xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อการสู้รบยกแรกกับ‘จีนแผ่นดินใหญ่’ระเบิดขึ้น ก็หมายความว่า‘ไต้หวัน’ถึงจุดจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ฝูงเฮลิคอปเตอร์ทหารที่บรรทุกธงไต้หวันขนาดใหญ่ ออกบินฝึกซ้อมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ก่อนหน้างานเฉลิมฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐจีนครบรอบ 110 ปี ในวันที่ 10 ตุลาคม ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างไทเปกับปักกิ่งที่ดุเดือดพุ่งปริ๊ด
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

First battle could be the end for Taiwan
By JEFF PAO
08/10/2021

อดีตผู้คุมงานด้านความมั่นคงของไต้หวัน ออกมาบอกว่า เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเปิดฉากยกกำลังบุกเข้าโจมตีไต้หวัน กองทัพของเกาะแห่งนี้ก็จะประสบความปราชัยก่อนที่กำลังความช่วยเหลือของสหรัฐฯจะเดินทางมาถึง เรื่องนี้ถูกสื่อมวลชนภาครัฐของจีนนำไปป่าวร้องต่อด้วยความปีติยินดี

ฮ่องกง - กองทัพไต้หวันจะไม่สามารถต้านทานการโจมตีขนาดใหญ่โตมหึมาของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ เนื่องจากจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพวกพันธมิตร บทความข้อเขียนจำนวนมากที่เผยแพร่โดยบรรดาสื่อภาครัฐของจีนเมื่อไม่นานมานี้พากันระบุเช่นนี้

ซู ฉี่ (Su Chi) อดีตเลขาธิการของสภาความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน และเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (Kuomintang) บอกกับเวทีประชุมในกรุงไทเปเมื่อวันจันทร์ (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมาว่า ทหารกองทัพปลดแอกฯชุดแรกที่จะถูกส่งเข้ามาโจมตีไต้หวันนั้น น่าจะมีกำลังพลราวๆ 28,000 คน

เขากล่าวว่า ทางไต้หวันจะไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ขณะที่กองทัพสหรัฐฯจะล้มเหลวไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงช่วยเหลือได้ทันก่อนที่สงครามจะยุติลง ปรากฏว่าความคิดเห็นของเขาในเรื่องนี้ได้ถูกสื่อภาครัฐของจีนอ้างอิงนำไปเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวาง

สื่อภาครัฐของจีนยังพูดถึงเรื่องว่า กองบัญชาการทหารของไต้หวันได้เริ่มส่งเสริมสนับสนุนให้ทหารฝึกซ้อมการต่อสู้ด้วยดาบปลายปืนเมื่อไม่นานมานี้ โดยบอกวานี่เป็นเพราะเวลานี้รัฐบาลของเกาะไต้หวันตระหนักถึงความเป็นจริงแล้วว่า สหรัฐฯและญี่ปุ่นจะไม่เข้ามาช่วยเหลือไต้หวันในการสู้รบต้านทานแผ่นดินใหญ่ สื่อจีนเหล่านี้ยังรบเร้าให้ไต้หวันกลับมารวมเข้ากับแผ่นดินใหญ่อย่างสันติ

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ความตึงเครียดทางทหารในบริเวณช่องแคบไต้หวันทวีความดุเดือดเลือดพล่าน หลังจากเครื่องบินทหารของจีนจำนวนราว 150 ลำ บินเข้าไปในพื้นที่แสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศ (air defense identification zone หรือ ADIZ)) ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของเกาะกล่าวปราศรัยที่ไทเปในวันที่ 10 ตุลาคม เนื่องในโอกาสคตรบรอบ 110 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐจีน

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้เจรจาหารือกในแบบเสมือนจริงเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อถกเถียงอภิปรายกันถึงประเด็นปัญหาสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ซึ่งก็รวมไปถึงปัญหาไต้หวันด้วย

ไบเดนบอกว่าสหรัฐฯยังคงยึดมั่นอยู่กับนโยบาย “จีนเดียว” (one China) แต่ก็คัดค้านอย่างแข็งขันต่อความพยายามแต่เพียงฝ่ายเดียวใดๆ เพื่อเข้าเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม หรือบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน

ส่วนทางด้าน สี กล่าวว่า การรวมชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นความปรารถนาร่วมกันของประชาชนจีนทั้งหมด ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงอดทนเพื่อให้บรรลุถึงการนำเอาไต้หวันมารวมเป็นเอกภาพกันอย่างสันติ

ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ออกมาแถลงว่า ญี่ปุ่นจะไม่ยอมรับการรุกรานทางทหารต่อไต้หวัน พร้อมกับกล่าวเตือน สี ว่า ไม่ควรที่จะวินิจฉัยสถานการณ์ในภูมิภาคนี้อย่างผิดพลาด

อีก 2 วันต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโธนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ บอกว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ ของจีนเพื่อรุกรานไต้หวัน จะก่อให้เกิด “ผลสืบเนื่องอันเลวร้าย” ติดตามมา เขาพูดด้วยว่า เขาคาดหวังว่าพวกผู้นำจีนจะขบคิดด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในเรื่อง “การไม่เร่งรัดให้เกิดวิกฤต” ขึ้นมาในช่องแคบไต้หวัน

