เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสองค์รองในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงบรรลุข้อตกลงยุติการฟ้องร้องคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยทรงยินยอมที่จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ “เวอร์จิเนีย จุฟเฟร” หญิงซึ่งอ้างว่าเคยถูกพระองค์ล่วงละเมิดสมัยยังเป็นวัยรุ่น นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ช่วยให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ต้องเผชิญกับความอับอายขายหน้าไปมากกว่านี้
การฟ้องร้องของ จุฟเฟร พุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายแอนดรูว์กับ เจฟฟรีย์ เอปสตีน (Jeffrey Epstein) มหาเศรษฐีนักการเงินชาวอเมริกัน และผู้ต้องหาคดีค้ากาม โดย จุฟเฟร อ้างว่าเธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายแอนดรูว์ตอนอายุ 17 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็น “ผู้เยาว์” ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ หลังจากที่ได้พบปะกับพระองค์ผ่านทาง เอปสตีน
ทนายความทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำหนังสือแจ้งไปยังศาลแขวงแมนฮัตตันในนครนิวยอร์กเมื่อวันอังคาร (15 ก.พ.) โดยระบุว่า เจ้าชายแอนดรูว์ พระชนมายุ 61 พรรษา จะทรง “บริจาคเงินจำนวนหนึ่ง” เข้ามูลนิธิการกุศลที่ จุฟเฟร จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้าประเวณี
เอกสารยังอ้างว่า เจ้าชายแอนดรูว์ “ทรงเสียพระทัย” ที่เคยคบหาเป็นเพื่อนกับ เอปสตีน และ “ไม่ทรงมีเจตนาที่จะกระทำการมุ่งร้ายต่อภาพลักษณ์ของจุฟเฟร อีกทั้งพระองค์ยอมรับว่าเธอเองก็ได้รับความเจ็บปวด ทั้งในฐานะที่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิด และจากการถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมจากสาธารณะ”
คำพูดเหล่านี้แตกต่างสิ้นเชิงจากในช่วงแรกๆ ที่เจ้าชายแอนดรูว์ทรงอ้างว่า “จำไม่ได้” ว่าเคยพบกับ จุฟเฟร ที่ไหนและเมื่อไหร่ ขณะที่ทีมทนายของเจ้าชายก็พยายามโจมตี จุฟเฟร ว่าเป็นพวก “หิวเงิน” ที่ฟ้องร้องกล่าวหาเจ้าชายอย่างไม่มีมูล ซึ่งท่าทีเหล่านี้ส่งผลให้เจ้าชายแอนดรูว์ทรงถูกองค์กรเพื่อสิทธิสตรีรุมประณามอย่างหนัก
การทำข้อตกลงยุติคดีนั้นหมายความว่า จะไม่มีการนำคดีแพ่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะลูกขุน และเจ้าชายแอนดรูว์ จะไม่ต้องถูกสอบปากคำภายใต้คำสัตย์สาบานโดยทีมทนายของ จุฟเฟร ซึ่งเดิมมีกำหนดจะเดินทางไปยังกรุงลอนดอนในเดือน มี.ค.
