xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นจังหวัดที่มีหิมะตกหนัก จึงไม่ลื่นล้มหัวคะมำเมื่อสัญจรในวันที่หิมะตกหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว เพื่อนๆ สบายดีไหมครับ ปีใหม่ผ่านไปครึ่งเดือนแล้วไวมาก ช่วงวันหยุดปีใหม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนกันมาบ้าง สำหรับผมได้กลับต่างจังหวัดไปทำสวน ผมออกไปทำงานเกษตรตั้งแต่เช้าเพราะจะได้รีบทำงานให้เสร็จก่อนที่แดดจะแรงเกินไป และขนาดผมพยายามหลีกเลี่ยงแดดช่วงบ่ายยังตัวดำเมี่ยมเลยทีเดียว ทุกวันจะออกเดินทางไปสวนผลไม้กันประมาณตีห้าครึ่งถึงหกโมงเช้า ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นช่วงเวลาที่อากาศดีมาก เย็นสบาย แต่ปกติผมเป็นคนที่ไม่ค่อยนอนตอนกลางคืนหรือนอนดึกมากตีสามตีสี่ การที่ต้องลุกไปทำงานตอนหกโมงเช้านั้นถือได้ว่ายากสำหรับผมนิดหน่อย เพื่อนๆ ผมจะรู้ว่าผมติดนิสัยชอบนอนดึกมากมานานแล้วพอเขาได้ฟังว่าผมออกไปทำงานตอนเช้าตรู่นี่ทุกคนบอกว่าสงสัยหิมะจะตกหนัก ! ( คงเหมือนที่เมืองไทยพูดแซวกันว่าสงสัยฝนจะตกหนัก !)


ในช่วงฤดูหนาว จังหวัดทางภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นจะมีหิมะตกมากเป็นเรื่องปกติ แต่ในโตเกียวอาจจะมีหิมะตกนิดหน่อยในบางวันซึ่งไม่บ่อยมากนัก ถ้าเคยดูการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นบางเรื่องจะเห็นว่าโตเกียวนั้นช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือวันคริสต์มาสมักจะมีซีนหิมะตก แต่ในความเป็นจริงช่วงคริสต์มาสในโตเกียวก็ไม่ได้มีหิมะตกมาเป็นสิบปีแล้ว คงเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลกนั่นเอง แต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ เกิดหิมะตกหนักที่โตเกียว ทุกคนแปลกใจมากมันช่างบังเอิญตรงกับที่เพื่อนผมแซวเรื่องหิมะจะตกหนักพอดีเลยเชียว วันที่หิมะตกที่โตเกียวนั้นคิดว่าเพื่อนๆ คงพอได้ข่าวกันบ้างแล้ว ถ้าใครมีเพื่อนอยู่โตเกียวคงได้เห็นภาพที่แชร์กันมาอย่างสนุกสนาน อนึ่งก็มีข่าวประกาศให้ผู้คนระมัดระวังการเดินทางและลื่นล้ม เพราะเกิดอุบัติเหตุในวันนั้นเป็นพันๆ เคส ผมขอยกมาหนึ่งข่าวครับ


□ผลกระทบจากหิมะตกหนักในโตเกียว เมื่อวันที่ 6 มกราคม ทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อเนื่องบนทางพิเศษ 首都高 Shutoko (Metropolitan Expressway) และเพราะหิมะตกหนักทำให้สะพานสายรุ้งถูกปิดชั่วคราวเช่นกัน ในวันนั้นเกิดอุบัติเหตุรถลื่นไถลตามทางหลวงและทางพิเศษในเขตนครหลวงโตเกียวในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตามรายงานของสำนักงานตำรวจนครบาลโตเกียว มีการโทรแจ้งอุบัติเหตุจราจรประมาณ 800 ครั้ง ตั้งแต่เที่ยงวันถึง 21.00 น. อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุต่างๆ ในครั้งนี้ หน่วยงานเรียกร้องให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเปลี่ยนไปใช้ยางสำหรับลุยหิมะ และโซ่หิมะหรือโซ่ยางเป็นอุปกรณ์ติดตั้งกับยางของยานพาหนะ และงดเว้นจากการขับรถโดยไม่จำเป็นและเร่งรีบ


ส่วนที่สะพานสายรุ้ง レインボーブリッジ Rainbow Bridge พบอุบัติเหตุรถบรรทุกขนาดเล็กพลิกคว่ำเมื่อเวลาประมาณ 15:50 น. โดยชายวัย 40 ปีคนขับรถไม่ได้รับบาดเจ็บ ตามรายงานของสำนักงานตำรวจนครบาลโตเกียว กล่าวว่าส่วนใหญ่พวกเขาใช้ยางรถยนต์แบบธรรมดาจึงทำให้เกิดการลื่นไถลขณะขับขี่ เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุบริเวณสะพานสายรุ้ง (ทางด่วนนครหลวงหมายเลข 11 สายไดบะ) จึงมีการปิดการจราจรในบริเวณดังกล่าว


