xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสั่งฟ้อง “ทราย เจริญปุระ” โผล่ร่วมม็อบชุมนุมที่ราบ 11 ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ รอดข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย  มารายงานตัวอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล ฐานยุยงปลุกปั่นฯ มาตรา 116
อัยการสั่งฟ้อง “ทราย เจริญปุระ” ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ม.116 หลังโผล่ร่วมม็อบคณะราษฎร ที่หน้ากรมทหารราบ 11 เพียงข้อหาเดียว รอดความผิดหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 ส่วนอานนท์กับพวก 7 คน โดนทั้งปราศรัยหมิ่นสถาบันฯ มาตรา 112 - ยุยงปลุกปั่นฯ ด้านทนายเตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันคนละ 1 แสนบาท

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (25 พ.ย.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 5 ได้นัดฟังคำสั่งในคดีที่พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ได้นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายอานนท์ อำภา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบร์ท, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา, นายพรหมศร วีระธรรมจารี และ น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายฯ มาตรา 116 และข้อหาอื่นฯ

โดยวันนี้กลุ่มผู้ต้องหาเดินทางมาศาล โดยมีตัวเเทนสถานทูตเยอรมนี และตัวแทนจากประเทศสวีเดน ตัวแทนจากสหประชาชาติ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย


น.ส.อินทิรา หรือ ทราย เจริญปุระ กล่าวว่า ไม่สามารถทราบแนวทางในวันนี้ได้ เตรียมใจเอาไว้แล้ว ยังกังวลเรื่องการประกันตัว แต่เตรียมหลักทรัพย์ไว้แล้ว พร้อมยืนยันยังคอยสนับสนุนการชุมนุมต่อไป และโล่งใจไปเปลาะหนึ่งที่ไม่ฟ้องข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112

นายสมยศ กล่าวว่า มั่นใจว่า วันนี้จะได้ประกันตัวตามสิทธิ์ ถ้าหากไม่ได้รับประกันตัว คงจะเป็นวันที่มืดมนของกระบวนการยุติธรรม และ นายสมยศ ยังระบุอีกว่า เตรียมพบกับ งานเทศกาลเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112

นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงรายละเอียดสั่งฟ้อง โดยพนักงานอัยการ ได้มีคำสั่งฟ้อง นายอานนท์ อำภา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบร์ท, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา, นายพรหมศร วีระธรรมจา ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทสถาบัน ม.112, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ม.116 จากการปราศรัยหน้ากรมทหารราบที่ 11 ในการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 ส่วน น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย ยื่นฟ้องเพียงข้อหามาตรา 116 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวายฯ เพียงข้อหาเดียว


ทั้งนี้ ผู้ต้องหาที่มารายงานตัวมี 4 คน นอกเหนือจาก นายอานนท์ และ นายพริษฐ์ ที่ไม่ได้ประกันคดีอื่น อยู่ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ คือ น.ส.อินทิรา หรือ ทราย, น.ส.พิมพ์สิริ, นายสมยศ, น.ส.ณัฐนิดา ส่วน นายชินวัตร ติดการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี และ นายพรหมศร ไม่ทราบว่าจะมีนัดสั่งฟ้องมาก่อน จึงเดินทางไป จ.ภูเก็ต และจะเดินทางมาฟังคำสั่งฟ้องในวันจันทร์ที่ 29 พ.ย.นี้

ด้าน นายกิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า การฟ้องคดีดังกล่าวยังไม่ครบองค์ประกอบความผิด การดำเนินคดี การแจ้งข้อกล่าวหา มีเหตุจูงใจทางการเมือง มีเจตนาที่จะหยุดการชุมนุม มากกว่าจะดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา เบื้องต้นเตรียมหลักทรัพย์เพื่อยื่นประกันตัว คนละ 100,000 บาท จากกองทุนของราษฎร โดยคาดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในเรื่องขอประกันตัว เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและทุกคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ต่อมาเวลา 13.45 น.พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้อง นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ชิวารักษ์, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, น.ส.ณัฎฐธิดา หรือ แหวน มีหวังปลา และ น.ส.อินทิรา หรือ ทราย เจริญปุระ จำนวน 6 ราย ต่อศาลอาญา โดยคำฟ้องสรุปว่า จำเลยทั้งหกกับ นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ นายพรหมศร หรือ ฟ้า วีระธรรมจารี พวกของจำเลย ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันและแยกกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ 1.1 เมื่อระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1-6 กับพวกได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยประกาศชักชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมทางการเมืองผ่านทางช่องทางต่างๆ และสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์เฟซบุ๊ก (facebook) ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กต่างๆ หลายบัญชี ได้แก่ เพจบัญชีชื่อ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”, บัญชีชื่อ “อานนท์ นำภา”, บัญชีชื่อ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ParitChiwarak”, บัญชีชื่อ “ชินวัตร จันทร์กระจ่าง” และบัญชีชื่อ “Inthira Charoenpura” และบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชีชื่อ “ITRC @charoenpura” ซึ่งจำเลยที่ 6 เป็นดูแล ได้โพสต์ข้อความมีสาระสำคัญประกาศชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไปออกมาร่วมการชุมนุมหัวข้อ “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ในวันที่ 29 พ.ย. 2563 เวลา 15.00 น. ที่กรมทหารราบที่ 1 ซึ่งต่อมาได้ประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมเป็นที่กรมทหารราบที่ 11 (บางเขน)