จุฟเฟร ซึ่งเวลานี้อายุ 38 ปี และอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลีย อ้างว่าเธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าชายเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว ทั้งที่บ้านในลอนดอนของ กิสเลน แม็กซ์เวลล์ (Ghislane Maxwell) คนสนิทของเอปสตีน ที่แมนชันของ เอปสตีน ในแมนฮัตตัน และที่เกาะส่วนตัวของ เอปสตีน ในหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ
เธอได้ยื่นฟ้องเจ้าชายแอนดรูว์เมื่อปีที่แล้ว พร้อมเรียกค่าเสียหายที่ไม่เจาะจงภายใต้กฎหมาย Child Victims' Act ของนิวยอร์ก โดยอ้างว่าตัวเธอเองเป็นเหยื่อการค้าประเวณีผ่านทางการจัดหาของ เอปสตีน และ แม็กซ์เวลล์
จุฟเฟร ระบุในเอกสารคำร้องว่า เธอเคยถูก แม็กซ์เวลล์ บังคับให้ “นั่งตัก” เจ้าชายแอนดรูว์ และถูกพระองค์สัมผัสร่างกายที่แมนฮัตตัน หลังจากนั้นเจ้าชายยังบังคับให้เธอมีเซ็กซ์โดยไม่เต็มใจ
เธอยังอ้างว่า “กลัวจะถูกฆ่า ถูกโดนทำร้าย หรือโดนแก้แค้นด้วยวิธีการอื่นๆ หากไม่ยอมทำตามคำสั่งของเอปสตีน แม็กซ์เวลล์ และเจ้าชายแอนดรูว์ เนื่องจากคนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพล มีเส้นสาย และมีฐานะร่ำรวยมาก”
เจ้าชายแอนดรูว์ยืนกรานปฏิเสธข้อครหาทั้งหมด และยังไม่ทรงถูกตั้งข้อหาคดีอาญาใดๆ
เอปสตีน วัย 66 ปี ฆ่าตัวตายในเรือนจำ ระหว่างที่รอการพิจารณาคดีอาชญากรรมทางเพศเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2019 จนทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดว่า เขาอาจจะถูก “ฆ่าตัดตอน” เพื่อป้องป้องเหล่าพลพรรคผู้มั่งคั่งทั้งหลาย ส่วน แม็กซ์เวลล์ ก็ถูกศาลตัดสินเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วว่ามีความผิดฐานจัดหาเด็กสาวๆ ให้แก่ เอปสตีน ซึ่งถือเป็นการตีแผ่ขบวนการค้ากามในหมู่คนร่ำรวยและผู้ทรงอิทธิพลของโลก
ข่าวคราวเกี่ยวกับพฤติกรรมอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ได้สร้างความแปดเปื้อนแก่ราชวงศ์อังกฤษ และยังบั่นทอนบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปีนี้ด้วย
สำนักพระราชวังอังกฤษแถลงเมื่อเดือน ม.ค. ว่า เจ้าชายแอนดรูว์ ทรงถูกถอดยศทางทหาร และจะทรงยุติบทบาทด้านการกุศลทั้งหมด รวมถึงจะไม่ทรงใช้คำนำหน้าว่า ‘His Royal Highness’ อีกต่อไป
แม้การทำข้อตกลงยุติคดีจะช่วยปลดเปลื้องความยุ่งยากในทางกฎหมายให้แก่เจ้าชายแอนดรูว์ แต่ผู้สังเกตการณ์ด้านราชวงศ์เชื่อว่า “ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ของพระองค์นั้นรุนแรงเกินกว่าที่จะทรงกลับมายืนอยู่ในจุดเดิมได้อีก
เพนนี จูเนอร์ ซึ่งแต่งหนังสือเกี่ยวกับประวัติของพระราชวงศ์ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า การที่เจ้าชายแอนดรูว์ไม่ได้ทรงแสดงความเห็นใจและช่วยเหลือบรรดาเหยื่อของ เอปสตีน ตั้งแต่แรก ถือเป็นความผิดพลาดที่ “สังคมไม่อาจอภัยให้ได้”
“พระองค์กลายเป็นบุคคลที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจไปแล้ว (ในสายตาผู้คน) ” จูเนอร์ กล่าว
ด้าน ชาร์ลส แร อดีตผู้สื่อข่าวสายราชสำนักของหนังสือพิมพ์เดอะซัน ชี้ว่า อย่างน้อยๆ การ “ตัดจบ” คดีนี้ก็ช่วยให้ราชวงศ์อังกฤษไม่ต้องตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากการขึ้นโรงขึ้นศาล ในระหว่างที่อังกฤษมีพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถ
“ผมคิดว่าทางพระราชวังบักกิงแฮมคงจะถอนหายใจกันด้วยความโล่งอก” เขากล่าว
อย่างไรก็ดี กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดูเหมือนจะไม่ยุติลงง่ายๆ เมื่อหนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟได้ออกมาให้ตัวเลข “ค่าปิดคดี” ของเจ้าชายแอนดรูว์ว่าสูงถึง 12 ล้านปอนด์ (ราว 526 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ จุฟเฟร จำนวน 10 ล้านปอนด์ และอีก 2 ล้านปอนด์ที่จะบริจาคเข้ามูลนิธิช่วยเหลือเหยื่อการค้าประเวณี
เดลีเทเลกราฟ ยังอ้างว่าเงินทั้งหมดนี้มาจาก “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะที่นักวิจารณ์บางคนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินว่ามีการนำเอา “ภาษี” ของชาวอังกฤษไปใช้ด้วยหรือไม่