xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพจีนสามารถบุกไต้หวันได้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนแถลง ภายหลังพิธีสาบานตนของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงชุดใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 ในโอกาสครบรอบ 25 ปีอังกฤษมอบคืนฮ่องกงแก่จีน
จีนประกาศซ้อมรบใหญ่ใกล้กับเกาะไต้หวัน ระหว่างวันที่ 4-7 ส.ค. เพื่อตอบโต้การมาเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ การซ้อมรบมีขึ้นในทะเล 6 จุดรอบเกาะ ซึ่งดูไม่ต่างอะไรกับการโอบล้อมดินแดน ที่จีนถือว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตน
   
รัฐมนตรีกลาโหมของเกาะมังกรน้อยถึงกับกล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยที่การประกาศซ้อมรบครั้งนี้ปักกิ่งต้องการส่งสารบอกให้รู้ว่า จะแสวงหามติในเรื่องไต้หวันด้วยการใช้กำลังแทนสันติวิธี
 
 
ทว่าคำถามก็คือว่า หากจีนต้องการยึดไต้หวันด้วยกำลังทหารจริง ระดับพญามังกรอย่างจีนจะสามารถทำได้หรือไม่
 
 
ภายใต้ผู้นำสี จิ้นผิง จีนได้ยกระดับการพัฒนากองทัพปลดแอกประชาชนไปถึงขั้นที่ว่า การบุกยึดไต้หวันด้วยกำลังทหารเป็นสิ่งที่ฟังดูมีเหตุผลความเป็นไปได้มากขึ้น 

ทว่าบรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกองทัพแดนมังกร ยังเห็นต่างในเรื่องความพร้อมของกองทัพจีน รวมทั้งความสมัครใจของประธานาธิบดีสี ที่อยากเสี่ยงกับเดิมพันครั้งสำคัญนี้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีตัวอย่างให้เห็นกรณีรัสเซียบุกยูเครน

โอเรียนา สกายลาร์ มาสโตร ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศฟรีแมน สโปคลี (Freeman Spogli Institute for International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ มองว่า จีนสามารถบุกไต้หวันได้ เมื่อพิจารณาในแง่ความพร้อมต่างๆ ไม่ว่าด้านงบประมาณ การสูญเสียชีวิตของกำลังพล หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ เธอระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ อาจประเมินจีนต่ำไปในเรื่องความพร้อมใช้กำลังทหาร แต่การสู้รบจะเสียเลือดเนื้อกันแค่ไหนก็ต้องดูการป้องกันของไต้หวัน และการส่งความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ประกอบกันด้วย

รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวันในปี 2522 ซึ่งเปิดทางให้สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารเข้ามาได้ถ้าจีนพยายามรุกรานไต้หวัน แต่ก็มิได้เป็นข้อบังคับสำหรับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

มีคำถามสำคัญข้อหนึ่งก็คือกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีฝีมือถึงขั้นไหนแล้ว ในการควบคุมบังคับบัญชาการส่งทหารจำนวนหลายหมื่นนายทั้งทางเรือและทางอากาศไปยังไต้หวัน รวมทั้งความสามารถในการตั้งมั่นบนเกาะ และการรุกคืบยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น ท่าเรือ ทางรถไฟ ศูนย์เครือข่ายการสื่อสาร และเมืองต่างๆ ที่อาจเกิดการลุกฮือต่อต้าน

 
ในรายงานประจำปี 2564 ของเพนตากอน เกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประเมินของทางการนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า จีนได้เตรียมการสร้างกองทัพเรือที่ใหญ่สุดในโลก เมื่อดูจากจำนวนเรือ แต่ในรายงานระบุด้วยว่า การพยายามบุกไต้หวันน่าจะทำให้กองทัพจีนตึงเครียดและเท่ากับเป็นการเชื้อเชิญให้เกิดการแทรกแซงจากต่างชาติ นอกจากนั้น การบุกแบบสะเทินน้ำสะเทินบกยังเป็นความเสี่ยงทั้งด้านการเมืองและการทหารครั้งสำคัญสำหรับประธานาธิบดี สี และพรรคคอมมิวนิสต์จีน
 
 
ผลการศึกษาหลายฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ ของวิทยาลัยการสงครามทางเรือแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า จีนอาจยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือและทักษะบางอย่างซึ่งจำเป็นสำหรับจะทำให้มั่นใจได้ว่า ปฏิบัติการจะประสบความสำเร็จ

เดนนิส เจ. บลาสโก นายพันโทนอกราชการระบุในการศึกษาฉบับหนึ่งว่า กองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกของจีนขาดขีดความสามารถที่จะทำการจู่โจมเป้าหมาย ซึ่งเป็นพื้นที่อาณาบริเวณกว้างบนเกาะไต้หวัน


การพัฒนาปรับปรุงทักษะการสู้รบของกองทัพจีนเป็นเรื่องที่แทบไม่มีใครสงสัย แต่ไต้หวันมีการสร้างเสริมกองทัพด้วยเช่นกัน

 
ในวันครบรอบ 95 ปีการสถาปนากองทัพปลดแอกประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 สื่อของกองทัพได้เน้นย้ำเป้าหมายของประธานาธิบดีสี ที่ต้องการให้ปรับปรุงความทันสมัยในภาคส่วนสำคัญของกองทัพให้สำเร็จภายในปี 2570 อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว พลเรือเอกฟิล เดวิดสัน ซึ่งขณะนั้นใกล้พ้นตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้ให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาว่า จีนอาจเคลื่อนพลบุกยึดไต้หวันได้ก่อนปี 2570

 
ความเห็นของนายทหารเรือผู้นี้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้าง และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การประเมินขีดความสามารถของกองทัพจีนในการบุกไต้หวัน เป็นเรื่องที่บรรดากูรูยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย
 
 
ข้อมูลจาก “Could China invade Taiwan?” ใน NEWS.YAHOO.COM
กำลังโหลดความคิดเห็น