โดยจำเลยที่ 1-5 กับพวกได้ร่วมกันกล่าวปราศรัยเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันต่อสู้เปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญประเทศและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณ ถ.พหลโยธิน และบริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11 แขวงอนุสาวรีย์ชัย เขตบางเขน กทม.โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อ พ.ต.อ.อรรถพล มีเสียง ผกก.สน.บางเขน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายก่อนเริ่มการไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 จำเลยที่ 1-6 กับพวกกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นแกนนำ เป็นผู้จัดหรือผู้ดูแลชุมนุมทางการเมืองนัดหมายกันดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1-5 กับพวกได้เป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าสั่งการร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เข้าร่วมกิจกรรมการรวมตัวกันชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีประชาชนทั่วไปประมาณ 2,000 คน โดยได้ชุมนุมรวมตัวกันปิดการจราจรบริเวณวงเวียนบางเขน ถ.พหลโยธิน บริเวณหน้าสถานีดับเพลิงบางเขน ซึ่งเป็นทางสาธารณะ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมรื้อรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ออกบางส่วน จากนั้นเคลื่อนขบวนพร้อมรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงและขนย้ายเป็ดลมยาง ไปหน้ากรมทหารราบที่ 11 นำที่กั้นแบริเออร์สีส้มและกรวยยางปิดการจราจรและปราศรัยบนถนนสาธารณะ อันเป็นการกระทำด้วยประการใดในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและกีดขวางทางสาธารณะ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรของประชาชนทั่วไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจรอันเป็นการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัดและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด โดยจำเลยที่ 1-5 กับพวกไม่ได้จำกัดทางเข้า-ออก ในการเข้าร่วมกิจกรรม และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรค อันเป็นการจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวร้สโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่ทางราชการกำหนด เป็นการกัดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจรของประชาชน และไม่ได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตามฟ้อง

ขณะที่ เมื่อเวลา 18.30 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวผิดกฎหมายและให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยที่ 1-5 กับพวกไม่ยอมเลิกการชุมนุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ยังคงมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองทั้งนี้จำเลยที่ 1-5 ได้ปราศรัยบนเวทีหรือรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงแก่ประชาชนทั่วไปโดยมุ่งโจมตีรัฐบาล และจำเลยที่ 1-5 ยังได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยร่วมกันผลัดเปลี่ยนใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งบนรถบรรทุก พูดหรือปราศรัยแก่ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมชุมนุม เนื้อหาบางช่วงบางตอนเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ยังมีการเทสีลงพื้นและขีดเขียนข้อความลงบนพื้นถนน ซึ่งเป็นทางสาธารณะและทรัพย์สินต่างๆ ของราชการขณะเดียวกันเมื่อระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. 2563 จำเลยที่ 1-6 ได้ประกาศชักชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมทางการเมืองผ่านช่องทางต่างๆ และสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการ ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือ ติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะเกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

เหตุเกิดที่ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม.และทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 112, 116, 215, 216, 385, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 9, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ศาลได้รับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2948/2564 ต่อมาศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟังแล้ว สอบถามจำเลยที่ 1-6 แล้วว่าจะให้การสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.

ต่อมาจำเลยที่ 3-6 ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายสมยศ จำเลยที่ 3 วงเงิน 200,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทำกิจกรรม ที่จะทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้มาศาลตามนัด

อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.พิมพ์สิริ และ น.ส.ณัฎฐธิดา หรือ แหวน จำเลยที่ 4-5 วงเงินคนละ 100,000 บาท และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต กับห้ามทำกิจกรรมที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.อินทิรา หรือ ทราย เจริญปุระ จำเลยที่ 6 วงเงิน 35,000 บาท และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต ห้ามจำเลยที่ 6 ทำกิจกรรมที่จะทำความเสื่อมเสีย ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว นายกิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความ กล่าวว่า ตนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกันของ น.ส.อินทิรา ที่ถูกตั้งข้อหา มาตรา 116 แต่กลับใช้เงื่อนไขเดียวกันกับจำเลยที่เหลือที่มีความผิดในข้อหา หมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112, 116 ด้วย จึงไม่เข้าใจว่าศาลมีเหตุผลอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น