xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘บองบอง’ ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ นำตระกูล ‘มาร์กอส’ หวนคืนอำนาจในฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส คว้าชัยชนะแบบ ‘แลนด์สไลด์’ ไม่พลิกความคาดหมายในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา บ่งบอกว่าชาวเมืองตากาล็อกเลือกแล้วที่จะเดิมพันอนาคตของชาติกับตระกูลนักการเมืองดังที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ โดยมองข้ามคำเตือนจากหลายๆ ฝ่ายที่เกรงว่าการขึ้นสู่อำนาจของทายาทเผด็จการจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือที่คนฟิลิปปินส์เรียกสั้นๆ ว่า “บองบอง” ให้สัญญาว่าเขาจะเป็นประธานาธิบดีของชาวฟิลิปปินส์ทุกคน และจากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปราวๆ 98% พบว่า มาร์กอส จูเนียร์ ได้รับคะแนนจากชาวฟิลิปปินส์มากถึง 31 ล้านเสียง นำโด่งเหนือคู่แข่งอันดับ 2 อย่างรองประธานาธิบดี “เลนี โลเบรโด” ซึ่งได้มาเพียง 14 ล้านเสียง

“ด้วยคะแนนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ชาวฟิลิปปินส์ได้สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในชาติด้วยการออกเสียงตามแนวทางประชาธิปไตย” โฆษก มาร์กอส จูเนียร์ ระบุในถ้อยแถลง “นี่คือชัยชนะสำหรับชาวฟิลิปปินส์ทุกคนและระบอบประชาธิปไตย สำหรับทุกๆ คนที่โหวตให้ บองบอง รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เลือกเขา เขาให้สัญญาว่าจะเป็นประธานาธิบดีสำหรับพวกท่านทุกคน จะแสวงหาจุดยืนร่วมในความแตกต่างทางการเมือง และจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อให้ประเทศชาติมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง”

คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะเทคะแนนให้แก่ “ซารา” บุตรสาวของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต จนชนะการเลือกตั้งรองประธานาธิบดีขาดลอย โดยในฟิลิปปินส์นั้นการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีถือว่าแยกขาดจากกัน

ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นการกลับคืนสู่อำนาจอย่างน่าทึ่งของตระกูลมาร์กอส ที่เคยถูกประชาชนโค่นล้มและถึงขั้นต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ทำลายความหวังของชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพวกปัญญาชนเสรีนิยมที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง หลังจาก 6 ปีภายใต้ระบอบของ โรดริโก ดูเตอร์เต ที่ลุแก่อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้พ่อ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 1965 และเริ่มประกาศใช้กฎอัยการศึกในปี 1972 นำมาซึ่งการกดขี่และปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และยังมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางจนเงินในคลังหายไปนับหมื่นล้านดอลลาร์ นับแต่นั้นมาชื่อตระกูล “มาร์กอส” ก็มักจะถูกนำไปโยงกับการปล้นชาติ ระบบพวกพ้อง และการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย

การปฏิวัติ “พลังประชาชน” ในปี 1986 กลายเป็นจุดจบของระบอบเผด็จการอันยาวนานถึง 20 ปีของมาร์กอส และทำให้เขากับภรรยา “อิเมลดา” ต้องพาลูกๆ อพยพหนีไปอยู่ฮาวาย

มาร์กอส เสียชีวิตลงในปี 1989 และครอบครัวของเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับฟิลิปปินส์ในปี 1991

ซารา ดูเตอร์เต บุตรสาวของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งชนะศึกเลือกตั้งรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ไปด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย
ตลอดระยะเวลา 36 ปีหลังจากที่บิดาหมดอำนาจวาสนา เหล่าทายาทของมาร์กอส พยายามที่จะ “ฟอกขาว” ประวัติของครอบครัว และพลิกฟื้นอิทธิพลขึ้นมาใหม่ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับตระกูลนักการเมืองคู่แข่ง ซึ่งก็รวมถึงครอบครัว “ดูเตอร์เต”

มาร์กอส จูเนียร์ เคยเป็นรองผู้ว่าการและผู้ว่าการจังหวัดอิโลกอสนอร์เต (Ilocos Norte) ฐานเสียงหลักของตระกูลมาร์กอสทางภาคเหนือของฟิลิปปินส์ และยังมีประสบการณ์ทำงานในฐานะ ส.ส. และ ส.ว. มาแล้ว