ในเขตสุมิดะ เมื่อเวลาประมาณ 15:40 น. มีอุบัติเหตุเกี่ยวกับยานพาหนะหลายคัน เช่น รถบรรทุกและรถยนต์นั่งบนเส้นทางมูโกจิมะ ของทางด่วนนครหลวงหมายเลข 6 ไม่ชัดเจนว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และตามรายงานของกองบังคับการตำรวจนครบาล เกิดอุบัติเหตุอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ตามรายงานของบริษัททางด่วนนครหลวงยังมีการปิดถนนหลายสาย ในหลายช่วงเวลา เช่น สายอุเอโนะหมายเลข 1 (ขึ้น) และสายฮารุมิหมายเลข 10 (ลง) ถูกปิดเนื่องจากอิทธิพลของหิมะ และบางส่วนของเส้นทางอื่นก็ปิดให้บริการฯ


ผมคุยเรื่องหิมะตกหนักในโตเกียวกับเพื่อนซึ่งพวกเราเป็นคนที่เกิดในจังหวัดที่มีหิมะตกหนักมากในช่วงฤดูหนาว บางครั้งหิมะท่วมสูง 1- 2 เมตรและหลังคาบ้านก็จะเต็มไปด้วยหิมะต้องคอยเอาพลั่วหรืออุปกรณ์มาโกยหิมะลงจากหลังคา และคนท้องถิ่นก็ชินกับการใช้ชีวิตในช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนัก แต่เท่าที่จำความได้ก็ไม่ค่อยได้ยินข่าวคนลื่นล้มหรือต้องหยุดงาน หยุดเรียนเนื่องจากหิมะตกเลย นั่นคงเป็นเพราะมีการรับมืออย่างเป็นปกติเนื่องจากเป็นเมืองหิมะ และผู้คนเคยชินกับการปรับตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ซึ่งจะเห็นหิมะตกหนักมากทุกฤดูหนาวมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นพวกผมก็สามารถปรับตัวและเดินในพื้นที่มีหิมะได้ โดยไม่ลื่นง่ายๆ ซึ่งต่างจากคนที่โตเกียวเพราะเขาจะไม่ชินกับสภาพอย่างนี้


เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า ในวันที่หิมะตกในโตเกียวที่เพิ่งผ่านมานั้น มีเรื่องที่ทำให้เพื่อนผมรู้สึกหัวเสียอย่างมาก คือช่วงกลางคืนมีลุงข้างบ้านเอาน้ำมาสาดหิมะบริเวณบ้านเพื่อจะทำให้หิมะละลายแต่เขาหารู้ไม่ว่าพอรุ่งขึ้นน้ำเหล่านั้นมันกลายเป็นน้ำแข็งแล้วมันจะลื่นยิ่งกว่าเดิมเสียอีก คนที่ไม่รู้และไม่มีประสบการณ์ในเรื่องบางเรื่องก็จะไม่สามารถที่จะคาดเดาในสิ่งที่เป็นความเสี่ยงได้นั่นเอง เพราะว่าปกติแล้วถ้าเป็นหิมะที่มีลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายน้ำแข็งใสปุยๆ เราเดินเหยียบย่ำไปได้มันจะไม่ลื่นแต่ถ้ามันกลายเป็นน้ำแข็งที่เรียบมัน หรือแม้แต่เป็นแผ่นฟิล์มน้ำแข็งบางๆ บนถนนทางเดินเท่านั้นล่ะ ต้องระวังให้มากส่วนใหญ่จะลื่นครับ


ส่วนป้าที่อยู่อีกฝั่งของบ้านเพื่อนผม จอดรถไว้ด้านนอกเจอหิมะตกใส่รถจนไม่สามารถที่จะขยับที่ปัดน้ำฝนได้ เขาจึงเอาน้ำไปสาดที่หน้ารถเพื่อต้องการละลายเกล็ดหิมะ ก็เหมือนเดิมครับมันก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่ปัดน้ำฝนได้เพราะน้ำมันกลายเป็นน้ำแข็งเกาะกระจกแทน แล้วคนในเมืองที่มีหิมะตกหนักแก้ปัญหานี้อย่างไร คำตอบก็คือเมื่อจะใช้รถเขาจะใช้น้ำร้อนเดือดๆ ราดไวๆ ด้วยเพราะว่าถ้าช้าน้ำเย็นลงและกลายเป็นน้ำแข็งอีก