จากนั้น เจ้า ลี่เจียน (Zhao Lijian) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง บลิงเคน และ อาเบะ โดยบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำ เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน

ในวันจันทร์ (6 ธ.ค.) ซู ฉี่ กล่าวปราศรัย ณ เวทีประชุมซึ่งใช้ชื่อรายการว่า “ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ระหว่างสหรัฐฯ, ไต้หวัน, และจีน ภายใต้คณะบริหารไบเดน (The new geopolitics between the United States, Taiwan and China, under the Biden administration) จัดโดยนิตยสารรายเดือน โกลบอล วิวส์ มันธ์ลี่ (Global Views Monthly) ของไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=m3NaTgtXrL4)

เขากล่าวว่าในเวลา 25 ปีหลังจากทางผู้นำของแผ่นดินใหญ่และของไต้หวันได้พบปะกันและตกลงเห็นพ้องกันในเรื่อง “ฉันทามติปี 1992” (1992 Consensus) แล้ว ไต้หวันก็ยังคงมีอำนาจต่อรองในเรื่องความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันอยู่ สืบเนื่องจากอำนาจทางเศรษฐกิจของตน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1992 คณะผู้แทนกึ่งทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน People’s Republic of China (PRC) ซึ่งเป็นตัวแทนของแผ่นดินใหญ่ และของสาธารณรัฐจีน Republic of China (ROC) ที่เป็นตัวแทนของไต้หวัน ได้พบปะกันที่ฮ่องกง หลังการหารือคราวนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนแถลงว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า จีนนั้นมีเพียงจีนเดียว และจีนที่ว่านี้ก็ครอบคลุมไต้หวันด้วย

ขณะที่ฝ่ายสาธารณรัฐจีนแถลงว่า ตนเพียงเห็นพ้องว่ามี “จีนเดียว แต่มีการตีความที่แตกต่างกันออกไป” (one China, different interpretations)

ยานสู้รบทหารราบหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ถูกปล่อยออกจากเรือยกพลขึ้นบก (ภาพเผยแพร่โดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีน)
เมื่อถึงปี 2000 ซู ได้เปลี่ยนชื่อของ “จีนเดียว แต่มีการตีความที่แตกต่างกันออกไป” ให้เป็น “ฉันทามติปี 1992” ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับทั้งจาก หลี่ เติ้งฮุย (Lee Teng-hui) ผู้เป็นประธานาธิบดีของไต้หวันในปี 1992 ตลอดจนจาก ไช่ ประธานาธิบดีของไต้หวันคนปัจจุบัน

ซู กล่าวในวันจันทร์ (6 ธ.ค.) ว่า แผ่นดินใหญ่นั้นสามารถที่จะปิดล้อมไต้หวัน และทำให้ระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของไต้หวันกลายเป็นอัมพาตไปเลยมาตังแต่ปี 2018 แล้ว

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เขาเคยพูดว่า กองทัพปลดแอกฯมีความสามารถในการยกพลเข้าสู่ไต้หวัน โดยทหารกองทัพปลดแอกฯชุดแรกจำนวน 20,000 คนจะถูกส่งมาทางเรือ ส่วนอีก 8,000 คนจะถูกส่งมาโดยเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบิน

ซู บอกว่า การที่ บลิงเคน และ อาเบะ ออกมาเตือนปักกิ่ง ก็เนื่องจากพวกเขามีความกังวลใจว่าดุลแห่งอำนาจในช่องแคบไต้หวันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยที่ปักกิ่งคือฝ่ายที่ได้เปรียบมากกว่า เขากล่าวด้วยว่า แผ่นดินใหญ่สามารถที่จะยึดครองไต้หวันได้ก่อนปี 2024 และสหรัฐฯก็จะไม่สามารถเข้าแทรกแซงช่วยเหลือไต้หวันได้

ด้าน เจียง อี๋หัว (Jiang Yi-huah) อดีตประธานของหยวนฝ่ายบริหาร (president of the Executive Yuan ซึ่งก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีของไต้หวัน) และเป็นนักการมืองสังกัดพรรคก๊กมิ่นตั๋งเช่นกัน กล่าวในเวทีประชุมเดียวกันนี้ว่า มีโอกาสอยู่ 50% ที่จะเกิดสงครามขึ้นมาในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งถ้ามันจะระเบิดขึ้นมาก็น่าจะในช่วงระหว่างปี 2024 ถึงปี 2027 เจียงกล่าวอีกว่า สหรัฐฯไม่น่าที่จะเข้าร่วมในการทำสงครามภาคพื้นดินต่อสู้กับกองทัพปลดแอกฯบนเกาะไต้หวัน

