xs
xsm
sm
md
lg

‘สีจิ้นผิง’โทรหา ‘ปูติน’ ตอกย้ำหนักแน่นว่ามีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) เจรจาหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
China doubles down on vision with Russia
BY M. K. BHADRAKUMAR
16/06/2022

สี จิ้นผิง เลือกเอาวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของตน โทรศัพท์ไปพูดคุยหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เพื่อเน้นย้ำถึงการยึดมั่นในพันธกรณีของการเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซีย โดยไม่แยแสเสียงเตือนเสียงขู่ของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป

ในบรรดาเทมเพลต “สงครามข้อมูลข่าวสาร” ของฝ่ายตะวันตกที่ใช้โจมตีเล่นงานรัสเซียในระยะหลังๆ มานี้ ชิ้นที่มีการเคลื่อนไหวกันอย่างแอคทีฟที่สุด บางทีน่าจะเป็นการมุ่งบิดเบือนบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียภายในบริบทของวิกฤตการณ์ยูเครน ความอุตสาหะพยายามอย่างน่าสงสัยเช่นนี้มีนัยโดยอ้อมๆ เพื่อผลักดันสถานการณ์ไปสู่ “การปิดเกม” ในยูเครน, สนับสนุนความพยายามของฝ่ายตะวันตกในการ “ลบทิ้ง” รัสเซีย, และหนุนส่งสหรัฐฯในการต่อสู้กับจีน โดยทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนเต็มไปด้วยผลกระทบต่อเนื่องที่จะมีต่อระเบียบโลกซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นมา

เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ผู้มีบทบาทรับผิดชอบในการกำหนดจัดวางสมมุติฐานว่าด้วยความสัมพันธ์แบบสามเส้าระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย-จีนเมื่อครั้งสงครามเย็น ไม่นานมานี้เองเขาได้ป่าวร้องเสนอแนวความคิดที่มุ่งกระตุ้นให้เห็นถึง ปีศาจร้ายแห่ง “การเป็นพันธมิตรกันอย่างถาวร” ระหว่างรัสเซียกับจีน ทั้งนี้โดยมุ่งให้เป็นวิธีการบำบัดรักษาด้วยการช็อกด้วยไฟฟ้า (shock therapy) แก่บรรดาท่านผู้ชมชาวตะวันตกของเขา ซึ่งแสดงความกระหายที่จะโดดเดี่ยวตัดขาดรัสเซียออกจากยุโรป คิสซิงเจอร์ยังแนะนำเคียฟให้ยินยอมสละดินแดนบางส่วนให้แก่มอสโก สมมุติฐานของ คิสซิงเจอร์ มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงและยังคงใช้การได้ในยุคปัจจุบันหรือไม่ เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงอภิปรายกันได้ อย่างไรก็ตาม บางทีเราจำเป็นต้องแสวงหาหลักเหตุผลซึ่งหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซีย ที่เวลานี้อยู่ในระดับสูงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ และมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ที่ทรงความสำคัญถึงขั้นมีส่วนในการแบ่งยุคแบ่งสมัยทีเดียว
(ความเห็นของคิสซิงเจอร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.weforum.org/agenda/2022/05/kissinger-these-are-the-main-geopolitical-challenges-facing-the-world-right-now/)

เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าจีนหรือรัสเซียต่างไม่ได้มุ่งมั่นแสวงหาหนทางที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกัน และแน่นอนทีเดียวว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ไม่ได้มีลักษณะของการเป็นพันธมิตรกันในแบบคลาสสิก แต่ขณะเดียวกัน มันก็มีความย้อนแย้งว่า ความสัมพันธ์นี้กลับกำลังขยายตัวออกไปไกลจนเกินกว่าขอบเขตคำจำกัดความของการเป็นพันธมิตรกันแล้ว เรื่องนี้ปรากฏให้เห็นอย่างมีชีวิตชีวาจากเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งนำออกเผยแพร่ระหว่างที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอกสารชิ้นนี้ใช้ชื่อว่า “คำแถลงร่วมของสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั่วโลก” (Joint Statement of the Russian Federation and the People’s Republic of China on the International Relations Entering a New Era and the Global Sustainable Development)
(ดูรายละเอียดเอกสารชิ้นนี้ได้ที่ http://en.kremlin.ru/supplement/5770)

