xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ธรรมกาย” หลังสิ้นสมเด็จช่วง-เปลี่ยนมือจัด “ธรรมยาตรา 65”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ตัวช่วยธรรมกายเหลือน้อย เมื่อสิ้นสมเด็จช่วง เสาหลักค้ำยันธรรมกายหาย ก่อนหน้านี้ สมเด็จสมศักดิ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพ พระธรรมรัตนาภรณ์ ถูกปลดจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ แถมกรรมการในมหาเถรสมาคมเปลี่ยนเกินครึ่ง วัดพระธรรมกายเก็บตัวแค่จัดสวดมนต์ข้ามปี แต่ไม่ทิ้ง “ธรรมยาตรา 2565” ส่งต่อชมรมพุทธศาสตร์สากลจัดแทน จับตาใช้สถานที่-พระของธรรมกาย

ในรอบปี 2564 ได้สูญเสียพระผู้ใหญ่ระดับกรรมการและอดีตมหาเถรสมาคมจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 2 รูป ทั้งระดับรองสมเด็จและสมเด็จพระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร) รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม มรณภาพเมื่อ 26 กันยายน 2564

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม 2532-2562 มรณภาพ 9 ธันวาคม 2564

นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของบุคลากรด้านพระพุทธศาสนาจากวัดปากน้ำ ที่เคยบริหารงานด้านพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน

สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารด้านพุทธศาสนาย่อมทราบดีว่า ทางวัดปากน้ำนั้นเคยประกาศเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดพระธรรมกาย อันเนื่องมาจากความเป็นศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และที่ผ่านมา วัดปากน้ำถือว่าเป็นเสาหลัก เป็นที่พึ่งพิงของวัดพระธรรมกายในการจัดกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งธุดงค์ผ่าเมืองอันลื่อลั่น

ด้วยบารมีของสมเด็จช่วง ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับวัดต่างๆ ซึ่งเป็นกรรมการในมหาเถรสมาคมในขณะนั้น ส่งผลให้กิจกรรมของวัดพระธรรมกายราบรื่นแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคม

ดังนั้น การสูญเสียเสาหลักของวงการพระพุทธศาสนาจากวัดปากน้ำ ย่อมกระทบต่อวัดพระธรรมกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในระยะหลังสมเด็จช่วง อาพาธ พ้นจากตำแหน่งในกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ท่านก็ยังมีบารมีอยู่

เกราะแก้วเหลือน้อย

หากไล่เรียงเหตุการณ์หลังจากเกิดคดีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ที่มาเกี่ยวพันกับอดีตพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายในขณะนั้น คณะสงฆ์ปกครองตั้งแต่ในมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้เจ้าคณะใหญ่หนกลาง คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์) วัดพิชยญาติการาม ดำเนินการจนเรื่องลงมาถึงพระเทพรัตนสุธี (สมศักดิ์) เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ทำได้เพียงแต่งตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ของวัดพระธรรมกาย เป็นพระครูสังฆรักษ์ รังสฤษดิ์ อีกทั้งเจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ ยังได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมรัตนาภรณ์

สมเด็จสมศักดิ์ มรณภาพลงเมื่อ 28 มิถุนายน 2562 มีการแต่งตั้งพระพรหมบัณฑิต (ประยูร) วัดประยุรวงศาวาส เป็นรักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลางระยะหนึ่ง จากนั้นแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง

จากนั้นเจ้าคุณวิเชียร พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดปากน้ำ มรณภาพ เปลี่ยนตัวเจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ ตามมาด้วยสมเด็จช่วงมรณภาพ

ดังนั้น พระผู้ใหญ่ที่เคยอุ้มชูวัดพระธรรมกายเริ่มเหลือน้อยลง


เปลี่ยนครั้งใหญ่หลังปี 60

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์ หลังจากเกิดเหตุการณ์ทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แล้วเชื่อมโยงมาถึงพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายในปลายปี 2559 จนมาถึงการออกหมายจับและรัฐบาลใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2560 จนถึง 11 เมษายน 2560 แต่ไม่พบตัวพระธัมมชโย

