xs
xsm
sm
md
lg

ครุฑตัวที่ 2 ฟินขั้นสุดของ “ลุงป้อม” “พี่ใหญ่”ไฮเพาเวอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แตะเบรกกระแส “นายกฯ เถื่อน” ได้มากโขอยู่พอสมควร หลัง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 เสียง รับคำร้องวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไว้พิจารณา พ่วงด้วยมติ 5 ต่อ 4 เสียง มีคำสั่งให้ “นายกฯ ตู่” หยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สิ้นสุด

เป็นคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นผ่าน “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ “บิ๊กตู่” ว่าครบ 8 ปีตามที่ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

ผลพวงที่ตามมาเมื่อ “ตัวจริง” ทำการไม่ได้ ก็เป็นคิวของ “ตัวสำรอง” อย่าง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 ทำหน้าที่ “รักษาการนายกฯ” แทนในระหว่างนี้

ส่วน “บิ๊กตู่” ก็ยังถือเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า วาระ 8 ปี เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด และสิ้นสุดเมื่อใด

อย่างไรก็ดี “พล.อ.ประยุทธ์” ยังคงเหลือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ทว่า การประชุมสภากลาโหม เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งวันเดียว ก็ไม่ปรากฎเจ้าของรหัส “สนามไชย 1” เข้าร่วมประชุมโดยมีรายงานข่าวว่า เลือกเก็บตัวเงียบอยู่ที่บ้านพัก

จากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ทำคำชี้แจงถึงเหตุผลที่เห็นว่า ตัวเองยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปีเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้ศาลฯ ภายใน 15 วัน ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหลังจากนั้น

จึงน่าจะมีความชัดเจนอนาคตของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่เกินสิ้นเดือนกันยายนนี้ จึงกะเกณฑ์กันว่า “พล.อ.ประวิตร” จะได้แปะยี่ห้อ “นายกฯ ป้อม” ไปอีกราว 1 เดือน

หากย้อนปูมหลังดูจังหวะการก้าวย่างและเติบโตของ “ลุงป้อม” คงจะพูดไม่ได้ว่า “นายก ฯส้มหล่น” ด้วยเป็นที่รู้กันว่า “พล.อ.ประวิตร” เจ้าของสมญา “พี่ใหญ่” สร้างฐานอำนาจในกองทัพ ขยายคอนเนกชันจนกว้างขวาง มาตั้งแต่เป็นหนุ่มกระทง

โดย “พล.อ.ประวิตร” เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 เป็นชาวกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดพระนครสมัยนั้น เข้าศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร ในรุ่นที่ 6 (ตท.6) และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 (จปร.17) แล้วจึงมาจบการศึกษาหลักสูตรประจำ ชุดที่ 56 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี 2521

โดดเด่นตั้งแต่สมัยเป็น นักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ได้รับความไว้วางใจเป็นหัวหน้าหมวด ตามสไตล์ “ใจกว้าง-สายเปย์” ดูแลเพื่อนๆ และน้องๆ จนได้รับความเคารพรักในฐานะ “พี่ใหญ่”

มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่ “พี่ป้อม” มียศ ร้อยเอก เป็นนายทหารยุทธการ ประจำกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 2 รอ.) ค่ายนวมินทราชินี ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยอาศัย "บ้านทหารเสือ" บ้านพักนายทหารอยู่ภายในซอย 7 ของกองพันฯ ร่วมกับนายทหารรุ่นน้องอีก 2 คน คือ “หมวดป๊อก” ร.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ “หมวดตู่” ร.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนกลายเป็นตำนาน “พี่น้อง 3 ป.” มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนเส้นทางในกองทัพ “บิ๊กป้อม” ก็เติบโตตามไลน์อย่างรวดเร็ว ผ่านกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี รวมถึงกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 รอ.) และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี) ซึ่งขึ้นตรงกับกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ที่ถูกขนานนามว่า “บูรพาพยัคฆ์” แม้จะมีสะดุดโดนดองไปบางช่วง แต่ก็ถึงฝั่งฝันได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในที่สุด

ไม่เพียงแต่เส้นทางในกองทัพส่วนตัวที่รุ่งโรจน์แล้ว “พี่ป้อม” ยังนำพานายทหารน้องรักจากบูรพาพยัคฆ์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ได้ถึง 3 คน ตั้งแต่ “พล.อ.อนุพงษ์-พล.อ.ประยุทธ์” จนถึง “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร

ขณะเดียวกันใน “สายสีกากี” วงการตำรวจ ก็มีน้องชายอย่าง “บิ๊กป๊อด” พล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นตัวขับเคลื่อนสร้างฐานอำนาจไว้ให้

