xs
xsm
sm
md
lg

แล้วกัน! คว่ำบาตรกันยังไง รัสเซียโกยรายได้จากส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น 50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียพุ่งขึ้นราวๆ 50% นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2022 ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างอิงข้อมูลจากทบวงพลังงานสากล (IEA)

จากรายงานด้านการตลาดรายเดือนของทบวงพลังงานสากล พบว่า รัสเซียโกยรายได้ราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในปีนี้ จากการขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน

ตัวเลขรายได้ที่เติบโตนี้มีขึ้นแม้ถูกตะวันตกคว่ำบาตร ตอบโต้กรณีรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน และส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้น สหรัฐฯ ห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทั้งหมด ส่วนอียูและสหราชอาณาจักรแถลงว่าพวกเขามีความตั้งใจจะหยุดซื้อน้ำมันดิบรัสเซียโดยสิ้นเชิงในช่วงปลายปี ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างเชลล์ และโททัลเอเนอร์จีส์ รับปากกว่าจะหยุดซื้อน้ำมันจากมอสโก

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของไออีเอพบว่า การส่งออกน้ำมันของรัสเซียมีแต่เพิ่มขึ้น จากระดับ 620,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม เป็น 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน กลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตยูเครน ซึ่งตามด้วยมาตรการคว่ำบาตร สืบเนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของไออีเอ พบว่า รัสเซียส่งออกน้ำมันโดยตรงไปยังเอเชียมากขึ้น โดยมีจีน และอินเดีย หยิบฉวยประโยชน์จากอุปทานที่ก่อนหน้านี้เคยมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางอื่นๆ

แต่ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของอียู แม้จุดยืนคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย ทว่าจนถึงตอนนี้ยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับเชื้อเพลิงรัสเซีย โดยจากปริมาณการส่งออกน้ำมันทั้งหมดของรัสเซียในเดือนเมษายน ในนั้นมีถึง 43% ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

ฝ่ายบริหารของอียูเสนอร่างมาตรการแซงก์ชันรัสเซียรอบใหม่ให้ชาติสมาชิกพิจารณาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทว่า ยังมีบางชาติไม่ต้องการร่วมวงคว่ำบาตรน้ำมันมอสโก หรือขอเวลาดำเนินการนานเป็นปี ขณะที่นักการทูตยุโรปเตือนว่า การยอมยกเว้นให้บางประเทศจะบ่อนทำลายมาตรการลงโทษนี้

ทบวงพลังงานสากลระบุว่า ตลาดพลังงานโลก ที่อยู่ในภาวะตึงตัวอยู่ก่อนแล้วจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับน้ำมันดิบรัสเซีย อาจเผชิญความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มเติมจากปัจจัยร่วมระหว่างความเคลื่อนไหวของอียูที่อาจกำหนดมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย และอุปสงค์ที่ฟื้นตัวในจีน จากการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด-19

หน่วยงานแห่งนี้คาดหมายด้วยว่าอุปทานโลก ซึ่งลดลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนที่แล้ว อาจหดหายไปจากตลาดมากที่สุดถึง 1 ใน 3 ในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้

(ที่มา : รัสเซีย/บลูมเบิร์ก)
กำลังโหลดความคิดเห็น