xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์จีนถอดรหัสจีโนม ‘มนุษย์โบราณ’ อายุ 14,000 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพจากสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน : ภาพจำลองหญิงชาวเหมิงจื้อเหริน และสภาพแวดล้อมโดยรอบ
สำนักข่าวซินหัวรายงาน คณะนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยข้อมูลจีโนม หรือข้อมูลทางพันธุกรรมของ มนุษย์ยุคไพลสโตซีนตอนปลาย (Late Pleistocene) จากภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยผลการศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ผ่านวารสารเคอร์เรนท์ ไบโอโลจี (Current Biology) ฉบับออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ค.) ที่ผ่านมา

คณะนักวิทยาศาสตร์จัดลำดับข้อมูลทางพันธุกรรมจากซากร่างชาว “เหมิงจื้อเหริน” อายุ 14,000 ปี ซึ่งถูกค้นพบในปี 1989 จากถ้ำแห่งหนึ่งในเมืองเหมิงจื้อ ของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) โดยการขุดสำรวจถ้ำดังกล่าวยังพบฟอสซิลมนุษย์มากกว่า 30 ชิ้น รวมถึงฟอสซิลสัตว์ เช่น กวางแดง ลิงแม็กแคก และหมีดำ

ภาพจากสำนักบริหารโบราณวัตถุอำเภอเหมิงจื้อ : กะโหลกของชาวเหมิงจื้อเหริน
หากรวมกับข้อมูลที่มีอยู่เดิม บรรดาผู้เชี่ยวชาญพบการแบ่งชั้นทางพันธุกรรมชัดเจนในประชากรยุคโบราณทางใต้ของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความแตกต่างระหว่างภูมิภาคตอนใต้กับตอนเหนือช่วงปลายยุคไพลสโตซีน โดยชาวเหมิงจื้อเหริน ถูกระบุเป็นคนที่อยู่ในทางใต้ของเอเชียตะวันออกที่มีพันธุกรรมสอดคล้องกับประชากรยุคปัจจุบัน

จางเสี่ยวหมิง ผู้เขียนผลการศึกษาและนักวิจัยประจำสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เผยว่า ผลวิจัยทางมานุษยวิทยากายภาพของกะโหลกมนุษย์ที่ขุดพบ บ่งชี้ว่าเจ้าของกะโหลกเป็นหญิง สาวสูงราว 155 เซนติเมตร และหนัก 46 กิโลกรัม ซึ่งใช้ชีวิตด้วยการล่าสัตว์และรวบรวมอาหารเมื่อประมาณ 14,000 ปีก่อน

ภาพจากสถาบันวัตถุวัฒนธรรมและโบราณคดีอวิ๋นหนาน : ซากถ้ำหม่าลู่
นอกจากนั้น จางกล่าวว่า ชาวเหมิงจื้อเหรินมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองอเมริกันกลุ่มแรก

ทั้งนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่ในถ้ำแถบทางใต้ของเอเชียตะวันออกได้เริ่มอพยพขึ้นเหนือเมื่ออากาศอบอุ่น และอาจมีเส้นทางอพยพตามแนวชายฝั่ง ซึ่งบางส่วนอาจข้ามช่องแคบแบริง และไปจนถึงอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น