จากนั้นมีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ใหม่ อำนาจของกรรมการในมหาเถรสมาคมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมๆ กับวัดที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีและนั่งเป็นกรรมการในมหาเถรสมาคมอย่างวัดสระเกศ วัดสามพระยา และวัดสัมพันธวงศ์ถูกดำเนินคดีเงินทอนวัด หลุดจากเก้าอี้ในมหาเถรสมาคม

เมื่อมีการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ จึงหมดยุคของขั้วอำนาจเก่า แม้จะมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ แต่ท่านเหล่านั้นเลือกที่จะอยู่อย่างสงบ นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ถูกถอดออกจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เมื่อ 30 กันยายน 2564

เป็นอันว่าความเปลี่ยนแปลงของคณะสงฆ์ปกครองทั้งหมดเปลี่ยนไปจากเดิมมาก จะเรียกว่าไม่ใช่สายที่เคยสนับสนุนวัดพระธรรมกายก็ว่าได้


มส.ชุดใหม่-กระจายวัด

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของมหาเถรสมาคมทั้งชุดปี 2562 และชุดปี 2564 อำนาจของสายปากน้ำและเครือข่ายลดลงไปมาก กรรมการชุดใหม่มาจากหลากหลายกระจายไปตามวัดอื่นๆ ไม่กระจุกตัวเหมือนในอดีต และเปิดให้พระในระดับชั้นเทพขึ้นมาเป็นกรรมการในมหาเถรสมาคมได้ในชุดปี 2564

กรรมการในมหาเถรสมาคมชุดปี 2564 มี 5 รูปเข้ามาใหม่แทนชุด 2562 ที่พ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าคุณวิเชียร วัดปากน้ำ มรณภาพ ที่เหลือเป็นระดับชั้นธรรม วัดพระราม 9 วัดบพิตรพิมุข วัดราชาธิวาส วัดอรุณราชวราราม หนึ่งในนั้นมีบางรูปที่เคยปูดเรื่องว่าในมหาเถรสมาคมได้แจ้งว่ามีเปลี่ยนตัวเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง จนเป็นเหตุให้พระมหาไพรวัลย์ ได้ลาสิกขาออกไป

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนไม่เป็นใจกับวัดพระธรรมกายนัก เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เคยเอื้ออำนวยต่อวัดใหญ่ย่านปทุมธานีแห่งนี้เปลี่ยนไปจากเดิม ประกอบกับสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 จึงทำให้กิจกรรมบุญของวัดพระธรรมกาย แม้จะยังดำเนินต่อไปได้ แต่ความคึกคักมีจำกัด ไม่เหมือนกับในช่วงก่อนที่อำนาจในมหาเถรสมาคมอยู่ในสายของวัดปากน้ำ

ออกหน้าแค่สวดมนต์ข้ามปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีเช่นนี้ทางวัดพระธรรมกายมักจะต้องเตรียมงานใหญ่ที่จัดมาต่อเนื่องหลายปี อย่างธุดงค์ธรรมชัย ที่ระยะหลังปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เป็นกิจกรรมธรรมยาตรา แต่ในปีนี้ไม่พบว่าทางวัดจะจัดกิจกรรมดังกล่าวเหมือนทุกปี

พบเพียงการระดมทีมงานทำหน้าที่เชิญชวนบวชเป้าหมายที่ 3,000 รูป ตามโครงการอุปสมบท บูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ประจำปี 2564 อบรมระหว่าง 1 ธันวาคม 2564-6 กุมภาพันธ์ 2565 พิธีอุปสมบท 6-10 ธันวาคม 2564 อบรม ณ ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรมจังหวัดทั่วประเทศ