และเมื่อคุยกับเพื่อนแล้วก็รำลึกถึงจังหวัดบ้านเกิด ว่าในชีวิตประจำวันที่เราอยู่ในเมืองหิมะเราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติโดยที่ไม่เคยคิดเลยว่าเวลาหิมะตกเป็นเมตรๆ จะเป็นเรื่องแปลกและเป็นเรื่องที่มีผลกระทบจนทำให้ไม่สามารถไปโรงเรียนหรือไปทำงานได้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันจนไม่ทันคิดว่าเขาใช้ระบบและวิธีการแก้ปัญหาใดมารองรับบ้าง เมื่อมองย้อนกลับไปจึงพบว่ามันมี Know How หรือความรู้เชิงปฏิบัติการบางอย่างที่น่าสนใจและอยากนำมาแบ่งปันความรู้ครับ


เรื่องทางเดินเท้าสาธารณะ: ที่ฟุตบาททางเดินหลักๆ ตามถนนสายต่างๆ จะมีระบบปล่อยน้ำวนโดยใช้น้ำใต้ดินปล่อยน้ำมาตามช่องทางที่กำหนดไว้ตลอดเวลา และน้ำก็จะหมุนวนต่ำๆระดับผิวทางเท้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้ส่วนที่มีน้ำไหลวนเป็นช่องทางเดินที่ไม่มีหิมะ และไม่มีน้ำแข็งเกาะ ทำให้คนสามารถเดินไปมาตามช่องทางนั้นได้อย่างสะดวกและไม่เกิดอันตราย การใช้น้ำเป็นประโยชน์ที่ช่วยละลายหิมะแต่ถ้าน้ำไม่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาน้ำก็จะกลายเป็นน้ำแข็งและคนก็จะลื่นหรือถ้าไม่มีน้ำเมื่อคนเดินเหยียบย่ำหิมะจนมันละลายแล้วด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นส่วนที่ละลายก็จะกลายเป็นน้ำแข็งที่ทำให้คนลื่นได้ จังหวัดที่เป็นเมืองหิมะจะใช้ระบบน้ำฉีดวนนี้ตรงทางเดินครับ ทำให้เราสามารถเดินไปตามทางเดินนั้นได้โดยที่เราไม่ลื่นล้ม ซึ่งถ้าใครไปญี่ปุ่นไปเที่ยวจังหวัดที่เป็นเมืองหิมะลองสังเกตดูครับ ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบทแค่ไหนก็มีระบบนี้ที่ทางเดิน ในวันที่หิมะตกเราจะเดินไปตามทางได้โดยไม่ลื่นล้มหัวคะมำ


แล้วถ้าซอยเล็กๆ ที่คนไม่ค่อยมีล่ะมีระบบปล่อยน้ำวนหรือไม่ เนื่องจากไม่ค่อยมีคนเดินสัญจรไปมา แม้จะไม่มีระบบปล่อยน้ำวนแต่จะมีพนักงานของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในงานโกยหิมะคอยสร้างทางเดินเพื่ออำนวยความสะดวกให้ คือจังหวัดที่เป็นเมืองหิมะจะมีหน่วยงานราชการประจำท้องถิ่นส่งเจ้าหน้าที่ที่จะตื่นมาทำงานกันตั้งแต่ตีสามตีสี่เพื่อสร้างทางเดินให้ประชาชน โดยเขาจะโกยหิมะไปไว้ที่สองข้างทาง จนดูเหมือนมีกำแพงหิมะขนาบข้างทางเดิน ลองนึกภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่ชื่อว่ากำแพงหิมะ (雪の大谷 Yuki no Ōtani) ถ้าใครเคยไปเที่ยวกำแพงหิมะนี่ จะเห็นว่าเขาจะโกยหิมะไว้สองข้างทางจนสูงเป็นกำแพงขนาบถนนและทำทางให้คนสัญจรไปมาได้ ซึ่งอย่างที่บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ปฏิบัติเป็นปกตินิสัยโดยธรรมชาติ คนที่อยู่ชนบทในจังหวัดที่เป็นเมืองหิมะจะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติในชีวิต เราจะไม่มีปัญหาเรื่องของการเดินทางไปทำงานหรือการลื่นล้ม ดังนั้นที่เกิดปัญหาที่โตเกียวเพราะส่วนหนึ่งไม่ได้มีหิมะตกหนักทุกวัน นานๆ เกิดทีและคนไม่ชินกับการเดินทางในสภาพหิมะและยังไม่มีระบบในการป้องกันการลื่นล้มเพราะไม่ได้มีหิมะตกบ่อยๆ คนแต่ละเมืองก็จะมีลักษณะและความเคยชินแตกต่างกันไปครับ ได้เรียนรู้ไว้ก็สนุกดี วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น