สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว รู้หรือไม่ว่าคนญี่ปุ่นทั่วไปเพิ่งมีนามสกุล [ เมียวจิ 名字 หรือ 苗字] ใช้กันเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนี้เองครับ สมัยที่คนทั่วไปยังไม่มีนามสกุลใช้นั้น จะมีแค่ชนชั้นสูง ซามูไร ขุนนาง ข้าราชการผู้มียศศักดิ์ หรือพระสงฆ์ เท่านั้นที่มีนามสกุล ต่อเมื่อคนทั่วไปสามารถใช้นามสกุลได้ จึงตั้งให้มีความเรียบง่ายและมีความหมายทั่วๆ ไปที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพ ที่มาที่ไปตามประวัติศาสตร์ของวงศ์ตระกูล หรือทำเลของสถานที่อยู่อาศัยของตน
นามสกุลต่างๆ ที่แตกต่างกันตามการเขียนของอักษรคันจิ บางนามสกุลมีการออกเสียงและใช้อักษรโรมาจิเหมือนกัน นั่นคือมีคนที่ใช้นามสกุลซ้ำๆ กันมากมาย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเครือญาติกันก็ตาม ยกตัวอย่างนามสกุลที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุด เช่น นามสกุล ซูซูกิ, ซาโต้, ทานากะ, ยามาดะ , ทาคาฮาชิ เป็นต้น
เวลาที่คนญี่ปุ่นไปทำธุรกรรมต่างๆ ต้องพกตราประทับฮังโกะ หรือ อินคัง (ตราประทับที่สลักนามสกุลของบุคคลนั้นๆ) ไปด้วย เพื่อใช้แทนการเซ็นชื่อด้วยลายมือตัวเอง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนตามกฎหมาย สำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ และใช้ประทับตราเอกสาร อาทิ ประทับตราเอกสารรับเงินช่วยเหลือจากประเทศ, เอกสารการจดทะเบียนสมรส, การเช่าซื้อบ้านและที่ดิน ชำระหนี้ การซื้อรถยนต์ ฯลฯ บางคนอาจมีฮังโกะมากกว่าหนึ่งอันตามลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน และตามความสำคัญของเอกสาร
ฮังโกะที่จดทะเบียนสำหรับนำไปใช้ในทางกฎหมาย สำหรับใช้ประทับตราเอกสารทางราชการต่างๆ เรียกว่า 実印 จิซึอิน (Jitsuin) และ ฮังโกะสำหรับใช้ทำธุรกรรมธนาคารเรียกว่า 銀行印 กิงโคอิน (Ginko in) ที่ใช้สำหรับประทับตราบนสมุดบัญชีธนาคาร เทียบเท่าลายเซ็นเหมือนที่คนไทย เซ็นชื่อตอนทำธุรกรรมธนาคารครับ ธนาคารมักจะแนะนำว่าอย่าเอาฮังโกะไปเก็บไว้คู่สมุดบัญชีนะ เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีแอบนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งถ้ามีตราประทับฮังโกะอย่างเดียวก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรกับบัญชีได้เลย และแม้ว่าจะมีสมุดบัญชีแต่ไม่มีฮังโกะก็ไม่สามารถทำธุรกรรมได้เช่นกัน ก็มีคนถกเถียงถึงปัญหานี้มาตลอดเพราะการใช้ฮังโกะยังมีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้นมากกว่าการเซ็นชื่อ
ตราประทับฮังโกะสามารถใช้แทนลายเซ็นได้เลย ทำให้มีบางคนแอบนำตราประทับฮังโกะของสมาชิกในครอบครัวมาใช้ในการทำธุรกรรม โดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้เรื่อง และยังมีข่าวว่ามีเครื่องจักรที่สามารถลอกเลียนแบบฮังโกะได้อย่างแยบยล หรือแม้แต่การทำสำเนาปลอมแปลงเอกสารก็มีข่าวให้เห็นบ่อยๆ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีประเด็นเรื่องการใช้ฮังโกะของคนญี่ปุ่นที่ดูเป็นสิ่งย้อนแย้งในยุคเทคโนโลยีล้ำสมัยแต่กลับยังไม่ใช้ลายเซ็นดิจิทัลเพื่อเป็นทางเลือกในการยืนยันตัวตน
