xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยด้านไวรัสฯ เผยเคสผู้ป่วย "โอมิครอน" น่าสนใจ พบสายพันธุ์ย่อยคล้ายเดลตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เปิดเผยเรื่องราวของผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ที่น่าสนใจ พบมีสายพันธุ์ย่อย ลักษณะคล้ายสายพันธุ์เดลตา

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” ประเด็น ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" หลังพบว่ามีการติดเชื้อที่น่าสนใจ โดย "ดร.อนันต์" ได้ระบุข้อความว่า

"เคสน่าสนใจของโอมิครอนในประเทศไทย

เมื่อช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา J และ K ได้เดินทางไปพักผ่อนที่เกาะแห่งหนึ่งในภาคใต้ของไทย กลับมาทั้งคู่มีอาการน่าสงสัยเลยไปซื้อ ATK มาตรวจพบผลเป็นบวกทั้งคู่ ทั้งคู่อาศัยอยู่ด้วยกันตลอดจึงเป็นไปได้สูงว่าจะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวกัน ในวันเดียวกันทั้งคู่ได้ส่งตัวอย่างน้ำลายมาให้ผมเพาะเชื้อ และได้ทำการตรวจ ATK ทุกวันเพื่อดูระดับของไวรัสในร่างกายตั้งแต่วันแรกที่เริ่มตรวจพบเชื้อ K มีอาการไม่มาก ในขณะที่ J มีอาการชัดเจนกว่า แต่ไม่หนักมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งคู่ home isolation อยู่ด้วยกัน

เมื่อนำตัวอย่างน้ำลายมาเพาะเชื้อแล้วพบสิ่งที่น่าสนใจมากครับ ตัวอย่างไวรัสจาก J สามารถติดเชื้อเข้าเซลล์ได้อย่างรวดเร็วมีการหลอมรวมกันของเซลล์เหมือนที่พบได้ในเซลล์ที่ติดไวรัสเดลตา ขณะที่ไวรัสจาก K ติดเชื้อได้ไม่ดี เซลล์เปลี่ยนแปลงรูปร่างไม่ชัดและใช้เวลาหลายวันกว่าเชื้อจะเพิ่มจำนวนจนตรวจสอบได้ ทำให้คาดว่า J คงติดเดลตามา และ K อาจติดโอมิครอน แต่เมื่อนำ RNA ของไวรัสมาตรวจสอบเพิ่มเติมโดยใช้ชุดไพรเมอร์ที่ออกแบบให้แยกไวรัส 2 สายพันธุ์ได้ พบว่าไวรัสของทั้ง 2 คนเป็นโอมิครอนทั้งคู่ แต่โอมิครอนของทั้ง 2 คนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ของ K เหมือนกับที่หลายที่รายงานว่าติดเซลล์ได้ช้าและไม่ทำให้เซลล์เกิดการรวมตัวกัน ในขณะที่ J เป็นโอมิครอนที่มีลักษณะเหมือนที่พบในไวรัสเดลตา

ผลจากการตรวจ ATK เป็นประจำทุกวันของทั้ง 2 คนเหมือนจะสอดคล้อง คือ ปริมาณไวรัสในตัว K ลดลงไวมากภายใน 3 วัน ขณะที่ปริมาณไวรัสใน J เป็นแถบสีเข้มมากเป็นเวลานานถึง 8 วัน ก่อนเริ่มลดลงอย่างเห็นชัดในวันที่ 9 ซึ่งบ่งชี้ว่าปริมาณไวรัสใน J มีสูงและอยู่ในร่างกายนานกว่า K ชัดเจน ที่น่าสนใจคือ K ได้รับวัคซีน AZ มา 2 เข็ม ในขณะที่ J ได้วัคซีน Pz เข็มที่ 3 มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการศึกษาข้อมูลเชิงลึกโดยการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์ ซึ่งเชื่อว่ามีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน ทีมวิจัยคงรวบรวมผลวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในเร็วๆ นี้

ไวรัสโอมิครอนดูเหมือนจะมีความหลากหลายในตัวเอง ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีตอนนี้มาจากสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นวงกว้าง ขณะที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอาจมีความแตกต่างกันทางไวรัสวิทยาอย่างชัดเจน ในประเทศไทยก็สามารถตรวจพบโอมิครอนที่แตกต่างกันได้ เราต้องทำความรู้จักไวรัสตัวนี้ให้มากขึ้นกว่านี้มาก ก่อนจะมีข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น