ในงานเดียวกันนี้ ริชาร์ด บุช (Richard Bush) อดีตประธานของสถาบันอเมริกันในไต้หวัน (American Institute in Taiwan ซึ่งก็คือเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำไต้หวันในทางพฤตินัย) บอกว่า ปักกิ่งจะออกคำสั่งให้กองทัพปลดแอกฯเข้าโจมตีไต้หวัน ต่อเมื่อถ้าหากทางคณะผู้นำของเกาะแห่งนี้เคลื่อนไหวมุ่งหน้าไปสู่การบรรลุ “ความเป็นเอกราชในทางนิตินัย” บุชบอกอีกว่า เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นมา สหรัฐฯก็จะเข้าแทรกแซง

ปรากฏว่า เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่ ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสตจีน) ได้ออกบทวิจารณ์ที่อ้างอิงความเห็นต่างๆ ของ ซู และ เจียง และกล่าวว่า สงครามในช่องแคบไต้หวันจะสิ้นสุดลงก่อนที่สหรัฐฯจะเข้ามาแทรกแซง เหรินหมินรึเป้าบอกอีกว่า กระทั่งในกรณีที่กองทัพสหรัฐฯเข้ามาจริงๆ ก็จะถูกจีนทำให้ปราชัยพ่ายแพ้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://k.sina.com.cn/article_7517400647_1c0126e4705901xt83.html)

บทความอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางสำนักข่าวไชน่า รีวิว (China Review News Agency) กล่าวว่า สหรัฐฯไม่ได้เคยให้คำมั่นสัญญาที่จะสู้รบเพื่อไต้หวันเลย บทความนี้บอกว่า คณะบริหารไช่เพียงแค่ต้องการเพิ่มพูนขวัญกำลังใจของพวกผู้สนับสนุนเท่านั้น จึงออกมาพูดว่า เกาะแห่งนี้มีความร่วมมือทางการทหารกับสหรัฐฯ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://bj.crntt.com/doc/1062/4/1/3/106241310.html?coluid=182&kindid=0&docid=106241310&mdate=1206142750)

ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ผู้คนในพรรคก๊กมิ่นตั๋งมีการเผยแพร่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า “การสู้รบกันยกแรกก็หมายถึงจุดจบ” ซึ่งหมายความว่าไต้หวันจะถูกกองทัพปลดแอกประชาชนจีนยึดครอง ก่อนที่กองทหารสหรัฐฯจะมาถึง

รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบันของไต้หวัน ชิว กั๋วเฉิง (Chiu Kuo-cheng) พูดเอาไว้ในเดือนตุลาคมปีนี้ว่า ทฤษฎีนี้ไม่มีทางที่จะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ เนื่องจากกองทัพไต้หวันจะไม่ยืนอยู่เฉยๆ ถ้าหากถูกโจมตี

ทหารไต้หวันฝึกโดดร่มเหินเวหาจากเครื่องบินทหาร ลงไปยังฐานทัพอากาศแห่งหนึ่ง (ภาพเผยแพร่โดยกองทัพไต้หวัน)
สื่อไต้หวันยังรายงานในเดือนที่แล้วว่า กองบัญชาการของกองทัพไต้หวันได้ออกคำสั่งให้ทหารของตนเพิ่มการฝึกการต่อสู้ด้วยดาบปลายปืนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการสู้รบของกองทัพ

เรื่องนี้ สื่อจีนได้เผยแพร่บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งในเดือนที่แล้วกล่าวว่า ไต้หวันเริ่มส่งเสริมการฝึกต่อสู้ด้วยดาบปลายปืน ก็เพราะทราบดีว่าสหรัฐฯและญี่ป่นจะไม่เข้ามาช่วยในการสู้รบปรบมือกับกองทัพปลดแอกฯ บทวิจารณ์นี้บอกว่า กองทัพไต้หวันจะถูกกองทัพปลดแอกฯทำลายในการทำสงครามสู้รบกันภายในเขตเมืองในไต้หวัน ปรากฏว่าหลังจากนั้นบทวิจารณ์นี้ได้ถูกสื่อรัฐนำมาเผยแพร่ซ้ำ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://super.sina.cn/shequn/post/detail_606686057449058305.html)

ก่อนหน้าการต่อปากต่อคำกันเช่นนี้ กระทรวงกลาโหมไต้หวันได้พูดเอาไว้ในรายงานยุทธศาสตร์การทหารของตนเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนว่า ปักกิ่งกำลังทำ “สงครามทางความคิดความรับรู้” เพื่อทำให้มติมหาชนชาวไต้หวันเกิดความหวั่นไหวคลอนแคลน

ในฉบับล่าสุดของเอกสารสำคัญที่ออกมาทุกๆ 2 ปีนี้ กระทรวงกลาโหมไต้หวันบอกว่า ปักกิ่งดำเนินการ “ข่มขู่คุกคามในพื้นที่สีเทา” (gray zone threats) ใส่ไต้หวัน ด้วยการส่งเครื่องบินเข้าสู่น่านฟ้าด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน, จัดการฝึกทางทหารใกล้ๆ เกาะปราตัส (Pratas Island) และยังกำลังใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสั่นคลอนความศรัทธาและขวัญกำลังใจของประชาชนชาวไต้หวันอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น