ด้วยข้อความเชิญชวน “บวชทดแทนพระคุณบิดามารดา สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา เปิดทางสวรรค์และนิพพานให้กับตนและทุกคนในโลก”

ตอนนี้ทางวัดพระธรรมกายโปรโมตกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี (ออนไลน์) ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2565 คืนวันที่ 31 ธันวาคม 2564-1 มกราคม 2565 เวลา 19.00-00.11 น. ผ่าน Zoom072.com รับฟังโอวาทปีใหม่จากพระมหาเถระ สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นั่งสมาธิกลั่นกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ฟังคณะสงฆ์ทั่วโลกเจริญชัยมงคลคาถา และอธิษฐานจิตให้ประชาชนทุกคนบนโลกรอดพ้นจากโรคภัยโควิด-19 และอุทิศบุญให้ผู้เสียชีวิต


ไม่ออกหน้าธรรมยาตรา 65

กิจกรรมธรรมยาตราถือเป็นกิจกรรมหลักของทางวัดพระธรรมกาย เคยสร้างความลือลั่นด้วยการเดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาแล้ว จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้รถติดมากกว่าเดิม จากนั้นจึงลดกิจกรรมลงมาเหลือเพียงการทำกิจกรรมธรรมยาตราตามวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อสด ต้นตำรับวิชาธรรมกาย

ตามปกติกิจกรรมธรรมยาตรามักจัดขึ้นในเดือนมกราคมต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ก่อนถึงงานสำคัญทางวัดพระธรรมกายจะมีกิจกรรมชวนบวช ทีมผู้ศรัทธาในวัดต่างออกไปทำหน้าที่หาชายไทยมาร่วมบวช ผู้เข้าร่วมบวชส่วนหนึ่งจะได้เข้าร่วมกิจกรรมธรรมยาตรา แทบทุกปีจะมีพระร่วมในกิจกรรมนี้มากกว่า 1 พันรูป
แม้ว่าในปีนี้ทางวัดจะไม่ได้แจ้งว่าจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่พบว่ายังคงมีการจัดกิจกรรมธรรมยาตราเหมือนปีก่อน ครั้งนี้ดำเนินการโดยชมรมพุทธศาสตร์สากล ที่ได้ทำหนังสือไปยังผู้อำนวยการสถานศึกษาต่างๆ แจ้งถึงโครงการนี้ โดยระบุว่า

เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ร่วมกับองค์กรภาคี และคณะสงฆ์ ร่วมกันจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา “โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 10 รักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565” ในระหว่างวันที่ 2-31 มกราคม พ.ศ.2565 เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ คณะผู้บริหาร คุณครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ร่วมสวดมนต์ ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา จุดประทีปถวายบูชาธรรม และร่วมอนุโมทนากิจวัตรธรรมยาตราผ่านระบบออนไลน์ สร้างความเป็นสิริมงคลในวาระปีใหม่ และสร้างขวัญกำลังใจในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้

อีกทั้งเป็นการฟื้นฟู และสืบสานวัฒนธรรมชาวพุทธให้กลับคืนสู่บ้าน วัด โรงเรียน อย่างยั่งยืน ฝึกให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามหลักธรรม อปจายนมัย ทำให้สังคมไทยสงบสุข ยั่งยืนด้วยบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป

โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 10 เปิดรับทั้งประเภทบุคคลและสถานศึกษา ภายใต้โครงการประกอบด้วย กิจกรรมร่วมอนุโมทนากิจวัตรพระธรรมยาตรา ผ่าน Zoom ระหว่างเวลา 15.30-16.30 น. และกิจกรรมร่วมจุดประทีปบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ระหว่างเวลา 18.00-18.45 น.

บุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเกียรติบัตรออนไลน์ทุกครั้งที่เข้าร่วม ส่วนประเภทสถานศึกษาที่มีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 1 ครั้ง จำนวนผู้เข้าร่วม 10-29 คนจะได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติพิเศษ สำหรับสถานศึกษา ผู้บริหาร และครูผู้ประสานงานหากสามารถหาผู้เข้าร่วมได้ตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป จะได้รับทั้งเกียรติบัตร และเหรียญพระของขวัญ


ไม่จัดก็เหมือนจัด

เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดกิจกรรมธรรมยาตราครั้งนี้กระทำในนามชมรมพุทธศาสตร์สากล อยู่ในเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย เปิดให้ผู้ที่จะเข้าร่วมอนุโมทนาบุญเป็นรอบๆ ผ่านโปรแกรม Zoom ที่ทางวัดพระธรรมกายใช้มาตลอดในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19

ไม่ประกาศสถานที่จัดกิจกรรมว่าเป็นที่ใด เมื่อพิจารณาจากรูปภาพที่ใช้ประกอบ พอสรุปได้ว่าเป็นกิจกรรมของทางวัดพระธรรมกาย ที่ครั้งนี้ไม่ออกหน้าทุกครั้งเหมือนที่ผ่านมา แต่เห็นได้ว่ามีความสอดรับกับโครงการอุปสมบท บูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ ประจำปี 2564 อบรมระหว่าง 1 ธันวาคม 2564-6 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งพระที่เข้าร่วมพิธีธรรมยาตราจะมาจากโครงการอุปสมบทบูชาธรรม

รวมไปถึงการมอบพระของขวัญให้ครูอาจารย์ที่หากผู้เข้าร่วมได้เกิน 30 คน ซึ่งพระของขวัญถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องตอบแทนของทางวัดพระธรรมกาย ที่มักจะมอบให้บุคคลที่ช่วยทางวัดทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ชวนบวชหากครบตามจำนวนที่กำหนดก็ได้รับพระของขวัญเช่นกัน

จี้ มส.ใหม่จัดระเบียบ

แหล่งข่าวจากวงการพระพุทธศาสนากล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์เมื่อปี 2560 วัดพระธรรมกายได้ลดกิจกรรมที่หวือหวาลงไปมาก แต่ยังคงทำกิจกรรมเดิมได้ตามปกติ แถมออกไปในแนวการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยใช้ตรึงผู้ศรัทธา งานบุญสำคัญมักจะมีจุดขายที่เรื่องของแสงสีตระการตา

เชื่อว่ายังมีผู้ที่ศรัทธาในวัดแห่งนี้อีกไม่น้อย อย่างงานกฐินครั้งที่ผ่านมา ว่ากันว่าน่ายอดร่วมบุญน่าจะได้เกินพันล้านบาทเหมือนปีก่อนๆ ซึ่งเป็นแค่การประมาณเท่านั้น เนื่องจากทางวัดไม่เคยประกาศยอดเงินกฐินเหมือนกับวัดอื่น

ที่จริงตอนนี้วัดพระธรรมกายก็ไม่ได้สนใจเรื่องของมหาเถรสมาคมว่าใครจะมาใครจะไป ขอให้ทางวัดได้ทำกิจกรรมตามแนวทางที่วัดกำหนดเป็นพอ ตราบใดที่ยังไม่เข้ามาแตะต้องทางวัด เขาก็อยู่ของเขาไปแบบนี้ สอนตามแนวทางที่วัดเป็นอยู่

แนวทางของวัดพระธรรมกายเป็นมาแบบนี้ตลอด แต่กลับไม่เคยมีพระปกครองกล้าเข้าไปตรวจสอบ หรือดูแลว่าแนวคำสอนของทางวัดผิดไปจากพระธรรมวินัยหรือไม่ บุญซื้อได้ เงินน้อยบุญน้อย เงินมากบุญมาก นิพพานเป็นอัตตาจริงหรือไม่ ตรงนี้นับเป็นสิ่งที่ท้าทายมหาเถรสมาคมมากที่สุด





กำลังโหลดความคิดเห็น