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ทักทาย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2019 ณ เวทีประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg International Economic Forum) โดยบนเวทีนี้เอง ปูติน ได้มอบปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัเซนต์ปีเตอร์ สเตท (St. Petersburg State University) ให้แก่ สี ด้วย
ด้วยความเป็นมาดังกล่าวนี้เอง การสนทนากันทางโทรศัพท์ระหว่าง ปูติน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน จึงควรที่จะบดขยี้ สงครามข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตะวันตก ให้แหลกละเอียดไปจนหมดสิ้น การที่ สี จิ้นผิง เลือกเอาวันคล้ายวันเกิดของเขามาเป็นวันติดต่อพูดคุยกันคราวนี้ ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงมิตรภาพอันหยั่งรากลึกระหว่างผู้นำทั้งสองในตลอดช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงเป็นการเตรียมรากฐานอันหนักแน่นมั่งคงให้แก่ความสัมพันธ์ของสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเสถียรภาพอย่างใหญ่หลวงให้แก่ความสัมพันธ์นี้อีกด้วย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงธรรมชาติของระบบการเมืองของทั้งสองฝ่าย และความเข้ากันได้ในทางเคมีอย่างน่าอัศจรรย์ของศิลปะแห่งการบริหารรัฐกิจของทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ในระหวางการถกเถียงอภิปรายของฝ่ายตะวันตก ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของเรื่องนี้ กลับเป็นสิ่งที่ถูกทำให้สับสนไขว้เขวอย่างจงใจ หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งพวกเขาไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องถ่องแท้

จากบันทึกย่อทั้งของฝ่ายจีนและฝ่ายรัสเซีย เกี่ยวกับการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่าง สี จิ้นผิง กับ ปูติน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ครั้งนี้ ส่วนที่เด่นๆ อาจจะสรุปเป็นประเด็นๆ ได้ดังต่อไปนี้:

**ในระดับที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดนั้น ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำชนิดไร้ข้อสงสัยว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซีย ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องการมีความไว้วางใจกันในระดับสูงนั้น ไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอะไรจากสถานการณ์ปัจจุบัน หรือจากความปั่นป่วนวุ่นวายตลอดจนความไม่แน่นอนในสถานการณ์ระหว่างประเทศ

**จีนกับรัสเซีย ต่างยังคงยึดถือเป็นพันธกรณีที่จะต้องขยายความสนับสนุนซึ่งกันและกันในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์แกนกลางของแต่ละฝ่าย ตลอดจนในเรื่องที่ต้องให้ความสนใจอย่างใหญ่โต เป็นต้นว่า อธิปไตย และความมั่นคง ทั้งนี้บันทึกย่อของฝ่ายจีนได้เน้นย้ำเรื่องที่ ปูติน แสดงความสนับสนุนจีน ทั้งเรื่องไต้หวัน, ฮ่องกง, และซินเจียง

**ความพยายามของฝ่ายตะวันตกที่จะก่อให้เกิดความห่างเหินในความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีน-รัสเซีย ยังคงไม่บังเกิดผล

**ถึงแม้ฝ่ายตะวันตกใช้มาตรการแซงก์ชั่นเล่นงานรัสเซีย แต่ความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับจีนกลับมีโมเมนตัมที่ดี และมีทีท่าจะสามารถก้าวหน้าไปได้อย่างสม่ำเสมอ ฝ่ายจีนมีความปรารถนาที่จะผลักดันให้ความร่วมมือกันแบบทวิภาคีที่มุ่งผลทางปฏิบัติสามารถพัฒนาไปได้ และดำเนินไปได้อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนาน ถึงแม้ฝ่ายตะวันตกใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่างๆ กับรัสเซียก็ตามที

**ในเรื่องเกี่ยวกับ “ประเด็นปัญหายูเครน” (“Ukraine issue”) ฝ่ายจีนมีการประเมินสถานการณ์ทั้งในแง่ของบริบทความเป็นมาในประวัติศาสตร์และในแง่ของตัวประเด็นปัญหาเอง และมุ่งหาทางให้เกิดการแก้ไขตกลงกันอย่างเหมาะสมในลักษณะที่มีความรับผิดชอบ ทั้งนี้มีการถอยฉากอย่างทรงความสำคัญในด้านถ้อยคำที่ใช้ นั่นคือไม่ได้มีการอ้างอิงถึงคำถามเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งไม่ได้มีการพาดพิงถึง “สงคราม” หรือการหยุดยิง ฯลฯ

**พูดได้อย่างกว้างๆ ว่า ช่วงระยะเวลากว่า 100 วันที่เกิดสงครามในยูเครน สี มุ่งโฟกัสอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องความสนับสนุนที่เขาให้แก่รัสเซีย ข้อความสำคัญก็คือเหตุการณ์ในยูเครนไม่ได้บั่นทอนพันธกรณีพื้นฐานที่ สี มีอยู่กับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างจีน-รัสเซีย
(บันทึกย่อรายงานการสนทนทางโทรศัพท์ระหว่าง สี กับ ปูติน ของฝ่ายจีนดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202206/t20220615_10703804.html และของฝ่ายรัสเซียดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/68658)

