xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ออกมาตรการห้ามซื้อขายอาวุธกับกัมพูชา อ้างอิทธิพลจีน ปัญหาสิทธิมนุษยชนและคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รอยเตอร์ - สหรัฐฯ กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายอาวุธและข้อจำกัดการส่งออกชุดใหม่กับกัมพูชา อันเนื่องจากสิ่งที่สหรัฐฯ ระบุว่าเป็นอิทธิพลทางทหารของจีนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ตลอดจนประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และสิทธิมนุษยชน

การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของวอชิงตันที่จะตอบโต้อิทธิพลของจีนที่ขยายตัวขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กัมพูชาเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของจีนในภูมิภาคนี้

กระทรวงการต่างประเทศได้เพิ่มกัมพูชาลงในรายชื่อประเทศที่ห้ามส่งออกอาวุธทั้งหมด ตามที่ระบุในรายงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

“กัมพูชายังคงอนุญาตให้จีนขยายการปรากฏตัวทางทหารและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้งานเป็นพิเศษในอ่าวไทยแม้จะมีคำร้องของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ” รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากคำสั่งห้ามดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจน และตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ใช่ผู้จัดหาอาวุธให้กัมพูชา

เมื่อเดือนที่ผ่านมา วอชิงตันได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่กัมพูชา 2 ราย จากการทุจริตคอร์รัปชันที่ฐานทัพเรือเรียม ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับการก่อสร้างของจีน

รายงานยังอ้างถึงการทุจริตคอร์รัปชัน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นสาเหตุของการกำหนดห้ามซื้อขายอาวุธ

ประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางเยือนอินโดนีเซีย และกัมพูชา ที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปัจจุบัน

โฆษกรัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังออกข้อจำกัดการส่งออกชุดใหม่ที่จะจำกัดการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในทางทหารหรือพลเรือน ตลอดจนยุทโธปกรณ์และบริการทางทหารต่างๆ

“เราเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาดำเนินการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้มีความคืบหน้าอย่างมีความหมาย และทำงานเพื่อลดอิทธิพลของกองทัพจีนในกัมพูชา ที่คุกคามความมั่นคงในระดับภูมิภาคและระดับโลก” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุในคำแถลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น