นักการเมืองวัย 64 ปี ผู้นี้ยืนกรานปฏิเสธเสียงประณามความโหดร้ายและการทุจริตของครอบครัวเขา และเนื่องจากกาลเวลาได้ผ่านมานานกว่า 30 ปี บวกกับยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ที่ดุเดือด ทำให้คนฟิลิปปินส์จำนวนมากที่โหยหา “ความรุ่งโรจน์” ในอดีตเลือกที่จะเทคะแนนให้ มาร์กอส จูเนียร์ โดยมองข้ามความผิดที่คนตระกูลนี้เคยก่อไว้กับประเทศชาติ

“เขาจะทำให้ประเทศเราหลุดพ้นจากความยากจนที่เรากำลังเผชิญกันอยู่” แอนโธนี โซลา หนึ่งในผู้สนับสนุนมาร์กอส ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พร้อมปฏิเสธที่จะเชื่อว่าครอบครัวมาร์กอส เคยปล้นทรัพย์สินของชาติไปมากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์

“ผมไม่เชื่อว่าพวกเขาขโมยเงินไปหรอก เพราะถ้าทำจริง ป่านนี้ก็ต้องติดคุกกันไปหมดแล้วสิ”

มาร์กอส จูเนียร์ เคยออกมาโต้เถียงแทนบิดาของเขา โดยอ้างถึงเศรษฐกิจที่ขยายตัวและการใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกที่รัฐบาลมาร์กอส ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเขาอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องประเทศจากภัยคุกคามของพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มก่อความไม่สงบมุสลิม

แม้จะยกย่องบิดาว่าเป็น “อัจฉริยะทางการเมือง” แต่ มาร์กอส จูเนียร์ ก็พยายามปลีกตัวออกห่างจากข้อครหาปล้นชาติ และการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของระบอบมาร์กอสซึ่งมีส่วนทำให้ฟิลิปปินส์ยากจนลงอย่างมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แคมเปญหาเสียงของ มาร์กอส จูเนียร์ ได้แรงสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมจากการประกาศจับมือกับ ซารา ดูเตอร์เต ซึ่งลงสมัครชิงรองประธานาธิบดี ท่ามกลางความกังวลของนักสิทธิมนุษยชนและบรรดาผู้นำโบสถ์คาทอลิกที่เกรงว่าสองทายาทเผด็จการจะจับมือกันผูกขาดอำนาจบริหารในฟิลิปปินส์

กลุ่มที่ต่อต้านตระกูลมาร์กอส พยายามร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า “บองบอง” ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครประธานาธิบดี เช่น เคยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานเลี่ยงภาษี รวมถึงกล่าวหาว่าเขาโกงวุฒิการศึกษา และเรื่องที่ครอบครัวของเขาไม่ได้จ่ายภาษีมรดก (estate tax) เป็นเงินเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ ทว่าความพยายามสกัดดาวรุ่งเหล่านี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

นักวิเคราะห์เตือนว่าหาก มาร์กอส จูเนียร์ ได้เป็นผู้นำฟิลิปปินส์ เขาอาจใช้อำนาจขัดขวางการตรวจสอบและติดตามเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกปล้นออกไปจากคลังในช่วงที่บิดาของเขาปกครองประเทศ

ในฐานะประธานาธิบดี “บอง บอง” จะมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยธรรมาภิบาลแห่งทำเนียบประธานาธิบดี (Presidential Commission on Good Government - PCGG) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทวงคืนทรัพย์สินจากตระกูลมาร์กอส รวมถึงกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการด้วย

จอห์น เอ. อักบายานี ประธาน PCGG ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า คณะกรรมาธิการซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1986 สามารถทวงคืนทรัพย์สินจากครอบครัวมาร์กอสได้แล้วประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ อีก 2,400 ล้านดอลลาร์อยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย ทว่าก็ยังมีทรัพย์สินอีกจำนวนมากที่ยังตามหาไม่พบ

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เดินทางไปเยี่ยมสุสานของอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส ผู้เป็นบิดา เมื่อวันที่ 10 พ.ค.
- ข่าวดีสำหรับ ‘จีน’

ฟิลิปปินส์ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และการก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ก็เป็นที่จับตามองว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมะนิลากับมหาอำนาจทั้งสองเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

เป็นที่ทราบกันว่า มาร์กอส จูเนียร์ มีสายสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับปักกิ่ง และตัวเขาเองก็หวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงบางอย่างกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในประเด็นทะเลจีนใต้ ทว่าในส่วนของความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นั้นค่อนข้างจะมึนตึง เนื่องจากครอบครัวมาร์กอส เคยฝ่าฝืนคำสั่งศาลแขวงรัฐฮาวายเมื่อปี 1995 ที่สั่งให้พวกเขาจ่ายเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ที่ปล้นไปจากคลังเพื่อชดเชยให้แก่เหยื่อของระบอบมาร์กอส

