สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว เพื่อนๆ เคยรู้สึกว่าพอจะหมดวันอาทิตย์ทีไรทำไมรู้สึกหมดพลัง เซ็ง หดหู่ แล้วพอวันจันทร์ตอนเช้าแทนที่จะสุขสดชื่นแจ่มใส แต่กลับเกิดความหวาดหวั่น อ่อนเพลีย ขาดเรี่ยวแรง ไม่อยากตื่นไปทำงานบ้างไหมครับ ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า サザエさん症候群 Sazae-san syndrome และยังมีอาการที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันดี คือโรคเดือนห้า 5月病 Gogatsu-byo เป็นอาการที่รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวคล้ายๆ โรคซึมเศร้าแต่ก็ไม่ใช่โรคซึมเศร้าเสียทีเดียว พูดง่ายๆ คือรู้สึกไม่อยากไปทำงาน รู้สึกเศร้าหมองจากความเครียดนั่นเอง
นอกจากนั้นก็ยังมีโรคเดือนสี่ 4月病 Shigatsu-byo ด้วยครับ กล่าวกันว่าช่วงเดือนสามที่ทุกคนรู้ผลสอบและกำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทุกคนมักจะตื่นเต้นและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ แต่พอเข้าเดือนสี่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ทำให้เกิดอาการหดหู่ แต่ตอนที่ผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยจะใช้ในอีกความหมายหนึ่งคือช่วงเดือนสี่ยังสนุกสนานดีแต่พออยู่ไปสักหน่อยกลับรู้สึกว่าไม่ใช่อย่างที่คิด ความสนุกและพลังงานค่อยๆ ลดลงๆ จนเกือบจะหมดไปเมื่อเข้าสู่เดือนห้า
ผมจะแยกอาการที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้คร่าวๆ ดังนี้ครับ
● โรคเดือนห้า 5月病 Gogatsu-byo อาจไม่ใช่ชื่อทางการแพทย์ แต่เป็นอาการคล้ายๆ ภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย ตามปกติที่ญี่ปุ่นจะเริ่มการจ้างงานใหม่ การย้ายงาน หรือการเปลี่ยนชั้นเรียน ในเดือนเมษายน ซึ่งถึงแม้จะได้รับแรงบันดาลใจในช่วงแรกๆ แต่ถ้าไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นๆ ได้ก็อาจเกิดอาการโรคเดือนห้าขึ้น ซึ่งพบได้ในพนักงานใหม่ นักศึกษาใหม่ในมหาวิทยาลัย และผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือพวกที่ทำงานมานานตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็นวัยกลางคนและผู้สูงอายุกลับต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น ถูกสั่งโยกย้าย เปลี่ยนงาน การย้ายแผนก สาเหตุหลักมาจากความเครียด ความเหนื่อยล้า ความเหน็ดเหนื่อยที่พรั่งพรูออกมา ก็อาจจะมีอาการคล้ายๆ กับโรคซึมเศร้า มีอาการทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า, ไม่สนใจ , วิตกกังวล หรือ ใจร้อน และอาการทางกายภาพต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย , ปวดหัว, นอนไม่หลับ, ไม่สามารถทำงานและงานบ้านได้เหมือนเดิม, รู้สึกไม่มีกำลังใจ, หากเกิดอาการเหล่านี้เป็นเวลานาน ก็อาจพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จึงเรียกว่าโรคเดือนห้านั่นเอง
●โรคเดือนสี่ 4月病 Shigatsu-byo เกิดอาการบางอย่างที่แรงจูงใจหายไป ความวิตกกังวลและความตึงเครียดยังคงดำเนินต่อเนื่อง แม้คิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว แต่ก็มีบางครั้งที่ร่างกายและจิตใจรู้สึกเหนื่อยโดยไม่รู้ตัว จิตใจก็จะอ่อนล้าจนในที่สุดทำให้เกิดสภาวะขาดแรงจูงใจ "ไม่อยากทำจริงๆ" "พยายามแล้วแต่มันไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ" "อยากทำแต่ทำได้ไม่ดี" เป็นต้น และความเครียดทางจิตใจทำให้เริ่มป่วย อาการคล้ายๆ โรคเดือนห้าแต่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนจึงเรียกว่าโรคเดือนสี่
ในบางกรณีภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติและส่งผลทางจิตใจ และหากยังคงอดทนกับมันต่อไป อาจรู้สึกเจ็บป่วยไม่สบาย สาเหตุสืบเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมใหม่และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคในเดือนสี่และโรคเดือนห้า หรือแม้แต่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเดือนมกราคมหรือเดือนอื่นๆ แต่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ ก็อาจเกิดอาการของโรคเดือนสี่โรคเดือนห้าได้เช่นกัน (´-ω⊂゛)、、、
●サザエさん症候群 Sakae-san syndrome เป็นภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงค่ำๆ ของวันอาทิตย์ถึงเที่ยงคืนโดยที่ต้องเผชิญกับความเป็นจริงว่า "ฉันต้องไปโรงเรียนหรือทำงานอีกแล้วในวันจันทร์" คนญี่ปุ่นรู้จักชื่อนี้ดี (เคยมีทีวีอนิเมะเรื่อง "Sazae-san" ออกอากาศในเย็นวันอาทิตย์ในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น)
และสองปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ทุกคนทราบดีว่าโลกเราเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคน ต้องอยู่ที่บ้านและแทบจะไม่ได้ออกไปเจอสังคมมากมายนัก ในช่วงแรกๆ หลายคนตื่นเต้นว่าการใช้ชีวิตอย่างนี้ไม่ต้องออกไปเจอคนที่บริษัท ไม่ต้องยุ่งกับใคร อยู่โดดเดี่ยวคงจะสนุกดี มีเรื่องหลายๆ อย่างที่ตัวเองอยากจะทำ เหมือนจะมีแรงจูงใจในความแปลกใหม่ แต่เอาเข้าจริงแล้วพอนานเข้าก็เริ่มหมดความรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรๆ บ้างก็รู้สึกว่าห่อเหี่ยวลงทุกวันใช่ไหมครับ คนญี่ปุ่นช่วงแรกๆ ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านก็จะรู้สึกกว่าแปลกใหม่ ตื่นเต้นแค่คิดว่าจะออกกำลังกายในบ้านก็รู้สึกมีความสุข แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็รู้สึกหมดแรงกระตุ้นและแรงจูงใจที่จะทำอะไร เกิดอาการคล้ายๆ โรคเดือนสี่โรคเดือนห้าเข้าแล้ว แถมตอนนี้จากที่คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง ก็มีข่าวว่าเกิดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ Omicron สายพันธุ์ ขึ้นอีกแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไปหนอโลกเรา จะเกิดระบาดใหญ่เหมือนตอนที่สายพันธุ์เดลต้าระบาดหรือเปล่า ต้องอยู่ในบ้านและต้องใช้ชีวิตแบบแยกตัวกันต่อไปไหม ต้องดูต่อไปครับ
ลักษณะของผู้ที่พัฒนาจากโรคเดือนห้าเป็นซึมเศร้าได้ง่าย คือคนที่จริงจังและระมัดระวังมากเกินไป ต้องความรับผิดชอบและแบกทุกอย่างไว้คนเดียว คนที่เงียบ คนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ ซึ่งในโลกที่ตึงเครียด ทุกคนอาจรู้สึกเศร้าได้ แต่บุคคลต่อไปนี้ต้องระวังเป็นพิเศษครับ
*ผู้ที่ได้งานใหม่ ย้าย โอน หรือต้องถูกคำสั่งเปลี่ยนงาน
*บรรยากาศในที่ทำงานและความสัมพันธ์เปลี่ยนไป
*มอบหมายความรับผิดชอบและโครงการใหม่
*จังหวะชีวิตถูกรบกวน
*ผู้ที่ทำงานล่วงเวลาเป็นเวลานาน
☆เราจะป้องกันโรคเดือนห้าได้อย่างไร?
สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่สะสมความเครียดและเมื่อยล้า พยายามพักฟื้นจากความเหนื่อยล้าและหาวิธีคลายความเครียดที่เหมาะกับตัวเอง และหางานอดิเรก ทำในสิ่งที่ชอบและเคยทำมา เช่น ทำอาหาร ตกปลา ต่อโมเดลพลาสติก ระบายสี และอ่านหนังสือที่ชอบครับ เพื่อกระตุ้นการหลั่ง "ฮอร์โมนแห่งความสุข(เซโรโทนิน)" ในสมองและคลายความเครียด หาเวลาออกกำลังกาย นอกจากนี้เพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับของตัวเองควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ดิจิทัลในช่วงก่อนนอนถึงเที่ยงคืน ควรบอกเล่าความกังวลของตัวเองเพราะคนรอบตัวคุณก็มีความเครียดเหมือนกันในหลายระดับ แต่ถ้าหากไม่มีใครคุยด้วยก็อาจจะใช้วิธีการเขียนข้อความจะทำให้คลายปัญหาและอาจเปิดมุมมองใหม่ๆ ได้
ส่วนเรื่องอาหารมีหนังสือแนะนำให้กินกล้วย, ผลิตภัณฑ์จากนม, ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง, มันเทศ, ปลา, และข้าวขาว (พร้อมลูกเดือย) ซึ่งเป็นอาหารที่มีสารอาหารที่ผลิตเซโรโทนินสูง นอกจากนี้ควรงดคาเฟอีนและของหวาน เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อการนอนหลับและอวัยวะภายใน และมีผลต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้พึ่งพาเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของการกินและภาวะมึนเมาจากแอลกอฮอล์เฉียบพลัน ครับ
คืออาการของโรคเดือนสี่ โรคเดือนห้านี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ แต่มีเรื่องแปลกอย่างหนึ่งครับ จากผลการสำรวจพบว่าคนญี่ปุ่นกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่อยากให้โรคโควิดหายไป เพราะอะไร? เพราะไม่อยากจัดงานเลี้ยงส่งท้ายปี ไม่อยากออกไปสังสรรค์!!
□งานเลี้ยงช่วงสิ้นปี หรือ 忘年会 bounenkai เป็นงานเลี้ยงที่จัดขึ้นตอนสิ้นปี โดยทั่วไปหมายถึงงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อลืมความทุกข์ยากของปี เป็นประเพณีแบบญี่ปุ่นที่ไม่มีความหมายทางศาสนาหรือรูปแบบเฉพาะ รู้สึกว่าหลังจากที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 คนญี่ปุ่นไม่ได้จัดงานเลี้ยงส่งท้ายปีมาสองปีได้แล้ว ปีนี้ทุกคนก็กำลังคิดกันว่าจะได้จัดหรือเปล่า แต่ว่ามีแบบสอบถาม สำรวจคนญี่ปุ่นว่าอยากจัดงานเลี้ยงส่งท้ายปีหรือไม่? ผลสรุปออกมาว่ากว่า 60% ตอบว่าไม่อยากจัด!! ซึ่งจากผลสำรวจก็ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นไม่ได้อยากจัดงานกินเลี้ยงส่งท้ายปีสักเท่าไหร่นัก แต่ว่าที่ต้องจัดกันมาก่อนหน้านี้เพราะว่าเป็นประเพณีของบริษัทที่ทำตามๆ กันมา
นอกจากงานเลี้ยงช่วงสิ้นปีแล้ว ยังมีงานปาร์ตี้ทั่วไปของบริษัท หรือที่เรียกว่า 飲みニケーションNominication → Drinking and communication คือการกระชับมิตรภาพในขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานเป็นหลัก เป็นการรวมตัวกันที่ร้านอิซากายะหรือมุมนั่งเล่น และพูดคุยสื่อสารขณะดื่มแอลกอฮอล์ คนญี่ปุ่นอยากไปปาร์ตี้จริงๆ หรือเปล่า แต่จากที่แบบสำรวจที่พบว่าคนญี่ปุ่นไม่อยากให้โควิด-19 หายไป นั่นหมายถึงที่จริงแล้วไม่ได้อยากออกไปสังสรรค์กันอย่างที่แสดงเลย!!
คนญี่ปุ่นนี่ก็แปลกมากตอนที่ใช้ชีวิตปกติในสังคม ที่ต้องมีการสังสรรค์ปาร์ตี้เฮฮา แต่จริงๆ แล้วไม่ได้อยากเฮฮาสังสรรค์แบบนั้นจริงๆ และที่บอกว่าไม่อยากให้โควิดหมดไปเพราะว่าไม่อยากไปทำงานหรือเปล่า ไม่อยากเจอสังคมในที่ทำงานไหม โรคกลัวการทำงานที่บริษัทนี่น่าจะเป็นกันเยอะ เพราะเกิดความเครียดที่เป็นสาเหตุสู่อาการทางพยาธิสภาพซึ่งบางส่วนก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อชีวิต อันนี้เป็นประเด็นที่น่ากลัวมากกว่าโรคเดือนสี่ โรคเดือนห้าเสียอีก วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ สวัสดีครับ