ในท่ามกลางความโศกเศร้าที่ท่วมท้นสหราชอาณาจักร ซึ่งได้สูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้เสด็จสวรรคตอย่างสงบในช่วงค่ำของวันที่ 8 กันยายน 2022 นั้น พระราชบัลลังก์อังกฤษได้สืบทอดไปยังประมุขพระองค์ใหม่โดยทันที โดยไม่ต้องมีพระราชพิธีใดๆ บีบีซีรายงาน
ประมุขพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อดีตเจ้าชายแห่งเวลส์
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งในทางปฏิบัติและทางราชประเพณี เพื่อจะทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองมงกุฎอิมพีเรียลสเตตอย่างเต็มพระองค์
กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 อาจทรงเลือกพระนามใหม่ขึ้นมาจาก 4 พระนามของพระองค์
ในเบื้องแรก พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรจะทรงถูกกล่าวขานพระนามว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แต่พระองค์ทรงสามารถที่จะเลือกพระนามหนึ่งใดก็ได้ในจำนวน 4 พระนามของพระองค์ ได้แก่ ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ
ส่วนสำหรับเจ้าฟ้าชายวิลเลียม ซึ่งกลายเป็น Prince Royal ตามพระอิสริยยศฐานันดรใหม่ของพระราชบิดานั้น พระองค์จะยังไม่ได้รับพระอิสริยยศแห่งเจ้าชายแห่งเวลส์โดยทันที เพราะพระอิสริยยศนี้ที่ล็อกให้แก่รัชทายาท จะต้องผ่านพระราชพิธีแต่งตั้งอย่างสง่างาม
พระอิสริยยศฐานันดรใหม่ของเจ้าฟ้าชายวิลเลียมที่จะทรงได้รับสืบทอดจากพระราชบิดาโดยอัตโนมัติ คือ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ ขณะที่พระวรชายาแคเธอริน ก็จะได้รับพระอิสริยยศดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์โดยอัตโนมัติด้วย
ในด้านของพระวรราชชายาคามิลลาในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะได้รับพระอิสริยยศฐานันดรใหม่ คือ ควีนคอนสอร์ท หรือก็คือ พระราชินีคู่พระราชบัลลังก์ อันเป็นอิสริยยศฐานันดรสำหรับคู่สมรสแห่งพระมหากษัตริย์
พระราชพิธีอย่างเป็นทางการ
ภายใน 24 ชั่วโมงแรกนับจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชมารดาเอลิซาเบธที่ 2 นั้น กษัตริย์ชาร์ลส์จะทรงได้รับการประกาศพระอิสริยยศฐานันดรเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ โดยรัฐพิธีนี้จะมีขึ้น ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน ต่อหน้าองค์คณะที่เรียกกันว่าสภาผู้ดำเนินการพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองพระราชบัลลังก์ อันประกอบด้วยสมาชิกแห่งปรีวีเคาน์ซิล – ได้แก่ คณะสมาชิกอาวุโสแห่งรัฐสภา - และข้าราชการพลเรือนอาวุโสอีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนกรรมาธิการระดับสูงแห่งเครือจักรภพ และนายกเทศมนตรีแห่งกรุงลอนดอน
นอกจากนั้นจะมีประชาชนหลายร้อยรายเข้าร่วมด้วย โดยจำนวนหลายร้อยรายนี้ ในทางทฤษฎีจะมากกว่า 700 ราย แต่ในทางปฏิบัติ ตัวเลขจะน้อยกว่านั้นเหลือเกิน ทั้งนี้ ในปี 1952 ที่มีการประกาศการขึ้นครองราชย์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตัวเลขอยู่ที่ 200 รายเท่านั้น
โดยพระราชประเพณีแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงไม่เข้าร่วมรัฐพิธีนี้
องค์ประกอบของรัฐพิธีประกาศพระนามกษัตริย์พระองค์ใหม่ เริ่มด้วยการที่ประธานแห่งปรีวีเคาน์ซิล (ปัจจุบันคือ เพนนี มอร์ดาวท์ สมาชิกรัฐสภา) ประกาศว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย ต่อด้วยการประกาศการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พร้อมกับการกล่าวถวายความจงรักภักดี
แล้วจึงเป็นการลงนามท้ายประกาศโดยบุคคลผู้มีตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี กับอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี และลอร์ดแชนเซลเลอร์
พระมหากษัตริย์จะทรงประกาศคำสาบานพิทักษ์รักษาพระศาสนาจักรแห่งสกอตแลนด์