ส่วนสำคัญที่สุดก็คือ จีนยิ่งเพิ่มความเห็นดีเห็นงามในวิสัยทัศน์ที่ตนมีอยู่กับรัสเซีย ดังที่ระบุไว้ในคำแลงร่วมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ควรต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการติดต่อขอสนทนากันทางโทรศัพท์ของ สี ครั้งนี้ มีขึ้นเพียงไม่นานก่อนการประชุมซัมมิตของพวกผู้นำยุโรป ซึ่งจัดวางกันขึ้นมาเพื่อแสดงความสามัคคีสมานฉันท์กับยูเครน ไม่เพียงเท่านั้น มันยังมีขึ้นขณะที่เริ่มการนับถอยหลังไปสู่การประชุมซัมมิตขององค์การนาโต้ตอนสิ้นเดือนนี้ ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการพิจารณารับรอง “แนวความคิดเชิงยุทธศาสตร์” อย่างใหม่ประการหนึ่ง ที่มุ่งยกระดับความระแวงระไวมุ่งต่อต้านรัสเซีย รวมทั้งยังจะมีการอ้างอิงถึงความท้าทายของจีนต่อกลุ่มพันธมิตรทางทหารกลุ่มนี้เป็นครั้งแรกอีกด้วย ทั้งนี้ผู้นำของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็จะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของนาโต้เป็นครั้งแรกเช่นกัน

ข้อความสำคัญมากที่ส่งออกมาตรงนี้ก็คือ จีนกับรัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องต่อต้านการที่นาโต้มุ่งกำราบปราบปรามพวกตนอย่างรอบด้าน โดยที่จีนกับรัสเซียจะอาศัยความร่วมมือกันในทางยุทธศาสตร์อย่างใกล้ชิด และเพิ่มการธำรงรักษาความสมดุลของสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ระดับโลก อันที่จริงแล้ว การลาดตระเวนตรวจการณ์ทางอากาศร่วมกันเหนือทะเลญี่ปุ่น และทะเลจีนตะวันออก โดยหน่วยเฉพาะกิจเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายรัสเซียและของฝ่ายจีน เป็นเวลา 13 ชั่วโมงในตอนปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่ระเบิดเปรี้ยงขึ้นมาท่ามกลางการสู้รบขัดแย้งเรื่องยูเครน และย่อมเป็นสิ่งที่ส่งข้อความได้ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว
(ดูเพิ่มเติมการตรวจการณ์ทางอากาศร่วม ได้ที่ https://tass.com/defense/1455139?utm_source=google.com&utm_medium=organic&utm_campaign=google.com&utm_referrer=google.com)

ในอีกด้านหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ว่า โตเกียวจู่ ๆ ก็ฟื้นคืนชีพข้อพิพาทในเรื่องที่รัสเซีย “ยึดครอง” หมู่เกาะคูริล (Kuril Islands) ขึ้นมาใหม่ ในตอนที่ มอสโกกำลังพัวพันยุ่งเหยิงอยู่ในการสู้รบขัดแย้งทางแนวรบด้านตะวันตก เรื่องนี้มีแต่จะนำเอารัสเซียและจีนเข้าสู่ความคิดเห็นร่วมกันในเรื่องที่ว่า การก้าวผงาดขึ้นมาใหม่ของลัทธินิยมทหารของญี่ปุ่น (Japanese militarism) ด้วยความสนับสนุนและการกระตุ้นส่งเสริมของสหรัฐฯนั้น คือปัจจัยใหม่ประการหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