รวมไปถึงการใช้องค์กรการกุศลมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก หรือ “มูลนิธิป่ารอยต่อฯ” ที่มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ซึ่งเป็น “ออฟฟิศส่วนตัว” ในการขยายฐานอำนาจทั้งทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการ-นักธุรกิจ-นักการเมือง อย่างต่อเนื่อง

และแม้ว่าการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังของเมืองไทย ในปี 2549 และปี 2557 จะเป็นช่วงที่ “พล.อ.ประวิตร” เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ว่ากันว่า มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์พลิกขั้วอำนาจทั้ง 2 ครั้ง ทั้ง 19 กันยายน 2549 ที่มี “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยมี “พล.อ.อนุพงษ์-พล.อ.ประยุทธ์” เป็นคนคุมกำลัง ส่วน 22 พฤษภาคม 2557 ก็เป็น “พล.อ.ประยุทธ์” น้องรัก ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

กระทั่ง “รัฐประหารเงียบ” เมื่อปี 2551 ที่ “พล.อ.อนุพงษ์” เป็น ผบ.ทบ. นำผู้บัญชาการเหล่าทัพ นั่งเรียงแผงกลางรายการโทรทัศน์ กดดัน สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ให้ออกจากตำแหน่ง และเมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรค “สมชาย” หลุดจากนายกฯ

 เจ้าหน้าที่กำลังนำครุฑและพระปางมารวิชัยไปไว้ที่ห้องทำงานของ “บิ๊กป้อม” ภายในตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
มีกระแสข่าวว่า “ผบ.ป๊อก” ใช้กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ (ร.1 พัน.1 รอ.) เป็นที่ประชุมบีบให้พรรคการเมือง “พลิกขั้ว” มาหนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ จนถูกค่อนขอดว่า “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือต้องให้ “บิ๊กป้อม” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อค้ำยันรัฐบาล และเสมือนเป็นการเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ด้วย

มาถึงปี 2557 แม้ “พล.อ.ประวิตร” จะเพิ่งชี้แจงในสภาฯว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร โยนเป็นเรื่องของ “พล.อ.ประยุทธ์” คนเดียว แต่ก็ปฏิเสธยาก เพราะหลังรัฐประหาร “บิ๊กป้อม” ก็มีชื่อเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดจนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

อีกทั้งในแผงอำนาจก็เต็มไปด้วย “สายบิ๊กป้อม” ทั้งในคณะรัฐมนตรี หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนชง) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

พลันที่รัฐบาล คสช.ใกล้ปลดระวาง จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเพื่อต่อท่ออำนาจ ก็เป็น “พี่ป้อม” ที่เป็นหัวเรือใหญ่คุมเกมทางการเมือง ใช้ “บ้านป่ารอยต่อฯ” เป็นฐานบัญชาการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 จนพรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นเป็นนายกฯ อีกสมัยได้สำเร็จ

ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ “น้องตู่” เป็นผู้นำประเทศนั้น มี “พี่ป้อม” ในฐานะ “พี่ใหญ่ 3 ป.” และ “ผู้จัดการรัฐบาล” เป็นฐานค้ำยันอำนาจให้มาโดยตลอด

และพูดกันไปถึงว่า “พี่ป้อม” ถือเป็นตัวตายตัวแทน หากเกิดอุบัติเหตุกับ “น้องตู่” ด้วยซ้ำ ด้วยคอนเนกชันที่กว้างขวาง การบริหารอำนาจสไตล์ “พี่ใหญ่” ที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย

แต่ การเปลี่ยนหัวรัฐบาลชั่วคราว จาก “พล.อ.ประยุทธ์” มาเป็น “พล.อ.ประวิตร” ในมุมของ “ฝ่ายตรงข้าม” ก็ค่อนขอดในทำนอง “หนีเสือปะจระเข้” หรือ “หนีเทรลเลอร์เจอรถบรรทุก” ตามประสาที่ “น้องตู่-พี่ป้อม” ก็ล้วนเป็นวงศ์วานเครือข่ายอำนาจ “3 ป.” ที่ต่อท่อมาจากการรัฐประหาร 2557 ด้วยกัน

รวมทั้งยังมีแนว “บูลลี่” ไปที่ตัว “บิ๊กป้อม” ถึงสมรรถภาพการทำหน้าที่ “ผู้นำประเทศ” แม้จะชั่วคราวก็ตาม มีการแชร์ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการเดินเหินที่ไม่สะดวกตามสังขารต้องมีคนล้อมหน้าล้อมหลังคอยพยุง, คลิปวิดีโอจังหวะที่เดินสะดุด จนลูกน้องต้องถลาเข้าไปประคองแทบไม่ทัน หรือภาพขณะนั่งคล้ายงีบหลับหลายเหตุการณ์ เป็นต้น