เมื่อปี 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ได้มีคำพิพากษาว่าจีนไม่สามารถที่จะยกประวัติศาสตร์มาอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองน่านน้ำทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งคำตัดสินนี้ได้ถูกนำไปอ้างต่อโดยประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีข้อพิพาททางทะเลกับจีนอยู่เช่นกัน รวมถึงสหรัฐฯ และพันธมิตรที่วิตกกังวลกับการที่จีนเข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียมและติดตั้งระบบอาวุธไว้ในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม มาร์กอส จูเนียร์ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการนั้น “ไม่มีผล” เนื่องจากจีนไม่ยอมรับ และตัวเขาเองเห็นว่าการทำข้อตกลงทวิภาคีกับจีนเพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้งเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

“ถ้าคุณปล่อยให้สหรัฐฯ เข้ามา เท่ากับคุณกำลังผลักให้จีนกลายเป็นศัตรู” เขาให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ DZRH “ผมเชื่อว่าเราน่าจะทำข้อตกลงกับจีนได้ อันที่จริงมีเจ้าหน้าที่ในสถานทูตจีนหลายคนที่เป็นเพื่อนผม เรามีการพูดคุยเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน”

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเมื่อวันพุธ (11 พ.ค.) ว่า จีนและฟิลิปปินส์ “ตั้งอยู่คนละฝั่งทะเลโดยหันหน้าเข้าหากัน และมีมิตรภาพที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน” พร้อมยืนยันว่าจีน “มีความตั้งใจจริงที่จะเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” กับมะนิลาภายใต้การนำของว่าที่ผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่

รอมเมล บันลอย (Rommel Banlaoi) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในกรุงมะนิลา มองว่า “บองบอง” ต้องการผูกมิตรกับจีนก็จริง แต่คงไม่ถึงขั้นยอมยกดินแดนฟิลิปปินส์ให้แก่ปักกิ่งแน่

“เขายินดีที่จะหารือโดยตรง หรือเปิดเจรจาทวิภาคีกับจีนเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง เขาพร้อมจะพิจารณายกระดับความร่วมมือกับจีนในด้านต่างๆ ที่เป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” บันลอย กล่าว

ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกหมายถึงน่านน้ำฝั่งตะวันออกของทะเลจีนใต้ที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของฟิลิปปินส์ ทว่าท้องทะเลในส่วนนี้ก็ถูกจีนอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็เกิดเหตุกระทบกระทั่งระหว่างเรือของทั้ง 2 ชาติอยู่บ่อยครั้ง

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงต่อสื่อในวันอังคาร (10) ว่า ยังเร็วเกินไปที่สหรัฐฯ จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ รวมถึงรูปแบบความสัมพันธ์หลังจากนี้ แต่ยืนยันว่าวอชิงตัน “รอคอยที่จะได้สานต่อความเป็นหุ้นส่วนพิเศษ” และทำงานร่วมกับคณะบริหารชุดใหม่ของมะนิลา

มาร์กอส จูเนียร์ ไม่ได้ไปเหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ มานานถึง 15 ปีแล้ว เนื่องจากเกรงจะถูกจับข้อหาหมิ่นศาล และอาจต้องเสียค่าปรับถึง 353 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นวงเงินที่นอกเหนือจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ที่ศาลแขวงรัฐฮาวายสั่งให้เขา และนางอิเมลดา ต้องจ่ายชดเชยให้แก่เหยื่อ 9,539 คนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยระบอบมาร์กอส

กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาตอบคำถามสื่อที่ว่า มาร์กอส จูเนียร์ จะได้รับสิทธิคุ้มกันทางการทูตหรือไม่ หากเขาไปเยือนสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำประเทศหลังจากนี้

เกร็ก โพลิง (Greg Poling) ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ระบุว่า แม้ชัยชนะของ บองบอง มาร์กอส จะสร้างความผิดหวังให้แก่บรรดานักการเมืองอเมริกัน “แต่สหรัฐฯ ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ความเป็นพันธมิตรกับฟิลิปปินส์นั้นสำคัญยิ่งยวด และจำเป็นจะต้องยกระดับให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

เฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายอดีตผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ โบกมือทักทายกลุ่มผู้สนับสนุนซึ่งไปรวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่ของเขาในเมืองมันดาลูยองซิตี เขตเมโทรมะนิลา เมื่อวันที่ 11 พ.ค. หลังผลการนับคะแนนแบบไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่า มาร์กอส ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่ และเป็นชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์”


กำลังโหลดความคิดเห็น