สถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน เปิดเผยการค้นพบซากเตียงเตาที่มีอายุย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ณ แหล่งโบราณคดีจ้าวเหยาในเมืองหานตาน
เว่ยสู่กวาง เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ระบุว่า เตียงเตาหรือ “คั่ง” เป็นแท่นทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและนอนหลับที่มาพร้อมระบบทำความร้อน มักถูกใช้งานในกลุ่มผู้อยู่อาศัยทางตอนเหนือของจีน
คณะนักโบราณคดีขุดค้นพื้นที่แหล่งโบราณคดีจ้าวเหยารวม 340 ตารางเมตร นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2011 ซึ่งเผยให้เห็นการตั้งถิ่นฐานบางส่วนจากยุคราชวงศ์ซาง โดยจนถึงขณะนี้มีการค้นพบซากบ้าน 9 หลัง และเตียงเตาที่พบในบ้านหมายเลข 5
พบว่าบ้านหมายเลข 5 เป็นบ้านแฝดกึ่งห้องใต้ถุนสูง โดยมีห้องด้านหน้าอยู่ทางทิศเหนือและห้องด้านหลังอยู่ทางทิศใต้ มีเตาผิงรูปครึ่งวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8 เมตรอยู่ทางทิศเหนือของผนังด้านตะวันออกของห้องด้านหน้า และทางด้านทิศใต้ของขั้นบันไดทางเข้าประตู โดยคาดว่าพื้นผิวดินแข็งในห้องด้านหน้าของบ้านหมายเลข 5 น่าจะเป็นพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการพังทลาย และร่องตื้นของดินก็คือปล่องไฟ และจากการวิเคราะห์เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบ พบว่า อายุของบ้านหมายเลข 5 คือช่วงต้นราชวงศ์ซางตอนต้น
เว่ยระบุว่าการขุดค้นแหล่งโบราณคดีจ้าวเหยามีความสลักสำคัญต่อการศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐานในวัฒนธรรมหย่างเสาตอนต้น (Yangshao Culture) ซึ่งถือเป็นสายธารสำคัญของอารยธรรมจีน และมีชื่อเสียงจากเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผาขั้นสูง ทั้งยังสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในเหอเป่ยตอนใต้ช่วงยุคราชวงศ์เซี่ย (2070-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจว (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดีจ้าวเหยาเป็นสถานที่คุ้มครองด้านโบราณวัตถุที่สำคัญในเหอเป่ย ซึ่งมีการขุดค้นก่อนหน้านี้ 2 ครั้งในปี 1960 และปี 1975 โดยการค้นพบการตั้งถิ่นฐานจากวัฒนธรรมหย่างเสาตอนต้น รวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัยและหลุมศพชนชั้นสูงจากยุคราชวงศ์ซางตอนกลางและตอนปลาย ได้ตอกย้ำความสำคัญทางวัฒนธรรมของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้
ที่มาข่าว : เว็บไซต์ข่าวซินหัวไทย Xinhuathai.com / 3 ก.ค.2565