ว่าตามจริง ตำแหน่งนายกฯ รักษาการ กับ “บิ๊กป้อม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยทำหน้าที่แทนมาแล้วหลายหน ตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. ยามที่ “น้องตู่” ต้องไปปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ แต่ก็ไปเป็นในลักษณะ “มอบหมายทำการแทน” ที่มีการจำกัดอำนาจต่างๆไว้พอสมควร

ดังนั้นการขึ้นเป็นนายกฯรักษาการของผู้อาวุโสวัย 77 ปีหมาดๆ หนนี้จึงต้องถือว่า “อัปเกรด” กว่าหนก่อนๆ ทั้งระยะเวลารักษาการที่นานกว่าที่ผ่านมา และการมีอำนาจเต็มไม้เต็มมือ กระทำการได้ทุกเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณ, แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ, ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดจนยุบสภา รวมทั้งยังเป็นยังเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคุมเสียงข้างมากของรัฐบาลด้วย

จนอาจพูดได้ว่า “ที่สุดของป้อม” ใกล้เคียงกับตำแหน่ง “เบอร์ 1 ของประเทศ” มากที่สุด ตามคำทายทักของโหราจารย์วัดดังกรุงเทพฯ ที่เคยพยากรณ์ไว้ว่า พล.อ.ประวิตร จะได้ลุ้นรับ “ครุฑตัวที่สอง” ในช่วงปลายของชีวิต ซึ่งหมายถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ทั้งบารมี-คอนเนกชันที่สั่งสมไว้ บวกกับอำนาจนายกฯรักษาการที่ที่เทียบเท่ากับนายกฯตัวจริง ต้องถือว่า เป็นจังหวะ “ไฮเพาเวอร์” ของ “พี่ใหญ่” โดยแท้

น่าสนใจไม่น้อยว่า ในช่วงที่ “ไฮพาวเวอร์” ขนาดนี้ “พี่ป้อม” จะประคองอำนาจอย่างไรในช่วง 1 เดือนที่คาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ถือเป็น “นาทีทอง” ของผู้รักษาการแทนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ


ท่ามกลางกระแสข่าวหนาหูในระยะหลังว่า ความสัมพันธ์ภายใน “พี่น้อง 3 ป.” ไม่สู้ดีนัก มีความเห็นต่างในทางอำนาจ และทางการเมือง กันอยู่เนืองๆ โดยมี “แรงยุ” จาก “ป.ที่ 4” ที่มีสายสัมพันธ์แนบชิดกับ “พี่ป้อม” เป็นสำคัญ

และว่ากันว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ ก็มีเสียงเฮลั่นออกมาจาก “บ้านหลังนั้น” เลยทีเดียว

สิ่งที่ต้องจับตาคือ บรรดา “คนข้างกาย” ของ “พี่ป้อม” โดยเฉพาะ “ป.ที่ 4” ที่พักหลังกลับเข้ามาอยู่ในสมการการเมือง สะท้อนผ่านหลายเหตุการณ์ที่ “ไม่เป็นคุณ” กับ “บิ๊กตู่” คู่รักคู่แค้น

ยิ่งกาง “ปฏิทินอำนาจ” ห้วง 1 เดือนข้างหน้าก็ยิ่งน่าสนใจ ด้วยเป็นฤดูแต่งตั้งโยกย้าย นายทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการ ตลอดจนเป็นฤดูล้างท่อในด้านงบประมาณด้วย

โดยการแต่งตั้งโยกย้าย “บิ๊กตำรวจ” จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) ในช่วงเช้าวันที่ 29 สิงหาคม เพื่อวางตัว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แทนที่ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ส่วนช่วงบ่ายก็จะประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ตร.) เพื่อแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพลตำรวจ ทั้ง 2 วง “บิ๊กป้อม” ต้องเป็นประธานการประชุมแทน “บิ๊กตู่”

การจัด “โผสีกากี” ในยุค “นายกฯ พี่ป้อม” ก็อาจเปิดทางให้ “ป.ที่ 4” ได้กลับมาผงาดวงการตำรวจอีกครั้ง หลังตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ “นายกฯ ตู่” รวบอำนาจคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วยตัวเอง จากที่เคยมีข่าวว่า “ป.ที่ 4” คุม “ตั๋วสีกากี” ทั้งหมด สมัยที่ “พี่ป้อม” ดูแล สตช.

อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดปฏิบัติการ “ล้มตู่ ชูป้อม” ผ่านเกมในสภาฯหลายครั้ง เพื่อหวังให้ “พี่ใหญ่” กลับมาผงาดมีอำนาจในการโยกย้ายตำรวจอีกครั้ง

 หนังสือ “พี่ป้อม พี่ใหญ่ พี่ชายที่แสนดี” ซึ่งจัดพิมพ์เป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ก็ยังมีโผทหาร-โผผู้ว่าราชการจังหวัด ที่คาดว่า จะมีการขยับเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ “บิ๊กตู่” ยังทำหน้าที่ได้ ด้วยมีเหตุผลในการวางมือไม้ทำงาน เพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมามักไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะการแต่งตั้ง “พ่อเมือง-รองพ่อเมือง” ในลอตที่เหลือที่อยู่ในอาณัติของ “มท.ป๊อก” ซึ่งไม่รับลูก “ฝ่ายการเมือง” จนถูกเขย่าเก้าอี้ รมว.มหาดไทย บ่อยครั้งเช่นกัน

1 เดือนต่อจากนี้ จึงน่ากลัวว่า จะมีแรงยุ “ลุงป้อม” จากคนรอบข้างให้ถือโอกาสเป็น “นายกฯ ตัวจริง” เพราะลงแรงปลุกปั้น และประคับประคองรัฐบาล มากับมือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความชัดเจนว่า “บิ๊กตู่” ได้ไปต่อ หรือต้องพอแค่ 8 ปี เชื่อว่า “บิ๊กป้อม” จะหมดโอกาสในการเป็น “นายกฯ ตัวจริง”

ด้วยหาก “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้ไปต่อ ก็คงต้องเข้าสู่กระบวนการที่ให้รัฐสภาลงมติเลือกนายกฯ คนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีแคนดิเดตนายกฯ ในตะกร้าตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 อยู่ถึง 5 คน ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, อนุทิน ชาญวีรกูล และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หากตัด “สุดารัตน์-ชัยเกษม-ชัชชาติ” ที่เป็นรายชื่อของพรรคเพื่อไทยออกไป ก็ยังคงเหลือ “อนุทิน-อภิสิทธิ์” ที่เป็นรายชื่อของพรรคร่วมรัฐบาล

โดยเฉพาะรายของ “หมอหนู-อนุทิน” ก็เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในรัฐบาลด้วย

มองไม่เห็นมุมความจำเป็นที่จะต้องไปเลือก “นายกฯ คนนอก” ที่เคยมีข่าวว่า จะเป็นหนทางให้ “บิ๊กป้อม” ได้เป็นนายกฯ ตัวจริงแทน “บิ๊กตู่” แต่อย่างใด

จึงเชื่อว่า ในมุมของ “พี่ป้อม” นอกเหนือจากประเด็น “มารยาท” ในฐานะนายกฯ รักษาการที่ควรใช้อำนาจตามความจำเป็นแล้ว ก็คงไม่คิดแตกหักกับ “น้องตู่” เพราะมองว่า หากต้องการต่อท่ออำนาจในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังคงต้องพึ่งพากันไป

หรือหากฝันใหญ่-ฝันไกลจริง ก็คงรอให้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาเสียก่อนว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ไปต่อหรือไม่ และได้ไปต่อถึงไหน หากออกมาในมุมว่า ไม่ได้ไปต่อ ก็เข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯคนใหม่อย่างที่ว่า หรือหากให้เริ่มนับวาระนายกฯ ตั้งแต่ 6 เม.ย.60 วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็เท่าดับเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น ก็ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้ง

เมื่อ “น้องตู่” ไม่ได้ไปต่อ หรือไม่เหมาะที่จะส่งชื่อลงเลือกตั้ง หากสแกนตัวเลือกในฝ่ายเดียวกัน “พี่ป้อม” ก็ดูมีความชอบธรรมในการเสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ ผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่า

ทั้งหลายทั้งปวง ก็เชื่อว่า การได้โอกาสเป็นนายกฯรักษาการครั้งนี้ “บิ๊กป้อม” ก็คงคิดเพียงแค่ “ขัดตาทัพ” เพื่อรอให้ “น้องตู่” กลับมาประจำการเท่านั้น และต้องถือว่า มาไกลเกือบถึงฝัน “ครุฑตัวที่ 2” แล้ว

ส่วนบุญพาวาสนาจะส่งให้ได้เป็น “นายกฯ ตัวจริง” ในอนาคต ก็ค่อยมาว่ากัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น