xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์พร้อมตรวจเชื้อ "ฝีดาษลิง" ช่วยวินิจฉัย - คุณภาพวัคซีนไข้ทรพิษ เผยสหรัฐฯ มี 2 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมวิทย์ฯ เตรียมพร้อมแล็บตรวจหาเชื้อ "ฝีดาษลิง" เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค และการตรวจคุณภาพวัคซีนไข้ทรพิษ เผยสหรัฐฯ มี 2 ตัว เป็นแบบอ่อนฤทธิ์ ศูนย์คุมโรคสหรัฐฯ แนะใช้ยารักษาทรพิษ 3 ตัวช่วยรักษา หรือแอนติบอดีสำเร็จรูป กำลังติดตามประเมินประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจเชื้อโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ว่า กรมฯ ในฐานะห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เตรียมความพร้อมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน โดยเตรียมการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค Real-time PCR ระยะเวลาการตรวจ 24 - 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ ด้วยเทคนิค DNA sequencing ระยะเวลาการตรวจ 4 - 7 วัน
นอกจากนี้ ยังเตรียมตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค ในแต่ละรุ่นการผลิตก่อนจำหน่าย ทั้งด้านความปลอดภัย ด้านเคมี-ฟิสิกส์ และความแรง เพื่อยืนยันว่าวัคซีนนำเข้ามีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงมั่นใจได้ว่าหากมีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน จะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
"วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษคนถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี 2523 หรือมากกว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนนี้ แต่วัคซีนยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนป้องกันฝีดาษคน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ได้แก่ วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic และวัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis ที่ได้รับการอนุมัติจาก อย.สหรัฐอเมริกาแล้ว" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับเชื้อโรคไข้ทรพิษ คือกลุ่ม orthopoxvirus มีอาการคล้ายกัน มีสัตว์ฟันแทะ เป็นแหล่งรังโรค ติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง หรือผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ และติดต่อจากคนไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากการไอจาม ผื่น หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการโดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางครั้งอาการคล้ายกับโรคสุกใสและหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ แนะนำให้ควบคุมโรคโดยใช้ยารักษาโรคไข้ทรพิษ ได้แก่ Tecovirimat (ST-246), Cidofovir และ brincidofovir รวมถึงการให้แอนติบดีเสริมภูมิต้านทานสำเร็จรูปชื่อ Vaccinia Immune Globulin (VIG) สำหรับรักษาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรุนแรง โดยยาดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการติดตามประเมินประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น