สภาผู้ดำเนินการพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองพระราชบัลลังก์มาประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นวันรุ่งขึ้น ในการประชุมนี้ กษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงเสด็จเข้าร่วม พร้อมด้วยปรีวีเคาน์ซิล
แต่จะไม่มี “การสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง” เหมือนดั่งการก้าวสู่อำนาจของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา หากจะเป็นการประกาศคำสาบานที่จะพิทักษ์รักษาพระศาสนจักรแห่งสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นพระราชประเพณีโบราณนับแต่ศตวรรษที่ 18
หลังจากนั้น จะเป็นการประโคมแตร ต่อด้วยการประกาศต่อสาธารณชนว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยพระราชพิธีนี้จะประกอบขึ้นที่ประตูสีหบัญชรเหนือลานพระราชพิธีในพระราชวังเซนต์เจมส์ พร้อมกับการประกาศว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงคุ้มครองพระมหากษัตริย์” ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับจากปี 1952 ที่เพลงชาติอังกฤษจะขับร้องด้วยคำว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงคุ้มครองพระมหากษัตริย์”
การยิงสลุตหลวงถวายเป็นพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จะมีขึ้นในหลายจุดสำคัญ ได้แก่ สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และเรือราชนาวี พร้อมนี้ จะมีการอ่านประกาศว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยจะประกาศทั่วกันในเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีในส่วนที่สำคัญที่สุดของการเสด็จขึ้นครองราชย์ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงสวมมงกุฎพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากพระราชพิธีนี้จะต้องมีเวลาเตรียมการ จึงยังไม่แน่ชัดว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นเร็วเพียงใด ในคราวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทรงสืบพระราชบัลลังก์ในเดือนกุมภาพันธ์ 1952 แต่ทรงสวมมงกุฎพระมหากษัตริย์ในอีกปีกว่าต่อมา คือในเดือนมิถุนายน 1953
ตลอดที่ผ่านมา 900 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นในโบสถ์เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 40 ซึ่งจะทรงสวมมงกุฎกษัตริย์ในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
ในพิธีบูชามิสซาของพระศาสนจักรแองกลิกัน อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะเป็นผู้ประกอบพิธี และจะเป็นผู้สวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตตแห่งนักบุญเอดเวิร์ด ให้แก่กษัตริย์ชาร์ลส์ โดยมงกุฎอันทรงคุณค่าสูงล้ำมีอายุสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 1661 ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 2.23 กิโลกรัม แล้วพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะกล่าวคำสาบานต่อหน้าชาวโลกที่รับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นรัฐพิธี รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และเป็นผู้กำหนดรายชื่อแขกรับเชิญ
ประมุขแห่งเครือจักรภพ
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงเป็นประมุขแห่งเครือจักรภพ อันประกอบด้วยประเทศอิสระ 56 ประเทศ กับประชาชน 2,400 ล้านราย ทั้งนี้ 14 ประเทศแห่งเครือจักรภพ ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร จะมีพระองค์เป็นประมุขของประเทศ
14 ประเทศดังกล่าวนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย แอนติกัวและบาร์บิวดา บาฮามาส เบลีซ แคนาดา เกรเนดา จาไมกา ปาปัวนิวกีนี เซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส เซนต์ลูเชีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ นิวซีแลนด์ หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: บีบีซี)