคืนราคาแพง” ทั้งยังมีป้ายผู้สมัคร ส.ส.โผล่ประสานงบ ด้าน ผอ.ชลประทาน 16 ยันประมูลขายดินถูกต้อง เตรียมงัดหลักฐานชี้แจงเวนคืนไม่เอื้อเอกชน ขณะที่ “ทวี สุระบาล” โผล่รับเป็นเจ้าของป้าย บอกยังไม่ประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ไม่ถือว่าผิด แต่ไม่รู้เรื่องการเวนคืนที่ดิน

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วยชมรมตรังต้านโกง ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการแก้มลิงบ้านท่ามะปราง หมู่ที่ 5 ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง แก้มลิงบ้านท่ามะปราง มีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ แก้มลิงบ้านน้ำพราย 1 มีเนื้อที่ 192 ไร่ และแก้มลิงบ้านน้ำพราย 2 มีเนื้อที่ 300 ไร่ งบประมาณดำเนินการปี พ.ศ.2564-2566 ประมาณ 280,000,000 บาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างปัจจุบัน 61.94 เปอร์เซ็นต์ และงบประมาณในการจัดหาที่ดิน 213,897,988 บาท หลังจาก สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้รับแจ้งเบาะแสการดำเนินการโครงการแก้มลิงบ้านท่ามะปราง มีการแอบนำเอาดินจากการขุดไปขายให้บุคคลภายนอก และการเวนคืนที่ดินมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคล


นอกจากนี้ ทางชมรมตรังต้านโกง ยังได้รับแจ้งเบาะแสเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการแอบลักลอบขุดดินในโครงการออกไปขายแล้ว โครงการทั้งหมดซึ่งใช้งบประมาณ 280 ล้านบาท แต่ไปทำในที่ดินเอกชน โดยจัดซื้อที่ดินอีกกว่า 200 ล้านบาท โดยมีที่ดินเวนคืนทั้งหมด 121 แปลง จากเกษตรกร 98 ราย เนื้อที่ 5-31-1-70.1 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 213,897,988 บาท จ่ายเงินแล้ว 33 แปลง จากเกษตรกร 26 แปลง เนื้อที่ 268-1-3.4 ไร่ คิดเป็นเงิน 95,224,116 บาท ที่สำคัญจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในบริเวณพื้นที่จัดทำโครงการบ้านน้ำพราย 1 ไม่มีป้ายโครงการ แต่มีป้ายว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐติดอยู่ โดยอ้างว่าเป็นผู้ประสานงบประมาณมาให้ด้วย

ต่อกรณีดังกล่าว นายสิริพล รักษนาเวศ ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 เปิดเผยว่า การกล่าวอ้างว่ามีการแอบขายดินนั้น ข้อเท็จจริงเป็นขายกันจริงอย่างเปิดเผย ไม่ใช่การแอบขายแต่อย่างใด ที่ตนระบุว่าดินที่เหลือจากการใช้ ไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนไหนกี่เปอร์เซ็นต์ ดินที่เหลือจะต้องนำไปประมูลขายให้ผู้รับจ้างมารับซื้อไป เนื่องจากเราไม่สามารถจัดเก็บดูแลดินส่วนนี้ไว้ หากชลประทานจัดเก็บดูแลเองอาจจะมีการสูญหาย หรือจะมีการมากล่าวหากันว่าชลประทานเอาไปขาย จึงต้องหาผู้รับจ้างมาประมูลซื้อไป เมื่อผู้รับจ้างประมูลได้ก็เป็นสิทธิของเขาว่าจะเอาขายหรือเอาไปให้ใคร

ขอยืนยันว่าการประมูลเป็นไปตามการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding มีความโปรงใส ส่วนเรื่องที่มาของราคานั้นมีการเชิญธนารักษ์จังหวัดตรัง มาร่วมกำหนดราคา และมีที่มาของราคาประเมินจากกรมที่ดิน จากนั้นนำมาคำนวณตามหลักเกณฑ์ของสำนักงบประมาณ จนได้ราคามูลดินออกมา ซึ่งข้อมูลที่ตนกล่าวมานั้นมีเอกสารประกอบทั้งหมด และมีตัวเลขราคาระบุชัดเจน และตอนนี้ในสัญญาแรกปี 2564 ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว ส่วนของปี 2565 ยังไม่มีการประมูล ตนขอรวบรวมเอกสาร ราคา ตัวเลขต่างๆ แล้วจะให้ข่าวที่มีข้อมูลถูกต้องชัดเจน ซึ่งเป็นตรรกะที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นตัวเลขสมมติ

นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16
ส่วนที่เขาบอกว่าการเวนคืนที่ดินของโครงการไปทำในที่ดินเอกชนนั้น การที่เขาไปนำแผนที่ที่ดินจากแอปพลิเคชันของกรมที่ดิน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแสดงระวางที่ดิน โดยระวางนี้จะแสดงข้อมูลเฉพาะที่ดินตามเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน หากเอกสารต่ำกว่านั้น คือตั้งแต่เอกสารสิทธิ น.ส.3 ลงไปจะไม่ปรากฏแสดงในแอปพลิเคชัน เขาไปมองว่าทำไมผมไม่เอาไม่ซื้อที่ว่างตรงนี้ ทำไมต้องไปซื้อที่ของเอกชน ผมเองได้ชี้แจงไปหากใช้แอปพลิเคชันนี้มาโชว์มันจะแสดงไม่หมด เพราะมันจะแสดงเฉพาะข้อมูลตามเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินเท่านั้น โดยจะให้รายละเอียดของโฉนด เนื้อที่ ราคาประเมิน จนมีการมาชี้ว่าทำไมผมไม่ทำในที่ว่าง ทำไมต้องมาทำในที่ดินเอกชน

“โดยผมได้เอาเอกสารหลักฐานที่ดินประเภท น.ส.3 และต่ำกว่า น.ส.3 ที่ระบุตัวตนของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมาแสดง และเมื่อมีการปักหลักเขตพื้นที่ก่อสร้าง มีการรังวัดที่ดินให้กับกรมชลประทาน จะได้ข้อมูลที่ดินตามที่ต้องการซื้อว่าเป็นของใครบ้าง มีเอกสารสิทธิอะไร หรือแม้แต่ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ทางชลประทานมีข้อมูลหมด ซึ่งทางชลประทานจะนำเอกสารมาแสดงต่อ ป.ป.ช.ตรังทั้งหมด” ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 ระบุ

ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังขยายผลติดตามตรวจสอบประเด็นการจัดซื้อที่ดินโครงการ โดยได้รับเบาะแสตั้งข้อสังเกตถึงการรวบรวมที่ดินเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเหมืองประทานบัตรเก่าทิ้งร้างซึ่งเจ้าของที่ดินซื้อมาในราคาที่ต่ำมาก แต่เมื่อมีโครงการที่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน กลับมีการจ่ายค่าเวนคืนในวงเงินที่สูง ว่าขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

นายทวี สุระบาล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นป้ายว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่ติดอยู่หน้าโครงการ โดยบุคคลในป้ายอ้างข้อความบนป้ายว่าเป็นผู้ประสานงบประมาณโครงการดังกล่าวมาให้นั้น พื้นที่ตั้งโครงการทั้งหมดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ประกาศตัวเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ คือ นายทวี สุระบาล ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยอยู่ทีมเดียวกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา มาก่อน แต่ได้ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรคไทยรักไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544

นายทวี กล่าวชี้แจงว่า ตนเป็นผู้ประสานกับกรมชลประทาน เพื่อให้มาทำโครงการแก้มลิงที่ท่ามะปราง ซึ่งได้งบมาก่อสร้างแล้ว เป็นงบต่อเนื่องผูกพัน ส่วนเรื่องเวนคืนที่ดินตนไม่ทราบ การเวนคืนเป็นเรื่องของกรมชลประทานกับชาวบ้าน และดินที่ได้จากการขุดทำโครงการ เท่าที่ทราบข่าวว่าเขาไม่มีที่ทิ้ง ขุดแล้วไม่รู้จะเอาไปไหน สามารถไปดูได้เลย ประเด็นการเอาดินไปขายไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะอำเภอห้วยยอด ดินไม่ใครซื้อ และไม่มีราคาด้วย ส่วนเรื่องงบประมาณเวนคืนและงบก่อสร้างที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีมูลค่าสูงนั้น ตนไม่ทราบเพราะเป็นเพียงผู้ประสานโครงการเท่านั้น

“ส่วนเรื่องที่ผมขึ้นป้ายและมีรูปตัวเองอยู่บนป้าย ผมมีสิทธิที่จะขึ้นได้เพราะผมประสานโครงการและงบประมาณมา ตอนนี้ผมไม่ได้เป็นนักการเมือง หรือเป็น ส.ส. ที่จะไม่สามารถไปวิ่งงบได้ แต่หากถึงเวลาที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา เขาจะกำหนดให้เอาป้ายลงผมต้องเอาลง ของคนอื่นผมก็เห็นเขาขึ้นป้ายนะ ขึ้นในนามชาวบ้านบ้างก็มี แต่ของผมนั้นขึ้นป้ายชัดเจน” นายทวี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น