xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! “ไบเดน” ประกาศชื่อ 12 ประเทศรวม “ไทย” ร่วม “กรอบทำงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF” แก้ปัญหาห่วงโซอุปทาน-ต่อต้านคอร์รัปชัน เล็งถ่วงดุลอำนาจจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เอพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน วันนี้ (23 พ.ค.) ประกาศชื่อ 12 ประเทศที่ตกลงร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงการค้าใหม่ "กรอบทำงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF" ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวม “ไทย” แต่ไร้เงาไต้หวันเข้าร่วมกรอบข้อตกลงการค้าคิดเป็น 40% ของจีดีพีโลก พุ่งเป้าไปที่ความร่วมมือทางห่วงโซ่อุปทาน การค้าดิจิทัล พลังงานสะอาด และความพยายามต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นการเปิดฉากเขียนข้อกำหนดใหม่สำหรับเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21 มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการเพิ่มอิทธิพลของจีน

เอพีรายงานวันนี้ (23 พ.ค.) ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศชื่อ 12 ประเทศเข้าร่วม “กรอบทำงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าใหม่ที่ทำเนียบขาวชี้ว่า จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับชาติต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในประเด็นห่วงโซ่อุปทาน การค้าดิจิทัล พลังงานสะอาด และความพยายามต่อต้านการคอร์รัปชัน

ซึ่งรายชื่อที่ถูกประกาศออกมานอกเหนือจากสหรัฐฯ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รวม “ไทย” แต่ไร้เงาไต้หวันเข้าร่วม

เอบีซีนิวส์รายงานว่า ที่ปรึกษาความมั่นคงประจำทำเนียบขาว เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ได้ยืนยันวันอาทิตย์ (22) ว่า จะไม่มีไต้หวันเข้าร่วมในกรอบทำงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF เขากล่าวว่า “เราต้องการที่จะกระชับความเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นกับไต้หวัน รวมถึงด้านเทคโนโลยีชั้นสูงต่างๆ รวมไปถึงด้านเซมิคอนดักเตอร์ซัปพลาย” เขากล่าวต่อว่า “แต่ทางเราต้องการดำเนินการในครั้งแรกผ่านระดับทวิภาคีก่อน”

แมทธิว กู๊ดแมน (Matthew Goodman) รองประธานอาวุโสด้านเศรษฐกิจประจำศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ (Center for Strategic and International Studies) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แสดงความเห็นว่าอาจจะมีชาติสมาชิกอินโด-แปซิฟิกบางส่วนผิดหวังที่ข้อตกลงการค้าใหม่นี้จะไม่รวมถึงมาตรการที่จะทำให้สามารถเข้าถึงตลาดภายในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

ขณะที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าอินโด-แปซิฟิกนี้ขาดแรงจูงใจสำหรับประเทศที่เข้าร่วม เป็นต้นว่า ไม่มีมาตรการลดกำแพงภาษี อย่างไรก็ตาม ไบเดนให้คำมั่นว่า กรอบทำงานเศรษฐกิจ IPEF ของเขานั้นจะทำให้เกิด “ผลประโยชน์อย่างเป็นรูปร่างแน่นอน”

การถือกำเนิดของข้อตกลงการค้าอินโด-แปซิฟิกในวันจันทร์ (23) เกิดขึ้นระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก โดยไบเดนออกคำเตือนต่อประชาชนอเมริกันที่กำลังวิตกต่อปัญหาเงินเฟ้อว่า จะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานก่อนที่ทุกอย่างจะดีขึ้น

เขากล่าวในงานแถลงข่าวหลังพบกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ แล้วโดยยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเกิดปัญหาแต่ยังกล่าวต่อว่า สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าทั่วโลก

ทั้งนี้ ไบเดนออกมาปฏิเสธเสียงแข็งที่ว่า เศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะเลี่ยงได้

เอพีรายงานว่า ทำเนียบขาวกล่าวว่าข้อตกลงกรอบทำงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF นี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเดินทางทัวร์เอเชียของผู้นำสหรัฐฯ และความพยายามของเขาในการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรชาติอินโด-แปซิฟิก แต่ทว่าหนังสือพิมพ์แอลเอไทม์สชี้ว่า IPEF นี้ยังห่างไกลจากมาตรฐานข้อตกลงการค้าเสรี และอีกทั้งยังคลุมเครือในรายละเอียด

ซึงนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง กล่าวแสดงความเห็นถึง IPEF ว่า ความริเริ่มใหม่นี้สามารถที่จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับสหรัฐฯ ในการเกี่ยวข้องการทูตทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความคาดหวังว่าจะมีความร่วมมือมากขึ้นในอนาคต

ขณะที่รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซีย มูฮัมหมัด ลุตฟี (Muhammad Lutfi) ออกมาเตือนว่า กลุ่มการค้าที่เกิดใหม่นี้ไม่สมควรถูกใช้เพื่อจุดประสงค์กีดกันชาติอื่น โดยอ้างอิงไปถึงจีน

ด้านหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า ไบเดนประกาศถึงข้อตกลงกรอบทำงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF อย่างยิ่งใหญ่ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นในวันจันทร์ (23) โดยมีใจความว่า “พวกเรากำลังเขียนข้อกำหนดใหม่สำหรับเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ 21” หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ รายงานว่า ซึ่งการถือกำเนิดของข้อตกลงนี้เป็นเครื่องมือถูกใช้โดยสหรัฐฯ สำหรับการต่อต้านอิทธิพลจีนในภูมิภาค

กระทรวงต่างประเทศจีนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรอบการทำงานเศรษฐกิจ IPEF ว่า เป็น “กลุ่มปิด” และเชื่อว่าจะสร้างความสับสนอลหม่านขึ้นภายในภูมิภาค

“เราหวังว่าพวกเขาจะสร้างกลุ่มของเพื่อนมิตรสหายในเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้างและรวมมากกว่าเป็นกลุ่มปิด และทำมากขึ้นเพื่อสันติภาพและการพัฒนา มากกว่าสร้างความสับสนอลหม่านภายในภูมิภาค” โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน หวัง เหวินบิน (Wang Wenbin) แถลง

กู๊ดแมนซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ สมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา เรียก IPEF นี้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากที่สหรัฐฯ มียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม กู๊ดแมนออกมาเตือน “เราเป็นขุมอำนาจแปซิฟิกแต่ไม่ใช่ประเทศเอเชีย” และเสริมต่อว่า “ในการที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นพันธมิตรที่แท้จริงและเป็นผู้เล่นในภูมิภาคเราจำเป็นต้องเข้าร่วมในทุกระดับ และมันไม่ใช่แค่เกี่ยวกับทางการทหารของเราหรือความสามารถทางการทูตของเราเท่านั้น”

หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า ซัลลิแวน ยืนยันว่า กรอบการทำงานเศรษฐกิจ IPEF ไม่ใช่การบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกระหว่าง “จีน” และ “สหรัฐฯ” แต่เป็นการเสนอในสิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องการพิจารณาอย่างมาก และเขายังกล่าวทิ้งทายว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1976

กำลังโหลดความคิดเห็น