xs
xsm
sm
md
lg

สุดตื่นตา! “ฝูงนกเงือก” กว่า 200 ตัว อพยพกลับมาที่จุดเดิมอีกครั้งในรอบปี ที่ อช.เขาน้ำค้าง สงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพถ่ายจากประดับ บัวทอง อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
อช. เขาน้ำค้าง เผยภาพของ “ฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบ” กว่า 200 ตัว ที่อพยพกลับมาที่สวนยางชายป่าพื้นที่ของอุทยานฯ อีกครั้ง และเป็นบริเวณเดียวกับที่เคยมาเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผืนป่าบริเวณนี้ยังคงมีความสมบูรณ์และความปลอดภัยมาก

ภาพถ่ายจากประดับ บัวทอง อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
เฟซบุ๊กเพจสํานักอุทยานแห่งชาติ - national parks of thailand โพสต์ภาพของฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบกว่า 200 ตัว พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับนกเงือกชนิดนี้ ข้อความว่า

ภาพถ่ายจากประดับ บัวทอง อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
อีกครั้งสำหรับการกลับมาของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ที่ อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง จังหวัดสงขลา 
วันนี้แอดมินมีโอกาสได้รับภาพจากเพื่อนช่างภาพที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ผู้ซึ่งชอบถ่ายภาพนกมากๆ เมื่อปีที่ผ่านมาเขาก็มีโอกาสถ่ายภาพเจ้านกเงือกกรามช้างปากเรียบกลุ่มใหญ่แบบนี้มาแล้ว ซึ่งปีนี้นกเหล่านี้ได้อพยพกลับมาพำนักอยู่บริเวณสวนยางชายป่าพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง จังหวัดสงขลา และนี่นับเป็นการรวมตัวของนกชนิดนี้กว่า 200 ตัว อีกครั้ง และเป็นบริเวณจุดเดิมๆ ที่เขาเคยมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา โดยการมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากของนกเงือกกรามช้างปากเรียบในครั้งนี้นับเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่บ่งบอกได้ว่าผืนป่าแดนใต้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างนั้นยังคงมีความสมบูรณ์อยู่มากจริงๆและที่นี่น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยเพียงพอ จึงทำให้นกกลุ่มนี้อพยพกลับมาที่นี่อีกครั้งในช่วงนี้

ภาพถ่ายจากประดับ บัวทอง อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับนกเงือกกรามช้างปากเรียบ
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched hornbill) ลักษณะโดยทั่วไป มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ (87-90 ซม.) และมีความคล้ายคลึงกับนกเงือกกรามช้างมาก จะแตกต่างกันตรงที่นกเงือกกรามช้างปากเรียบมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ปากสีเหลืองหรือสีออกเหลือง โคนปากไม่มีรอยบั้ง ถุงใต้คางไม่มีแถบสีดำ ตัวผู้ถุงใต้คางสีเหลือง ส่วนของตัวเมียเป็นสีฟ้า ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี นกเงือกชนิดนี้จะบินอพยพจากป่าตะวันตกลงไปแถวบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย และจะบินกลับขึ้นเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายน

การกระจายพันธุ์ พบกระจายพันธุ์ในพม่า ไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตรา หมู่เกาะโมลุกกะ และหมู่เกาะโซโลมอน พบตามป่าดงดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งระดับเชิงเขา นกชนิดนี้ชอบกินผลไม้สุก 🍊 สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ตามป่าเป็นอาหาร

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ โดยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้สูง ชอบอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็ก ๆ ประมาณ 6-20 ตัว หรือมากกว่า เป็นนกที่บินได้ดี บินในระดับที่สูงพอสมควร มักออกบินเป็นฝูงในตอนเช้าและตอนเย็น และบินออกจากรังไปหาอาหารไกล ๆ นกเงือกกรามช้างปากเรียบทำรังอยู่ในโพรงไม้บนต้นไม้ใหญ่บริเวณหุบเขา วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ภาพถ่ายจากประดับ บัวทอง อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น