พิจารณากันโดยรวม การที่ สี จิ้นผิง ต่อโทรศัพท์มา รวมทั้งการแสดงออกอย่างเร่าร้อนแรงกล้า ตลอดจนการที่จีนแสดงความสนับสนุนและความเข้าอกเข้าใจเช่นนี้ บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ ปูติน กำลังต้องการได้สิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมากที่สุด บันทึกย่อของฝ่ายเครมลิมเน้นย้ำเอาไว้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาดังนี้: “มีการตกลงเห็นพ้องกันที่จะขยายความร่วมมือกันในด้านพลังงาน, การเงิน, อุตสาหกรรมการผลิต, การขนส่ง, และด้านอื่นๆ มีการพูดจาหารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกซึ่งกำลังมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาก สืบเนื่องจากนโยบายการแซงก์ชั่นอย่างไม่ชอบธรรมที่ฝ่ายตะวันตกนำออกมาบังคับใช้ นอกจากนั้นยังมีการพูดกันถึงการพัฒนาความผูกพันทางการทหารและทางด้านกลาโหมให้คืบหน้าต่อไปอีกด้วยเช่นกัน”
หากหยิบยิบคำพูดชนิดที่ขาดไร้ความเป็นนักการทูตของ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปมาใช้แล้ว ก็คงต้องบอกว่า สีอาจจะถูกลงโทษจาก “การสร้างความเสียหายทางด้านชื่อเสียงเกียรติคุณอย่างสำคัญให้แก่ประเทศจีน” ขึ้นในโลกตะวันตก ทั้งนี้เห็นได้ชัดๆ ทีเดียวว่า สี เพิกเฉยไม่แยแสคำเตือนอย่างซ้ำๆ ซากๆ ของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่ว่า “มาตรการแซงก์ชั่นอย่างโหดๆ ราวกับมาจากนรก” เพื่อทำให้รัสเซียอ่อนแอลงนั้น จะมาเยือนจีนด้วยเช่นกัน หากปักกิ่งขืนให้การสนับสนุนแก่มอสโก เป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่า สี ยังคงเพิ่มพลังอีกครั้งให้แก่ความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีน-รัสเซียเช่นนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงหลังๆ นี้พวกเจ้าหน้าที่บริหารไบเดนกำลังแพร่กระจายความคิดที่ว่า กำลังมีการพิจารณาเพื่อผ่อนคลายความเย็นชาในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน
(ดูเพิ่มเติมคำพูดของประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ที่ https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/STATEMENT_22_2221 และดูเพิ่มเติมเรื่องพวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารไบเดนเตือนจีนจะถูกแซงก์ชั่นแบบรัสเซียได้ที่ https://www.reuters.com/world/china/biden-xi-set-clash-over-putins-war-ukraine-2022-03-18/)

หยาง เจียฉือ (ที่ 1 จากขวา) สมาชิกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน พบหารือกับที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เจค ซัลลิแวน (ที่ 1 จากซ้าย) ที่ลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้หลังจากการหารือกันเมื่อวันจันทร์ 13 มิ.ย.) ระหว่าง หยาง เจียฉือ สมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน ที่ลักเซมเบิร์ก แล้ว ทำเนียบขาวพูดถึงลักษณะของการเจรจาคราวนี้ว่า เป็นไปอย่าง “ตรงไปตรงมา, มีเนื้อหาสาระ, และก่อให้เกิดผล” ขณะที่เอกสารข่าวเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนของฝ่ายจีนใช้ถ้อยคำแบบระวังระวังอย่างชัดเจนมาก ดังนี้: “สหรัฐฯควรที่จะมองจีนโดยผ่านทัศนะมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง, ตัดสินใจเลือกให้ถูกต้อง, และแปลความหมายในข้อสังเกตของประธานาธิบดีไบเดนออกมาเป็นการกระทำอย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯไม่ได้มุ่งหาทางทำสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน, สหรัฐฯไม่ได้มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ของจีน, การชุบชีวิตฟื้นชีพกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ของสหรัฐฯไม่ได้มีเป้าหมายเล็งใส่จีน, สหรัฐฯไม่ได้สนับสนุน “ไต้หวันที่เป็นเอกราช”, และสหรัฐฯไม่ได้มีเจตจำนงที่จะหาแสวงหาการสู้รบขัดแย้งกับจีน, สหรัฐฯต้องการที่จะทำงานไปกับจีนในทิศทางเดียวกัน เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามฉันทามติสำคัญที่ประมุขแห่งรัฐของทั้งสองฝ่ายทำกันไว้”
(ดูบันทึกย่อของทำเนียบขาวได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/06/13/readout-of-national-security-advisor-jake-sullivans-meeting-with-politburo-member-yang-jiechi-3/ และดูเอกสารข่าวเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนของฝ่ายจีนได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202206/t20220614_10702808.html)

หยางยังเตือนเอาไว้ว่า “คำถามเรื่องไต้หวันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ถ้าหากไม่มีการดูแลเรื่องนี้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว มันก็จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางบ่อนทำลาย ความเสี่ยงในเรื่องนี้ไม่เพียงแค่มีอยู่จริงๆ เท่านั้น แต่ยังจะขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อีกด้วย” บันทึกย่อการสนทนาของฝ่ายจีนพูดถึงการหารือที่ลักเซมเบิร์กว่า ดำเนินไปอย่าง “ตรงไปตรงมา, ลงลึก, และมีการสื่อสารกันและการแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์”

เรื่องที่ สี โทรศัพท์ไปพูดจากับ ปูติน เกิดขึ้นมาถัดจากนั้น 2 วัน

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/china-doubles-down-on-vision-with-russia/
กำลังโหลดความคิดเห็น