ฮังโกะมีทั้งแบบที่ทำจากพลาสติกราคาประหยัด ตามร้าน 100 เยน จนถึงงานฝีมือชั้นเยี่ยมที่แกะสลักจากงาช้างหรือเขาสัตว์อย่างปราณีตด้วยราคาที่แพงลิ่ว บางคนไม่ใช้ฮังโกะที่มีวางขายตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปเลย ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นมักจะเก็บฮังโกะของตนไว้ในที่ที่ปลอดภัยเสมอจนบางครั้งก็ลืมว่าเก็บไว้ที่ไหน
มีคนจำนวนมากที่ทำฮังโกะหาย อย่างผมมักจะเก็บสมุดบัญชีธนาคารและบัตรประจำตัวไว้เป็นหลักแหล่ง แต่เก็บตราประทับฮังโกะไว้ต่างหาก จึงมักจะหายอยู่เสมอ มีคนญี่ปุ่นบางคนบอกว่าใช้วิธีการเก็บแยกเหมือนกัน คือเอกสารสำคัญจะเก็บในตู้เก็บของและจำได้อย่างดี แต่ว่าเอาฮังโกะไปเก็บแยกไว้ตามช่องในกีตาร์บ้าง หรือในลิปสติกที่ใช้หมดแล้วบ้าง และก็ลืมพอจะหาขึ้นมาก็หาไม่เจอ (●´ω`●)
เมื่อพูดถึงการใช้ฮังโกะกับนามสกุลแล้ว ผมคิดว่าผู้ที่ใช้นามสกุลยอดฮิตๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี กรณีที่เราต้องไปทำงานต่างจังหวัดและต้องทำธุรกรรม ไม่ว่าจะติดต่อฝ่ายการเงินของบริษัทสาขา หรือพบลูกค้า แต่บังเอิญลืมเอาฮังโกะไป ก็ยังสามารถหาฮังโกะสำรองง่ายมาก อาจจะยืมจากเพื่อนในบริษัทที่นามสกุลเหมือนกัน หรือไปหาซื้อใหม่ตามร้านค้าก็หาได้ง่าย
และอีกอย่างหนึ่งคนที่มีนามสกุลเหมือนกัน เป็นที่รู้จักโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เวลาเรียนมหาวิทยาลัยจะไม่เป็นที่สะดุดตาอาจารย์ ไม่ต้องถูกเพ่งเล็ง เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นนามสกุลแปลกๆ นามสกุลใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมามักจะเป็นที่สังเกตของคนในห้อง และอาจถูกอาจารย์เรียกตอบบ่อยๆ มีเรื่องเล่าว่ามีเจ้าพนักงานข้าราชการคนหนึ่งรู้ข่าวผู้ร้ายเพราะเป็นคนที่ใช้นามสกุลตั้งใหม่แถมแปลก ทำให้จดจำง่ายเพราะใช้คันจิที่แปลว่า “ฟันของน้องสาว” วันหนึ่งมีลูกค้าที่ใช้นามสกุลนี้มาติดต่อทางราชการ ทำให้พนักงานจำได้ว่า คนที่มาติดต่อต้องเป็นญาติหรือเป็นลูกของคนที่นามสกุลฟันของน้องสาวแน่ๆ แต่ถ้าเป็นนามสกุลทานากะหรือนามสกุลซูซูกิ อาจจะไม่เป็นจุดสังเกต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนญี่ปุ่นที่ชอบความเป็นส่วนตัว
อย่างไรก็ตามนามสกุลที่ใช้ซ้ำกันเยอะๆ ก็อาจจะมีประเด็นเรื่อง ความงง! ไม่รู้ว่าเป็นคนไหนกันแน่ บางบริษัทถ้ามีคนนามสกุลเดียวกัน 3-4 คนหรือยิ่งไปกว่านั้นเป็นชื่อเดียวกันอีก ก็จะทำให้สับสนว่าใครเป็นใคร มีเรื่องเล่าว่ามีนักเรียนในคลาสภาษาอังกฤษสองคนที่มีชื่อและนามสกุลเดียวกัน จนคุณครูต้องถามว่าแต่ละคนบ้านอยู่ที่สถานีรถไฟอะไร? แล้วเรียกเป็นชื่อสถานีแทน
และเรื่องจากมังงะเล่าว่า มีคนโทรศัพท์เข้ามาหาคุณทากาฮาชิ ซึ่งในบริษัทนั้นมีคุณทากาฮาชิอยู่ 3 คน แต่โอเปอร์เรเตอร์รู้และไปเรียกได้ถูกคน คุณทากาฮาชิที่มารับโทรศัพท์ก็ถามว่าให้ผมเป็นทากาฮาชิไหน? หรือเมื่อพนักงานต้อนรับบอกแขกที่มาเยือนว่า เรามีคุณอาโอยามะวัยกลางคนที่อวบๆ หน่อย และคุณอาโอยามะที่หล่อที่สุด คุณต้องการพบคนไหนคะ? คืออาจจะต้องมีการตั้งสมญานามของคนแต่ละคนขึ้นมาเพื่อให้จำได้ เมืองไทยมีคนที่ใช้ชื่อและนามสกุลเดียวกันไหมครับ วันนี้เล่าสู่กันฟัง สวัสดีครับ