xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจสอบสิทธิเผย ‘มินอ่องหล่าย’ ตั้งกองบัญชาการพิเศษให้อำนาจโจมตีพลเรือนถึงตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รอยเตอร์ - ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าตั้งกองบัญชาการพิเศษหนึ่งวันหลังจากทำรัฐประหารเมื่อปีก่อนที่รับผิดชอบการเคลื่อนพล และปฏิบัติการของกองกำลังทหารในเขตเมือง และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการโจมตีที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตกับพลเรือนไร้อาวุธ ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระบุ

องค์กรฟอติฟาย ไรท์ (Fortify Rights) และเชลล์เซ็นเตอร์ (Schell Center) ของโรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า หลังจากการสอบสวนร่วมกันพบว่า ผู้นำรัฐบาลทหารส่งพลซุ่มยิงไปสังหารผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อสร้างความหวาดกลัว ขณะที่ทหารได้รับคำสั่งให้ก่ออาชญากรรมและได้รับคู่มือภาคสนามที่ไม่บรรจุคำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายสงคราม

ในรายงานความยาว 193 หน้าที่เผยแพร่ในวันพฤหัสฯ (24) ผู้ตรวจสอบได้วิเคราะห์เอกสารหลุดและคำให้การ 128 ปาก จากแหล่งต่างๆ ที่รวมถึงผู้รอดชีวิต เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ พยาน และอดีตนายทหารและตำรวจ เกี่ยวกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในพม่าในช่วง 6 เดือนหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564

พวกเขากล่าวว่า พวกเขาได้รับและตรวจสอบบันทึกภายใน ที่สั่งให้ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมประท้วง นักเคลื่อนไหว และสมาชิกของพรรครัฐบาลที่ถูกขับไล่ได้ตามอำเภอใจ และอ้างคำให้การจากเหยื่อของการทรมานและการละเมิดอื่นๆ

“ทุกคนที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมเหล่านี้ควรถูกลงโทษและถูกดำเนินคดี” แมทธิว สมิธ หัวหน้าองค์กรฟอติฟาย ไรท์ และผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว ซึ่งรายงานยังแนะนำให้สมาชิกของสหประชาชาติผลักดันการคว่ำบาตรด้านอาวุธทั่วโลกต่อพม่า และการดำเนินการทางกฎหมายระหว่างประเทศกับนายพลของพม่า

โฆษกของกองทัพพม่าไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นเกี่ยวกับข้อค้นพบของรายงานดังกล่าว

ฟอติฟายไรท์ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรอิสระที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 โดยได้รับทุนจากการบริจาคจากยุโรป เอเชีย และสหรัฐฯ รวมทั้งจากมูลนิธิเอกชน

ส่วนเชลล์เซ็นเตอร์ ตั้งขึ้นที่โรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยเยล ในปี 2532 สำหรับนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย ที่เชี่ยวชาญในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเพื่อช่วยเหลือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

การสอบสวนนี้จะเพิ่มแรงกดดันต่อกองทัพพม่าเพื่อให้ยุติการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและการใช้การโจมตีทางอากาศและการระดมยิงในพื้นที่ของพลเรือน

รายงานนี้มีขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากรายงานของสหประชาชาติสรุปว่า กองทัพพม่าเป็นผู้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แม้รัฐบาลทหารยังไม่ได้ตอบสนองต่อรายงานดังกล่าว แต่ก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำทารุณ โดยระบุว่า เป็นการแทรกแซงจากต่างชาติที่อาศัยความเท็จ

รายงานที่ชื่อว่า “Nowhere is Safe” ฉบับนี้ ยังระบุตัวผู้บัญชาการตำรวจและทหาร 61 นาย ที่นักวิจัยกล่าวว่าควรถูกสอบสวนในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรายชื่อดังกล่าวได้มาจากแหล่งข่าวความมั่นคงเกี่ยวกับสายการบังคับบัญชา

ในจำนวนดังกล่าว มีนายทหารที่ยังประจำการอยู่ 6 นาย ที่รวมทั้งนายทหารยศพันเอก 1 นาย และพันตรี 2 นาย และนักวิจัยกล่าวว่าพวกเขาตั้งหน่วยทหารมากกว่า 1,000 หน่วย ในช่วงเวลาที่ดำเนินการปราบปราม ที่ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยอัยการระบุพิกัดผู้ก่ออาชญากรรมได้

รายงานระบุว่า กองบัญชาการพิเศษใหม่ของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ในกรุงเนปีดอ บริหารโดยนายพลระดับสูง 4 นาย และไม่มีคนอื่นใดได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจเกี่ยวกับปฏิบัติการของกองกำลังทหารที่ประจำการตามเมืองต่างๆ

“หากไร้ซึ่งความพยายามร่วมกันเพื่อหยุดยั้งการกระทำทารุณที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพื่อให้รัฐบาลทหารรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่พวกเขาได้กระทำจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลทหารจะยังคงข่มเหงฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา สังหารพลเรือน และทำลายสังคม สุขภาพ และสวัสดิการทางเศรษฐกิจของพม่าอย่างไม่ต้องสงสัย” ผู้เขียนรายงานร่วม ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น